ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ลิ้มกอเหนี่ยว)
ศาลเจ้าเล่งจูเกียงในจังหวัดปัตตานี ซึ่งมีการบูชาเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

ลิ้มกอเหนี่ยว (จีน: 林姑娘; แปลตรงตัว: "พรหมจารีหลิน")[1] หรือ ลิ้มโกวเนี้ย ตามสำเนียงแต้จิ๋ว เป็นเทพที่ชาวจีนในภาคใต้ของประเทศไทยสักการะ กล่าวกันว่า เธอเป็นน้องสาวของลิ้มโต๊ะเคี่ยม โดยเธอฆ่าตัวตายหลังไม่สามารถเกลี้ยกล่อมให้พี่ชายกลับบ้านได้ และต่อมาถูกบูชาเป็นเทพีของชุมชนจีนในภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อแสดงถึงความกตัญญูและความรู้สึกรักชาติต่อประเทศจีน ในจังหวัดปัตตานีมีศาลเจ้าเล่งจูเกียงและพิพิธภัณฑ์ที่อุทิศแด่ตัวเธอ[2]

ตำนาน

[แก้]

กล่าวกันว่า ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นน้องสาวของลิ้มโต๊ะเคี่ยม ผู้เป็นโจรสลัดในจีนราชวงศ์หมิงที่ตั้งถิ่นฐานในอาณาจักรปาตานีในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ไม่มีใครรู้ว่าเธอมีตัวตนจริงหรือไม่ และชื่อเธอก็ไม่กระจ่างพอ (กอเหนี่ยว แปลว่า "พรหมจารี" หรือ "หญิงสาว") ข้อมูลบางส่วนอ้างว่า เธอมีชื่อว่าสี่เจิน (慈貞) แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมออกจากไต้หวันบันทึกชื่อเธอเป็นจินเหลี่ยน (金蓮)[3] ตามตำนาน เมื่อแม่เธอป่วย ลิ้มกอเหนี่ยวจึงตามหาลิ้มโต๊ะเคี่ยม โดยสาบานว่าจะไม่กลับมาจนกว่าจะนำเขากลับมา เธอพบลิ้มโต๊ะเคี่ยมที่ปาตานี โดยเขาแต่งงานกับพระราชธิดาของสุลต่าน เข้ารับอิสลาม และกำลังสร้างมัสยิดให้ราชินี แต่เขาไม่ยอมกลับบ้าน นั่นทำให้เธอฆ่าตัวตายโดยการแขวนคอบนต้นมะม่วงหิมพานต์[1][4] ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต เธอสาปให้มัสยิดที่พี่สร้าง (เชื่อว่าเป็นมัสยิดกรือเซะ) ไม่มีวันเสร็จ ด้วยความอาลัย ชาวจีนท้องถิ่นยุคหลังได้สร้างรูปสลักจากต้นไม้ที่เธอแขวนคอ สร้างศาลเจ้าขนาดเล็ก และสักการะเธอเพื่อแสดงถึงความกตัญญูและความรู้สึกรักชาติต่อประเทศจีน[3]

กล่าวกันว่า พี่ชายของเธอสร้างสุสานใกล้กับมัสยิดกรือเซะใน ค.ศ. 1574 แต่จริง ๆ มันอาจถูกสร้างในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20[5][3] เชื่อกันว่า ที่ฝังศพของเธอจริง ๆ อยู่ริมท่าเรือ ซึ่งถูกน้ำทะเลท่วมแล้ว ทำให้ต้องย้ายสุสานไปตั้งข้างมัสยิดกรือเซะในช่วง ค.ศ. 1919[6]

การสักการะ

[แก้]
ศาลเจ้าที่ถูกจัดเตรียมสำหรับงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

เดิมทีรูปเคารพเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวตั้งอยู่ในศาลเจ้าขนาดเล็กใกล้มัสยิดกรือเซะ[6] ก่อนเคลื่อนย้ายไปที่ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (靈慈宮) ซึ่งศาลเจ้านี้เคยมีชื่อว่าศาลเจ้าจ้อซูก้ง (祖師公祠) ที่อุทิศแด่เฉ่งจุ้ยจ้อซู มีบันทึกในศาลเจ้าว่า มีศาลเจ้านี้ในกัวลาเบอกะฮ์แห่งปาตานีใน ค.ศ. 1547 ด้วย โดยเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดที่อุทิศให้กับปรมาจารย์เฉ่งจุ้ยเท่าที่รู้จักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[7][8] กล่าวกันว่า ผู้นำจีนชื่อว่า หลวงจีนคณานุรักษ์ ตกแต่งศาลเจ้าใหม่และย้ายรูปแกะสลักของลิ้มกอเหนี่ยวมาที่นี่ใน ค.ศ. 1879[9] หลังย้ายรูปเคารพมาแล้ว ศาลเจ้านี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเล่งจูเกียง แต่คนทั่วไปเรียกว่าศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ในศาลเจ้านี้ยังมีเทพเจ้าองค์อื่นที่ได้รับสักการะด้วย เช่นม่าจ้อโป๋และฝูเต๋อเจิ้งเชิน ต่อมามีการปรับปรุงศาลเจ้านี้บางส่วนใน ค.ศ. 1912 และ ค.ศ. 1969[3]

ศาลเจ้าอื่นที่อุทิศแด่ลิ้มกอเหนี่ยวมีอยู่ในย่านจังหวัดสงขลาและจังหวัดยะลา และมีการสักการะตัวเธอในบางเมืองในภาคกลางและภาคใต้ตอนบน[6] การสักการะลิ้มกอเหนี่ยวเริ่มเผยแผ่นอกพื้นที่ปัตตานีในคริสต์ทศวรรษ 1950[3] และศาลเจ้าในปัตตานีกลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่มาจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา[5]

เทศกาล

[แก้]

งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจัดขึ้นทุกปีที่จังหวัดปัตตานี โดยเริ่มต้นในวันปีใหม่จีนในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี ต่อมาในวันที่ 15 ชาวบ้านจะยกภาพไม้ของลิ้มกอเหนี่ยวกับเทวรูปอื่น ๆ 17 รูปในศาลเจ้าเป็นขบวนใหญ่ ให้ผู้คนในย่านต่าง ๆ สักการะ[10] ภาพเหล่านี้จะถูกยกข้ามแม่น้ำปัตตานีผ่านการแช่ในน้ำ และในวันต่อมา ผู้ที่ถือก็จะเดินลุยไฟ[9][11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Bougas, Wayne (1990). "Patani in the Beginning of the XVII Century". Archipel. 39: 133. doi:10.3406/arch.1990.2624.
  2. "Mystical ties". Bangkok Post. 28 February 2019.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Mitsuko, Tamaki (December 2007). "The prevalence of the worship of Goddess Lin Guniang by the ethnic Chinese in southern Thailand" (PDF). G-SEC Working Paper. 22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-01-24. สืบค้นเมื่อ 2021-06-20.
  4. "ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว". Pattani Heritage City.
  5. 5.0 5.1 Anthony Reid (30 August 2013). Patrick Jory (บ.ก.). Ghosts of the Past in Southern Thailand: Essays on the History and Historiography of Patani. NUS Press. pp. 7–8. ISBN 978-9971696351.
  6. 6.0 6.1 6.2 Pattana Kitiarsa (บ.ก.). Religious Commodifications in Asia: Marketing Gods. Routledge. p. 103-105. ISBN 9781134074457.
  7. "福建民間信仰的重要組成部分". kknews. 3 August 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-24. สืบค้นเมื่อ 2021-06-20.
  8. Bougas, Wayne (1990). "Patani in the Beginning of the XVII Century". Archipel. 39: 129. doi:10.3406/arch.1990.2624.
  9. 9.0 9.1 "Destination of deities". Nation Thailand. 22 February 2019.
  10. "Southerners recall sad legend of Lim Ko Niao Thailand". Nation Thailand. 7 February 2020.
  11. "Lim Ko Niao festival in Pattani: The power of faith". Sawasdee. 17 January 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-24. สืบค้นเมื่อ 2021-06-20.