ข้ามไปเนื้อหา

อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว
แผ่นประชาสัมพันธ์อนิเมะในญี่ปุ่น
กำกับฮิโระมะซะ โยะเนะบะยะชิ
บทภาพยนตร์ฮะยะโอะ มิยะซะกิ
เคโกะ นิวะ
สร้างจากฅนตัวจิ๋ว (The Borrowers)
ของ แมรี นอร์เทิน
อำนวยการสร้างโทะชิโอะ ซุซุกิ
นักแสดงนำมิระอิ ชิดะ
เรียวโนะซุเกะ คะมิกิ
ชิโนะบุ โอตะเกะ
เคโกะ ทะเกะชิตะ
ทะสึยะ ฟุจิวะระ
โทะโมะกะซุ มิอุระ
คิริง คิกิ
กำกับภาพอะสึชิ โอะกุอิ
ตัดต่อเคโกะ คะโดะกะวะ
ริเอะ มะสึบะระ
ฮิโระมิ ซะซะกิ
ทะเกะชิ เซะยะมะ
ดนตรีประกอบเซซีล กอร์แบ็ล
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายญี่ปุ่น โทะโฮะ
สหราชอาณาจักร อ็อปเทอเมิมรีลีซิง
ไทย เอ็ม พิคเจอร์ส[1]
สากล: วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์
วันฉายญี่ปุ่น 17 กรกฎาคม 2553
ไทย 23 มิถุนายน 2554 (กรุงเทพฯ)[1]
และ 1 ตุลาคม 2554 (เชียงใหม่)[2]
ความยาว94 นาที
ภาษาญี่ปุ่นและอื่น ๆ
ทุนสร้าง2.3 พันล้านเยน
ทำเงิน126,368,084 ดอลลาร์สหรัฐ[3]

อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว[1][4][5] (ญี่ปุ่น: 借りぐらしのアリエッティโรมาจิKari-gurashi no Arietti, 'The Borrower Arrietty'; อังกฤษ: The Secret World of Arrietty (สากล)[3][6][7] หรือ Arrietty (สหราชอาณาจักร)) เป็นอนิเมะแนวจินตนิมิตอิงนิยายเรื่อง ฅนตัวจิ๋ว (The Borrowers) ของ แมรี นอร์เทิน (Mary Norton)[8] มี ฮิโระมะซะ โยะเนะบะยะชิ (Hiromasa Yonebayashi) กำกับ, ฮะยะโอะ มิยะซะกิ (Hayao Miyazaki) ร่วมกับ เคโกะ นิวะ (Keiko Niwa) เขียนเรื่อง, และสตูดิโอจิบลิ สร้าง

เนื้อหาว่าด้วย อาร์เรียตตี (Arrietty, ในชื่ออนิเมะพากย์ไทยสะกดว่า "อาริเอตี้") เด็กสาวซึ่งเป็น "พวกหยิบยืม" (Borrower) หรือคนตัวจิ๋วสูงสิบเซนติเมตร อาศัยใต้พื้นเรือนมนุษย์พร้อมครอบครัว และได้เป็นเพื่อนกับเด็กชายมนุษย์คนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าบ้านและเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด อาร์เรียตตีกับครอบครัวต้องเอาตัวรอดเมื่อแม่บ้านพบเจอที่พำนักของพวกเธอ อันหมายความว่า เธอต้องลาจากบ้านที่รักนั้น

ปลายปี 2552 สตูดิโอจิบลิแถลงโครงการสร้างอะมิเนะเรื่องดังกล่าว โดยว่า โยะเนะบะยะชิ ผู้กำกับเยาว์วัยที่สุดของสตูดิโอ เป็นผู้กำกับ ส่วนมิยะซะกินั้นจะดูแลการผลิตในฐานะผู้วางแผนการผลิต[9] จิบลิเลือกนักพากย์ได้ในเดือนเมษายน ปีถัดมา และได้เซซีล กอร์แบ็ล (Cécile Corbel) นักพิณชาวฝรั่งเศส สร้างสรรค์เพลงประกอบ

อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว ฉายในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2553 และได้รับการสรรเสริญชื่มชมเป็นอันมาก โดยเฉพาะเรื่องภาพเคลื่อนไหวและเพลงประกอบ ทั้งทำรายได้มากกว่า 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นรายได้มากที่สุดในปีนั้น[10][3] อนิเมะเรื่องนี้ยังได้รับรางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันแห่งปีในการประกาศผลรางวัลอะแคเดมีญี่ปุ่น ครั้งที่ 34 ด้วย[11]

สำหรับประเทศไทย เอ็ม พิคเจอร์ส นำอนิเมะเรื่องนี้เข้ามาฉายในสองแห่งเท่านั้น คือ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2554 ณ โรงภาพยนตร์ลิโด้ สยามสแควร์[1] และจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ที่โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์[2] ส่วนในระดับโลก วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์กำหนดฉายตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นไป

เนื้อเรื่อง

[แก้]

อนิเมะเรื่องนี้มี "คนตัวจิ๋ว" (tiny people) หรือมนุษย์สูงเพียงสิบเซนติเมตร และอาศัยใต้พื้นเรือนมนุษย์ทั่วไป เป็นหัวใจของเรื่องดุจเดียวกับนิยาย ในนิยายว่า คนตัวจิ๋วนั้นเดิมเป็นมนุษย์เช่นมนุษย์ทั่วไป แต่เพราะกลัวและตกใจง่าย ร่างกายจึงหดเล็กลงเรื่อย ๆ อนึ่ง เพราะตื่นคน เหล่าคนตัวจิ๋วจึงพยายามหลบซ่อนตัวเสมอ คนเหล่านี้เรียกตนเองว่า "พวกหยิบยืม" เพราะใช้ชีวิตอยู่ด้วยการหยิบยืมข้าวของของมนุษย์ธรรมดามาบริโภค ซึ่งอันที่จริงก็คือ ขโมยมา อย่างไรก็ดี บรรดาคนตัวจิ๋วไม่เรียกสิ่งที่ตนทำว่า "ขโมย" พวกเขาว่า แค่ "ยืม" เท่านั้น (แม้ไม่ "คืน" แต่ประการใด)[12]

ในนิยาย เรื่องเกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 24 แต่ในอะมิเมะ เรื่องดำเนินไปในปี 2553 ณ นครโคะงะเน ตะวันตกของกรุงโตเกียว ครั้งนั้น เด็กชายวัยสิบสี่ชื่อ โช เดินทางจากกรุงโตเกียวมายังบ้านที่มารดาเคยอาศัยเมื่อเด็ก เพื่อใช้ชีวิตอยู่กับซะดะโกะ ยาย (น้องสาวของยาย) ระหว่างเตรียมตัวผ่าตัดอันเนื่องมาจากโรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด เมื่อถึงและลงจากรถ โชเห็นแมวตัวหนึ่งกำลังจู่หาบางสิ่งในพุ่มไม้ แล้วแมวก็ผละไปเมื่อกาตัวหนึ่งทำร้ายมัน โชจึงเดินเข้าไปชมดูว่าแมวคุ้ยหาสิ่งอันใดกัน และเห็นเด็กหญิงตัวจิ๋วคนหนึ่ง คือ อาร์เรียตตี อายุสิบสี่ปี อาร์เรียตตีนั้นอาศัยอยู่ใต้พื้นเรือนของซะดะโกะพร้อมพ็อด บิดา และโฮมิลี มารดา

คืนนั้น อาร์เรียตตีและพ็อด บิดา ขึ้นจากใต้เรือนเพื่อมา "ยืม" ทรัพย์สินมนุษย์ โดยพ็อดหมายใจจะสอนให้อาร์เรียตตีเรียนรู้วิธียืม จุดหมายแรกคือครัวเพื่อยืมน้ำตาลก้อน และเดินทะลุกำแพงครัวผ่านบ้านตุ๊กตาหลังหนึ่งเข้าสู่ห้องนอนของโชเพื่อยืมกระดาษทิชชู แต่ก่อนที่ทั้งคู่จะได้กระดาษทิชชู อาร์เรียตตีสังเกตได้ว่าโชตื่นอยู่และมองมาที่เธอ จึงเตรียมหนี ด้วยอารามรีบร้อนจึงทำน้ำตาลก้อนหล่นสู่พื้นห้อง โชว่าอย่ากลัวเขาเลย ทว่า อาร์เรียตตีและบิดาละจากไปโดยทิ้งน้ำตาลก้อนนั้นไว้

รุ่งขึ้น โชเก็บน้ำตาลก้อนดังกล่าวมาส่งให้อาร์เรียตตีที่ช่องอากาศใต้พื้นเรือน แต่โฮมิลี มารดาของอาร์เรียตตี ว่า อย่าได้รับมา มิฉะนั้น มนุษย์จะรู้ว่ามีคนตัวจิ๋วอยู่ และจะเป็นอันตรายต่อคนตัวจิ๋วเอง กระนั้น อาร์เรียตตีแอบออกจากบ้าน แล้วไต่ขึ้นไปหาโชถึงห้องนอนเพื่อคืนน้ำตาลให้ และทั้งคู่ก็ได้เป็นเพื่อนกัน อาร์เรียตตีเจอะบิดาระหว่างทางกลับ พ็อดและโฮมิลีจึงตระหนักว่ามีมนุษย์รู้ถึงการดำรงอยู่ของพวกเขาแล้ว และตัดสินใจย้ายบ้านหนี

ซะดะโกะ ยายของโช เล่าให้โชฟังว่า ปู่ยาตาทวดของโช รวมถึงมารดาของโชเอง ก็เคยเห็นคนตัวจิ๋วในบ้านนี้ จึงสั่งทำบ้านตุ๊กตาที่เห็นตั้งอยู่ในห้องนอนโชนั้นเป็นพิเศษ ด้วยหมายจะให้เหล่าคนตัวจิ๋วใช้เป็นที่อยู่อาศัย บ้านตุ๊กตานี้มีห้องครัวซึ่งใช้การได้จริงด้วย แต่คนตัวจิ๋วไม่ยอมปรากฏตัวอีกเลยนับแต่นั้น บ้านตุ๊กตาจึงร้างอยู่ โชจึงรื้อพื้นเรือน ดึงครัวบ้านอาร์เรียตตีออก แล้วติดตั้งครัวจากบ้านตุ๊กตาให้แทน โดยคาดหวังว่าพวกคนตัวจิ๋วคงชอบใจและเป็นมิตรกันได้

คืนนั้น พ็อดบาดเจ็บระหว่างภารกิจยืม และพบเด็กชายตัวจิ๋วคนหนึ่งกลางทาง ชื่อ สปิลเลอร์ สปิลเลอร์หามเขากลับมาส่งบ้าน และบอกกล่าวว่า ยังมีคนตัวจิ๋วอยู่ที่อื่นอีก โดยครอบครัวของอาร์เรียตตีสามารถย้ายไปอยู่ด้วยกันได้ อาร์เรียตตีจึงไปหาโชอีกครั้งเพื่ออำลา ระหว่างนั้น โชและอาร์เรียตตีได้พูดคุยกัน ทำให้อาร์เรียตตีทราบว่า โชเป็นโรคหัวใจ และจะเข้าผ่าตัดในอีกสองสามวัน แต่การผ่าตัดมีทีท่าว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จดังหวัง

ขณะนั้น ซะดะโกะไม่อยู่บ้าน และฮะรุ แม่บ้าน สังเกตได้ว่า พื้นเรือนถูกเปิด จึงรื้อดู และพบบ้านของอาร์เรียตตี นางจับโฮมิลีใส่โหลขังไว้ในครัว แล้วเรียกบริษัทกำจัดปลวกมาตรวจดูบ้าน และให้จับคนตัวจิ๋วเป็น ๆ มาให้นาง เพราะนางเข้าใจว่าคนเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ข้าวของในบ้านหายบ่อย นอกจากนี้ นางยังขังโชไว้ในห้องนอนด้วยเกรงโชจะช่วยเหลือพวกเขา อาร์เรียตตีขอให้โชช่วยมารดาของเธอ โดยเธอช่วยโชออกจากห้องได้ โชให้อาร์เรียตตีประทับแล้วพากันไปยังครัว ทั้งคู่ช่วยโฮมิลีสำเร็จ เมื่อบริษัทกำจัดปลวกมาถึง ก็ประจวบกับซะดะโกะกลับบ้านพอดี ซะดะโกะสั่งให้บริษัทกลับไปเสีย ฮะรุจึงพยายามพิสูจน์ให้ซะดะโกะเห็นว่ามีขโมยตัวจิ๋วอยู่ในบ้านจริง ทว่า ไม่มีโฮมิลีอยู่ในโหลแล้ว และก็ไม่มีบ้านคนตัวจิ๋วอยู่ใต้พื้นเรือนด้วย ทั้งนี้ โชนำบ้านดังกล่าวไปซ่อนก่อนหน้าแล้ว

อาร์เรียตตีและบิดามารดารีบออกเดินทาง และหยุดพักรับประทานอาหารเย็น แมวของโชตามอาร์เรียตตีเจอ และนำพาโชมาพบเธอ โชมอบน้ำตาลก้อนให้อาร์เรียตตีเป็นของขวัญ โดยกล่าวว่า คราวนี้เธอคงจะรับของของเขา โชยังว่า การที่พวกเธอแม้ตัวเล็กแต่ก็สู้ชีวิตไม่ย่อท้อ เป็นแรงบันดาลใจให้เขาต่อสู้ในการผ่าตัดอย่างมาก อาร์เรียตตีจึงปลดไม้หนีบผ้าซึ่งเธอใช้หนีบผมมอบให้โชเป็นของขวัญ และลาจากกันทั้งน้ำตา ครั้นแล้ว บรรดาคนตัวจิ๋วก็โดยสารกาน้ำชาที่สปิลเลอร์แจวล่องไปในลำน้ำจนลับตาไป

ตัวละคร

[แก้]
อาร์เรียตตี (ขวา) มาหาโช (ซ้าย) ที่ห้องนอน
  • อาร์เรียตตี (Arrietty; アリエッティ) - เป็นเด็กหญิงตัวจิ๋ววัยสิบสี่ อาศัยอยู่กับบิดามารดาใต้พื้นเรือนของโช
  • โช (Sho (ฉบับสหราชอาณาจักร) หรือ Shawn (ฉบับสากล); ) - เด็กชายอายุสิบสี่ปีซึ่งได้เป็นเพื่อนกับอาร์เรียตตีระหว่างที่เขาต้องผ่าตัดหัวใจ โชนั้นอิงตัวละคร "เด็กชาย" (The Boy) จากนิยาย แต่ "เด็กชาย" นั้นไม่ปรากฏชื่ออย่างใด
  • โฮมิลี (Homily; ホミリー) - มารดาของอาร์เรียตตี นางมีรสนิยมหรูหรา และชอบทำครัว โชจึงยกครัวจากบ้านตุ๊กตาให้นาง ซึ่งนางพอใจมาก แต่ต้องผิดหวังเมื่อไม่สามารถขนไปได้ในการย้ายบ้านหนี
  • พ็อด (Pod; ポッド) - บิดาของอาร์เรียตตี เขาออกบ้านไป "ยืม" ข้าวของมนุษย์บ่อยครั้งเพื่อเลี้ยงครอบครัว
  • ซะดะโกะ มะกิ (อังกฤษ: Sadako (ฉบับสหราชอาณาจักร) หรือ Jessica (ฉบับสากล); 牧 貞子) - น้องสาวยาย (ในภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษเรียกน้องสาวยายว่า "ป้า") ของโช ซะดะโกะนั้นอิงตัวละคร "ป้าโซฟี" (Aunt Sophy) จากนิยาย
  • ฮะรุ (ハル) - แม่บ้านของซะดะโกะ ผู้ต้องการค้นหาความจริงเกี่ยวกับคนตัวจิ๋ว ฮะรุนั้นอิงตัวละคร "นางไดรเวอร์" (Mrs Driver) จากนิยาย
  • สปิลเลอร์ (Spiller; スピラー) - เด็กชายตัวจิ๋ว แต่งตัวอย่างคนป่า และพกหน้าไม้เสมอ เขาช่วยครอบครัวอาร์เรียตตีย้ายบ้าน

นักพากย์

[แก้]
ตัวละคร พากย์ญี่ปุ่น[13] พากย์อังกฤษ พากย์ไทย
สหราชอาณาจักร - อ็อปเทอเมิมรีลีซิง[14] สากล - ดิสนีย์[15][16] เอ็ม พิคเจอร์ส ไทยพีบีเอส
อาร์เรียตตี มิระอิ ชิดะ (Mirai Shida) เซอร์ชา โรนัน (Saoirse Ronan) บริดจิต เมนด์เลอร์ (Bridgit Mendler) เอ็มม่า โกลด์สมิธ พนาวรรณ ศรีวะโลสกุล
โช เรียวโนะซุเกะ คะมิกิ (Ryunosuke Kamiki) ทอม ฮอลแลนด์ (Tom Holland) เดวิด เฮนรี (David Henrie) มานพ ศรีจูเป้า เมทินี แก้วรัตนากร
โฮมิลี ชิโนะบุ โอตะเกะ (Shinobu Ōtake) โอลิเวีย โคลแมน (Olivia Colman) เอมี โพเลอร์ (Amy Poehler) นัยนา ทิพย์ศรี ทิพย์ชนก พรหมจูฑะ
พ็อด โทะโมะกะซุ มิอุระ (Tomokazu Miura) มาร์ก สตรอง (Mark Strong) วิล อาร์เน็ต (Will Arnett) ปิยะ ชำนาญกิจ สมเพชร ศรชาติ
ซะดะโกะ เคโกะ ทะเกะชิตะ (Keiko Takeshita) ฟิลลิดา ลอว์ (Phyllida Law) แคเริล เบอร์เนต (Carol Burnett) จรัสกร ทิพย์ศรี ทิพย์ชนก พรหมจูฑะ
ฮะรุ คิริง คิกิ (Kirin Kiki) เจอรัลดีน แม็กอีวาน (Geraldine McEwan) เกรซี โพเลตตี (Gracie Poletti) อรวรรณ แดงบุญเรือง
สปิลเลอร์ ทะสึยะ ฟุจิวะระ (Tatsuya Fujiwara) ลุก อัลเลน-กาเลก (Luke Allen-Galeg) มอยเซส อะริแอส (Moisés Arias) วิรุฬห์วิชญ์ ถิรสุวรรณ จักรรัตน์ ศรีรักษ์

การผลิต

[แก้]

การพัฒนา

[แก้]

วันที่ 16 ธันวาคม 2552 สตูดิโอจิบลิว่าอนิเมะสำหรับปีหน้าคือ อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว[17] โดยจะสร้างอิงนิยาย ฅนตัวจิ๋ว ของ แมรี นอร์เทิน[17] สำหรับนิยายเรื่องนี้ได้รับเหรียญตราคาร์เนกีด้านวรรณกรรม (Carnegie Medal in Literature) เมื่อปี 2496[17] และเคยทำเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันภาษาอังกฤษมาแล้วสามครั้ง อิซะโอะ ทะกะฮะตะ และ ฮะยะโอะ มิยะซะกิ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ว่า พวกเขาหมายสร้างแอนิเมชันจากนิยายเรื่องนี้มาราว ๆ สี่สิบปีแล้ว[9]

วันเดียวกันนั้น มีการประกาศว่า ฮิโระมะซะ โยะเนะบะยะชิ จะกำกับอนิเมะดังกล่าว[17] ก่อนหน้า โยะเนะบะยะชิร่วมสร้างภาพยนตร์ของสตูดิโอจิบลิหลายเรื่อง ได้แก่ ฮาวส์มูวิงแคเซิล (Howl's Moving Castle), โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย (Ponyo), และ เซ็งโทะชิฮิโระโนะคะมิกะกุชิ (Spirited Away)[17] ทั้งสตูดิโอจิบลิเคยสำรองเขาไว้กำกับอะมิเมะ ศึกเทพมังกรพิภพสมุทร (Tales from Earthsea) ด้วย[17] ส่วนมิยะซะกินั้นว่าจะร่วมทำอนิเมะ อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว ในฐานะผู้วางแผนการผลิต[17]

การพากย์

[แก้]
เซอร์ชา โรนัน พากย์เป็นอาร์เรียตตีในฉบับสหราชอาณาจักร

วันที่ 13 เมษายน 2553 มีการประกาศรายชื่อนักพากย์ โดย มิระอิ ชิดะ นักแสดงวัยสิบแปดปี ได้รับเลือกให้พากย์เป็นอาร์เรียตตี[18] นับเป็นการแสดงด้วยเสียงครั้งแรกของชิดะ[18] นอกจากนี้ เรียวโนะซุเกะ คะมิกิ ซึ่งเคยพากย์อนิเมะของสตูดิโอจิบลิหลายเรื่อง อาทิ เซ็งโทะชิฮิโระโนะคะมิกะกุชิ และ ฮาวส์มูวิงแคเซิล ก็ได้รับเลือกให้พากย์อนิเมะนี้อีก โดยได้บทโช[18] คะมิกิว่า เขายินดีเป็นอันมากที่จะได้พบปะอดีตผู้ร่วมงานอีกครั้ง[18]

อนึ่ง โทะโมะกะซุ มิอุระ, ชิโนะบุ โอะตะเกะ, เคโกะ ทะเกะชิตะ และ คิริง คิกิ นักแสดงและนักพากย์มืออาชีพ ร่วมให้เสียงตัวละครในอนิเมะ อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว ด้วย[18] แม้มากประสบการณ์ แต่ครั้งนี้คนทั้งสี่ทำงานกับสตูดิโอจิบลิเป็นหนแรก[18]

ส่วนพากย์ภาษาอังกฤษนั้นมีสองฉบับ คือ ฉบับสหราชอาณาจักร ที่ อ็อปเทอเมิมรีลีซิง (Optimum Releasing) ซื้อลิขสิทธิ์ไป และฉบับสากล ที่ วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์ (Walt Disney Pictures) ได้ลิขสิทธิ์ไป โดยในฉบับสหราชอาณาจักรนั้น เซอร์ชา โรนัน นักแสดงอายุสิบเจ็ดปี ได้พากย์เป็นอาร์เรียตตี[19] โรแนนว่า "...เพื่อนฉันบ้าคลั่ง [ผลงานของสตูดิโอจิบลิ] และพอฉันบอกว่าฉันจะได้พากย์อาร์เรียตตี เธอก็สติแตกไปเลย...ฉันเองเคยดู เซ็งโทะชิฮิโระโนะคะมิกะกุชิ และ โทโทโร่เพื่อนรัก รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ทำนองเดียวกัน ฉันว่ารูปแบบของเขาต่างจากของพวกเราเยอะเลย สวยงามและก็บริสุทธิ์สดใสกว่า..."[19]

ฉบับดิสนีย์นั้น แกรี ไรด์สตร็อม (Gary Rydstrom) ผู้ได้รับรางวัลอะแคเดมีเจ็ดสมัย กำกับการพากย์, แฟร็งก์ มาร์แชล (Frank Marshall) และ แคธลีน เค็นเนดี (Kathleen Kennedy) อำนวยการผลิต, กับทั้ง แครีย์ เคิร์กแพทริก (Karey Kirkpatrick) แปลบท[20] โดยได้ บริดจิต เมนด์เลอร์ นักดนตรีวัยสิบแปดปี มาพากย์เป็นอาร์เรียตตี[16]

เพลง

[แก้]

เซซีล กอร์แบ็ล นักดนตรีชาวฝรั่งเศส แต่ง บรรเลง และร้องเพลงประกอบอนิเมะเรื่องนี้ทั้งเรื่อง สตูดิโอจิบลีรู้จักกอร์แบ็ล เมื่อเธอเขียนจดหมายพร้อมส่งผลงานเพลงของเธอมาหาในฐานะผู้ชื่นชอบผลงานของสตูดิโอ[21] ครั้นได้ฟังเพลงของกอร์แบ็ลแล้ว บรรดาผู้ผลิตภาพยนตร์ของจิบลีเห็นว่า ควรชวนเธอมาร่วมงานในอนิเมะ อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว นี้ด้วย[21]

เพลงประกอบภาพยนตร์บางเพลงได้รับการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตผ่านร้านไอจูนส์ (iTune), โมะระ (mora) และมิวสิโก (Musico) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552[22] โดยเฉพาะเพลง "อาร์เรียตตีส์ซ็อง" (Arrietty's Song) อันเป็นเพลงหลักของเรื่องนั้น กอร์แบ็ลร้องเป็นห้าฉบับ คือ ภาษาญี่ปุ่น, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน และอิตาลี และเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่ร้านแอปเปิลในย่านชิบุยะ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2552[21] ก่อนขายเป็นซิงเกิลเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 โดยอยู่อันดับที่ 18 ตามผังโอะริกง (Oricon charts)[23]

ส่วนอัลบัมเพลงประกอบอนิเมะแบบเต็มรูปแบบนั้น ขายตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2553 และอยู่อันดับที่ 31 ตามผังเดียวกัน[24]

นอกจากนี้ ยังขายอิมเมจอัลบัม (image album) ซึ่งเอาเพลงบรรเลงบางเพลงในอัลบัมเพลงประกอบอนิเมะมาใส่คำร้องร้อง ผนวกกับเพลงร้องอยู่แล้วบางเพลง อิมเมจอัลบัมนี้วางแผงตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 ก่อนอัลบัมเพลงประกอบอนิเมะไม่กี่เดือน[25]

อัลบัมเพลงประกอบอนิเมะ

[แก้]
เพลงประกอบอนิเมะ
อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว
借りぐらしのアリエッティ サウンドトラック
ซาวด์แทร็กอัลบั้มโดย
วางตลาด14 กรกฎาคม 2553[26]
ความยาว59:43 นาที
ค่ายเพลงTokuma Japan Communications[26]
ลำดับชื่อเพลง
ศิลปิน
ยาว
1."เดอะนิกเล็กเท็ดการ์เดน
(The Neglected Garden; 荒れた庭, Areta Niwa)"
เซซีล กอร์แบ็ล
4:12
2."อาวร์เฮาส์บิโลว์
(Our House Below; 床下の我が家, Yuka no Waga Ie)
(ฉบับภาพยนตร์)"
3:29
3."อาวร์เฮาส์บิโลว์
(บรรเลง)"
2:28
4."เดอะดอลเฮาส์
(The Doll House; ドールハウス, Dooruhausu)"
2:59
5."โชส์เลอเมนต์
(Sho's Lament; 翔の悲しみ, Sho no Kanashimi)
(บรรเลง #1)"
2:47
6."อาร์เรียตตีส์ซ็อง
(Arrietty's Song)
(บรรเลง)"
3:31
7."เดอะนิกเล็กเท็ดการ์เดน
(บรรเลง)"
1:14
8."โชส์วอลซ์
(Sho's Waltz; 翔のワルツ, Sho no Warutsu)"
2:44
9."สปิลเลอร์
(Spiller; スピラー, Supiraa)"
2:01
10."เรน
(Rain; 雨, Ame)"
1:08
11."เดอะไวด์วอลซ์
(The Wild Waltz; ザ・ワイルド・ワルツ, Za Wairudo Warutsu)"
3:03
12."โชส์เลอเมนต์
(บรรเลง #2)"
3:13
13."แอนอันอีซีฟีลิง
(An Uneasy Feeling; 不安な気持ち, Fuan na Kimochi)"
14."วิธยู
(With You; あなたと共に, Anata to Tomo ni)"
2:38
15."เดอะเฮาส์อิสอินไซเลินซ์
(The House is in Silence; 静寂の屋敷, Seijaku no Yashiki)"
1:28
16."โชส์ซ็อง
(Sho's Song; 翔の歌, Sho no Uta)"
3:17
17."เพรเชิสเมโมรีส์
(Precious Memories; 大切な思い出, Taisetsu no Omoide)"
2:02
18."กูดบายมายเฟรนด์
(Goodbye My Friend; グッバイ・マイ・フレンド, Gubbai Mai Furendo)
(บรรเลง)"
2:05
19."ไอวิลเนเวอร์ฟอร์เก็ตยู
(I Will Never Forget You; あなたを決して忘れない, Anata o Keshite Wasurenai)"
2:21
20."อาร์เรียตตีส์ซ็อง"
3:31
21."เทียส์อินมายอายส์
(Tears in My Eyes; 僕の涙, Boku no Namida)
(เพลงแถม)"
2:36
22."กูดบายมายเฟรนด์
(เพลงแถม)"
2:58

อิมเมจอัลบั้ม

[แก้]
อิมเมจอัลบัม
อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว
借りぐらし イメージ歌集アルバム
อิมเมจอัลบั้ม โดย
วางตลาด7 เมษายน 2553[25]
ความยาว37:31 นาที
ค่ายเพลงYamaha Music Communications[25]
ลำดับชื่อเพลง
ศิลปิน
ยาว
1."อะดิฟเฟอเรินต์เวิลด์
(A Different World; もうひとつの世界, Mou Hitotsu no Sekai)"
เซซีล กอร์แบ็ล
3:23
2."อาร์เรียตตีส์ซ็อง
(Arrietty's Song)
(ฉบับภาษาอังกฤษ)"
3:29
3."โชส์ซ็อง
(Sho's Song; 翔の歌, Sho no Uta)"
3:14
4."โชส์เลอเมนต์
(Sho's Lament; 翔の悲しみ, Sho no Kanashimi)"
2:41
5."เดอะนิกเล็กเท็ดการ์เดน
(The Neglected Garden; 荒れた庭, Areta Niwa)"
4:11
6."เฟอร์บิดเดนลัฟ
(Forbidden Love; 禁じられた恋, Kinjiareta Koi)"
2:23
7."มายเฟิสต์บอร์โรวิง
(My First Borrowing; はじめての“借り”, Hajimete no "Kari")"
8."อาวร์เฮาส์บิโลว์
(Our House Below; 床下の我が家, Yuka no Waga Ie)"
2:26
9."ฮะรุส์เชส
(Haru's Chase; ハルの追跡, Haru no Tsuiseki)"
2:05
10."เรน
(Rain; 雨, Ame)"
1:07
11."สปิลเลอร์
(Spiller; スピラー, Supiraa)"
2:41
12."เดอะดอลเฮาส์
(The Doll House; ドールハウス, Dooruhausu)"
2:58
13."ดีพาร์เชอร์แอ็ตดอว์น
(Departure at Dawn; 朝日の中の旅立ち, Asahi no Naka no Tabidachi)"
3:03
14."อาร์เรียตตีส์ซ็อง
(ฉบับภาษาญี่ปุ่น)"
3:27

การตอบรับ

[แก้]

รายได้

[แก้]

เพียงฉายครั้งแรก อนิเมะเรื่องนี้ก็ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น[27] ชาวญี่ปุ่นมากกว่าหนึ่งล้านคนว่า ต้องการชมดูอนิเมะดังกล่าวในปลายสัปดาห์แรกที่เริ่มฉาย[27] เมื่อพ้นสัปดาห์นั้นแล้ว รายได้ประเดิมอยู่ที่ราว 1.35 พันล้านเยน คิดเป็นรายได้ 85.6%[27] ขณะที่เรื่องก่อนหน้า ธิดาสมุทรผจญภัย นั้น สร้างรายได้จากการขายตั๋วทั้งหมดเป็น 82.9% [27] บริษัทโทะโฮะ (Toho) ผู้จำหน่าย ว่า ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2553 สืบมา อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว กวาดเงินมากกว่า 3.5 พันล้านเยน และมีผู้ชมแล้วมากกว่า 3.7 คน[21] และที่สุด อนิเมะเรื่องนี้ทำรายได้รวมราว 9.25 พันล้านเยน สมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์แห่งญี่ปุ่น (Motion Picture Producers Association of Japan) จึงประกาศว่า ทำรายได้ภายในประเทศมากที่สุดในปีนั้น[10]

เมื่อฉายในประเทศฝรั่งเศส ชาวเมืองก็ตอบรับเป็นอันดี ในสัปดาห์แรกก็มีผู้ชมมากว่าหนึ่งแสนคน[28] และเป็นผลให้มีรายได้มากกว่า 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับสัปดาห์นั้น[29] ในช่วงเวลาสองเดือนกว่าที่เข้าโรง จำหน่ายตั๋วได้ราวเจ็ดแสนสี่พันใบ[28] และทำรายได้ทั้งสิ้น 7,010,476 ดอลลาร์สหรัฐ[29] ขณะเมื่อฉายในสหรัฐอเมริกา สร้างรายได้รวม 126,368,084 ดอลลาร์สหรัฐ[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Arrietty อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว". movie.mthai.com. 11 มิถุนายน 2554. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-30. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2554. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 "Arrietty อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว". ชนโรง. 5 กันยายน 2554. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-26. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2554. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "The Secret World of Arrietty (2012)". Box Office Mojo. Amazon.com. สืบค้นเมื่อ September 2, 2011.
  4. "Arrietty-อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว (3) (พากย์ไทย)". amornmovie.com. 22 กันยายน 2554. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2554. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "Arrietty / อาริเอตี้ อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว". ผู้จัดการออนไลน์. 22 มิถุนายน 2554. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-21. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2554. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. News Shoper.co.uk: The Secret World of Arrietty[ลิงก์เสีย]
  7. The Secret World of Arrietty in English cinemas[ลิงก์เสีย]
  8. "借りぐらしのアリエッティ on moviewalker". moviewalker (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-06. สืบค้นเมื่อ September 1, 2010.
  9. 9.0 9.1 "Studio Ghibli's Next Film Adapts Mary Norton's The Borrowers (Updated)". Anime News Network. December 16, 2009. สืบค้นเมื่อ December 21, 2009.
  10. 10.0 10.1 "Motion Picture Producers Association of Japan Report for Year 2010". Motion Picture Producers Association of Japan, Inc. (ภาษาญี่ปุ่น). January 23, 2011. สืบค้นเมื่อ September 3, 2011.
  11. 第 34 回日本アカデミー賞優秀賞 (ภาษาญี่ปุ่น). Japan Academy Prize. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 18, 2011. สืบค้นเมื่อ December 17, 2010.
  12. "ฅนตัวจิ๋ว" (PDF). ผีเสื้อ. 2545. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-16. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2554. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. "「借りぐらしのアリエッティ」登場人物" [The Borrower Arrietty" Characters] (ภาษาญี่ปุ่น). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-08. สืบค้นเมื่อ June 8, 2010.
  14. "Ghibli's Arrietty to Have Different Dub Casts in U.S., U.K." Anime News Network. June 21, 2011. สืบค้นเมื่อ July 13, 2011.
  15. "Arietty U.S. Dub's Lead Actress Bridgit Mendler Named". Anime News Network. January 8, 2011. สืบค้นเมื่อ March 2, 2011.
  16. 16.0 16.1 "Additional Arrietty U.S. Dub Cast Members Named". Anime News Network. January 11, 2011. สืบค้นเมื่อ March 2, 2011.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 17.5 17.6 "ジブリ新作「借りぐらしのアリエッティ」来夏公開 新人監督で英文学映画化" (ภาษาญี่ปุ่น). eiga.com. December 16, 2009. สืบค้นเมื่อ September 2, 2011.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 "志田未来&神木隆之介「借りぐらしのアリエッティ」に声優出演" (ภาษาญี่ปุ่น). eiga.com. April 13, 2010. สืบค้นเมื่อ September 2, 2011.
  19. 19.0 19.1 "INTERVIEW: Saoirse Ronan star of Studio Ghibli's Arrietty". northernnoise.co.uk. 2011, August 3. สืบค้นเมื่อ 2011, 13 November. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  20. "News: Arrietty's U.S. Theatrical Run Set for February 2012". Anime News Network. January 27, 2011. สืบค้นเมื่อ May 30, 2011.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 "『アリエッティ』フランス人歌手・セシルが渋谷アップルストアに登場" (ภาษาญี่ปุ่น). cinemacafe. August 8, 2010. สืบค้นเมื่อ September 4, 2011.
  22. "スタジオジブリの最新作は『借りぐらしのアリエッティ』2010年夏公開" (ภาษาญี่ปุ่น). Oricon. December 16, 2009. สืบค้นเมื่อ September 3, 2011.
  23. "Arrietty's Song profile on Oricon" (ภาษาญี่ปุ่น). Oricon. สืบค้นเมื่อ September 4, 2011.
  24. "借りぐらしのアリエッティ サウンドトラック profile on Oricon" (ภาษาญี่ปุ่น). Oricon. สืบค้นเมื่อ September 3, 2011.
  25. 25.0 25.1 25.2 "The Borrower Arrietty (Image Album)". nausicaa.net. September, 2010. สืบค้นเมื่อ September 4, 2011. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  26. 26.0 26.1 "The Borrower Arrietty (OST)". nausicaa.net. September, 2010. สืบค้นเมื่อ September 4, 2011. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 "借りぐらしのアリエッティ :「100億円超え確実」のスタート 公開3日で100万人超". Mainichi Shimbun Digital Co.Ltd (ภาษาญี่ปุ่น). July 20, 2010. สืบค้นเมื่อ September 1, 2010.
  28. 28.0 28.1 "Box-office du film sur Allociné". AlloCiné (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ September 1, 2011.
  29. 29.0 29.1 "Box Office Mojo France Gross". Box Office Mojo. Amazon.com. สืบค้นเมื่อ September 1, 2011.