รังสี ทัศนพยัคฆ์
รังสี ทัศนพยัคฆ์ | |
---|---|
เกิด | 1 ธันวาคม พ.ศ. 2469 รังสี ทัศนพยัคฆ์ |
เสียชีวิต | 7 ธันวาคม พ.ศ. 2546 (77 ปี) |
คู่สมรส | สุภาพ คังคะโรจนะ |
บุตร | 2 คน |
อาชีพ | ผู้สร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2495 - 2526 |
ThaiFilmDb |
รังสี ทัศนพยัคฆ์ (1 ธันวาคม พ.ศ. 2469 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2546) เป็นผู้สร้างและผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ ความสำเร็จจากภาพยนตร์อมตะ เรื่อง "มนต์รักลูกทุ่ง" ที่ทำรายได้ประมาณ 6 ล้านกว่าบาทเมื่อปี พ.ศ. 2513 ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำสถิติอมตะ คือการยืนโรงฉาย ที่โรงภาพยนตร์โคลีเซี่ยมนานถึง 6 เดือน
ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เนื่องจากความดันโลหิตต่ำ เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นโลหิตแตก โลหิตไหลลงกระเพาะอาหาร เสียชีวิตทันที สิริรวมอายุได้ 77 ปี
ประวัติ
[แก้]รังสี ทัศนพยัคฆ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2469 ที่บ้านเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายของพระสรรสารากร ซึ่งเป็นผู้ตรวจ ราชการกรมสรรพากร กับ นางเติม มีพี่น้อง 3 คน คือ รังสรร, รังสิต และ โดยคุณรังสีเป็นน้องสุดท้อง ท่านจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเบญจมบพิตร หรือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน จากนั้นเรียนต่อที่โรงเรียนนายเรือ เป็นนักเรียนนายเรือรุ่น 7, 8
ปี พ.ศ. 2495 ครูรังสีเข้าสู่วงการภาพยนตร์ไทย โดยเริ่มจากการเป็นผู้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ไทย 16 มม. เรื่อง "นิทรา-สายัณห์" ของบริษัทบูรพาศิลป์ภาพยนตร์ โดยมี สำเภา ประสงค์ผล เป็นผู้อำนวยการสร้าง และในปี พ.ศ. 2502 ก็ได้เริ่มกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกคือเรื่อง "ทาสรัก" ของบริษัทบูรพาศิลป์ภาพยนตร์ นำแสดงโดย รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง
หลังจากนั้นก็ทำภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมาก คือเรื่อง "แม่นาคพระโขนง" ที่กำกับให้กับเสน่ห์ โกมารชุน ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ได้ร่วมหุ้นกับ กิตติพงศ์ เวชภูญาณ, ดารณี ณ วังอินทร์ และ อำนาจ สอนอิ่มสาตร์ ตั้ง "จิตรวาณีภาพยนตร์" สร้างภาพยนตร์เงินล้านอีกมากมายหลายเรื่อง และได้เริ่มทำธุรกิจภาพยนตร์ด้วยตัวเอง ด้วยการก่อตั้ง "รุ่งสุริยาภาพยนตร์" ปี พ.ศ. 2512 มีคนในครอบครัวร่วมถือหุ้นได้สร้างหนังเรื่อง 'ชาติลำชี'[1] นำแสดงโดย มิตร-เพชรา ซึ่งได้มีการนำนักร้องลูกทุ่งมาร่วมแสดง และร้องเพลงประกอบหนัง ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้เกิน 1 ล้านบาท ในปีถัดมา จึงได้สร้างหนังทำนองเดียวกันอย่าง "มนต์รักลูกทุ่ง" ในระบบ 35 มม. ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ได้สูงถึง 7 ล้านบาท และเข้าฉายนานถึง 15 เดือน มีนักแสดงที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในยุคนั้น อย่าง มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์, บุปผา สายชล, ศรีไพร ใจพระ ฯลฯ มาร่วมแสดง โดยมีเพลงลูกทุ่งที่มีความไพเราะ ประกอบทั้งเรื่องและกลายเป็นเพลงอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ [2]
ความสำเร็จของครูรังสี ทำให้มีการสร้างหนังเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งอีกหลายสิบเรื่อง ซึ่งมีแรงบันดาลใจและผู้ส่งเสริมให้ครูเพลงบางคนรวมถึงครูไพบูลย์ บุตรขัน ได้มีโอกาสเป็นผู้กำกับหนังเพลงเรื่อง "ทุ่งเศรษฐี"
นอกจากนั้นครูรังสีได้สร้างภาพยนตร์ดำเนินรอยตามภาพยนตร์เพลงอย่าง "มนต์รักลูกทุ่ง" อีกหลายเรื่อง เช่น "มนต์รักจากใจ" "มนต์รักนักรบ" "บัวลำภู" ฯลฯ และภาพยนตร์เพลง "บัวลำภู" นี่เองที่ได้กลายเป็น "แบบฉบับ" ของภาพยนตร์เพลงอีสาน ทำให้นางเอกหมอลำจากบ้านนอก อย่าง "อังคนางค์ คุณไชย" โด่งดังด้วยเพลงประกอบหนังเรื่องนี้
การทำงาน
[แก้]ท่านมีผลงานการสร้างและกำกับภาพยนตร์ออกมาประมาณทั้งสิ้นกว่า 100 เรื่อง อีกทั้งยังเป็นบรมครูแห่งเทคนิคในการ "เจาะถ่าย" ที่ผู้กำกับรุ่นหลัง ๆ ใช้แก้ปัญหาดาราขาดแคลน หรือดาราคิวไม่ว่าง ในกรณีที่ต้องวิ่งรอกแสดงหลายเรื่อง
เป็นเทคนิคของผู้กำกับที่แก้ปัญหาคิวนักแสดงซ้อน ๆ กันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทำให้นักแสดงคนเดียวสามารถรับงานได้หลายเรื่องอีกด้วย อย่างเช่นกรณีของ มิตร ชัยบัญชา เป็นต้น โดยครูรังสีจะใช้การถ่ายทำฉากหรือบทของนักแสดงแต่ละคนให้เสร็จสิ้นไปก่อน โดยเฉพาะฉากที่ไม่ต้องร่วมกับนักแสดงสำคัญคนอื่น ๆ จากนั้นก็จะนำไปตัดต่อใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นหนังที่สมบูรณ์ในที่สุด
ผลงานกำกับภาพยนตร์
[แก้]- เศรษฐีข้างถนน (2512)
- กามเทพลวง (2512)
- ยอดคนจริง (2512)
- แม่ค้า (2512)
- ชาติลำชี (2512)
- มนต์รักลูกทุ่ง (2513)
- กำแพงเงินตรา (2513)
- มนต์รักจากใจ (2514)
- ไอ้แดง (2516)
- บัวลำพู (2517)
- สนหน่อยน่าทูนหัว (2517)
- วิญญาณโลกีย์ (2518)
- แม่ปลาช่อน (2519)
- แม่ม่ายใจถึง (2519)
- อย่าแหย่ฉลาม (2520)
- จงอางเพลิง (2520)
- มนต์รักนักรบ (2520)
- หึง (2520)
- ศึก 5 เสือ (2520)
- พ่อตาปืนโต (2520)
- ดอนตูมปืนตัน (2521)
- มนต์รักแผ่นดินทอง (2521)
- เขาใหญ่ (2521)
- ถล่มวังข่า (2521)
- ดวงเศรษฐี (2521)
- ทีเด็ดคู่เขย (2521)
- คนละเกมส์ (2522)
- ตะเคียนคะนอง (2522)
- กามเทพหลงทาง (2522)
- นายอำเภอปฏิวัติ (2522)
- บอกว่าอย่ามายุ่ง (2524)
- ลูกสาวจ่าโท (2524)
- น้ำพริกก้นถ้วย (2525)
- แว่วเสียงนางพราย (2525)
- มนต์รักลูกทุ่ง (2525)
- หลงเสียงนาง (2526)
- มนต์รักนักเพลง (2527)
- จะกู่รักกอดน้องให้ก้องโลก (2535)
อำนวยการสร้าง
[แก้]- ชาติลำชี (2512)
- มนต์รักลูกทุ่ง (2513)
- บัวลำพู (2517)
- วิญญาณโลกีย์ (2518)
- มนต์รักลูกทุ่ง (2525)
- มนต์รักนักเพลง (2527)
บทภาพยนตร์
[แก้]- เศรษฐีข้างถนน (2512)
- ลูกเขย (2512)
- ชาติลำชี (2512)
- มนต์รักลูกทุ่ง (2513)
- มนต์รักจากใจ (2514)
- ไอ้แดง (2516)
- บัวลำพู (2517)
- เพลิงทรนง (2519)
- จงอางเพลิง (2520)
- ขุนกระทิง (2521)
- บอกว่าอย่ามายุ่ง (2524)
- แสนรัก (2524)
- มนต์รักลูกทุ่ง (2525)
- หลงเสียงนาง (2526)
- มนต์รักนักเพลง (2527)
- มนต์รักลูกทุ่ง (2548)
บทละคร
[แก้]- มนต์รักลูกทุ่ง (2538)
- มนต์รักลูกทุ่ง (2548)
- มนต์รักลูกทุ่ง (2553)
- ชาติลำชี (2561)
- มนต์รักลูกทุ่ง (2567)
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]ด้านชีวิตครอบครัวของครูรังสี ท่านแต่งงานกับนางสุภาพ คังคะโรจนะ มีบุตรชาย 2 คน คือ นายมหศักดิ์ กับ สุรศักดิ์ ทัศนพยัคฆ์ ซึ่งยังทำงานอยู่เบื้องหลังในวงการภาพยนตร์ สืบทอดจากครูรังสี ขณะที่ครูรังสีเอง หลังจากห่างหายไปจากวงการแล้ว ก็ได้ไปพักผ่อนทำสวนอยู่ที่จันทบุรี ไม่มีใครได้พบเจอ
กระทั่งเมื่อปี 2544 ท่านได้ไปทำเซอร์ไพรส์ให้กับลูกศิษย์คนหนึ่ง ซึ่งไปจัดเลี้ยงงานวันเกิดกันที่ สวนอาหารลีลาวดี ย่านลาดพร้าว ในกทม. ซึ่งได้สอบถามว่า ท่านทราบได้อย่างไร ว่ามีงานเลี้ยงนี้ ท่านบอกว่า ได้อ่านเจอข่าวในหนังสือพิมพ์ ก็เลยขึ้นรถประจำทางมาหา กลุ่มลูกศิษย์ได้ร่วมกันขึ้นร้องเพลงบนเวทีเพื่อตอบแทนในการมาของท่าน เพลงนั้นคือเพลง "มนต์รักลูกทุ่ง" ซึ่งทำให้ท่านน้ำตาซึมทีเดียว
อ้างอิง
[แก้]- รังสี ทัศนพยัคฆ์ ตำนานแห่ง "มนต์รักลูกทุ่ง" และ "แม่นาคพระโขนง" เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- รังสี ทัศนพยัคฆ์ nangdee.com
- ↑ ปิดตำนาน รังสี...เสือปืนไว โดย มนัส กิ่งจันทร์
- ↑ กระทู้จาก forumDetail[ลิงก์เสีย]