มหากัสสปโพชฌังคสุตตปาฐะ
มหากัสสปโพชฌังคสุตตปาฐะ เป็นบทสวดหนึ่งในบทสวดว่าด้วยโพชฌงค์ 7 หรือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มีเจ็ดอย่างคือ มีท้งหมดรวม 3 บทได้แก่ มหากัสสปโพชฌังคสุตตปาฐะ, มหาโมคคัลลานโพชฌังคสุตตปาฐะ, มหาจุนทโพชฌังคสุตตปาฐะ ทั้งหมดรวมอยู่ในภาณวารหรือหนังสือบทสวดมนต์หลวง
ที่มา
[แก้]มหากัสสปโพชฌังคสุตตปาฐะ นำมาจากพระสูตรในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ชื่อพระสูตรว่า คิลานสูตร (ที่ 1) ว่าด้วย "พระมหากัสสปหายอาพาธด้วยโพชฌงค์ 7"[1] บ้างก็เรียกว่า "ปฐมคิลานสูตร" หรือ "ปฐมคิลานสุตฺตํ"[2] สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้ที่ถ้ำปิปผลิคูหา อันเป็นที่พำนักของพระมหากัสสป โดยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จจากวัดเวฬุวันมหาวิหาร กลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์ เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ท่านพระมหากัสสปอาพาธไม่สบาย ซึ่งในอรรถกถาอธิบายว่าเป็น "ความป่วยไข้ที่เกิดแต่ความเย็นอ่อน ๆ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยการถูกต้องกับลมจากต้นไม้มีดอกเป็นพิษที่บานแล้ว ที่เชิงแห่งภูเขา" [3]
ทั้งนี้ พระมหากัสสปเถระ มีชื่อเดิมว่า ปิปผลิ ซึ่งเป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ แต่มักเรียกกันตามโคตรว่า กัสสปะ ด้วยเหตุนี้ถ้ำที่ท่านพำนักอยู่จึงได้ชื่อว่า ถ้ำปิปผลิคูหา อย่างไรก็ตาม ปิปฺผลิ ยังแปลว่าไม้เลียบหรือดีปลี ดังคำอธิบายในธัมมปทัฏฐกถา "ปิปฺผลิ แปลว่า ไม้เลียบหรือดีปลีรวมกับคูหาศัพท์ แปลว่า ถ้ำอันประกอบด้วยไม้เลียบ หรือดีปลี อีกนัยหนึ่ง ถ้ำนี้ พระมหากัสสปเถระอาศัยอยู่มากกว่าที่อื่น นามเดิมของพระเถระ ชื่อว่า ปิปผลิ ถ้าแปลมุ่งเอาชื่อพระเถระเป็นที่ตั้งแล้ว ก็แปลว่า ถ้ำเป็นที่อยู่ของพระปิปผลิ" [4]
เนื้อหา
[แก้]เอกํ สมยํ ภควา ราชคเห วิหรติ เวฬุวเน กลนฺทกนิวาเปฯ เตน โข ปน สมเยน อายสฺมา มหากสฺสโป ปิปฺปลิคุหายํ [วิปฺผลิคุหายํ (สี.)] วิหรติ อาพาธิโก ทุกฺขิโต พาฬฺหคิลาโนฯ อถ โข ภควา สายนฺหสมยํ ปฏิสลฺลานา วุฎฺฐิโต เยนายสฺมา มหากสฺสโป เตนุปสงฺกมิ; อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺญเตฺต อาสเน นิสีทิฯ นิสชฺช โข ภควา อายสฺมนฺตํ มหากสฺสปํ เอตทโวจ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปอาพาธไม่สบาย เป็นไข้หนัก อยู่ที่ปิปผลิคูหา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระมหากัสสปว่า
‘‘กจฺจิ เต, กสฺสป, ขมนียํ กจฺจิ ยาปนียํ? กจฺจิ ทุกฺขา เวทนา ปฏิกฺกมนฺติ, โน อภิกฺกมนฺติ; ปฏิกฺกโมสานํ ปญฺญายติ, โน อภิกฺกโม’’ติ? ‘‘น เม, ภเนฺต, ขมนียํ, น ยาปนียํฯ พาฬฺหา เม ทุกฺขา เวทนา อภิกฺกมนฺติ, โน ปฏิกฺกมนฺติ; อภิกฺกโมสานํ ปญฺญายติ, โน ปฏิกฺกโม’’ติฯ
ดูกรกัสสป เธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาคลายลง ไม่กำเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบขึ้นไม่ปรากฏแลหรือ? ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนัก ยังไม่คลายไป ความกำเริบขึ้นย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ.
‘‘สตฺติเม, กสฺสป, โพชฺฌงฺคา มยา สมฺมทกฺขาตา ภาวิตา พหุลีกตา อภิญฺญาย สโมฺพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตนฺติฯ กตเม สตฺต?’’
ดูกรกัสสป โพชฌงค์ 7 เหล่านี้ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โพชฌงค์ 7 เป็นไฉน?
สติสมฺโพชฺฌงฺโค โข, กสฺสป, มยา สมฺมทกฺขาโต ภาวิโต พหุลีกโต อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ, ธมฺมวิจยะสมฺโพชฺฌงฺโค โข, กสฺสป, มยา สมฺมทกฺขาโต ภาวิโต พหุลีกโต อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ, วิริยะสมฺโพชฺฌงฺโค โข, กสฺสป, มยา สมฺมทกฺขาโต ภาวิโต พหุลีกโต อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ, ปีติสมฺโพชฺฌโงฺค โข, กสฺสป, มยา สมฺมทกฺขาโต ภาวิโต พหุลีกโต อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ, ปสฺสัทธิสมฺโพชฺฌงฺโค โข, กสฺสป, มยา สมฺมทกฺขาโต ภาวิโต พหุลีกโต อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ, สมาธิสมฺโพชฺฌงฺโค โข, กสฺสป, มยา สมฺมทกฺขาโต ภาวิโต พหุลีกโต อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ, อุเปกฺขาสมฺโพชฺฌงฺโค โข, กสฺสป, มยา สมฺมทกฺขาโต ภาวิโต พหุลีกโต อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ
ดูกรกัสสป สติสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน วิริยะสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ปีติสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน สมาธิสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
อิเม โข, กสฺสป, สตฺต โพชฺฌงฺคา มยา สมฺมทกฺขาตา ภาวิตา พหุลีกตา อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตนฺตี’’ติฯ ‘‘ตคฺฆ, ภควา, โพชฺฌงฺคา; ตคฺฆ, สุคต, โพชฺฌงฺคา’’ติฯ
ดูกรกัสสป โพชฌงค์ 7 เหล่านี้แล เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน. ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค โพชฌงค์ดีนัก ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์ดีนัก
อิทมโวจ ภควาฯ อตฺตมโน อายสฺมา มหากสฺสโป ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทิฯ วุฎฺฐหิ จายสฺมา มหากสฺสโป ตมฺหา อาพาธาฯ ตถาปหีโน จายสฺมโต มหากสฺสปสฺส โส อาพาโธ อโหสีติฯ จตุตฺถํฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหากัสสปปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค ท่านพระมหากัสสปหายจากอาพาธนั้นแล้ว และอาพาธนั้น อันท่านพระมหากัสสปละได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล.[5] [6]
คำอธิบาย
[แก้]สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า "เมื่อพระมหากัสสปเถระตั้งใจฟังโพชฌงคภาวนานี้อยู่ ได้มีความดำรินี้ว่า เมื่อเราแทงตลอดอยู่ซึ่งสัจจะทั้งหลายในวันที่ 7 แต่วันที่เราบวชแล้ว โพชฌงค์เหล่านี้ก็ปรากฏ. ก็เมื่อท่านคิดอยู่ว่า โอ คำสอนของพระศาสดานำสัตว์ออกจากทุกข์ดังนี้ โลหิตก็ผ่องใส อุปาทารูปก็หมดจด. โรคหายไปจากกายเหมือนหยาดน้ำตาในใบบัวฉะนั้น" [7]
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อในหมู่พุทธศาสนิกชนว่า การสวดสาธยายคาถา หรือปาฐะที่เกี่ยวเนื่องกับโพชฌงค์ อันได้แก่ มหากัสสปโพชฌังคสุตตปาฐะ, มหาโมคคัลลานโพชฌังคสุตตปาฐะ, มหาจุนทโพชฌังคสุตตปาฐะ แล้ว จะช่วยให้หายจากอาการป่วยไข้ได้ เหมือนดังที่พระเถระได้เคยเป็นมาดังปรากฏในพระสูตร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม 5 ภาค 1 หน้า 222
- ↑ พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา. สุตฺตปิฎก สํยุตฺตนิกาย มหาวคฺคปาฬิ โพชฺฌงฺคสํยุตฺตํ ปฐมคิลานสุตฺตํ
- ↑ สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หน้า 224
- ↑ ธัมมปทัฏฐกถา อัปปมาทวรรควรรณนา เรื่องพระมหากัสสปเถระ หน้า 136
- ↑ พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา. สุตฺตปิฎก สํยุตฺตนิกาย มหาวคฺคปาฬิ โพชฺฌงฺคสํยุตฺตํ ทุติยคิลานสุตฺตํ
- ↑ พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม 5 ภาค 1 หน้า 222 - 223
- ↑ สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หน้า 224
บรรณานุกรม
[แก้]- พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา. สุตฺตปิฎก สํยุตฺตนิกาย มหาวคฺคปาฬิ โพชฺฌงฺคสํยุตฺตํ ปฐมคิลานสุตฺตํ
- พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม 5 ภาค 1
- สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
- กองตำรา มหากุฏราชวิทยาลัย (2480). พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 2 อัปปมาทวรรควรรณนา เรื่องพระมหากัสสปเถระ. กรุงเทพฯ มหากุฏราชวิทยาลัย