ข้ามไปเนื้อหา

เฮนรี อาลาบาศเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เฮนรี อาลบาสเตอร์)
เฮนรี อาลาบาศเตอร์
เกิด22 พฤษภาคม พ.ศ. 2379
เฮสติงส์ ประเทศอังกฤษ
เสียชีวิต8 สิงหาคม พ.ศ. 2427 (48 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
อาชีพนักการทูต
ผลงานเด่นเดอะวีลออฟเดอะลอว์ (The Wheel of the Law)
คู่สมรสพาลาเซีย เอ็มมา ฟาเฮย์[1]
เพิ่ม
บุตร6 คน รวมถึงพระยาวันพฤกษ์พิจารณ์และพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง
บิดามารดา
  • เจมส์ ชาโลเนอร์ อาลาบาศเตอร์ (บิดา)
  • แฮร์ริเอ็ต วูดแมน (มารดา)
ญาติชาโลเนอร์ อาลาบาศเตอร์ (น้องชาย)
แมรี แอน คริดเดิล (ป้า)
สิทธิ เศวตศิลา (หลานปู่)

เฮนรี อาลาบาศเตอร์ (อังกฤษ: Henry Alabaster; 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2379 – 8 สิงหาคม พ.ศ. 2427) ต้นตระกูลเศวตศิลา รองกงสุลชาวอังกฤษ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เป็นผู้รังวัดในการตัดถนนเจริญกรุง ต่อมาเกิดขัดแย้งกับกงสุลน็อกซ์ จึงลาออกและเดินทางกลับประเทศอังกฤษ และเดินทางกลับมารับราชการกับไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2416 เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้วางรากฐานการทำแผนที่ การสร้างถนน กิจการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ และพิพิธภัณฑ์

ช่วงต้นของชีวิตและวงศ์ตระกูล

[แก้]

เฮนรี อาลาบาศเตอร์ เกิดที่เมือง เฮสติงส์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2379 เป็นบุตรคนที่สามในจำนวนสี่คนของเจมส์ ชาโลเนอร์ อาลาบาศเตอร์ และแฮร์ริเอ็ต วูดแมน แมรี แอน คริดเดิล ป้าข้างบิดาของเขาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงพอสมควร[2] ส่วนน้องชายของเขา ชาโลเนอร์ อาลาบาศเตอร์ ทำงานเป็นทูตและรับราชการให้กับรัฐบาลสหราชอาณาจักรในจีน มีตำแหน่งเป็นรองกงลุสประจำเซี่ยงไฮ้และต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นกงลุสใหญ่ประจำนครฮั่นโคว (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองอู่ฮั่น) นายอาลาบาศเตอร์สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอน[1]

การทำงานในประเทศสยาม

[แก้]

ก่อนเข้ารับราชการ

[แก้]

นายอาลาบาศเตอร์เข้ามาประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2399 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะนักเรียนล่ามเข้ามาเรียนภาษาไทยเพื่อกลับไปรับราชการที่ประเทศอังกฤษ แต่ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ในระหว่างดำรงตำแหน่งรองกงสุลฯ นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ ผู้ทำหน้าที่รั้งตำแหน่งกงสุลอังกฤษประจำกรุงสยาม ยังได้เป็นหัวหน้าคณะผู้สังเกตการณ์ดาราศาสตร์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ร่วมกับคณะนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส คณะของผู้รั้งตำแหน่งกงสุลอเมริกันประจำกรุงสยาม ตลอดจนชาวยุโรปและอเมริกันที่พำนักอยู่ในประเทศ โดยพระบรมราชานุญาตเข้าร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาที่บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 อีกด้วย แต่ภายหลังเมื่อทำงานในตำแหน่งรองกงสุลไปได้ระยะหนึ่งก็ได้เกิดความขัดแย้งกับกงสุลน็อกซ์ จึงได้ลาออกจากตำแหน่งและเดินทางกลับประเทศอังกฤษ

แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสรอบแหลมมลายู ชวา และอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2416 (พระชนมายุ 20 พรรษา) แล้ว ได้ทรงนำนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (อายุ 37 ปี) กลับเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ โปรดเกล้าให้ทำราชการหลายหน้าที่ รวมทั้งหัวหน้าล่าม ราชเลขาธิการส่วนพระองค์ รวมทั้งเจ้ากรมพิพิธภัณฑสถานและสวนสราญรมย์ และข้าหลวงผู้จัดการงานสร้างถนนและสะพาน

การรับราชการ

[แก้]

ในฐานะราชเลขาธิการส่วนพระองค์ และเป็นผู้มีความสนใจและมีความรู้ด้านต้นไม้ นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ จึงได้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนสราญรมย์ขึ้นในบริเวณวังสราญรมย์ที่สร้างไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2409 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นสวนพฤกษศาสตร์ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และให้เป็นที่ศึกษาพรรณไม้และพันธุ์สัตว์ตามแบบอย่างในต่างประเทศ โดยนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์เองเป็นผู้ออกแบบและดูแลการก่อสร้างสวนด้วยตนเองเมื่อ พ.ศ. 2417 และยังเป็นผู้สั่งกล้วยไม้รวมทั้งแคทลียามาแสดงในสวนอีกด้วย

นอกจากนี้เฮนรีได้ถวายคำแนะนำในการพัฒนาประเทศด้วยวิชาการสมัยใหม่หลายสาขา รวมทั้งวิชาการสำรวจรังวัด วิชาการทำแผนที่และวิชาการทำถนนซึ่งมีความจำเป็นมากในสมัยนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองทำแผนที่ทดลองขึ้นใน พ.ศ. 2418 โดยมีนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์เป็นหัวหน้ากอง กัปตันลอฟตัสเป็นผู้ช่วย พร้อมกับคนไทย 4 คน (หม่อมราชวงศ์แดง เทวาธิราช นายทัด ศิริสัมพันธ์ นายสุด และ หม่อมราชวงศ์เฉลิม) โดยเริ่มด้วยการสำรวจทำแผนที่กรุงเทพมหานคร เพื่อตัดถนนเจริญกรุงและถนนอื่น ๆ รวมทั้งงานทำแผนที่เพื่อวางสายโทรเลขไปยังพระตะบอง แผนที่บริเวณปากอ่าวสยาม เพื่อการเดินเรือและเพื่อเตรียมการป้องกันการรุกรานของข้าศึกที่อาจมาทางทะเล ต่อมา นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ผู้ซึ่งมิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรงในงานแผนที่จึงได้ถวายคำแนะนำให้ว่าจ้างช่างสำรวจรังวัดและทำแผนที่โดยตรงคือ นายเจมส์ เอฟ. แมคคาร์ที ผู้ช่วยช่างทำแผนที่จากกรมแผนที่แห่งอินเดีย เข้ามารับราชการในกองทำแผนที่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2424 (ขยายเป็นกรมทำแผนที่ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2428)

พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ได้เขียนไว้ในเรื่อง “มูลเหตุจัดการกรม ไปรษณีย์โทรเลข พ.ศ. ๒๔๔๒” กล่าวถึงมิสเตอร์เฮนรี อาลาบาสเตอร์ ไว้ว่า

“ถึงต้นรัชกาลที่ ๕ ปรากฏว่ามีฝรั่งชาวอังกฤษ ชื่อมิสเตอร์เฮนรี อาละบาสเตอร์ ผู้หนึ่ง ซึ่งเคยรับราชการอังกฤษตำแหน่งราชทูตในราชสำนักไทยแล้วลาออกมารับราชการไทย มาถึงสมัยข้าพเจ้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ ได้เคยเป็นครูข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้จักดีตลอดทั้งครอบครัว แลบุตรของเขาได้รับราชการกระทรวงมหาดไทยถึงเป็นตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลก็มี มิสเตอร์อาละบาสเตอร์นั้นเป็นคนอังกฤษแท้ รูปร่างสันทัด ตาเหล่เล็กน้อย เป็นผู้มีวิชาความรู้ดี เมื่อมีพระราชกิจในรัชกาลที่ ๕ อย่างไร ข้าพเจ้าได้ทราบว่ามีรับสั่งให้หาเขาเข้าไปเฝ้าเนือง ๆ เขาชำนาญการกฎหมายนานาประเทศ การเมืองต่างประเทศ โบราณวัตถุ เมื่อเวลาข้าพเจ้ารู้จักเขานั้น ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่หน้าประตูพิมานไชยศรี ตรงที่ศาลาสหทัยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บัดนี้เรียกกันว่ามิวเซียม และเข้าใจกันว่าเป็นมิวเซียมแรกในเมืองไทยเรา ตั้งสำนักงานของเขาที่นั้น ข้าพเจ้าสังเกตดู พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรดและทรงนับถือมิสเตอร์อาละบาสเตอร์มาก ข้าพเจ้าเคยเห็นในเวลาเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปถึงหน้าสำนักงานของเขา เช่นเวลาเสด็จประพาสวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มิสเตอร์อาละบาสเตอร์ลงไปเฝ้าถวายความเคารพ เป็นหยุดกระบวนเสด็จ หยุดพระราชยาน รับสั่งทักทายปราศรัยมิสเตอร์อาละบาสเตอร์ทุกครั้ง เป็นเกียรติยศซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระราชทานแก่ผู้ใด”

ผลงานสำคัญ

[แก้]

ผลงานสำคัญของนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์พอสรุปโดยสังเขปได้ดังต่อไปนี้

  • พ.ศ. 2404 รังวัดในการตัดและเป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนนเจริญกรุง ถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบตะวันตกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2417 ออกแบบและก่อสร้างสวนสราญรมย์ นำกล้วยไม้แคทลียา เข้ามาในประเทศไทย
  • พ.ศ. 2417 นำล็อตเตอรี เข้ามาออกในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อระดมทุนช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติที่นำสินค้ามาแสดงในการจัดพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคาเดีย พระบรมมหาราชวัง โดยกรมทหารมหาดเล็กเป็นผู้รับผิดชอบ
  • พ.ศ. 2418 ก่อตั้งกองทำแผนที่และเริ่มงานทำแผนที่สำรวจรังวัดเพื่อสร้างถนนต่างๆ
  • พ.ศ. 2424 ถวายคำแนะนำให้จ้างนายเจมส์ เอฟ.แมคคาร์ธีมาดูแลกองทำแผนที่
  • พ.ศ. 2426 ก่อตั้งกรมไปรษณีย์ และกรมโทรเลข

การสมรสและทายาท

[แก้]

เฮนรี อาลาบาศเตอร์ สมรสกับพาลาเซีย เอ็มมา ฟาเฮย์ (Palacia Emma Fahey) ชาวอังกฤษใน พ.ศ. 2408 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 4 คน[1] เมื่อนายอาลาบาศเตอร์เข้ามารับราชการในสยาม นางพาลาเซียและบุตรก็ได้ตามมาอยู่ด้วยจนกระทั้งนายอาลาบาศเตอร์เสียชีวิตจึงเดินทางกลับอังกฤษ[3] นางพาลาเซียเป็นผู้มีฝีมือในการเขียนภาพจิตรกรรม และเคยได้รับพระราชหัตถเลขาชมเชยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย[3]

นอกจากนี้เขายังมีภรรยาอีกคนหนึง เป็นหญิงไทยชื่อเพิ่ม รับราชการเป็นพระนมในราชสำนัก[3] มีบุตรชาย 2 คน ได้แก่ มหาอำมาตย์ตรี พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ (ทองคำ เศวตศิลา) (บิดาของพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี) และพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ทองย้อย เศวตศิลา)

ชีวิตบั้นปลาย

[แก้]

นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์รับราชการไทยได้เพียง 10 ปีเศษ ก็เกิดป่วยเป็นอัมพาตอย่างกะทันหัน ขากรรไกรแข็งพูดไม่ได้ เพียง 2 วันก็เสียชีวิตในวันที่ 4 สิงหาคม 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัวทรงเสียพระทัยมาก มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ตอนหนึ่งมีความว่า

“ด้วยมิสเตอร์อาลบาสเตอร์ป่วยเป็นลมอำมพาธอย่างแรงที่สุด แต่คืนนี้เวลา ๑๐ ทุ่มไม่มีสติเลย มาจนเวลาวันนี้สองทุ่มตาย เป็นการขาดทุนยิ่งใหญ่ของเรา การทั้งปวงยังอะร้าอร่ามอยู่มาก มิสเตอร์อาลบาสเตอร์ได้รับราชการมาถึงสิบสามสิบสี่ปี ทำการใดซื่อตรงจงรักภักดีต่อไทยจริง ๆ การใหญ่ ๆ ก็ได้ปลุกมามาก จะหาคนนอกใช้ให้เสมอเหมือนยากนัก จะว่าโดยความชอบก็มีมากให้กินพานทองได้ทีเดียว....”

เฮนรี อาลาบาศเตอร์ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอายุเพียง 48 ปี แต่โดยที่นายเฮนรีได้ปฏิบัติราชการมีคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินมาก จึงได้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยโปรดปรานใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2427 ถึงภรรยาหม้ายของนายอาลาบาศเตอร์ สรรเสริญเกียรติคุณที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี  สำแดงพระทัยโศกเศร้า พระราชทานเบี้ยเลี้ยงชีพตลอดเวลาที่ยังเป็นหม้ายอยู่ปีละ 300 ปอนด์ คือสามสิบชั่ง หรือ 2,400 บาท กับพระราชทานให้เป็นส่วนเลี้ยงบุตรอีกปีละ 200 ปอนด์ ทั้งยังมีพระบรมราชโองการโปรดให้เจ้าพนักงานจัดงานศพให้เสมอพระยาเอก ให้จัดทำมณฑปแบบฝรั่งไว้ ณ ที่ฝังศพและปั้นรูปนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ด้วยหินปูน ตั้งไว้ในมณฑปนั้นด้วย

หลุมฝังศพของเฮนรี อาลาบาศเตอร์ อยู่ที่สุสานโปรเตสแตนต์ ถนนเจริญกรุง ยานนาวา กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Personal Correspondence of Henry Alabaster and Palacia Alabaster" จากคลังเอกสารของมหาวิทยาลัยลอนดอน
  2. London Street Views
  3. 3.0 3.1 3.2 บุนนาค, โรม (4 March 2016). "ราชทูตอังกฤษลาออกมาขอรับราชการไทย เป็นคนโปรด ร.๕ หลานปู่เป็นองคมนตรี ร.๙". ผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 7 March 2024.
  • ดาราศาสตร์ เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • เสาวนีย์ เตชะไพบูลย์. ประวัติชีวิตการเมืองของพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา. กรุงเทพฯ : สมาคมการอ่านแห่งประเทศไทย, 2549.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]