ข้ามไปเนื้อหา

ล้ง 1919

พิกัด: 13°44′03″N 100°30′27″E / 13.7342904°N 100.5076298°E / 13.7342904; 100.5076298
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ล้ง 1919
แผนที่
ที่ตั้งถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°44′03″N 100°30′27″E / 13.7342904°N 100.5076298°E / 13.7342904; 100.5076298
เปิดให้บริการ2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 (7 ปี)
ผู้พัฒนาตระกูลหวั่งหลี
ผู้บริหารงานหวั่งหลี
พื้นที่ชั้นขายปลีก6 ไร่
จำนวนชั้นสูงสุด 2 ชั้น
ขนส่งมวลชน สถานีคลองสาน
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนฮ่วยจุ่งโล่ง
ขึ้นเมื่อ23 มิถุนายน พ.ศ. 2566
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0008882
ภาพพาโนรามาของโครงการ

ล้ง 1919 (จีน: 廊 1919; อังกฤษ: Lhong 1919) เป็นศูนย์การค้าแนวราบริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งธนบุรี ตั้งอยู่ที่ปลายสุดของถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ดำเนินกิจการโดย ตระกูลหวั่งหลี ตั้งอยู่ติดกับบ้านหวั่งหลี มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ และพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร โดยอยู่ฝั่งตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ในฝั่งพระนคร[1] เปิดตัวเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ปัจจุบันตระกูลหวั่งหลีปล่อยเช่าพื้นที่ให้บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) ในเครือกลุ่มทีซีซี บริหารงานจนถึงปี พ.ศ. 2628

ล้ง 1919 เกิดขึ้นจากการบูรณะอาคารเก่าทั้งหมด มีความโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมจีน ก่ออิฐถือปูนและการใช้โครงสร้างไม้ที่ยังคงเก็บรูปแบบอย่างเดิมไว้ ลักษณะของโครงการนี้คล้ายคลึงกับเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนท์ เดสติเนชั่น ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก ภายในล้ง 1919 ประกอบด้วย โกดังเก่าของตระกูลหวั่งหลี ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ศาลเจ้าจีนเก่าแก่ในเขตคลองสาน ท่าเรือหวั่งหลี ลานกิจกรรมกลางแจ้ง และ Co-Working Space[2]

ประวัติ

[แก้]

ภูมิหลัง

[แก้]

เดิมบริเวณนี้เป็นท่าเรือของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูลพิศาลบุตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2393 โดยมีชื่อว่า "ฮวยจุ่งล้ง" (火船廊; แปลว่า ท่าเรือกลไฟ[3]) เป็นท่าเรือกลไฟและโกดังสินค้าสำหรับรองรับเรือสินค้าจากหัวเมืองประเทศต่าง ๆ เช่น มลายู สิงคโปร์ จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ต่อมาขายให้แก่นายตันลิบบ๊วย แห่งตระกูลหวั่งหลี ในปี พ.ศ. 2462 จนกระทั่งในภายหลัง บริษัท หวั่งหลี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวเข้ามาเป็นผู้บริหารดูแล

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ตระกูลหวั่งหลี ได้มีโครงการที่จะเปลี่ยนที่นี่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจุดหมายตาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเริ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 โดยเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ จุดถ่ายรูป ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะและหัตถกรรม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ความสัมพันธ์ไทย-จีน และสถานที่พักผ่อน[1]

ภายใต้การพัฒนาโดยแอสเสท เวิรด์ คอร์ป

[แก้]

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) (AWC) ในเครือกลุ่มทีซีซี โดยวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินที่ตั้งของล้ง 1919 จากตระกูลหวั่งหลีจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2628 รวม 64 ปี แบ่งเป็นระยะพัฒนาโครงการประมาณ 4 ปีโดยจะไม่มีการคิดค่าเช่า และช่วงเช่าอีก 30+30 ปี เพื่อพัฒนาโครงการให้เป็น "จุดหมายแห่งการบูรณาการสุขภาวะ" (The Integrated Wellness Destination) โดยเป็นการอนุรักษ์อาคารเดิมและสร้างอาคารเพิ่มเป็นโรงแรมจำนวน 86 ห้อง และอาคารชุดเพื่อการพักอาศัยจำนวน 56 ห้อง รวม 142 ห้อง โดยทั้ง 2 อาคารนี้บริหารโดยเครือโรงแรม เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Decor (2017-11-03). "ล้ง 1919 โบราณสถาน สถาปัตยกรรมจีน ยุค ร.๔ อายุกว่า 167 ปี มรดกหวั่งหลี มรดกแผ่นดิน". สืบค้นเมื่อ 2018-01-28.
  2. เปิดแล้ว!! ล้ง 1919 (LHONG 1919) ที่เที่ยวใหม่ ใจกลางกรุงเทพฯ, Website:www.govivigo.com/ .สืบค้นเมื่อ 30/09/2561
  3. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. "กรุงธนบุรี ในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์." วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555, หน้า 93
  4. Puttanont, Wanpen (22 พฤศจิกายน 2021). "'AWC' ปิดดีลตระกูล 'หวั่งหลี' ลุยโครงการยักษ์เฉียด 3,500 ล้าน ปรับ 'ล้ง 1919' สู่แลนด์มาร์คสุขภาพ". The Bangkok Insight. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2025.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]