ข้ามไปเนื้อหา

ลี ยวน กวง, ชู ชิน ก้วย และบุญเกิด จิตปราณี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลี ยวน กวง
ภาพถ่ายหน้าตรงของลีในปี พ.ศ. 2540
เกิดพ.ศ. 2496
ฮ่องกงของบริเตน
เสียชีวิต18 เมษายน พ.ศ. 2544 (อายุ 48 ปี)
เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการยิง
สัญชาติฮ่องกง
อาชีพพ่อค้ายาเสพติด
สถานะทางคดีถูกประหารชีวิต
พิพากษาลงโทษฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
บทลงโทษประหารชีวิต
ชู ชิน ก้วย
ภาพถ่ายหน้าตรงของชู ในปี พ.ศ. 2540
เกิดพ.ศ. 2510
ไต้หวัน
เสียชีวิต18 เมษายน พ.ศ. 2544 (อายุ 34 ปี)
เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการยิง
สัญชาติพม่า
อาชีพพ่อค้ายาเสพติด
สถานะทางคดีถูกประหารชีวิต
พิพากษาลงโทษฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด
บทลงโทษประหารชีวิต
บุญเกิด จิตรปราณี
บุญเกิดในการแถลงข่าวการจับกุม
เกิดพ.ศ. 2503
อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ประเทศไทย
เสียชีวิต18 เมษายน พ.ศ. 2544 (อายุ 41 ปี)
เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการยิง
สัญชาติไทย
อาชีพขับรถส่งยาเสพติด
สถานะทางคดีถูกประหารชีวิต
พิพากษาลงโทษฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
บทลงโทษประหารชีวิต

ลี ยวน กวง (อังกฤษ: Lee Yuan Kuang; พ.ศ. 2496 – 18 เมษายน พ.ศ. 2544) และ ชู ชิน ก้วย (อังกฤษ: Chu Chin Kuay; พ.ศ. 2510 – 18 เมษายน พ.ศ. 2544) เป็นผู้ค้ายาเสพติดชาวต่างชาติซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตในความผิดฐานร่วมกันครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัมขึ้นไป โดยผู้สมรู้ร่วมคิดของทั้งสอง บุญเกิด จิตรปราณี (พ.ศ. 2503 – 18 เมษายน พ.ศ. 2544) ซึ่งเป็นผู้ขนส่งยาเสพติดก็ถูกจับกุมและถูกตัดสินประหารชีวิตเช่นกัน[1][2]

ลี, ชู และบุญเกิดถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2544 ซึ่งการประหารชีวิตดังกล่าวได้กระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน[3][4][5]

ประวัติ

[แก้]

ลี ยวน กวง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2496 ที่บริติชฮ่องกง ส่วนชู ชิน ก้วย เกิดเมื่อ พ.ศ. 2510 ที่สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยเขาถือสัญชาติเมียนมา ต่อทั้งสองได้ร่วมกันค้าสารเสพติด โดยซื้อเฮโรอีนจากสามเหลี่ยมทองคำมาจำหน่ายในฮ่องกง[6] ต่อมาทั้งสองได้เสนอค่าจ้างให้บุญเกิด จิตปราณี เพื่อทำหน้าที่ขับรถขนส่งสารเสพติด บุญเกิดตกลงรับงานดังกล่าวและทำหน้าที่เป็นคนขับรถขนส่งยาเสพติดให้กับทั้งสอง[7]

การจับกุม

[แก้]
ห้องโถงรับแขกชั้นล่างของโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สถานที่ที่อัลเบิร์ตพานายโจไปพบกับลี ยวน กวง

วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2536 เจ้าหน้าที่สำนักงานปราบปรามยาเสพติด ซึ่งใช้ชื่อสมมติว่านายโจได้รับการติดต่อจากพ่อค้ายาเสพติดชื่ออัลเบิร์ต[8]

ในเวลา 19.00 น. โจได้ไปพบอัลเบิร์ตที่โรงแรมดุสิตธานี อัลเบิร์ตบอกว่าเขารู้จักกับพ่อค้ายาเสพติดซึ่งต้องการส่งเฮโรอีนจำนวนมากยังประเทศไต้หวัน อัลเบิร์ตถามโจว่า โจจะขนเฮโรอีนให้พ่อค้ายาเสพติดคนดังกล่าวหรือไม่ โจตอบตกลงแต่ขอพบพ่อค้ายาเสพติดคนดังกล่าวก่อน อัลเบิร์ตจึงพาโจไปหาลี ยวน กวง ที่โถงรับแขกของโรงแรมแอมบาสเดอร์ แต่บริเวณดังกล่าวมีคนพลุกพล่านจึงย้ายไปตกลงกันที่ห้องอาหารบางกะปิเทลเรสของโรงแรม โดยมีอัลเบิร์ตทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษา โจได้ตกลงว่าจะขนเฮโรอีนน้ำหนัก 35 กิโลกรัม ไปยังประเทศไต้หวัน ลีสัญญาว่าจะให้ค่าจ้างจำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ[9][10]

วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ลีได้ติดต่อโจให้ไปพบที่ห้องอาหารของโรงแรมในเวลา 11.00 น. เมื่อโจเดินทางไปถึง โจได้พบกับลี ยวน กวง และชู ชิน ก้วย ต่อมาทั้งสองได้บอกให้โจไปรับเฮโรอีนที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ 3 ถนนรามคำแหง ทั้งหมดได้เดินทางไปยังห้างสรรสินค้าด้วยรถแท็กซี่ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบได้ปลอมตัวเป็นคนขับรถแท็กซี่ เมื่อเดินทางไปถึง ชูได้แวะพูดคุยบุญเกิดและให้โจกับลีรอในห้าง ต่อมาบุญเกิดกับชูได้เดินเข้ามารวมกลุ่ม ลีกับชูจึงให้โจตามบุญเกิดไปตรวจสอบเฮโรอีนที่ลานจอดรถ ส่วนลีกับชูจะนั่งรอภายในห้าง เมื่อโจไปถึงรถกระบะมิซูบิชิซึ่งจอดที่ลานจอดรถด้านหลังห้าง บุญเกิดได้ให้โจตรวจสอบเฮโรอีนในกระเป๋าเดินทางที่เบาะหลัง เมื่อโจเปิดกระเป๋าพบเฮโรอีนจำนวนมาก โจจึงส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเข้าจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมบุญเกิดได้ที่ลานจอดรถ ส่วนลีกับชูได้แยกย้ายกันหลบหนี ชูสามารถนั่งรถแท็กซี่หลบหนีออกไปได้[11][10] แต่ลีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมไว้ได้ จากการตรวจค้นรถกระบะพบเฮโรอีน ตราสิงโตเกาะลูกโลกเบอร์ 999 จำนวน 100 แท่ง มีน้ำหนักรวม 34,589 กรัม มูลค่าประมาณ 7 ล้านบาท[12]

จากการสอบสวน บุญเกิดได้ยอมรับว่าคนเองเป็นแค่คนขับรถส่งยาเสพติดเท่านั้น ไม่มีส่วนร่วมกับขบวนการค้ายาเสพติด เขาสารภาพว่าลีเป็นเจ้าของยาเสพติทั้งหมดโดยสั่งซื้อมาจากโรงงานผลิตเฮโรอีนในภาคเหนือ และลีสั่งให้นำมาส่งยังลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ 3  ถนนรามคำแหง เพื่อนำไปส่งขายต่อที่ตลาดในฮ่องกง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวทั้งสองไว้ดำเนินคดี[13]

ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมชูได้ที่ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขารัชดาภิเษก[14] จึงคุมตัวมาสอบสวนร่วมกับลี และบุญเกิด โดยทั้งสามได้ให้การปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวมาก่อน[10]

การพิจารณาคดี

[แก้]
ศาลอาญารัชดาสถานที่พิจารณาคดีทั้งสาม

วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2540 ศาลอาญารัชดามีคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าทั้งสามมีความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดประเภทที่ 1 เพื่อจำหน่าย โดยมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 20 กรัมขึ้นไป โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ทำลายสภาพสังคม,เศรษฐกิจ ถือเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติ จึงมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิตลี ,ชู และบุญเกิด พร้อมกับริบเฮโรอีนของกลาง หลังจากนั้นได้ส่งตัวทั้งสามจากฑัณฑสถานบำบัดพิเศษบางเขนมายังเรือนจำกลางบางขวาง[15][16]

ทั้งสามได้ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2540 ต่อมาในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2541 ศาลอุทธรณ์ได้นัดฟังคำพิพากษา และได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2541 โดยมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตทั้งสาม ทั้งสามจึงใช้สิทธิ์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2541 ต่อมาในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2542 ศาลฎีกาได้พิพากษายืนประหารชีวิต[17] ทั้งสามจึงทำหนังสือถวายฎีกาทูลเกล้า แต่ก็ถูกยกฎีกา[10][18]

การประหารชีวิต

[แก้]
เรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทั้งสามถูกคุมขังตั้งแต่ถูกศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิตจนกระทั่งการประหารชีวิต

วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2544 เวลา 16.10 น. เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงของเรือนจำได้เบิกตัวลี, ชู, บุญเกิด, วิเชียร แสนมหายักษ์ และรอมาลี ตาเย๊ะ ออกจากแดนที่คุมขังภายในเรือนจำกลางบางขวาง[19][20]   หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงได้นำตัวของนักโทษทั้ง 5 คนมายังหมวดผู้ช่วยเหลือฯ ระหว่างเดิน ลีได้ขอบุหรี่จากเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยง โดยสูบแบบมวนต่อมวน[15]

เมื่อถึงหมวดผู้ช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง ได้เข้าไปพิมพ์ลายนิ้วมือของทั้งห้าคน ระหว่างพิมพ์ลายนิ้วมือ ลีกับชูได้ขอบุหรี่สูบและคุยกันเป็นภาษาจีน ส่วนบุญเกิดขอน้ำเย็นดื่มเมื่อเจ้าหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือของเสร็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ได้เข้ามาทำการตรวจสอบประวัติบุคคล[10]

หลังจากตรวจสอบประวัติบุคคล เวรผู้ใหญ่ได้เข้าทำการอ่านคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรีและให้เซ็นลงในคำสั่ง ถัดจากนั้นได้ให้นักโทษทั้งหมดเขียนพินัยกรรมและจดหมาย ลีกับชูได้เขียนจดหมายจำนวน 2 ฉบับและฝากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนช่วยเป็นธุระจัดส่งให้ถึงสถานทูตฮ่องกงกับสถานทูตไต้หวัน [21][10]

เวลา 17.40 น. พี่เลี้ยงได้ยกอาหารมื้อสุดท้ายมาได้แก่ แกงเขียวหวานไก่, ต้มจืดเต้าหู้, แกงสับปะรดหอยแมลงภู่ และข้าวมันไก่ทอด แต่นักโทษทุกคนได้ปฏิเสธที่จะรับประทานอาหารมื้อสุดท้าย โดยขอน้ำเย็นดื่มเท่านั้น ถัดจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวลี,ชู,บุญเกิดและวิเชียรไปฟังเทศน์จากพระสงฆ์ที่ห้องเยี่ยมสำหรับทนาย ส่วนรอมาลีซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม เจ้าหน้าที่ได้ให้รอมาลีละหมาดอยู่ที่หมวดผู้ช่วยเหลือ หลังจากฟังเทศน์เสร็จ ในเวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงได้นำตัวของลีไปประหารชีวิตก่อนเป็นคนแรก[10][22]

ลีเดินตัวตรง ตาขวาง โดยสามารถควบคุมสติได้ดีเมื่อลีเดินผ่านศาลาเฉลิมพระเกียรติ ได้มีนักข่าวจำนวนมากถ่ายรูปเขา เขาจึงยิ้มให้ช่างภาพ[23] เมื่อถึงศาลาเย็นใจเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงได้ให้เขานั่งบนเก้าอี้ขาว หยิบดอกไม้ธูปเทียนส่งให้ แล้วนำผ้าดิบผูกตา แล้วประคองตัวเขาเข้าไปยังสถานที่หมดทุกข์ ถัดจากนั้นได้นำตัวเขามัดกับหลักประหาร[24][25][15][10]

หลังจากที่ธงแดงสะบัดลง เชาวน์เรศน์ จารุบุศย์ เพชฌฆาต ได้เหนี่ยวไกปืนเฮคแลร์อุนด์คอค เอ็มเพ5โดยใช้กระสุนจำนวน 8 นัด โดยทำการประหารชีวิตเขาเมื่อเวลา 17.50 น. แต่เขายังไม่เสียชีวิตพร้อมกับส่งเสียงครางเป็นภาษาจีนและสะบัดหัวไปมา เชาวน์เรศน์ จารุบุศย์จึงยิงชุดที่ 2 โดยใช้กระสุนปืนจำนวน 7 นัด และเขาก็เสียชีวิต[26][10]

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงได้รับตัวชู และบุญเกิดมายังศาลาเย็นใจเพื่อทำการประหารชีวิตเป็นชุดที่สอง ขณะเดินบุญเกิดได้พนมมือไหว้สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่เรือนจำไปตลอดทาง[15]

เมื่อนำตัวชูและบุญเกิดถึงศาลาเย็นใจ อรรถยุทธได้ส่งดอกไม้ธูปเทียนให้ทั้งสอง เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงได้ผูกตาทั้งสองและนำตัวเข้าสู่สถานที่หมดทุกข์แล้วนำชูไปมัดกับหลักประหารหลักที่ 1 ส่วนบุญเกิดมัดกับหลักประหารหลักที่ 2 ทั้งสองถูกประหารชีวิตเมื่อเวลา 18.13 น. ชูถูกประหารชีวิตโดยเพชฌฆาตเชาวเรศน์ จารุบุณย์ โดยใช้กระสุน 11 นัดสำหรับชู บุญเกิดถูกประหารชีวิตโดยเพชฌฆาตพิทักษ์ เนื่องสิทธะ ใช้กระสุนจำนวน 9 นัดสำหรับบุญเกิด โดยทั้งสองเสียชีวิตจากการยิงเพียงชุดเดียว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงได้นำตัววิเชียร และรอมาลีมาประหารชีวิตเป็นชุดสุดท้าย[27][28][29][30]

ลีนับเป็นชาวฮ่องกงคนแรกที่ถูกประหารชีวิตโดยประเทศไทยในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่การประหารชีวิตนายปังจอง แซ่อึ้ง หรือ อึ้งปังจอง, พังฉ่าง ผู้ค้ายาเสพติดชาวฮ่องกง เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ซึ่งถูกประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจมาตรา 27 ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 จากการร่วมกับพวกขนเฮโรอีน,มอร์ฟีน และฝิ่นสุกจำนวนมาก จากบริติชฮ่องกงมายังประเทศไทยเพื่อเตรียมนำขึ้นเรือประมงขนส่งออกนอกประเทศ[31]

ภายหลังการประหารชีวิต

[แก้]

การประหารชีวิตครั้งดังกล่าวได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มสิทธิมนุษย์ชน โดยมีองค์กรเอกชนจำนวน 16 องค์กรได้ประณามการประหารชีวิตในครั้งนี้[32][33][34]

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภา กล่าวว่า "ผมไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิต ผมขอเสนอให้รัฐบาลจัดการลงประชามติเพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เพื่อดูว่าการประหารชีวิตซึ่งเป็นที่พูดถึงกันมากเช่นนี้ ซึ่งปฏิบัติต่อมนุษย์เหมือนสัตว์ เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่"[35] [36]

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ประนามการประหารชีวิตว่าเป็นเรื่องอื้อฉาวที่รัฐบาลทักษิณชุดใหม่แสดงจุดยืนอันแข็งกร้าวในการต่อต้านยาเสพติดด้วยการประหารชีวิตผู้คน[37]

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง วุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ควรยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันและปราบปรามการค้ายาเสพติด เขากล่าวว่า “โทษจำคุกตลอดชีวิตก็เพียงพอแล้ว หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่ใช่การฆ่า (ผู้ค้ายาเสพติด) แต่คือการช่วยฟื้นฟูพวกเขา”[38]

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกรณีนักสิทธิมนุษย์ชนไม่พอใจต่อการประหารชีวิตว่า"ประเทศสหรัฐก็มีโทษประหารเหมือนกัน และประหารอยู่เรื่อยๆ ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องประหารชีวิตผู้ค้ายาเสพติดต่อไปอีกเพราะทำลายอนาคตเยาวชนของชาติ จึงต้องได้รับสาสมกัน"[39][40][41]

พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวถึงการประหารชีวิตนักโทษยาเสพติดที่บางฝ่ายเห็นว่ารุนแรงเกินไปว่า"ถือเป็นประเด็นสังคมที่ไม่มีสูตรสำเร็จว่าถูกหรือผิด สิ่งที่ลงโทษเป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่ รวมทั้งขณะนี้บ้านเมืองเผชิญกับปัญหายาเสพย์ติดรุนแรง เราก็ต้องดำเนินหลายมาตรการหลายด้านเพื่อหยุดยั้งให้ได้ ส่วนคนท่าผิดจะได้ตระหนักเกรงกลัวไม่กล้ากระทำผิดกันอีก[42]"

ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวว่า "การเชิญสื่อมวลชนเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้ถึงโทษภัย และเป็นหลักของวิชาการมีอยู่ด้วยกัน 2 ด้าน คือการป้องปรามกับมุ่งกระทำโดยตรงต่อผู้กระทำผิด ส่วน กรณีมีข่าวการยกเลิกสิทธิยื่นฎีกาของนักโทษประหารในคดียาเสพติด เรื่องนี้ยังไม่มีการพูดถึงในคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ไม่ทราบว่าข่าวออกมาได้อย่างไร ที่จริงเรื่องนี้ไม่ควรจะพูดถึงหรือเสนอข่าวนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของพระราชอ๋านาจที่เราไม่ควรไป ก้าวก่ายแต่อย่างใด ตนขอยืนยันว่าในคณะทำงานว่าไม่เคยมีการพูดถึงประเด็นนี้"[43]

บรรณานุกรม

[แก้]
  • สื่อลำดับที่ 9 เรื่องสู่แดนประหาร รายการตามล่าหาความจริง
  • อรรถยุทธ พวงสุวรรณ (2565). คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร. กรุงเทพ: เพชรประกาย. ISBN 9786165786645.
  • เชาวเรศน์ จารุบุณย์ (2549). เพชฌฆาตคนสุดท้าย. กรุงเทพ: ดอกหญ้ากรุ๊ป,. ISBN 9789749244463.{{cite book}}: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)

อ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2536 หน้าที่16
  2. หนังสือพิมพ์The nation ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้าที่2A
  3. "Rights groups condemn Thai executions". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-01-18. สืบค้นเมื่อ 2024-09-06.
  4. Thai executions condemned
  5. 93% of Thai people want to see the death penalty put to use to curb shocking murders and drug gangs
  6. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 7 December 1993. p. 16. {{cite news}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  7. หนังสือพิมพ์ The nation ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้าที่2A
  8. หนังสือพิมพ์The nation ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้าที่2A
  9. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๖/๒๕๔๒
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 10.6 10.7 10.8 คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร, p. 309-323
  11. หนังสือพิมพ์The nation ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้าที่ 2A
  12. หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้า11
  13. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2536 หน้า16
  14. หนังสือพิมพ์The nation ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้าที่ 2A
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 เพชฌฆาตคนสุดท้าย p. 149-156
  16. หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้า11
  17. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๖/๒๕๔๒
  18. Three convicted drug traffickers and producers, two
  19. สกู๊ปของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544:ประหารหนทางที่ไม่ล้าสมัย หน้า 2
  20. หนังสือพิมพ์Bankok post ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้าที่2A
  21. เพชฌฆาตคนสุดท้าย p. 149-156
  22. หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้า14
  23. หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้า 11
  24. Eyewitness: Thailand's public executions
  25. หนังสือพิมพ์The Bankok post ฉบับวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้าแรก
  26. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2544 หน้า 12
  27. หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้า 9
  28. หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้า 20
  29. The government executed five condemned prisoners, four
  30. Eyewitness: Thailand's public executions
  31. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2521 หน้า 20
  32. Thai executions condemned
  33. "Rights groups condemn Thai executions". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-01-18. สืบค้นเมื่อ 2024-09-06.
  34. Human rights groups in Thailand started a petition...
  35. "Rights groups condemn Thai executions". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-01-18. สืบค้นเมื่อ 2024-09-06.
  36. [1]
  37. "Thai executions condemned". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-01-18. สืบค้นเมื่อ 2024-09-06.
  38. Senator Chirmsak Pinthong said that capital
  39. หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้า 14
  40. "Rights groups condemn Thai executions". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-01-18. สืบค้นเมื่อ 2024-09-06.
  41. Amnesty activists should consider the dangers of drugs
  42. หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้า 14
  43. หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2544 หน้า 14
ก่อนหน้า
สมคิด นามแก้ว
บุคคลที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในประเทศไทย
ลี ยวน กวง, ชู ชิน ก้วย, บุญเกิด จิตปราณี, วิเชียร แสนมหายักษ์ และรอมาลี ตาเย๊ะ
ถัดไป
สุชาติ ท้าวคำหลง

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]