มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตราชบุรี
บทความนี้คล้ายโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์
วิกิพีเดียมิใช่ช่องทางการสื่อสารการตลาดของหน่วยธุรกิจใด ๆ กรุณาเขียนใหม่ด้วยมุมมองที่เป็นกลาง และนำแหล่งข้อมูลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องออก |
ตราพระมหาพิชัยมงกุฏ สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย | |
ชื่อย่อ | มจธ.ราชบุรี / KMUTT RC |
---|---|
คติพจน์ | The trained man wins ทนโต เสฏโฐ มนุสเสสุ (ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ฝึกตนดีแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด) |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ |
สถาปนา | 2556 |
อธิการบดี | รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย[1] |
รองอธิการบดี มจธ.ราชบุรี | อ.ธนิตสรณ์ จิระพรชัย |
ที่อยู่ | |
ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย | ดอกธรรมรักษา |
สี | |
เว็บไซต์ | ratchaburi.kmutt.ac.th |
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี หรือ มจธ. (ราชบุรี) เป็นหนึ่งในพื้นที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณประโยชน์ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ณ บ้านรางดอกอาว ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,117 ไร่ มหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการให้คำปรึกษาแผนแม่บท และร่วมวางแนวคิดหลัก[2]
ประวัติ
[แก้]ในปี 2537 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้แสวงหาที่ดินใหม่เพื่อขยายวิทยาเขตการศึกษาตามนโยบายของทบวงมหาวิทยาลัย โดยที่ดินใหม่ควรมีเนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ เพื่อพัฒนาให้เป็นวิทยาเขตที่มีลักษณะเป็นเมืองมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย
- สถานที่เรียนและวิจัย
- สถานที่ทำสวนอุตสาหกรรม
- โรงเรียนและโรงพยาบาล
- ที่พักอาศัยของอาจารย์และนักศึกษา
- แปลงทดลองสำหรับงานด้านเกษตรกรรมเพื่ออุตสาหกรรม งานด้านทรัพยากร ชีวภาพและเครื่องจักรกลเกษตร
- สวนที่แสดงความหลากหลายทางชีวภาพ และสวนธรรมชาติ
- ที่พักผ่อนและเล่นกีฬา
- อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
มหาวิทยาลัยฯได้พิจารณาที่ดินในจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดราชบุรี ในที่สุดเห็นว่า จังหวัดราชบุรีมีความเหมาะสมมากที่สุดที่จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย เหตุผลเพราะระยะทางจากราชบุรีถึงที่ตั้งมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ห่างประมาณ 150 กิโลเมตร การเดินทางไม่ต้องผ่านตัวเมืองของกรุงเทพมหานคร ทำให้สะดวกในการเดินทาง และจังหวัดราชบุรียังมีบรรยายกาศที่ร่มรื่น สงบ สวยงาม
แต่เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้การก่อสร้าง มจธ.ราชบุรี ล่าช้าออกไป โดยระหว่างนี้มหาวิทยาลัยฯได้นำหลักสูตรวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิตและหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เปิดสอนให้กับประชาชนในพื้นจังหวัดราชบุรีและใกล้เคียงที่ศาลาประชาคม อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พื้นที่การศึกษาราชบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 209 หมู่ 1 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี บนทางหลวงหมายเลข 3087 ห่างจากอำเภอจอมบึงขึ้นไปทางอำเภอสวนผึ้ง 10 กิโลเมตร
ในปี 2553 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับการจัดสรรงบประมาณไทยเข้มแข็ง (SP2) จำนวน 500 ล้านบาท สร้างพื้นที่การศึกษาในมจธ. (ราชบุรี) เพื่อดำเนินการเปิดรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 ซึ่งมหาวิทยาลัยได้วางแผนแม่บท และออกแบบกลุ่มอาคารโดยใช้หลักการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รักษาต้นไม้และสภาพป่าที่มีอยู่ไว้ให้มากที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยของเสีย รวมถึงการร่วมกับชุมชนจัดทำเขตเมืองมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างให้เป็นพื้นที่การศึกษาสีเขียวและสะอาด (Green and Clean Campus) ตามมาตรฐานสากล ช่วยสร้างสภาพ แวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนการสอนและการวิจัยที่มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยของภูมิภาคตะวันตก เพื่อเป็นส่วนสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและสังคมที่อุดมสุขให้แก่ภูมิภาคนี้ โดยปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งแล้วเสร็จ จำนวน 17 หลัง มีพื้นที่ใช้สอยรวม 53,416.05 ตารางเมตร ประกอบด้วย
- อาคารเรียนรวม
- อาคารหอสมุดและสำนักงานผู้บริหาร
- อาคารปฏิบัติการ
- อาคารวิจัย
- อาคารหอประชุม
ในปี 2556 มจธ.ราชบุรีได้เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ โดยจัดการจัดการเรียนการสอนแบบ Residential College ของมหาวิทยาลัย Cambridge และ Oxford จากประเทศอังกฤษ ที่ให้นักศึกษาพักในมหาวิทยาลัย โดยที่มหาวิทยาลัยเป็นทั้งที่พัก และที่จัดการเรียนรู้ ดังนั้นนักศึกษาทุกคนที่ศึกษาอยู่ที่นี่จะต้องพักในที่พักของมหาวิทยาลัยเท่านั้น [3]
การศึกษา
[แก้]มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี เปิดสอนระดับปริญญาตรี ในปีการศึกษา 2566 เปิดรับ 4 หลักสูตร ได้แก่
- วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
- วิศวกรรมเครื่องกล
- วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
- วิศวกรรมระบบอัจฉริยะ
โดยนักศึกษาเรียนร่วมกันในวิชาพื้นฐาน และแยกการเรียนในวิชาเฉพาะทาง ซึ่งมีวิธีการจัดการเรียนการสอน 2 ขั้นตอน
- การเรียนในห้องใหญ่ ที่เน้นการบรรยายทางทฤษฎีโดยอาจารย์ผู้สอน
- การเรียนในห้องเล็กที่เป็นการทบทวนวิชาความรู้ และฝึกฝนผ่านการทำแบบฝึกหัด นักศึกษาจะมีโอกาสได้ซักถาม อภิปรายแสดงความคิดเห็นร่วมกับอาจารย์ในเนื้อหาวิชาที่นักศึกษาได้เรียนมาจากการเรียนในห้องใหญ่
ในหลักสูตรวิชาการนี้จะมีวิชาศึกษาทั่วไปมีรูปแบบการเรียนการสอนที่แตกต่างออกไป โดยเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ร่วมกับชุมชนรอบมหาวิทยาลัย และนำปัญหาของชุมชนมาขบคิดแก้ไขด้วยหลักวิศวกรรม
Residential College
[แก้]มจธ. (ราชบุรี) ได้จัดวิธีการเรียนการสอนที่เรียกว่า Residential College ที่เน้นการพัฒนา Soft Skill โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นการดำเนินการระยะที่ 2 รับนักศึกษาแบบพักอยู่ประจำ 120 คนต่อปี จัดการเรียนการสอนแบบโมดูลที่สร้างให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน จัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น กิจกรรมร่วมกันในช่วงเย็น ชมภาพยนตร์ ละคร เล่นดนตรี ฝึกกีฬา เป็นต้น โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดในแต่ละกลุ่มย่อย
การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแบบสังคม เป็นกิจกรรมสำคัญอีกหนึ่งอย่างของ Residential College ที่มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 2 ประการคือ การดูแลนักศึกษา และการจัดกิจกรรมร่วมกัน นักศึกษาจะถูกจัดเป็นกลุ่มเล็กประมาณ 10 คน มีอาจารย์พี่เลี้ยง 1 คนที่จะคอยดู ให้คำปรึกษาและเสริมสร้างประสบการณ์ด้านการใช้ชีวิต
การจัดกิจกรรมร่วมกันของนักศึกษาในรูปแบบสโมสร ชุมนุมกิจกรรมโดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาช่วยเสริมทักษะการเป็นผู้นำและการทำงานร่วมกันแบบเป็นทีมในการบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม รวมถึงกิจกรรมสันทนาการ เช่นการเล่นดนตรีและกีฬา รวมถึงการฟังปาฐกถาจากผู้รอบรู้ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อเสริมความรู้และประสบการณ์ชีวิตให้กับนักศึกษา[4]
หลักสูตรคู่ขนาน (Co-curriculum)
[แก้]นักศึกษา มจธ.ราชบุรี มีโอกาสเรียนวิชาในหลักสูตรคู่ขนาน (Co-curriculum) ตามความสนใจของนักศึกษา วิชาเหล่านี้จัดขึ้นโดยผู้สอนที่มีความชำนาญทั้งจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น การเขียนโปรแกรม MATLAB การฝึกฝนวิชาช่างใน Workshop และการเสริมความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ไปจนถึงวิชาที่เกี่ยวกับความบันเทิงและการพักผ่อน เช่นดนตรีไทย การวาดภาพ และการทำอาหาร[5]
พื้นที่มหาวิทยาลัย
[แก้]ภูมิทัศน์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี จากมุมมองหอพักนักศึกษา
|
อาคารหอสมุด
[แก้]-
“OASIS แห่งตะวันตก”
-
เคาน์เตอร์ยืม-คืน
-
พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้และที่พักคอย
-
Open Classroom and drawing
-
Study Booth และ Stage
-
Reading Zone
อาคารหอสมุด มีพื้นที่ทั้งหมด 1,063 ตารางเมตร
ภายในอาคารชั้นแรกจะพบกับบรรณารักษ์ที่คอยให้คำแนะนำและบริการยืมคืน ณ เคาน์เตอร์ยืม-คืน รวมทั้งมีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้และที่พักคอย
ชั้น 2 มี Open Classroom and drawing เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่แบบเปิดรองรับการเรียน การสอนหลากหลายรูปแบบพร้อมโต๊ะเขียนแบบสำหรับฝึกฝนทักษะเริ่มต้นของการเรียน และมีห้องเรียน/ติวกลุ่ม ขนาด 18-20 คน จำนวน 2 ห้อง
ชั้น 3 เป็นที่ให้สามารถเรียนรู้ร่วมกันเฉพาะกลุ่มแบบกึ่งปิดที่ Study Booth นอกจากนี้ยังมี Stage ที่เป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับการแสดงออกและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ห้องเรียน/ติวกลุ่ม จำนวน 4 ห้อง และหยุดนิ่ง อ่าน เขียน พักผ่อนกับความเงียบสงบเฉพาะตัวใน Reading Zone
หอพักนักศึกษา
[แก้]-
ภูมิทัศน์หอพักนักศึกษา โดยมีเขาสนอยู่ด้านหลัง
-
ถนนหน้าหอพักนักศึกษา
-
สภาพภายในห้องพักนักศึกษา
-
ห้องน้ำ ใน ห้องพักนักศึกษา
หอพักนักศึกษา ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย เป็นอาคารขนาด 4 ชั้น แต่ละอาคารประกอบด้วยหอพักหญิงและหอพักชายในอาคารเดียวกัน โดยภายในห้องพัก 1 ห้อง จะแบ่งเป็น ห้องพัก 2 ห้อง พักห้องละ 2 คน รวมเป็น 4 คน หอพักนักศึกษาเป็นผู้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องพัก อาทิ เตียงนอน ที่นอน ตู้เสื้อผ้า โต๊ะทำงาน เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น และราวตากผ้า
สิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคาร ประกอบด้วย Wi-Fi และ Lan, ห้องสมุด, กล้องวงจรปิด และอุปกรณ์ดับเพลิง มีเจ้าหน้าที่ รปภ. ตลอด 24 ชั่วโมง โดยการเข้า-ออกอาคารจะใช้บัตรนักศึกษาเป็นคีย์การ์ดในการผ่าน ซึ่งประตูทางเข้าหอพักหญิงและหอพักชายแยกจากกัน นอกจากนี้ยังมีห้องอุ่นอาหารและเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญอยู่ชั้นล่างของอาคาร
รมณียาคาร เป็นอาคารสำหรับให้บริการห้องพักรับรองแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัย และนักท่องเที่ยวทั่วไป เป็นห้องพักปรับอากาศ มีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบโรงแรม พักได้ 2 คน/ห้อง โดยไม่มีบริการอาหารเช้า[6]
งานวิจัยที่โดดเด่น
[แก้]ด้านผึ้งและต้นผึ้ง
[แก้]ด้านผึ้งและต้นผึ้ง ที่ดำเนินการภายใต้ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Native Honeybee and Pollinator Research Center: NHBEE) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานวิจัย 4 ส่วน คือ
- ส่วนที่ 1 ศึกษาพฤติกรรมผึ้ง ความหลากหลายของผึ้ง และปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผึ้งทางด้านเกษตรและการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ (climate change)
- ส่วนที่ 2 สร้างเครื่องมือที่มีชื่อว่า รังผึ้งฉลาด (smart hives) เพื่อศึกษาภาษาของผึ้งผ่านแอปพลิเคชัน bee connex โดยทำร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.
- ส่วนที่ 3 ใช้ประโยชน์จากผึ้งเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
- ส่วนที่ 4 สร้างน้ำผึ้งมูลค่าสูงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ จำหน่ายผ่านบริษัท beesanc ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับผลผลิตน้ำผึ้งของเกษตรกรที่ผ่านการอบรมจากทั่วประเทศไทย[7]
ด้านวัสดุทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
[แก้]ด้านวัสดุทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการภายใต้หน่วยวิจัยห้องปฏิบัติการนวัตกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมและวัสดุก่อสร้างอัจฉริยะ (Innovative Environmental Management and Smart Construction Materials: IEMLAB) ที่มีเป้าหมายเพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำของเหลือทิ้ง และของเสียจากภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมกลับมาใช้ใหม่ในรูปของวัสดุที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากของเสียภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม[8]
ด้านวัสดุและการทดสอบโดยไม่ทำลาย
[แก้]ด้านวัสดุและการทดสอบโดยไม่ทำลาย ที่ดำเนินการตามความเชี่ยวชาญของบุคลากร มจธ.(ราชบุรี) และตอบสนองความต้องการด้านอุตสาหกรรม ภายใต้หน่วยวิจัยวัสดุและการทดสอบโดยไม่ทำลาย (Materials and Nondestructive Testing Laboratory: MNDT)[9]
ด้านเกษตรแม่นยำ
[แก้]ด้านเกษตรแม่นยำ ที่ดำเนินการภายใต้ศูนย์วิจัยการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร (Center for Translational Agriculture Research: CTAR) ที่มีเป้าหมายเพื่อ
- ผลิตผลงานวิจัยและเผยแพร่ผลงานคุณภาพสูงในระดับนานาชาติ เกี่ยวกับปัจจัยการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้ปุ๋ยและน้ำของมันสำปะหลัง
เพื่อเพิ่มผลผลิตทั้งในระดับสรีรวิทยาและระดับสนาม
- ยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง
- เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยทางด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สร้างเครือข่ายวิจัย(Research Consortium) ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยกับชุมชน (KMUTT & Community Linkages Programs) เพื่อนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและประเทศ[10]
ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
[แก้]ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับเห็ด ผักกาด ขิง สับปะรด ว่างห่างจระเข้ และส่วนเหลือทิ้งทางการเกษตร[11]
วัสดุคาร์บอน ผลิตจากวัตถุดิบชีวมวล
[แก้]พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้น เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก การเพาะปลูกทำให้เกิดวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อย่างเช่น กะลามะพร้าว เหง้ามันสำปะหลัง ซังข้าวโพด เปลือกสับปะรด เปลือกทุเรียน เป็นต้น วัตถุดิบชีวมวลเหล่านี้บ้างถูกนำไปใช้ประโยชน์ บ้างถูกเผาทิ้งในพื้นที่การเกษตร เนื่องจากเกษตรกรบางกลุ่มอาจไม่ทราบวิธีการจัดการที่ถูกต้อง[12]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/001/T_0004.PDF
- ↑ "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี)". kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
- ↑ "รู้จัก RESIDENTIAL COLLEGE". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
- ↑ "รู้จัก RESIDENTIAL COLLEGE". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
- ↑ "รู้จัก RESIDENTIAL COLLEGE". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
- ↑ "หอพักศึกษา มจธ. ราชบุรี". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ด้านผึ้งและต้นผึ้ง". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
- ↑ "ด้านวัสดุทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
- ↑ "ด้านวัสดุและการทดสอบโดยไม่ทำลาย". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
- ↑ "ด้านเกษตรแม่นยำ". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
- ↑ "ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
- ↑ "วัสดุคาร์บอน ผลิตจากวัตถุดิบชีวมวล". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.[ลิงก์เสีย]