ข้ามไปเนื้อหา

มหาสมุทรใต้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาสมุทรใต้ (2002)

มหาสมุทรใต้ (อังกฤษ: Southern Ocean) หรือที่รู้จักกันในชื่อ มหาสมุทรแอนตาร์กติก (อังกฤษ: Antarctic Ocean) เป็นมหาสมุทรที่อยู่ล้อมรอบทวีปแอนตาร์กติกา มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นที่สุดท้ายที่องค์การอุทกศาสตร์สากล (International Hydrographic Organization) นิยามให้เป็นมหาสมุทรเมื่อปี พ.ศ. 2543 แม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับกันมาก่อนหน้านั้นในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการสมุทรศาสตร์นานแล้ว โดยในอดีต มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย มีขอบเขตไกลลงไปถึงทวีปแอนตาร์กติกา

มหาสมุทรใต้มีรูปร่างเป็นวงกลมล้อมรอบทวีปแอนตาร์กติกา นับจากละติจูด 60° ใต้ ลงไปถึงชายฝั่งแอนตาร์กติกา อย่างไรก็ตาม นิยามนี้ไม่ได้ใช้ตรงกันทั่วโลก ในประเทศออสเตรเลีย มหาสมุทรใต้ยังรวมถึงพื้นที่ที่เป็นผืนน้ำระหว่างชายฝั่งทางใต้ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กับทวีปแอนตาร์กติกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนที่ชายฝั่งของเกาะทัสมาเนียและออสเตรเลียใต้ ที่ระบุพื้นที่นั้นว่าเป็น มหาสมุทรใต้ แทนที่จะเป็น มหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกันของคนทั่วไป

ภูมิศาสตร์

[แก้]

มหาสมุทรใต้มีความลึกประมาณ 4,000 ถึง 5,000 เมตร (13,000 และ 16,000 ฟุต) โดยส่วนใหญ่จะมีเฉพาะพื้นที่น้ำตื้นเท่านั้น จุกที่ลึกที่สุดของมหาสมุทรใต้คือ 7,236 เมตร (23,740 ฟุต) อยู่ทางด้านใต้สุดของร่องลึกแซนด์วิชใต้ที่ 60°00'S, 024°W ไหล่ทวีปแอนตาร์กติกาโดยทั่วไปแคบแต่ขอบนอกมักลึกผิดปกติอาจมีระดับความลึกถึง 800 เมตร (2,600 ฟุต) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก 133 เมตร (436 ฟุต)

ฤดูกาลของดวงอาทิตย์มีอิทธิพลต่อความผันผวนของขนาดมหาสมุทรและแผ่นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา โดยเฉลี่ยอาจมีแผ่นน้ำแข็งตั้งแต่ 2.6 ล้านตารางกิโลเมตรในเดือนมีนาคม จนถึงประมาณ 18.8 ล้านตารางกิโลเมตรในช่วงเดือนกันยายน ทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่าเจ็ดเท่า

ภูมิอากาศ

[แก้]

อุณหภูมิของมหาสมุทรเปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่าง 10 ถึง -2 องศาเซลเซียส พายุหมุนเคลื่อนตัวสู่ทิศตะวันออกไปรอบ ๆ ทวีป และมักมีความรุนแรงเนื่องจากอุณหภูมิที่ต่างกันมากระหว่างน้ำแข็งกับมหาสมุทรเปิด พื้นที่จากละติจูด 40° ใต้ลงไปถึงวงกลมแอนตาร์กติกา มีค่าเฉลี่ยของความเร็วลมสูงที่สุดในโลก ช่วงฤดูหนาวมหาสมุทรใต้จะหนาวเย็นจนเป็นน้ำแข็ง และแผ่ไกลออกไปถึงละติจูด 65° ใต้ ของมหาสมุทรแปซิฟิก และ 55° ใต้ ของมหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยลดลงต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส กระแสลมจากในแผ่นดินที่พัดต่อเนื่องสู่ชายฝั่งบางแห่ง ทำให้ชายทะเลนั้นปราศจากน้ำแข็งตลอดทั้งฤดูหนาว

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]