ข้ามไปเนื้อหา

ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฟรันซิส เซเวียร์)
ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์
บาทหลวงและเอกอัครสมณทูตประจำตะวันออกไกล
เกิด7 เมษายน ค.ศ.1506
เมืองฆาบิเอร์ ราชอาณาจักรนาวาร์
เสียชีวิต3 ธันวาคม ค.ศ.1552
เกาะช่างชฺวาน
นิกายโรมันคาทอลิก แองกลิคัน ลูเทอแรน
เป็นนักบุญ12 มีนาคม ค.ศ.1622
โดย สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 15
วันฉลอง3 ธันวาคม
องค์อุปถัมภ์งานธรรมทูต

นักบุญฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ (อังกฤษ: Francis Xavier; สเปน: Francisco Javier; บาสก์: Frantzisko Xabierkoa; ละติน: Franciscus Xaverius) ชื่อจริง ฟรันซิสโก เด ฆาโซ อี อัซปิลิกูเอตา (สเปน: Francisco de Jasso y Azpilicueta) ในประเทศไทยรู้จักในนาม ฟรังซิสเซเวียร์ เป็นบาทหลวงโรมันคาทอลิกชาวนาวาร์ (ปัจจุบันเป็นแคว้นหนึ่งของประเทศสเปน) เป็นผู้นำศาสนาคริสต์มาเผยแพร่ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นคนแรกตลอดจนประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น เสียชีวิต ณ เกาะช่างชฺวาน (ปัจจุบันอยู่ในประเทศจีน) และได้รับการประกาศเป็นนักบุญ

ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ เป็นสมาชิกแรกเริ่มและหนึ่งในสมาชิกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของคณะเยสุอิต เพราะเขาสนิทสนมกับนักบุญอิกเนเชียสแห่งโลโยลาผู้ก่อตั้งคณะ

สถานการณ์ทางประวัติศาสตร์เมื่อเกิด

[แก้]

ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ เกิดใน ค.ศ. 1506 หกปีหลังจากนั้น ค.ศ. 1512 ได้เกิดการยึดครองนาวาร์ โดยกองทัพกัสติยาและอารากอนภายใต้การควบคุมของฟาดริเก อัลบาเรซ เด โตเลโด ดุ๊กแห่งอัลบา ตามพระราชโองการของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอน ซึ่งทำให้เกิดสงครามกลางเมืองนาวาร์ที่ยุติในปี ค.ศ. 1524 สงครามครั้งนี้ทำให้อาณาจักรนาวาร์ถูกแบ่งแยกโดยที่นาวาร์สูงตกไปอยู่ในการปกครองของกัสติยาถึงแม้ว่าจะคงความเป็นอาณาจักรถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ส่วนนาวาร์ต่ำซึ่งอยู่บริเวณทางเหนือของเทือกเขาพิรินียังคงเป็นรัฐอิสระ แต่ภายหลังก็เข้าร่วมกับฝรั่งเศส

ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ เกิดในตระกูลชั้นสูงในราชวงศ์อะกรามอนต์ ผู้ปกครองนาวาร์ บิดาของเขาชื่อ ฆวน เด ฆาโซ ซึ่งเป็นประธานสภาที่ปรึกษาของพระเจ้าฆวนที่ 2 แห่งอัลเบรต หลังจากการยึดครองของกัสติยา ฆวนผู้เป็นบิดาและครอบครัวได้หนีภัยไปอยู่ที่ แบร์อาร์น และได้เสียชีวิตที่นั่นในเวลาต่อมา มิเกล และฆวน พี่ชายของฟรานซิสโก ฆาบิเอร์ ได้มีบทบาทสำคัญในการทำศึกเพื่อนำนาวาร์กลับมาอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1521 มิเกลและฆวนได้ต่อสู้กับอิกเนเชียสแห่งโลโยลา ทหารของกัสติยาที่ประจำที่ปัมโปลนา และอิกเนเชียสได้รับบาดเจ็บ แต่ถึงกระนั้นกองทหารกัสติยาก็ชัยชนะอย่างราบคาบในที่สุด ในไม่กี่ปีต่อมา อิกเนเชียสแห่งโลโยลาได้ก่อตั้งคณะแห่งพระเยซูเจ้า และมีฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ เป็นสหายและผู้ร่วมงาน

ประวัติ

[แก้]

ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ เกิดที่ปราสาทฆาบิเอร์ อาณาจักรนาวาร์ (ปัจจุบันอยู่ในภาคเหนือของประเทศสเปน) เกิดในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ.1506 ในครอบครัวชั้นสูงของนาวาร์ บิดาของเขาคือ ฆวน เด ฆาโซ ประธานสภาที่ปรึกษาของพระเจ้าฆวนที่ 2 แห่งอัลเบรต มารดาของเขาคือ มาริอา เด อัซปิลิกัวตา ซึ่งมาจากเชื้อสายเดียวกับมาร์ติน เด อัซปิลิกูเอตา ผู้ได้รับสมญานาม doctor navarrus เขาป็นลูกชายคนสุดท้อง มีพี่น้องคือ : มักดาเลนา, อานา, มิเกล, ฆวน และตัวเขาเอง

ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ มีชีวิตวัยเยาว์ที่ได้รับผลกระทบการสูญเสียเอกราชของนาวาร์ ซึ่งครอบครัวของเขาได้รับผลกระทบอย่างมาก พี่น้องของเขาที่เป็นทหารของพระเจ้าฆวนที่ 3 แห่งนาวาร์ถูกคุมขัง ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ฟรานซิสโก ฆาบิเอร์ สนใจที่จะเรียนด้านศาสนาและทำการเผยแพร่ภายใต้ความคุ้มกันของโปรตุเกส

การศึกษาในปารีส

[แก้]

ใน ค.ศ. 1542 ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ ได้ตัดสินใจเดินทางไปศึกษา ที่มหาวิทยาลัยปารีส ซึ่งก่อนหน้านี้เขาได้รับการศึกษาในหลายสถาบัน ในหลายเมืองของนาวาร์ และก่อนที่จะเข้ารับการศึกษาในปารีสเขาได้เรียนในปัมโปลนา

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1525 ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ เดือนทางไปศึกษาที่ปารีส ซึ่งที่นั่นเองเขาได้รู้จักกับอิกเนเชียสแห่งโลโยลา ผู้เป็นเพื่อนสนิท และต่อมาได้รับการประกาศเป็นนักบุญ อิกเนเชียสไม่เคยทิ้งฟรังซิสโก ฆาบิเอร์ ในยามลำบาก เช่นเมื่อฟรังซิสโก ฆาบิเอร์ มีปัญหาด้านการเงิน

ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ เดือนทางไปศึกษาพร้อมกับสหายอีกห้าคน ซึ่งในเวลาต่อมาคือจุดกำเนิดของคณะเยสุอิต หลังจากที่สำเร็จการศึกษา วันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1534 เหล่าสหายได้ปฏิญาณตนเพื่อถือความรักและความบริสุทธิ์ และในขณะเดียวกันได้ให้คำสัญญาเพื่อจะเดินทางไปแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ส่วนฟรังซิสโก ฆาบิเอร์ อยู่ที่ปารีสต่ออีกสองปีเพื่อเรียนเทววิทยา หลังจากนั้นได้รวมการบริหารจิตกับอิกเนเชียสแห่งโลโยลา

ค.ศ. 1537 ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ กับอิกเนเชียสแห่งโลโยลาเดินทางไปกรุงโรมเพื่อขอพรจากสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 3 ก่อนการเดือนทางไปแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ แต่การเดินทางก็ไม่สามารถเกิดขึ้นเนื่องจากเกิดสงครามระหว่างเวนิสกับตุรกี เมื่อสหายทั้งสองได้รับศีลอนุกรมเมื่อมาถึงเวนิส ในวันที่ 24 มิถุนายนของปีเดียวกัน ในขณะที่รอเรือเพื่อจะไปแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ พวกได้เริ่มพระกาศความเชื่อให้กับคนรอบข้าง และพวกเขาได้เสนอตัวต่อสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อจะไปประกาศความรักของพระเจ้าในสถานที่ใดก็ตาม ด้วยเหตุนั้นนี่เองพวกเขาเดินทางไปลิสบอนในปี ค.ศ.1540 เพี่อเริ่มชีวิตมิชชันนารี เหตุที่ต้องเดินทางไปลิสบอนก็เพราะเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ณ กรุงโรม ได้ขอสมาชิกจำนวนหนึ่งจากอิกเนเชียสแห่งโลโยลา ในนามของพระเจ้าฌูเอาที่ 3 แห่งโปรตุเกส เพื่อส่งไปยังอินเดีย ส่วนฟรังซิสโก ฆาบิเอร์ ถูกส่งไปโดยพระสันตะปาปาโดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนพระองค์ในแผ่นดินของทะเลแดง อ่าวเปอร์เซีย และทะเลทั้งสองฝั่งของแม่น้ำคงคา

เส้นทางการแพร่ธรรม

[แก้]
เส้นทางการแพร่ธรรมของนักบุญฟรันซิสโก ฆาบิเอร์

การเดินทางเท้าจากโรมไปลิสบอนโดยพักที่อัซเปย์เตีย (ปัจจุบันอยู่ที่จังหวัดกิปุซโกอา ประเทศสเปน) เพื่อมอบจดหมายของอิกเนเชียสแห่งโลโยลาให้แก่ครอบครัว ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นพวกเขาก็เทศนาสั่งสอในทุก ๆ หมู่บ้านที่เดินทางผ่าน

วันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1541 วันที่ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ อายุครบ 35 ปีเป็นวันที่เริ่มเดินทาง วันที่ 22 กันยายน เรือเทียบท่าโมซัมบิก และได้อยู่ที่นั้นถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ซึ่งที่นี่เขาได้ช่วยงานในโรงพยาบาล เขาได้รู้ถึงความเอารัดเอาเปรียบคนผิวดำ ซึ่งทำให้เขาพบกับความขัดแย้งเริ่มแรก

หลังจากที่เปลี่ยนเรือที่เมลินดีและโซโคตรา ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ ก็เดินทางถึงกัว (ซึ่งต่อมาได้เป็นเมืองหลวงของดินแดนอินเดียที่อยู่ภายใต้โปรตุเกส) ในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1542 เขาได้ปรับปรุงหนังสือคำสอนคาทอลิกของฆวน บาร์โรส และได้ออกเผยแพร่ความเชื่อตามเมืองต่าง ๆ ในหลายครั้งได้ช่วยเหลือคนใกล้ตาย เยี่ยมผู้ต้องขัง และช่วยเหลือผู้ยากไร้

เพื่อที่จะเข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ ได้เรียนภาษาของชนชาติที่เขาเผยแพร่ศาสนา หลังจากที่เขาได้ปฏิเสธตำแหน่งอธิการสามเณราลัยนักบุญเปาโล เขาจึงเดินทางไปยังเกาะเพสคาดอเรส ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1542 และอยู่ที่นั่นมากกว่าหนึ่งปี

ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ ได้ประกาศศาสนาให้แก่ชาวปาระวัส และได้รับการต่อต้านจากพราหมณ์ในย่านนั้น เขาเรียนภาษาทมิฬ แปลหนังสือเกี่ยวกับศาสนา และได้เทศนาเกี่ยวกับนรกและสวรรค์

เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1543 ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ ได้เจอกับสหายของเขามิเซร์เปาโลและมานซิยาที่กัวและได้ขอมิชชันนารีเพิ่มจากบิขอป เขาได้บาทหลวงเพิ่มอีก 6 คน ซึ่งเขาและเพื่อนร่วมงานใหม่ได้เดินทางไปเกาะเพสคาดอเรสอีกครั้ง ระหว่างการเดินทางเขาได้เขียนจดหมายหลายฉบับไปยังสหายในโรม หนึ่งในนั้นมีใจความว่า

คริสตชนเราละเลยส่วนนี้ เนื่องจากว่ามีคนทื่ทำหน้าที่ประกาศพระวรสาร หลายครั้งหลายคราวที่ฉันมีความคิดที่ไปยังมหาวิทยาลัยเหล่านั้น และฉันจะใช้เสียงเหมือนคนแพ้คดีความ และโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยปารีส ไปพูดที่ซอร์บอนกับคนที่มีความรู้มากกว่าความตั้งใจเพราะต้องการได้ดอกผลจากความรู้นั้นว่า มีวิญญาณมากมายที่ไม่ได้ไปสู่สิริรุ่งโรจน์เนื่องจากความละเลยของพวกเขา มีจำนวนมากเหลือเกินคนที่รับเชื่อพระคริสต์ในแผ่นดินเหล่านี้ที่ฉันเดินอยู่ และหลายครั้งที่ฉันเหน็ดเหนื่อยเนื่องจากการโอบกอดในศีลล้างบาป ฉันไม่สามารถกล่าวข้อความเชื่อและพระบัญญัติและบทภาวนาอื่น ๆ ในภาษาของพวกเขาหลายครั้ง

ที่เกาะเผิงหู (Pescadores) ได้แบ่งงานเป็นเขตให้แก่ผู้รับผิดชอบ หลังจากแบ่งงานแล้วฟรังซิสโก ฆาบิเอร์ เดินทางไปยังมานาปาร์ เขาอยู่ที่นั่นหนึ่งเดือนและได้โปรดศีลล้างบาปให้มากกว่าหนึ่งหมื่นคน

ระหว่าง ค.ศ. 1544 ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ เดินทางเผยแพร่ศาสนามากกว่ายี่สิบครั้ง เขาได้กลับไปยังกัวและหารือกับผู้ว่าการเมือง เพื่อขอกำลังทหารและขอติดตามไปช่วยเหลือคริสต์ศาสนิกชนที่โดนประหารในศรีลังกา แต่ว่าด้วยเหตุผลบางประการการเดินทางนี้ไม่เกิดขึ้น

ค.ศ. 1545 ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ เดินทางไปยังหมู่เกาะโมลุกกะพร้อมกับสหาย ฆวน เอย์โร และก็ถึงมะละกาในเวลาต่อมา ในเวลาสามเดือนฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ ได้เรียนภาษาขั้นพื้นฐานและทำความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และเขาก็ได้แปลหลักการพื้นฐานของความเชื่อคาทอลิกด้วยควมช่วยเหลือของผู้รู้คนอื่น และในปีเดียวกันเขาเขียนจดหมายกราบทูลกษัตริย์โปรตุเกสเกี่ยวกับ ความไม่ยุติธรรมและการดูถูกเหยียดหมายของจำนวนหน้าที่ของพระองค์

เดือนมกราคม 1546 ออกเดินไปยังเกาะอัมบนและเกาะเตอร์นาเตหลังจากที่เขียน คู่มือสำหรับครูคำสอนของคณะแห่งพระเยซูเจ้า ในเวลาเดือนครึ่งถึงไปยังจุดหมาย ฟรังซิสโก ฆาบิเอร์ ประกาศความเชื่อไปในหลายเกาะในเขตเซรัน ตามตำนานกล่าวว่าปูตัวหนึ่งเอากางเขนที่หายไปตอนมีพายุมาคืนเขา

เดือนมิถุนายน ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ เดินทางถึงเตอร์นาเต ซึ่งเป็นเมืองการค้าเครื่องเทศที่มั่งคั่งของโปรตุเกส เขาอยู่ที่นั่นเป็นเวลาสามเดือน จากที่นั่นเขาเดือนทางไปยังเกาะโมโรและอยู่ที่นั่นอีกสามเดือน จากที่เกาะนั้นเขาเดือนทางต่อไปยังโกจจิ ถึงโกจจิเมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1548

หลังจากที่ได้ตรวจตาและจัดระเบียบคณะแพร่ธรรมที่อินเดียและหมู่เกาะโมลุกกะแล้ว ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ ผิดหวังกับผลงานที่ในอินเดีย เขาจึงเดินทางไปญี่ปุ่น กับสหาย โกสเม เด ตอร์เรส, ฆวน เฟร์นันเดซ และล่ามนามอันจิโร ออกเดินทางในวันอาทิตย์ใบลาน ค.ศ. 1549 ถึงญี่ปุ่นวันที่ 15 สิงหาคมของปีเดียวกัน พวกเขาลงเรือที่คาโงชิมะ เมืองหลวงของญี่ปุ่นใต้ในขณะนั้น เขาอยู่ที่เมืองนั้นหนึ่งปีและอยู่ในญี่ปุ่นเป็นเวลาสองปีสามเดือน ในญี่ปุ่นฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ มีเพื่อนร่วมการประกาศข่าวดีคือ ปาโบล เด ซานตาเฟ พวกเขาแปล การประกาศข้อความเชื่อ ซึ่งถูกท่องจำและกล่าวตามท้องถนน ซึ่งหากมีคำถามใดจะใช้บริการล่าม ฟรังซิสโก ฆาบิเอร์ มีความคาดหวังว่าหากสามารถเปลี่ยนความเชื่อให้แก่กษัตริย์ได้จะทำให้ประชาชนเปลี่ยนตาม ดังนั้นเขาจึงเดินทางขึ้นเหนือใน ค.ศ.1550 และด้วยความหวังนี้จึงได้ตั้งกลุ่มคริสตชนที่ฮิราโดะ เดินทางต่อไปยามางูจิ หลังจากนั้นเดินทางไปซากาอิ และเมอาโกะตามลำดับ แม้เขาไม่เคยได้รับโอกาสที่กษัตริย์จะยอมให้เขาเข้าเฝ้า

ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ กลับมายังยามางูจิอีกครั้ง และเขาได้รับการรับรองว่าจะไม่เบียดเบียนผู้เปลี่ยนศาสนาจากเจ้าชาย ในขณะนั้นผลงานของการประกาศศาสนาได้ปรากฏขึ้น ที่นั่นมีกลุ่มคาทอลิกเล็กๆ ผู้รับเชื่อที่นั่นจำนวนมากเป็นซามูไร ซึ่งทำให้เกิดการขัดแย้งกับพวกพระของตระกูล

เดือนกันยายน ค.ศ. 1551 ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายแห่งบุงโกและได้รับอนุญาตให้ประกาศศาสนาได้ทั่วเกาะ หนึ่งเดือนต่อมา ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ เดือนทางกลับอินเดีย เดือนทางโดยเรือ ซังตากรุช โดยมีดีโยกู ปือไรรา เป็นกัปตันเรือ ซึ่งกัปตันผู้นี้เองเป็นผู้ออกความคิดเรื่องสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสในจีน เมื่อเขาเดินทางถึงมะละกา เขาได้ทราบว่าอินเดียได้ถูกยกฐานะเป็นแขวงคณะเยสุอิตเอกเทศออกจากแขวงโปรตุเกสที่เขาสังกัดอยู่

24 มกราคม ค.ศ. 1552 เดินทางถึงโกจจิ และวันที่ 18 กุมภาพันธ์ก็เดินทางมาถึงกัว หลังจากที่แก้ปัญหาต่าง ๆ เสร็จสิ้นแล้ว ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ ออกเดินทางไปจีน วันที่ 14 เมษายน การเดินทางครั้งนี้มีผู้ร่วมทางคือคุณพ่อกากู, อัลวารู ฟือไรรา, อังตอนียู ดือ ซังตา แฟ (เชื้อสายจีน) และผู้รับใช้ชาวอินเดียนามคริสโตเฟอร์ ออกเรือ ซังตากรุช โดยมีปือไรราเป็นกัปตันเรือ

เมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงมะละกา มีปัญหากับอัลวารู ดือ อาตาอีดือ ดา กามา ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการเดินเรือ เขาพยายามไม่ให้ปือไรราเป็นกัปตันเรือ ทำให้การเดินทางช้าไปสองเดือน เดินทางมาถีงเกาะช่างชฺวาน ปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1552 ถึงเป็นแหล่งค้าขายระหว่างจีนกับโปรตุเกส

พวกเขารอเรือจีนเพื่อลักลอบเข้าประเทศจากที่นั่น และวันที่ 3 ธันวาคมของปีเดียวกัน ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ ได้เสียชีวิตขณะมีอายุ 46 ปี

ศพของเขามาถึงกัวในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1554 และถูกฝังไว้ที่นั่น

หลุมฝังศพที่กัว

การประกาศเป็นนักบุญ องค์อุปถัมภ์และวันฉลอง

[แก้]

ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ ได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 15 ใน ค.ศ. 1622 พร้อมกับนักบุญอิกเนเชียสแห่งโลโยลา นักบุญเตเรซาแห่งอาบิลา นักบุญอิซิโดรคนงานไร่ และนักบุญฟีลิปโป เนรี

ได้รับการยกย่องเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ในหลายสถานที่และภารกิจ:

  • ค.ศ. 1748 องค์อุปถัมภ์ ในแผ่นดินของแหล่งแห่งความหวังดี
  • ค.ศ. 1904 องค์อุปถัมภ์ การประกาศความเชื่อ
  • ค.ศ. 1927 สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุสที่ 11 สถาปนาเป็นองค์อุปถัมภ์งานแพร่ธรรมร่วมกับนักบุญเตแรซแห่งลีซีเยอ
  • องค์อุปถัมภ์ลูกเสือคาทอลิก

องค์อุปถัมภ์ของนาวาร์ ร่วมกับนักบุญเฟร์มิน และนักบุญมาริอา ลา เรอัล ต้นเดือนมีนาคมจะมีผู้แสวงบุญจำนวนมากจาริกไปที่ปราสาทฆาบิเอร์