เฉ่งจุ้ยจ้อซู
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/8d/2014-04-16_%E6%AD%A3%E5%BE%B7%E5%AE%AE%E6%B8%85%E6%B0%B4%E7%A5%96%E5%B8%AB%E5%85%AC.jpg/220px-2014-04-16_%E6%AD%A3%E5%BE%B7%E5%AE%AE%E6%B8%85%E6%B0%B4%E7%A5%96%E5%B8%AB%E5%85%AC.jpg)
เฉ่งจุ้ยจ้อซู หรือสำเนียงมาตรฐานว่า ชิงสุ่ยจู้ชือ (จีน: 清水祖師; พินอิน: Qīngshuǐ zǔshī; เป่อ่วยยี: Chheng-chúi-Chó͘-su; ค.ศ. 1047-1101) คนฮกเกี้ยนนิยมขนาดนามแบบลำลองว่า จ้อซูก้ง (จีน: 祖師公; เป่อ่วยยี: Chó͘-su-kong), มีนามเดิมว่า ตันเจียวเอ็ง (จีน: 陳昭應; เป่อ่วยยี: Tân Chiau-èng) เป็นภิกษุชาวจีน เกิดสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือช่วงรัชกาลจักรพรรดิซ่งเหรินจง ณ ตำบลอันเค๊ เมืองจวนจิว มณฑลฮกเกี้ยน กล่าวกันว่าเขาได้รับพลังเหนือธรรมชาติผ่านทักษะในการเรียนรู้และให้โอวาสในธรรมและทำสมาธิ[1] ทำให้เขาสามารถช่วยเมืองอันเค๊ในฤดูแล้งด้วยการเดินทางนำฝนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง นั่นทำให้ชาวบ้านสร้างศาลเจ้าไว้บูชาเขา และทำให้เขาได้รับสถานะเทพในศาสนาชาวบ้านจีน[2]
ประวัติ
[แก้]เฉ่งจุ้ยจ้อซูเกิดในปี ค.ศ. 1045 ตรงกับสมัยราชวงศ์ซ่ง ในตำบลเอ้งชุน เฉวียนโจว มณฑลฮกเกี้ยน เมื่ออายุได้ 7 ปี ได้บวชเป็นสามเณร ได้รับสมณนามว่า"พ้อจก" ต่อมาได้ศึกษาธรรมะและปฏิบัติวิปัสสนาเป็นเวลา 3 ปี ภายใต้การดูแลของอาจารย์หมิงฉาน ที่ภูเขาต้าจิ้ง และหลังจากนั้นท่านได้กลับไปที่ภูเขากาวไท่ เพื่อส่งเสริมการสร้างสะพานหลายสิบแห่ง ท่านย้ายไปอาศัยที่อารามหม่าเจียง และจัดพิธีทางศาสนาหลายครั้งเพื่อขอฝนและปัดเป่าภัยพิบัติ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกศรัทธาและเรียกท่านว่า "ม่าเจียงส่งหยิน" ท่านเดินทางไปเยี่ยมชมภูเขาที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง และในที่สุดก็ตั้งรกรากอยู่ที่เอ้งชุน ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการปฏิบัติธรรมและความเคร่งครัดในฮกเกี้ยน
ในปี ค.ศ. 1083 ในช่วงยุคของจักรพรรดิซ่งเฉินจง (宋神宗) หลิวกงรุ่ยซึ่งนับถือในความสามารถของท่าน ได้เชิญท่านมายังอำเภออันเค๊ ในมณฑลฮกเกี้ยนเพื่อขอฝน ซึ่งสำเร็จด้วยดี ชาวบ้านจึงอยากให้ท่านอยู่ต่อ หลิวกงรุ่ยจึงบริจาคที่ดินจำนวนมาก ในสถานที่ที่เรียกว่าจางเหยียน บนภูเขาเผิงไหล เพื่อสร้างอาราม และเนื่องจากน้ำพุที่จางเหยียนมีน้ำใสอยู่ตลอดเวลา ท่านจึงได้เปลี่ยนชื่อจากจางเหยียน(張巖)เป็นชิงสุ่ยเหยียน(清水岩) อารามดั้งเดิมที่ชิงสุ่ยเหยียนนั้นเป็นเพียงอารามไม้ไผ่ และด้วยการสนับสนุนของศิษย์เช่น หยางเต้าและโจวหมิง ท่านได้ขยายและพัฒนาเป็นวัดในที่สุด
เฉ่งจุ้ยจ้อซูมีความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อสาธารณะเสมอ โดยได้ระดมเงินเพื่อสร้างสะพานและถนนมากมาย ตลอดชีวิตของท่านได้สร้างสะพานหลายสิบแห่ง อีกทั้งยังมีความชำนาญในการแพทย์ มักจะแจกจ่ายยาเพื่อช่วยเหลือประชาชน ไม่เฉพาะในฉวนโจวแต่ครอบคลุมไปถึงเมืองต่างๆในมณฑลฮกเกี้ยน ผู้คนต่างเคารพนับถือท่านเป็นอย่างมาก
ในปี ค.ศ. 1101 ปีแรกของสมเด็จพระจักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง เฉ่งจุ้ยจ้อซูได้ละสังขารที่ชิงสุ่ยเหยียน ชาวบ้านตำบลอันเค๊รู้สึกทราบซึ้งใจกับการทำคุณประโยชน์ของท่านตลอดชีวิต ได้ร่วมมือกันนำหินมาสร้างเจดีย์ดอกบัวเพื่อบรรจุพระอัฐิของท่าน ซึ่งมีชื่อว่า "เจดีย์เจินคง"(真空塔) อีกทั้งยังแกะสลักรูปท่านด้วยไม้จันทร์หอมในศาลาที่ชิงสุ่ยเหยียน ทำให้ศาลเจ้าแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ที่บูชาเฉ่งจุ้ยจ้อซู นับจากนั้นเป็นต้นมา เฉ่งจุ้ยจ้อซูกลายเป็นเทพเจ้าท้องถิ่นที่ชาวบ้านเขตอันเค๊ให้ความเคารพมากที่สุด
ศาลเจ้าในประเทศไทย
[แก้]![]() | ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
- ศาลเจ้าโจวซือกง (จีน: 順興宮) : กรุงเทพมหานคร
- ศาลเจ้าฮกหงวนก้ง (จีน: 福元宮) : ภูเก็ต
- ศาลเจ้าฮุนจ้งอ้าม (จีน: 雲從庵) : ภูเก็ต
- ศาลเจ้ายกเค้เก้ง (จีน: 玉溪宮) : ภูเก็ต
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Tan, Chee Beng (2006). Southern Fujian: reproduction of traditions in Post-Mao China. Chinese University of Hong Kong. p. 125. ISBN 9789629962333.
- ↑ "Chin Swee Caves Temple - The Founder". chinswee.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-26. สืบค้นเมื่อ 2021-01-03.