ธัมมปทัฏฐกถา
ธัมมปทัฏฐกถา (บาลี: ธมฺมปทฏฐกถา) เป็นอรรถกถาของธรรมบท หรือประมวลคาถา 423 คาถา ซึ่งปรากฏในขุททกนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก กล่าวกันว่าพระพุทธโฆสะ พระอรรถกถาจารย์ชาวชมพูทวีป ซึ่งเดินทางไปแปลอรรถกถาในสิงหลทวีป (ศรีลังกา) ได้เรียบเรียงไว้จากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี ปัจจุบันธัมมปทัฏฐกถาใช้เป็นคัมภีร์ในการศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศไทย จึงเป็นคัมภีร์อรรถกถาที่ได้รับความนิยมศึกษามากที่สุดเล่มหนึ่ง
ผู้แต่ง
[แก้]ตามขนบพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เป็นที่ยอมรับกันว่าพระพุทธโฆสะได้เรียบเรียงธัมมปทัฏฐกถาเป็นภาษามคธ เมื่อ พ.ศ. 956[1] ซึ่งในคำนมัสการ ท่านผู้รจนาประกาศว่าท่านได้รับการอาราธนาจากพระเถระนามว่าพระกุมารกัสสปเถระ (เป็นนามพระเถระองค์หนึ่งในสมัยพระพุทธโฆษาจารย์ ไม่ใช่พระกุมารกัสสปะในสมัยพุทธกาล) ให้รจนาคัมภีร์อรรถกถาอธิบายแจกแจงพระธรรมบทขึ้น[2]
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบางแห่งแสดงความกังขาว่าพระพุทธโฆสะเป็นผู้รจนาคัมภีร์นี้จริงหรือไม่ โดยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสำนวนภาษาของธัมมปทัฏฐกถา กับอรรถกถาอื่น ๆ ที่พระพุทธโฆสะรจนา รวมถึงยังมีรายละเอียดบางส่วนที่แตกต่างจากงานอื่น ๆ ของท่าน เช่น นิทานเรื่องนายวาณิชย์โฆสก ที่ปรากฏในอรรถกถามโนรถปูรณีมีความแตกต่างจากที่ปรากฏในธัมมปทัฏฐกถา[3]
กระนั้น ได้มีผู้โต้แย้งในประเด็นนี้เช่นกันว่า ความแตกต่างนั้นเป็นเพราะเนื้อหาของพระไตรปิฎก ที่ท่านอรรถกถาจารย์อธิบายนั้นมีความแตกต่างกันไปตามหมวดหมู่ต่าง ๆ มิใช่เพราะสำนวนภาษาเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ พระพุทธโฆสะยังเป็นผู้ "แปล" อรรถกถาจากมหาอรรถกา มหาปัจจารี และกุรุทะ อรรถกา ของเดิมเสียเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ รายละเอียดที่ปรากฏในอรรถกถาที่ท่านเรียบเรียงขึ้นจึงมีความแตกต่างกันไปบ้าง[4]
ทั้งนี้ นักวิชาการบางส่วนยังตั้งข้อสังเกตว่า พระพุทธโฆสะอาจเน้นแปลธัมมปทัฏฐกถามากกว่าเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เนื่องจากพบหลักฐานบ่งชี้ว่า มีการรจนาอรรถกถาของธรรมบทมาก่อนหน้าการมาถึงสิงหลทวีปของท่าน นอกจากนี้ ยังมีอรรถกถาฉบับอื่น ๆ ที่อธิบายและแจกแจงรายละเอียดของธัมมปทัฏฐกถาแตกต่างจากฉบับของท่านพระพุทธโฆสะออกไปด้วย อาทิ ฉบับที่ได้รับการแปลเป็นภาษาจีนเมื่อปี ค.ศ. 233 มีความแตกต่างในส่วนของคาถาและเรื่องประกอบพอสมควร[5] นอกจากนี้ ยังปรากฏเรื่องราวจากธัมมปทัฏฐกถา ในคัมภีร์ของนิกายอื่นๆ เช่น ในคัมภีร์ทิพยาวทาน อันมีต้นธารมาจากนิกายมูลสรวาทสติวาท และยังพบเรื่องราวในทำนองเดียวกันในพระไตรปิฎกภาษาทิเบตด้วย[6]
เนื้อหา
[แก้]เนื้อหาของธัมมปทัฏฐกถาเป็นการอธิบายเนื้อหาเบื้องหลังพระธรรมบทบทต่าง ๆ รวมถึงแจ้งถึงผลแห่งการประกาศพระธรรมเทศนาอันเกี่ยวเนื่องกับพระธรรมบทบทนั้น ๆ ว่า มีผู้ได้ผลแห่งการแสดงพระธรรมเทศนานั้น เช่น ประกาศถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ตลอดชีวิต ไปจนถึงได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล จนถึงอรหัตผล มากน้อยเท่าไร นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายตำนาน การอธิบายศัพท์ที่สำคัญ และขยายความศัพท์ในเชิงไวยากรณ์และในเชิงธรรมนิยาม
ทั้งนี้ ท่านผู้รจนาธัมมปทัฏฐกถาได้สรุปไว้ตอนท้ายของอรรถกาเรื่องนี้ว่า "อรรถกถาแห่งพระธรรมบท มีประมาณ 72 ภาณวาร อันข้าพเจ้า ประกาศเรื่อง 299 เรื่อง (ในเรื่องเหล่านี้นับรวมทั้งหมดมี 302 เรื่อง) คือ ในยมกวรรค อันเป็นวรรคแรกของวรรคทั้งปวง 14 เรื่อง, ในอัปปมาทวรรค 9 เรื่อง ในจิตตวรรค 9 เรื่อง, ในปุปผวรรค 12 เรื่อง ในพาลวรรค 15 เรื่อง, ในบัณฑิตวรรค 11 เรื่อง, ในอรหันตวรรค 10 เรื่อง, ในสหัสสวรรค 14 เรื่อง, ใน ปาปวรรค 12 เรื่อง, ในทัณฑวรรค 11 เรื่อง, ในชราวรรค 9 เรื่อง, ในอัตตวรรค 10 เรื่อง, ในโลกวรรค 11 เรื่อง, ในพุทธวรรค 9 เรื่อง, ในสุขวรรค 8 เรื่อง, ในปิยวรรค 9 เรื่อง, ในโกธวรรค 8 เรื่อง, ในมลวรรค 12 เรื่อง ในธัมมัฏฐวรรค 10 เรื่อง, ในมรรควรรค 10 เรื่อง, ในปกิณณกวรรค 9 เรื่อง, ในนิรยวรรค 9 เรื่อง; ในนาควรรค 8 เรื่อง, ในตัณหาวรรค 12 เรื่อง, ในภิกขุวรรค 12 เรื่อง, ในพราหมณวรรค 39 เรื่อง"[7]
การแพร่หลาย
[แก้]คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา เป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้ศึกษาหลักสูตรพระปริยัติธรรมในประเทศไทยว่า หนังสือธัมมปทัฏฐกถา ฉบับตีพิมพ์แบบสมัยใหม่มีจำนวน 8 เล่ม แต่เรียกว่า 8 ภาค เป็นหนังสือขนาด 8 หน้ายก แต่ละเล่มหนาอย่างต่ำ 126 หน้า สูงสุดหนา 216 หน้า คณะสงฆ์กำหนดให้เป็นหลักสูตร (แบบเรียน) เรียนและสอบความรู้พระปริยัติธรรมแผนกบาลี ที่ใช้ยุติในปัจจุบันนี้หลาบชั้นด้วยกันดังนี้ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1-2-3-4 ใช้เป็นหลักสูตร ประโยคบาลีสนามหลวง วิชาแปลมคธเป็นไทยโดยพยัญชนะและโดยอรรถ ชั้นประโยค 1-2 และเปรียญตรีปีที่ 1-2 หมวดบาลีศึกษา นอกจากนั้น ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1 ยังใช้เป็นหลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวงวิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ. 4 อีกด้วย ส่วนธัมมปทัฏฐกถา ภาค 2-3-4 ใช้เป็นหลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวง วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ. 5 ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5-6-7-8 ใช้เป็นหลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวง วิชาแปลมคธเป็นไทยโดยพยัญชนะและโดยอรรถ และวิชาสัมพันธ์ไทย ชั้นประโยค ป.ธ. 3 และยังใช้เป็นหลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวง วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ. 6 อีกด้วย[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. ประวัติพระพุทธโฆษาจารย์.
- ↑ พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาขุททกนิกาย. หน้า 6 - 7
- ↑ Bimala Charan Law. (1923). หน้า 81
- ↑ Bimala Charan Law. (1923). หน้า 82
- ↑ Bimala Charan Law. (1923). หน้า 82
- ↑ Bimala Charan Law. (1923). หน้า 83
- ↑ กองตำรา มหากุฏราชวิทยาลัย. (2481). พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 8 หน้า 300
- ↑ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. ประวัติพระพุทธโฆษาจารย์.
บรรณานุกรม
[แก้]- Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.
- คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
- ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. ประวัติพระพุทธโฆษาจารย์. ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์. มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 1
- กองตำรา มหากุฏราชวิทยาลัย. (2481). พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 8. พระนคร. มหากุฏราชวิทยาลัย.