ข้ามไปเนื้อหา

ภูมิสถาปัตยกรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์)
เรือนส้มในพระราชวังแวร์ซายน์

ภูมิสถาปัตยกรรม (อังกฤษ: landscape architecture) อ่านออกเสียงว่า "พู-มิ-สะ-ถา-ปัด-ตะ-ยะ-กัม" เป็นศิลปะและวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการออกแบบวางแผน การอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ใช้สอยภายนอกอาคาร รวมทั้งพื้นที่บางส่วนภายในหรือบนดาดฟ้าอาคารเพื่อความผาสุก สวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน

ลักษณะโดยรวม

[แก้]

งานของภูมิสถาปนิกอาจครอบคลุมตั้งแต่การสรรค์สร้างสวนสาธารณะและถนนอุทยานไปจนถึงการวางผังบริเวณกลุ่มอาคารสำนักงาน จากการออกแบบที่พักอาศัยไปจนถึงการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและการจัดการพื้นที่ธรรมชาติขนาดใหญ่ หรือการฟื้นฟูภูมิทัศน์ที่เสียหาย เช่น เหมืองแร่เก่า บริเวณฝังกลบขยะ ภูมิสถาปัตยกรรมทับซ้อนกับการจัดสวน ก็จริง แต่จะเป็นงานวิชาชีพที่มีปัจจัยพิจารณาในการออกแบบและมีขอบเขตกว้างขวางกว่า

ภูมิสถาปนิกทำงานในพื้นที่ภายนอกอาคารเกือบทุกชนิดและพื้นบางส่วนภายในหรือบนดาดฟ้าอาคาร ทั้งใหญ่และเล็ก ในเมืองและชนบท ทั้งด้วยวัสดุ “แข็ง” (hardscape) / “นุ่ม” (softscape) ภูมิสถาปนิกทำงานครอบคลุม:

  • รูปทรง ขนาดส่วนและการวางผังโครงการใหม่
  • งานที่พักอาศัยส่วนบุคคล ตามกฎหมายประเทศไทยสามารถออกแบบที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 3 ชั้น
  • งานสาธารณะ
  • การออกแบบผังบริเวณโรงเรียน มหาวิทยาลัยและโรงแรม
  • สวนสาธารณะ สนามกอล์ฟ สวนสนุกและสนามเล่นกีฬาต่างๆ
  • บริเวณโครงการเคหะ นิคมอุตสาหกรรมและโครงการเชิงการค้า
  • ทางหลวง โครงสร้างทางการขนส่ง สะพานและทางผ่าน
  • ลานเมืองและลานชุมชนและระบบทางเดินเท้า
  • โครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองขนาดเล็กและใหญ่
  • ป่า แหล่งท่องเที่ยว ภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ และการประเมินทางภูมิทัศน์หรือการศึกษาด้านการอนุรักษ์
  • ภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural Landscape)
  • อ่างเก็บน้ำ เขื่อน สถานีไฟฟ้า บ่อขุดวัสดุทางอุตสาหกรรมหรือโครงการทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งบริเวณบริการนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ
  • การประเมินสภาพแวดล้อม การให้คำปรึกษางานวางแผนภูมิทัศน์และการทำข้อเสนอในการจัดการผืนแผ่นดิน
  • โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งและเกาะ

คุณค่าที่สำคัญที่สุดของภูมิสถาปัตยกรรมมักเกิดขึ้นในช่วงแรกของการวางผังแม่บทโครงการ ช่วงที่อยู่ในระหว่างการระดมความคิดในการกลั่นกรองสิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์การใช้สอยพื้นที่ ภูมิสถาปนิกสามารถให้แนวคิดรวมและจัดเตรียมผังหลักเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนและง่ายที่จะเข้าใจในขั้นต่อๆ มา ภูมิสถาปนิกสามารถจัดทำแบบก่อสร้างประกอบสัญญาจ้าง จัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้คำปรึกษา เป็นพยานผู้ชำนาญการในด้านการใช้ที่ดินเชิงนิเวศ นอกจากนี้ภูมิสถาปนิกยังสามารถจัดเตรียมเอกสารใบสมัครเพื่อการจัดหาแหล่งเงินลงทุนสำหรับโครงการด้วย

ความชำนาญเฉพาะในงานภูมิสถาปัตยกรรม

[แก้]

นักออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมและวิศวกรสำรวจ เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรทางกายภาพที่มีอยู่ และที่มีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบทางกายภาพที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เป็นผู้วางแผนผัง กำหนดจัดวาง คาดการณ์การใช้งานอย่างเป็นเหตุ-ผล เป็นผู้ที่รู้ซึ้งถึงความสัมพัน์ระหว่างการจัดวางองค์ประกอบทางธรรมชาติและกิจกรรมให้เกิดประโยชน์ มีความเหมาะสม ทั้งรู้ทรงของพื้นที่ ที่ว่าง ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งรวมไปถึงงานภูมิทัศน์อ่อน (งานพืชพรรณ เช่น การออกแบบปลูกต้นไม้ และการสรรค์สร้างพื้นที่สีเขียวกลางแจ้งทุกประเภท บุคคลเหล่านี้ทำงานภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น บางคนอาจทำงานภาคเอกชนหรือทำงานอิสระ รับเป็นที่ปรึกษาส่วนราชการ อุตสาหกรรม พาณิชกรรมและเอกชนรายบุคคล ผู้จัดการภูมิทัศน์ ใช้ความรู้ด้านวัสดุพืชพรรณและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติในการให้คำแนะนำในการดูแลรักษาระยะยาวและในการพัฒนาภูมิทัศน์ บุคคลเหล่านี้ทำงานเกี่ยวกับพืชสวน การจัดการสถานที่ ป่า การอนุรักษ์ธรรมชาติและเกษตรกรรม นักวิทยาศาสตร์ภูมิทัศน์ มีทักษะพิเศษเช่น ปฐพีวิทยา อุทกวิทยา ภูมิสัณฐาน หรือพฤกษศาสตร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาในงานภูมิทัศน์ งานของบุคคลเหล่านี้อาจไล่ตั้งแต่การสำรวจบริเวณไปจนถึงการประเมินสิ่งแวดล้อมของบริเวณขนาดใหญ่เพื่อการวางแผนหรือการจัดการ และอาจทำรายงานผลกระทบในโครงการพัฒนาหรือในความสำคัญเฉพาะของพรรณไม้หรือสัตว์บางชนิดในพื้นที่ นักวางแผนภูมิทัศน์ เกี่ยวข้องและดูแลในด้านตำแหน่งที่ตั้ง วิวทิวทัศน์ นิเวศวิทยาและการใช้ที่ดินในเชิงนันทนาการของเมือง ชนบท และพื้นที่ชายฝั่ง งานที่บุคคลกลุ่มนี้ทำรวมถึงการเขียนรายงานด้านนโยบายและยุทธวิธี และลงท้ายด้วยการส่งผังรวมสำหรับการพัฒนาโครงการใหม่ การประเมินและและประมาณค่าพร้อมทั้งการจัดทำแผนการจัดการเพื่อนำไปใช้ในการทำแผนนโยบาย บางคนอาจมีสร้างสมความชำนาญเฉพาะเพิ่มเติม เช่น งานภูมิทัศน์โบราณคดี หรือกฎหมายที่เกี่ยวของกับภูมิทัศน์

ประวัติ

[แก้]

มนุษยชาติทั่วโลกต่างก็ได้สร้างสวนมานานนับสหัสวรรษ สวนญี่ปุ่น และสวนสวรรค์เปอร์เซีย สวนสวรรค์เหล่านี้นับเป็นตัวอย่างของสวนประเพณีโบราณ สวนลอยบาบิโลนสร้างโดยพระเจ้าเนบูชาดเนสซาที่ 2 ประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล ในยุโรป เรนาซองส์ได้นำมาซึ่งยุคแห่งการออกแบบที่ยิ่งใหญ่ รวมทั้งสวนเพื่อความปีติต่างๆ เช่น วิลลา เดอเอสเต ที่ ทิโวลิ สวนเรนาซองส์ที่สร้างระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 (พ.ศ. 2043-2243) ได้บรรลุถึงขีดสูงสุดแห่งความยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นผลงานของ อังเดร เลอ โนตร์ ณ วัว เลอ วิกกอง และ แวร์ซาย

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 (ระหว่าง พ.ศ. 2244-2343) อังกฤษเริ่มเน้นสไตล์ใหม่ของ “สวนภูมิทัศน์” บุคคล เช่น วิลเลียม เคนท์ ฮัมฟรีย์ เรพตัน รวมทั้งโจเซฟ แพกซ์ตัน และผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดอีกคนหนึ่งคือ ลานเซลอต บราวน์ “ผู้สามารถ” ได้แปรเปลี่ยนอุทยานคฤหาสที่ยิ่งใหญ่ของอังกฤษให้กลายเป็นธรรมชาติที่เรียบและสะอาดงดงาม อุทยานเหล่านี้ยังคงเหลือให้ชมในปัจจุบันหลายแห่ง คำว่าภูมิสถาปัตยกรรมในภาษาอังกฤษคือ “Landscape Architecture” ได้ถุกเรียกเป็นครั้งแรกโดยชาวสก็อตชื่อ กิลเบิร์ต เหลียง ( Gilbert Leung ) มีสัน ในหนังสือชื่อเรื่อง ภูมิสถาปัตยกรรมแห่งจิตรกรรมอันยิ่งใหญ่แห่งอิตาลี (ลอนดอน พ.ศ. 2371) เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเภทของสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในภาพเขียนภูมิทัศน์ คำว่า “ภูมิสถาปัตยกรรม” ได้รับการตอบรับนำมาใช้ต่อมาโดย เจซี ลูดอน และเอ.เจ. ดาวนิง สำหรับประเทศไทยเริ่มใช้คำว่า "ภูมิสถาปัตยกรรม" ประมาณ พ.ศ. 2498 เมื่อเริ่มมีการเปิดสอนวิชานี้ในชั้นปีที่ 3 ของหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฺฑิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเปิดสอนเป็นครั้งแรกโดยอาจารย์จันทรลดา บุณยมานพ ซึ่งจบปริญญาโทด้านภูมิสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา

ล่วงสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 (พ.ศ. 2344-2443) การวางแผนชุมชนเมืองเริ่มมีบทบาทสำคัญโดยเป็นการผสมผสานระหว่างการวางแผนสมัยใหม่รวมกับสวนภูมิทัศน์ประเพณี ซึ่งทำให้ภูมิสถาปัตยกรรมกลายเป็นจุดรวมสำคัญที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษ เฟรเดอริก ลอว์ ออล์มสเตด ได้ออกแบบสวนสาธารณะหลายแห่งออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกลายเป็นผลที่มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการปฏิบัติวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบัน สวนสาธารณะดังกล่าวบางแห่งได้แก่ เซ็นทรัลปาร์ก ในนครนิวยอร์ก พรอสเป็กปาร์ก ใน บรุกลีน และในนครบอสตัน ที่ได้ชื่อเรียกกันว่า ระบบสวนสาธารณะ “สร้อยหยกเขียว”

ภูมิสถาปัตยกรรมได้พัฒนาตัวเองมาเป็นสาขาวิชาชีพการออกแบบเฉพาะ ได้สนองตอบต่อขบวนการออกแบบและสถาปัตยกรรมตลอดช่วงเวลาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2444-2543) ปัจจุบัน การค้นคิดสิ่งใหม่ๆ มีผลให้การแก้ปัญหาทางภูมิสถาปัตยกรรมในทางที่ก้าวหน้าขึ้นสำหรับในงานภูมิทัศน์ถนน สวนสาธารณะและอุทยาน ผลงานของ มาร์ธา ชวาท์ส ในสหรัฐฯ และในยุโรป เช่น ชูเบิร์กปลิน ในรอตเตอร์ดาม เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ

ประวัติความเป็นมาของภูมิสถาปัตยกรรมในประเทศไทย

[แก้]

ประวัติความเป็นมาของภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศไทยไม่เป็นที่ชัดเจนนัก อาจเป็นด้วยหลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีถูกทำลายในในสงครามไทย-พม่าที่กรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะเมื่อ พ.ศ. 2310 ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงสมัยสุโขทัยกล่าวไว้เพียงการปลูกต้นไม้เชิงเกษตรกรรมไว้เบื้องเหนือเบื้องใต้ มีกล่าวถึงตระพังหรือสวนน้ำไว้บ้างแต่ไม่พรรณนารูปแบบและความสวยงาม

บาทหลวงชาวฝรั่งเศสบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสวนในสมัยพระนารายณ์มหาราชไว้พอควร ว่ามีชาวต่างประเทศนำพรรณไม้แปลกๆ มาถวาย และทรงลงมือทำสวนด้วยพระองค์เองในพระราชวังลพบุรี ไม่กล่าวถึงรูปแบบและความสวยงามที่มีนัยสำคัญไว้เช่นกัน

สมัยต้นรัตนโกสินทร์มีการนำรูปแบบสวนจีนมาสร้างในพระบรมมหาราชวังและวัดสำคัญ เรียกว่า เขามอ มีการสร้างสวนซ้ายสวนขวา เริ่มมีการสร้างสวนเพื่อความปีติในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีสวนและมีรูปแบบของสวนปรากฏชัดเจนขึ้น มีการนำรูปแบบสวนยุโรปซึ่งกำลังผ่านความรุ่งเรืองของยุคเรอเนสซองซ์ โดยมีนายช่างฝรั่งที่เข้ามารับราชการ เช่น นายเฮนรี อาลบาสเตอร์ หรือพระเศวตศิลา ต้นตระกูลเศวตศิลารวมทั้งคนอื่นๆ มาเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างสวนหลายแห่ง อุทยานสราญรมย์เป็นตัวอย่างสวนที่ยังหลงเหลือและได้รับการบูรณะให้สวยงามในปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจเป็นผู้ให้กำเนิดการผังเมืองและภูมิสถาปัตยกรรมเป็นพระองค์แรกก็ว่าได้ พระราชหัตถ์เลขาถึงเจ้าพระยาวรพงศ์ระหว่าง พ.ศ. 2444-2452 เป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าพระองค์ทรงเชี่ยวชาญในงานทั้งสองสาขานี้อย่างไร ทรงรู้จักต้นไม้ พร้อมทั้งชื่อและอุปนิสัยพรรณไม้ต่างๆ ที่ใช้ปลูกทั้งในสวนและในเมืองนับได้เกือบร้อยชนิด

งานสวนและสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลยุโรปในรัชกาลที่ 4-5 ได้ต่อเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 เช่น วังฤดูร้อนต่างๆ เป็นต้นว่า พระราชวังบ้านปืน และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เพชรบุรี พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐมและวังไกลกังวล เป็นต้น รูปแบบของสวนไม่เป็นที่เด่นชัดว่ามีรูปแบบอย่างไร กล่าวกันว่าเป็นงานประกอบที่ทำโดยสถาปนิกชาวยุโรปผู้ออกแบบและก่อสร้างอาคาร ซึ่งอาจมีรูปแบบที่สวยงามแต่ได้ถูกแปรเปลี่ยนไปโดยกาลเวลา

สวนและงานภูมิสถาปัตยกรรมได้หยุดนิ่งมาตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจโลกตกต่ำในปลายรัชกาลที่ 7 และเริ่มขยับตัวขึ้นใหม่ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่เริ่มพัฒนาประเทศและสมัยเริ่มสงครามเวียดนาม การใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ทำให้มีความต้องการบ้านเช่าที่มีสวน ต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนสร้างโรงแรม เช่น โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเน็นตัล (ปัจจุบันถูกรื้อกลายเป็นศูนย์การค้าสยามพารากอน) และโครงการเงินกู้ได้เผยโฉมของภูมิสถาปัตยกรรมให้ปรากฏ ช่างจัดสวนไทยจึงได้เคยเห็นและรู้จักวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมที่เป็นสากลเป็นครั้งแรก ในขณะเดียวกัน เทศบาลนครกรุงเทพ ก็ได้เริ่มรณรงค์จัดสวนตามมุมต่างๆ ของถนน เรียกว่า “สวนหย่อม” โดยเลียนแบบ “สวนญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น

การเร่งรัดพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่จะต้องเร่งแก้ไขทำให้ภูมิสถาปัตยกรรมได้รับการยอมรับมากขึ้นในประเทศไทย

วิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรม

[แก้]

ภูมิสถาปนิกถือว่าเป็นนักวิชาชีพในลักษณะเดียวกันกับแพทย์และนักกฎหมายเนื่องจากบุคคลเหล่านี้ จะต้องได้รับการศึกษาเป็นการพิเศษเฉพาะและจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่น

ในสหรัฐฯ และที่อื่นๆ การเข้าสู่สายวิชาชีพจะต้องผ่านการศึกษาเล่าเรียนขั้นสูง ผ่านการฝึกหัดงานและผ่านการสอบรับใบอนุญาต ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องประโยชน์แห่งสาธารณชนจากความเสียหายที่อาจได้รับจากผู้ไม่มีความรู้ความสามารถและไม่มีจรรยาบรรณ ผู้ปฏิบัติวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมจะรวมตัวกันตั้งสมาคมวิชาชีพขึ้นเพื่อร่วมกันจรรโลงสาขาวิชาชีพแห่งตนให้เข้มแข็ง ในสหรัฐฯ คือสมาคมภูมิสถาปนิกอเมริกัน (American Society of Landscape Architects - ASLA) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2442 นับเป็นสมาคมวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมแห่งแรกของโลก

ประเทศไทยได้ก่อตั้ง “สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย” Thai Association of Landscape Architects-TALA เมื่อ พ.ศ. 2530 หลังสหรัฐฯ 88 ปี การควบคุมวิชาชีพกระทำโดยใช้กฎหมายบังคับให้ผู้ปฏิบัติวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

อาจกล่าวได้วิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทยที่มีการออกแบบเฉพาะโดยภูมิสถาปนิกโดยตรง และมีการแยกสัญญาจากงานสถาปัตยกรรมเริ่มเมื่อประมาณ พ.ศ. 2515 โดยข้อกำหนดของธนาคารโลกในโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาวิทยาเขตใหม่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บ่งให้ใช้ภูมิสถาปนิก

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสำนักงานภูมิสถาปนิกมากกว่า 30 แห่ง วิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศไทยอยู่ภายใต้การควบคุมของสภาสถาปนิกตาม พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ซึ่งใช้แทนพระราชบัญญัติควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2508

การศึกษาด้านภูมิสถาปัตยกรรม

[แก้]

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดสอนวิชาภูมิสถาปัตยกรรมในระดับมหาวิทยาลัย โดยเปิดสอนระดับปริญญาตรี เมื่อ พ.ศ. 2443 ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ ปัจจุบันได้มีการเปิดสอนในเกือบทุกประเทศในโลก จากการสำรวจของสหพันธ์ภูมิสถาปนิกนานาชาติ (IFLA) เมื่อ พ.ศ. 2547 พบว่ามีสถาบันระดับมหาวิทยาลัย 204 แห่งใน 43 ประเทศของโลก (ที่ส่งแบบสอบถามกลับ) [1] เก็บถาวร 2007-01-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ที่เปิดสอนวิชาภูมิสถาปัตยกรรมระดับวิชาชีพปริญญาตรี โทและเอก รวมทั้งปริญญาตรีก่อนวิชาชีพหลักสูตร 4 ปี (Pre-professional degree)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดสอนวิชาภูมิสถาปัตยกรรมระดับปริญญาตรีหลักสูตร 5 ปีเป็นแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ. 2521 ปัจจุบัน ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมแล้วมากกว่า 25 รุ่น หรือประมาณ 500 คน ต่อมาได้มีการเปิดสอนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2538 และที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดสอนระดับปริญญาตรีวิชาชีพหลักสูตร 5 ปีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการเปิดสอนระดับปริญญาโทเพิ่มขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต (ภูมิสถาปัตยกรรม) ปัจจุบันคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรด้านภูมิสถาปัตยกรรมในระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี เป็นที่แรกของประเทศไทยแล้วเพื่อเพิ่มทางเลือกทางการศึกษาสาขานี้ให้มีความหลากหลายขึ้น โดยจะเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา พ.ศ. 2550 เป็นปีแรก

ในปีการศึกษา 2557 สาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ทำการเปิดหลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (ภ.สถ.บ.) ระดับปริญญาตรีวิชาชีพหลักสูตร 5 ปี เป็นรุ่นแรก ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในศาสตร์ด้านภูมิสถาปัตยกรรม

ในปีการศึกษา 2563 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เปิดหลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (ภ.สถ.บ.) หลักสูตรนานาชาติ ในระดับปริญญาตรีวิชาชีพหลักสูตร 5 ปี ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทย ที่เปิดสอนสาขาภูมิสถาปัตยกรรมเป็นหลักสูตรนานาชาติอีกด้วย

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]