พอปลาร์
พอปลาร์ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 58–0Ma | |
---|---|
ใบของ Populus tremula | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Rosids |
อันดับ: | Malpighiales |
วงศ์: | Salicaceae |
วงศ์ย่อย: | Salicoideae |
เผ่า: | Saliceae |
สกุล: | Populus L. |
ชนิดต้นแบบ | |
Populus tremula L. |
พอปลาร์ หรือ สกุลพอพิวลัส (ชื่อวิทยาศาสตร์: Populus) เป็นสกุลของพืชดอกผลัดใบ 25–30 ชนิดในวงศ์สนุ่น (Salicaceae) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในซีกโลกเหนือเป็นส่วนใหญ่
ต้นพอปลาร์แคลิฟอร์เนีย หรือค็อตตอนวูดดำ (P. trichocarpa) หนึ่งในสกุลพอพิวลัส เป็นไม้ต้นที่ได้รับการระบุรหัสดีเอ็นเอที่สมบูรณ์ชนิดแรก ซึ่งโดยการจัดลำดับดีเอ็นเอในปี 2549[1]
อนุกรมวิธาน
[แก้]ชื่อภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกชนิดต่าง ๆ ได้แก่ พอปลาร์ (poplar /ˈpɒplər/) แอสเพน (aspen) และค็อตตอนวูด (cottonwood) ในภาษาไทยบางครั้งอาจเรียก ปอปลาร์
แต่เดิมสกุลพอปลาร์ถูกแบ่งออกเป็น 6 ชั้น ตามลักษณะของใบและดอก[2][3] (ซึ่งจำแนกดังข้อมูลด้านล่าง) โดยในการศึกษาทางพันธุกรรมเมื่อไม่นานนี้ยังสนับสนุนข้อมูลส่วนใหญ่ของการจำแนกชั้นดังกล่าว โดยยืนยันว่าวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของบางชนิดที่ต้องสงสัยก่อนหน้านี้ว่าน่าจะเกิดจากการผสมข้ามชนิดและระหว่างกลุ่ม จากการพบว่าบางชนิด (ซึ่งระบุไว้ด้านล่าง) มีความสัมพันธ์ของลำดับดีเอ็นเอที่แตกต่างกันซึ่งระบุโดยลำดับดีเอ็นเอในนิวเคลียส (สืบทอดทางต้นพ่อ) และลำดับดีเอ็นเอในคลอโรพลาสต์ (สืบทอดทางต้นแม่) ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนของต้นกำเนิดลูกผสมข้ามชนิด การผสมพันธุ์ข้ามชนิดนี้เป็นเรื่องปกติในพืชสกุลนี้ โดยลูกผสมระหว่างชนิดเหล่านี้ยังได้รับการจำแนกในชั้นต่างกันอีกด้วย.[4][5] ในปัจจุบันสกุลพอปลาร์ มี 57 ชนิดที่ได้รับการยอมรับ[6]
วิวัฒนาการชาติพันธุ์
[แก้]ฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดที่สามารถระบุชนิดได้ง่ายของสกุลพอปลาร์คือ Poplus wilmattae ซึ่งกำเนิดจากสมัยพาลีโอซีนตอนปลายในทวีปอเมริกาเหนือเมื่อประมาณ 58 ล้านปีก่อน[7]
ชนิดที่สำคัญ
[แก้]- Populus ชั้น Populus – แอสเพน และพอปลาร์ขาว (โดยรอบแถบกึ่งอาร์กติก และบริเวณภูมิอากา่ศแบบหนาว รวมทั้งบนภูเขาในบริเวณทางใต้ในเขตอบอุ่น)
- Populus adenopoda – แอสเพนจีน (ในเอเชียตะวันออก)
- Populus alba – พอปลาร์ขาว (พบในยุโรปใต้ ถึงเอเชียกลาง)
- Populus × canescens (P. alba × P. tremula) – พอปลาร์เทา
- Populus davidiana – แอสเพนเกาหลี (เอเชียตะวันออก)
- Populus grandidentata – แอสเพนฟันใหญ่ (ฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ)
- Populus luziarum – รัฐฮาลิสโก เม็กซิโก[8]
- Populus primaveralepensis – รัฐฮาลิสโก เม็กซิโก[8]
- Populus sieboldii – แอสเพนญี่ปุ่น (เอเชียตะวันออก)
- Populus tremula – แอสเพน, แอสเพนยูเรเชีย, แอสเพนยุโรป (ยุโรป และเอเชียเหนือ)
- Populus tremuloides – แอสเพนใบพริ้ว (ทวีปอเมริกาเหนือ)
- Populus ชั้น Aigeiros – พอปลาร์ดำ และค็อตตอนวูดบางชนิด (ทวีปอเมริกาเหนือ, ยุโรป และเอเชียตะวันตก; เฉพาะในเขตอบอุ่น)
- Populus deltoides – ค็อตตอนวูดตะวันออก (ทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ)
- Populus fremontii – ค็อตตอนวูดฟรีมอนท์ (ฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ)
- Populus nigra – พอปลาร์ดำ (ยุโรป,จากการศึกษาลำดับดีเอ็นเอในนิวเคลียส จัดอยู่ในชั้น Aigeiros; หากจัดโดยลำดับดีเอ็นเอในคลอโรพลาสต์ จะอยู่ในชั้น Populus (รวมทั้ง Populus afghanica))
- Populus × canadensis (P. deltoides × P. nigra) – พอปลาร์ดำลูกผสม
- Populus × inopina (P. nigra × P. fremontii) – พอปลาร์ดำลูกผสม
- Populus ชั้น Tacamahaca – พอปลาร์หอม (ทวีปอเมริกาเหนือ, เอเชีย; เฉพาะในเขตหนาว)
- Populus angustifolia – พอปลาร์ใบแคบ (ตอนกลางของทวีปอเมริกาเหนือ)
- Populus balsamifera – พอปลาร์หอม (ทางเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ) (= P. candicans, P. tacamahaca)
- Populus cathayana – (เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ)
- Populus koreana J.Rehnder – พอปลาร์เกาหลี (เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ)
- Populus laurifolia – พอปลาร์ใบกระวาน (เอเชียกลาง)
- Populus maximowiczii A.Henry – พอปลาร์แมกซิโมวิกซ์, พอปลาร์ญี่ปุ่น (เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ)
- Populus simonii – พอปลาร์ไซมอน (เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ)
- Populus suaveolens Fischer – พอปลาร์มองโกเลีย (เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ)
- Populus szechuanica – พอปลาร์เสฉวน (เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ), จากการศึกษาลำดับดีเอ็นเอในนิวเคลียส จัดอยู่ในชั้น Tacamahaca; หากจัดโดยลำดับดีเอ็นเอในคลอโรพลาสต์ จะอยู่ในชั้น Aigeiros)
- Populus trichocarpa – พอปลาร์หอมตะวันตก หรือค็อตตอนวูดดำ (ทางตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ)
- Populus tristis (เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ), จากการศึกษาลำดับดีเอ็นเอในนิวเคลียส จัดอยู่ในชั้น Tacamahaca; หากจัดโดยลำดับดีเอ็นเอในคลอโรพลาสต์ จะอยู่ในชั้น Aigeiros)
- Populus ussuriensis – พอปลาร์อุซุรี (เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ)
- Populus yunnanensis – พอปลาร์ยูนนาน (เอเชียตะวันออก)
- Populus ชั้น Leucoides – พอปลาร์ใบใหญ่ (ฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ, เอเชียตะวันออก; เฉพาะในเขตอบอุ่น)
- Populus heterophylla – พอปลาร์ขนปุย (ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกาเหนือ)
- Populus lasiocarpa – พอปลาร์ระย้าจีน (เอเชียตะวันออก)
- Populus wilsonii – พอปลาร์วิลสัน (เอเชียตะวันออก)
- Populus ชั้น Turanga – พอปลาร์เขตกึ่งร้อน (เอเชียตะวันตกเฉียงใต้, แอฟริกาตะวันออก; เฉพาะในเขตร้อนและกึ่งร้อน)
- Populus euphratica – พอปลาร์ยูเฟรติส (แอฟริกาเหนือ, เอเชียตะวันตกเฉียงใต้และเอเชียกลาง)
- Populus ilicifolia – พอปลาร์แม่น้ำทานา (แอฟริกาตะวันออก)
- Populus ชั้น Abaso – พอปลาร์เม็กซิโก (เม็กซิโก; เฉพาะในเขตร้อนและกึ่งร้อน)
- Populus guzmanantlensis (เม็กซิโก)
- Populus mexicana – พอปลาร์เม็กซิโก (เม็กซิโก)
- ลูกผสมข้ามชั้น
- Populus × acuminata (P. angustifolia × P. deltoides) – ค็อตตอนวูดใบแหลม
- แอลบัสแปซิฟิก[9] (ทวีปอเมริกาเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]ลักษณะทั่วไป
[แก้]พืชในสกุลพอปลาร์เป็นไม้ต้นที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมอย่างมาก และสามารถเติบโตได้สูงตั้งแต่ 15–50 เมตร (49–164 ฟุต) โดยมีลำต้นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ม. (8 ฟุต) มักจะตั้งตรง[10]
เปลือกและเนื้อไม้
[แก้]เปลือกของต้นอ่อนของพอปลาร์เรียบ สีขาวถึงเขียวหรือเทาเข้ม[10] และมักมีเลนทิเซลที่เห็นได้ชัดเจน ต้นพอปลาร์ที่มีอายุมากบางชนิดเปลือกต้นยังคงเรียบ แต่บางชนิดเปลี่ยนเป็นผิวหยาบและแตกเป็นร่องลึก[11] โคนต้นอวบใหญ่ (ไม่เหมือนต้นหลิวที่เกี่ยวข้อง) มีปุ่มตายอดที่ปลายกิ่ง (ต่างจากพืชสกุลหลิวที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน)
เนื้อไม้ของพอปลาร์ทุกชนิดจากภาพตัดขวางค่อนข้างคล้ายกัน ลักษณะความแตกต่างที่อาจพบเกิดจากปัจจัยสภาพแวดล้อมมากกว่าความแตกต่างระหว่างชนิด มีปริมาณเซลลูโลสสูงมาก ซึ่งทำให้มีความยืดหยุ่น ความหนาแน่นของเนื้อไม้ที่ความชื้นร้อยละ 15 อยู่ที่ 0.45 g/cm³ โดยเฉลี่ย และมีค่าระหว่าง 0.41 ถึง 0.60 g/cm³ ค่าหนาแน่นของเนื้อไม้พอปลาร์อยู่ในช่วงใกล้เคียงกับไม้สน ได้แก่ สปรูซนอร์เวย์ และสนขาว[12] เนื้อไม้ของต้นพอปลาร์มีรูพรุนกระจาย แก่นไม้เริ่มสร้างขึ้นในปีที่ห้า สีของเนื้อไม้ (แก่นไม้) ของพอปลาร์ทุกชนิดไม่สามารถแยกได้อย่างชัดเจน[11]
ราก
[แก้]ไม่พบรากแก้ว แต่เป็นระบบรากในแนวราบที่แข็งแรงและแตกแขนงลง รากค่อนข้างยาว มีรากแขนงน้อยและบาง รากของพอปลาร์สร้างทั้ง เอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhizae) และเอนโดไมคอร์ไรซาทั้งที่สร้างอาบัสคูลและเวสิเคิล (vesicular-arbuscular mycorrhizae)[13][14] รากที่ใช้ค้ำยันเหล่านี้ยังสามารถงอกบนพื้นผิวที่เปียกหรือมีการถ่ายเทอากาศที่ไม่ดีได้[15]
ใบ
[แก้]ใบออกเรียงเป็นเกลียวและมีรูปร่างแตกต่างกันไปตั้งแต่รูปสามเหลี่ยมจนถึงรูปวงกลม หรือเป็นแฉกเล็กน้อย ขอบหยักถี่ มีก้านใบยาว พอปลาร์ในชั้น Populus และ Aigeiros ก้านใบจะแบนข้าง ซึ่งมักพบว่าใบไม้แกว่งไปมาได้ง่ายเมื่อลมพัด และทำให้ต้นไม้ทั้งต้นมีลักษณะ "วิบวับ" สะท้อนแสงในสายลม ขนาดของใบแม้บนต้นเดียวก็สามารถมีขนาดที่ไม่แน่นอนอย่างมาก[16] โดยทั่วไปจะมีใบเล็กที่ยอดกิ่งแขนงด้านข้าง และมีใบใหญ่มากบนยอดกิ่งหลักที่เติบโตแข็งแรง สีของใบพอปลาร์มักจะเปลี่ยนเป็นสีทองอร่ามหรือสีเหลืองก่อนที่จะทิ้งใบร่วงในช่วงฤดูใบไม้ร่วง[4][2]
ดอกและผล
[แก้]พืชส่วนใหญ่ในสกุลมีดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น (dioecious) จำนวนน้อยชนิดที่เป็นดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น (monoecious)[17][18] มักออกดอกในต้นฤดูใบไม้ผลิก่อนออกใบ ช่อดอกที่มีแกนช่อยาวดอกย่อยมีจำนวนมากมีเพศเดียว แกนช่อมักงอกชี้ขึ้นและห้อยปลายลู่ลง (ช่อดอกที่ค่อนข้างสั้น ปลายช่ออาจไม่ห้อยลง) ช่อดอกทรงยาวเรียวแบบหางกระรอก (catkin) แทงยอดดอกจากตาที่เกิดขึ้นในซอกใบของปีก่อนหน้า ดอกย่อยทรงถ้วยแบน ก้านดอกย่อยสั้นหรือไม่มีเลย ดอกย่อยเรียงติดกัน ดอกย่อยงอกออกจากผิวของแกนช่อ เมื่อดอกตูมช่อดอกมีลักษณะคล้ายเกล็ด ใบประดับหลุดออกไประหว่างดอกบาน[19] ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียไม่มีกลีบเลี้ยงหรือกลีบดอก
ดอกเพศผู้มีเกสรตัวผู้ 4–60 อัน เส้นใยสั้นและมีสีเหลืองอ่อน อับเรณูเป็นรูปขอบขนาน สีม่วงหรือแดง ดอกเพศเมียประกอบด้วยรังไข่เดียวที่เรียงตัวเป็นแผ่นรูปถ้วย ลักษณะสั้น มีเปลือกหุ้มสองถึงสี่แฉก และออวุลจำนวนมาก
ผสมเกสรด้วยลม โดยช่อดอกเพศเมียจะยาวขึ้นอย่างมากระหว่างการผสมเกสรและออกผล
ผลเป็นทรงรียาว หุ้มด้วยเปลือกสองถึงสี่แฉก สีเขียวถึงน้ำตาลแดง สุกในกลางฤดูร้อน ภายในบรรจุเมล็ดสีน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก ล้อมรอบด้วยกระจุกขนยาวสีขาวนุ่มและน้ำหนักของเมล็ดที่เบามากที่ช่วยในการลอยตามลม ต้นไม้หนึ่งต้นสามารถผลิตเมล็ดได้มากกว่า 25 ล้านเมล็ดต่อปี[20] เมล็ดกระจายพันธุ์ไปตามลม[4][21]
สารสำคัญ
[แก้]สารสำคัญที่พบในพอปลาร์ คือ ฟีนอล ซึ่งเป็นสารทุติยภูมิที่ผลิตขึ้นจากกระบวนการเผาผลาญอาหาร (secondary metabolite) ฟีนอลที่สำคัญที่สุดในเชิงปริมาณ ได้แก่ ฟีนอลไกลโคไซด์ ฟลาโวนอยด์ และแทนนิน
ฟีนอลไกลโคไซด์ ได้แก่ ซาลิซิน ซาลิคอร์ติน เทรมูลอยด์ และเทรมูลาซิน พบมากเป็นพิเศษในใบ กิ่ง และเปลือกของพอปลาร์ ใบของพอปลาร์มักเป็นอาหารของสัตว์ซึ่งมันปล่อยสารบางชนิดที่ลดการเจริญเติบโตของแมลงหลายชนิด[22]
ในฤดูใบไม้ร่วง น้ำตาลซูโครส ราฟฟิโนส และสตาชีโอสจะเกิดขึ้นที่ลำต้นจากแป้งที่เก็บไว้ แม้ว่าแป้งจะพบในปริมาณเล็กน้อยในฤดูหนาว แต่ราฟฟิโนสและสตาชีโอสสามารถสร้างวัตถุแห้งในลำต้นได้ร้อยละ 6 ถึง 7 ยังพบไขมันถูกเก็บไว้ในลำต้นและเปลือก[11]
นิเวศวิทยา
[แก้]ต้นพอปลาร์ในชั้นค็อตตอนวูด (ชั้น Aigeiros) มักเป็นพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือไม้ต้นริมฝั่ง ส่วนพอปลาร์ในชั้นแอสเพน (ชั้น Populus) เป็นหนึ่งในไม้ต้นใบกว้างที่สำคัญที่สุดของป่าซีกโลกเหนือในเขตหนาว[4]
ต้นพอปลาร์และแอสเพนเป็นพืชอาหารที่สำคัญสำหรับตัวอ่อนของผีเสื้อจำนวนมาก
เห็ดนางรมแอสเพน (Pleurotus populinus) พบเฉพาะบนซากไม้พอปลาร์ในทวีปอเมริกาเหนือ
พอปลาร์หลายชนิดในสหราชอาณาจักรและประเทศต่าง ๆ ในยุโรปประสบปัญหาอาการตายจากยอด (dieback) อย่างหนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนอน Sesia apiformis ซึ่งเจาะเข้าไปและพักตัวระยะดักแด้ในลำต้นของพอปลาร์[23]
การปลูก
[แก้]นิยมปลูกพอปลาร์เป็นไม้ประดับ จากข้อได้เปรียบของการโตเร็ว ต้นพอปลาร์เกือบทุกชนิดหยั่งรากได้ง่ายจากการปักชำหรือจากกิ่งที่หักหล่นบนพื้นดิน (เนื่องจากมีความสามารถในการแทงหน่ออย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างอาณานิคมขนาดใหญ่จากต้นเดิมเพียงต้นเดียว เช่น ที่ป่าแพนโด)
การปลูกต้นพอปลาร์อย่างถี่ชิด (เพียงให้แย่งอาหารกัน) จะตั้งตรงและเรียงเป็นแถว เป็นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วยุโรปและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม ต้นพอปลาร์มีระบบรากที่แข็งแรงและรุกราน ซึ่งยืดออกได้ถึง 40 เมตร (130 ฟุต) จากลำต้น ดังนั้นการปลูกใกล้บ้านอาจทำให้ฐานรากหรือท่อน้ำเสียหาย และผลทางอ้อมจากการซีมของความชื้นบนผิวผนังและท่อที่ร้าว
การใช้ประโยชน์
[แก้]แม้ว่าโดยความเข้าใจตามปกติไม้จากสกุลพอพิวลัส (Populus) มักได้รับการเรียกว่า ไม้พอปลาร์ แต่ชื่อ "ไม้พอปลาร์" ที่เป็นไม้เนื้อแข็งคุณภาพสูงที่ใช้โดยทั่วไปและมีเนื้อไม้สีออกเขียวนั้นแท้จริงแล้วมาจากสกุล Liriodendron ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเป็นญาติกัน ไม้จากสกุลพอพิวลัสเป็นวัสดุที่เบาและมีรูพรุนมากกว่า
ความยืดหยุ่นและเกรนละเอียดของเนิ้อไม้สกุลพอพิวลัส ทำให้เหมาะสำหรับการใช้งานหลายประเภทซึ่งกับไม้สกุลหลิว ชาวกรีกและชาวอิทรัสคันสร้างโล่จากพอปลาร์ และพลินีผู้อาวุโสยังกล่าวถึงต้นพอปลาร์เพื่อจุดประสงค์เดียวกันนี้ด้วย[24] ต้นพอปลาร์ยังคงใช้ในการสร้างโล่ตลอดสมัยกลาง และได้รับการยอมรับในด้านความทนทานคล้ายกับไม้โอ๊ก แต่มีน้ำหนักเบากว่ามาก
อาหาร
[แก้]ใบไม้และส่วนอื่น ๆ ของพืชสกุลพอปลาร์เป็นอาหารของสัตว์ ชั้นน้ำเลี้ยงใต้เปลือกไม้ชั้นนอก (กระพี้) นั้นมนุษย์สามารถกินได้ทั้งดิบและสุก[25]
การผลิต
[แก้]- ในหลายพื้นที่มีการปลูกต้นพอปลาร์ลูกผสมโตเร็วเพื่อทำเยื่อไม้ ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในการผลิตกระดาษ[26]
- ขายเป็นไม้เนื้อแข็งใช้สำหรับพาเลทและไม้อัดราคาถูก และในการใช้งานเฉพาะทางเช่น ไม้ขีดไฟและกล่องไม้ขีด และกล่องสำหรับชีสกาม็องแบร์
- ช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมสโนว์บอร์ดเพื่อใช้เป็นแกนสโนว์บอร์ด เนื่องจากมีความยืดหยุ่นเป็นพิเศษ และบางครั้งใช้ในลำตัวของกีตาร์ไฟฟ้าและกลอง
- ไม้พอปลาร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผ่านการอบรมควันเหมาะเป็นฐานสำหรับสว่านคันชัก
- ใช้ทำตะเกียบหรือรองเท้าไม้
- แม่พิมพ์อบจากไม้พอปลาร์ สามารถใช้ได้ทั้งในตู้แช่แข็ง เตาอบ หรือเตาอบไมโครเวฟ[27]
- ในปากีสถาน เกษตรกรปลูกต้นพอปลาร์ในระดับการค้าในจังหวัดปัญจาบ สินธ์ และไคเบอร์ปัคตุนควา อย่างไรก็ตามพอปลาร์มีความทนทานต่อปลวกทุกชนิดที่ต่ำมาก ทำให้เกิดความเสียหายจากปลวกจำนวนมากเป็นประจำทุกปี จากคุณสมบัติด้อยนี้บางครั้งเกษตรกรใช้ท่อนพอปลาร์มาใช้เป็นเหยื่อล่อปลวกให้ติดกับเพื่อเป็นวิธีการควบคุมปลวกในพืชผลด้วยชีววิธีอย่างหนึ่ง
พลังงาน
[แก้]มีความสนใจในการใช้ต้นพอปลาร์เป็นพืชพลังงานสำหรับมวลชีวภาพ ในระบบสวนป่าพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของอัตราส่วนพลังงานเข้าต่อพลังงานออกที่สูง ซึ่งมีศักยภาพในการลดคาร์บอนจำนวนมาก และการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ในสหราชอาณาจักร ต้นพอปลาร์ (รวมทั้งพืชพลังงานอื่น ๆ เช่นต้นวิลโลว์) มักปลูกในระบบไม้โตเร็วหมุนเวียน เป็นเวลาสองถึงห้าปี (มีลำต้นเดี่ยวหรือหลายต้น) จากนั้นจึงเก็บเกี่ยวและเผา ผลผลิตของบางพันธุ์อาจสูงถึง 12 ตันอบแห้งต่อเฮกตาร์ต่อปี[28] ในพื้นที่ที่ร้อนกว่าเช่น อิตาลี ต้นพอปลาร์สามารถผลิตมวลชีวภาพได้มากถึง 13.8, 16.4 ตันอบแห้งต่อเฮกตาร์ต่อปี (สำหรับรอบการตัดสองปีและสามปี) นอกจากนี้ยังแสดงความสมดุลของพลังงานในเชิงบวกและประสิทธิภาพพลังงานที่สูง[29]
เชื้อเพลิง
[แก้]ใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพของการผลิตพลังงานชีวมวล ในสหรัฐนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาการแปลงทางชีวเคมีจากพอปลาร์ให้เป็นน้ำตาลในการสังเคราะห์เอทานอลในการผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ[30] โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากราคาที่ค่อนข้างถูกของไม้พอปลาร์เมื่อปลูกแบบไม้โตเร็ว (short rotation coppice; SRC) เพื่อใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลสามารถทำได้ในเชิงเศรษฐกิจ แม้ว่าผลผลิตของการแปลงจากไม้โตเร็วเหล่านี้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพจะต่ำกว่าไม้ที่ปลูกให้โตแบบทั่วไปก็ตาม
นอกจากการแปลงทางชีวเคมีแล้ว ยังมีการศึกษาการแปลงทางเทอร์โมเคมี (เช่น ไพโรไลซิสแบบเร็ว) พบว่าพอปลาร์ปลูกแบบไม้โตเร็วสามารถให้พลังงานแบบกลับมาใช้ใหม่ได้สูงกว่าการแปลงทางชีวภาพ[31]
ศิลปะ
[แก้]พอปลาร์มีเนื้อไม้โดยทั่วไปจะมีสีขาวออกเหลืองเล็กน้อย เป็นไม้ที่ใช้กันมากที่สุดในอิตาลีสำหรับเป็นวัสดูในจิตรกรรมแผง ได้แก่ ภาพโมนาลิซาและภาพวาดในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลีตอนต้นที่มีชื่อเสียงที่สุดหลายชิ้น[ต้องการอ้างอิง]
เครื่องสายบางชนิดมีแผ่นหลังทำด้วยไม้พอปลาร์ชิ้นเดียว วิโอลาที่ทำในลักษณะนี้ได้รับการกล่าวว่า ให้มีโทนเสียงที่กังวานเป็นพิเศษ[ต้องการอ้างอิง] ในทำนองเดียวกันแม้ว่าโดยทั่วไปจะถือว่าพอปลาร์มีเนื้อไม้ที่มีคุณภาพน้อยกว่าไม้สปรูซซิตกาแบบดั้งเดิม แต่ในปัจจุบันไม้พอปลาร์เริ่มเป็นที่ต้องการของช่างทำฮาร์ปบางคนในฐานะที่เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนในการทำเป็นไม้หน้า (sound board) และบางครั้งยังอาจให้คุณภาพเสียงที่เหนือกว่า[32] ซึ่งบางครั้งอาจใช้แผ่นไม้อัดไม้เนื้อแข็งแบบอื่น ไปจนถึงฐานของพอปลาร์ที่ก้องกังวานทั้งด้วยเหตุผลด้านความสวยงามและควรปรับแต่งคุณสมบัติทางเสียงอย่างละเอียด
การจัดการที่ดิน
[แก้]ต้นพอปลาร์ดำ (Populus nigra) มักใช้ปลูกเป็นแนวต้นไม้สำหรับกันลมในไร่นา เพื่อป้องกันการกร่อนดินโดยลม
การเกษตร
[แก้]ไม้ซุ่งจากต้นพอปลาร์เหมาะกับการใช้เป็นวัสดุเพาะของเห็ดหอม[33]
การบำบัดโดยพืช
[แก้]พอปลาร์เป็นหนึ่งในพืชที่เหมาะสมสำหรับเทคโนโลยีการบำบัดโดยพืช โดยเฉพาะในการใช้ในเป้าหมายการบำบัดมลพิษหลายประเภท ได้แก่ จุลธาตุ (TEs) ในดิน[34]และกากตะกอนน้ำเสีย[35][36], โพลีคลอริเนตเต็ดไบฟีนิล (สารพีซีบี)[37], ไตรคลอโรเอทิลีน (TCE),[38] โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAH)[39]
ในวัฒนธรรม
[แก้]บทกวีภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงสองชิ้น คร่ำครวญถึงการตัดต้นพอปลาร์ คือ "สวนพอปลาร์" (The Poplar Field) ของวิลเลียม คาวเพอร์ (William Cowper) และ "พอปลาร์ที่บินซีย์" (Binsey Poplars) ของเจอราร์ด แมนลีย์ ฮอปกินส์ (Gerard Manley Hopkins) ในปี 1879
ในเพลง "ผลไม้ประหลาด" (Strange Fruit) ของบิลลี ฮอลลิเดย์ (Billie Holiday) ในท่อน "ร่างสีดำแกว่งไปมาในสายลมใต้/ผลไม้ประหลาดที่ห้อยลงมาจากต้นพอปลาร์..."
มีไฮ เอมีเนสกู (Mihai Eminescu) ค้นหาแรงบันดาลใจในผลงานบทกวี "ณ ตรงที่ต้นพอปลาร์โดดเดี่ยวเติบโต" (Down Where the Lonely Poplars Grow) หนึ่งในสถานที่เหล่านั้นคือตรอกพอปลาร์ประหลาด ในเมืองยัชประเทศโรมาเนีย ต่อมาในปี 1973 ต้นพอปลาร์ขาว 15 ต้นที่เหลือรอด (มีอายุระหว่าง 233 ถึง 371 ปี) ได้รับการประกาศให้เป็นอนุสรณ์สถานทางธรรมชาติ[40]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Joint Genome Institute, Populus trichocarpa
- ↑ 2.0 2.1 Rushforth, K. (1999). Trees of Britain and rope. Collins ISBN 0-00-220013-9.
- ↑ Eckenwalder, J.E. (1996). "Systematics and evolution of Populus". ใน R.F. Stettler; H.D. Bradshaw; P.E. Heilman; T.M. Hinckley (บ.ก.). Biology of Populus and its implications for management and conservation. Ottawa: NRC Research Press, National Research Council of Canada. ISBN 9780660165066.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 Meikle, R. D. (1984). Willows and Poplars of Great Britain and Ireland. BSBI Handbook No. 4. ISBN 0-901158-07-0.
- ↑ Eckenwalder, J.E. (2001). "Key to species and main crosses". ใน D.I. Dickmann; J.G. Isebrands; J.E. Eckenwalder; J. Richardson (บ.ก.). Poplar culture in North America. Ottawa: NRC Research Press. pp. 325–330. ISBN 978-0-660-18145-5.
- ↑ "Populus L.". Plants of the World Online, Kew Science. Accessed 8 September 2021. [1]
- ↑ Dickmann, Donald; Kuzovkina, Yulia (2008). Poplars and Willows in the World (PDF). The Food and Agriculture Organization of the United Nations. p. 27. ISBN 978-92-5-107185-4. สืบค้นเมื่อ 24 March 2020.
- ↑ 8.0 8.1 <Vázquez-García, José & Muñiz-Castro, Miguel Angel & González, Rosa & Nieves-Hernández, Gregorio & Pulido, Maria & Hernández-Vera, Gerardo & Delgadillo, Osvaldo. (2019). "Populus primaveralepensis sp. nov. (Salicaceae, Malpighiales), a new species of white poplar from the Bosque La Primavera Biosphere Reserve in Western Mexico". European Journal of Taxonomy. 2019. 10.5852/ejt.2019.498.
- ↑ "A Forest in the Desert: Hybrid Poplar Plantation Feeds New Mill" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-11-29. สืบค้นเมื่อ 2022-11-22.
- ↑ 10.0 10.1 Cheng-fu Fang, Shi-dong Zhao, Alexei K. Skvortsov: Populus, S. 139 - textgleich online wie gedrucktes Werk, In: Wu Zheng-yi & Peter H. Raven (Hrsg.): Flora of China, Volume 4 - Cycadaceae through Fagaceae, Science Press und Missouri Botanical Garden Press, Beijing und St. Louis, 1999, ISBN 0-915279-70-3.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 F. W. Telewski, R. Aloni, J. J. Sauter: Physiology of secondary tissues of Populus. In: R. F. Stettler et al.: Biology of Populus and its implications for management and conservation. 1996, S. 301–329.
- ↑ R. Schulzke, O. Lange, H. Weisgerber: Pappelanbau. Hrsg. vom Auswertungs- und Informationsdienst für Ernährung, Landwirtschaft und Forsten, Bonn 1990.
- ↑ K. S. Pregitzer, A. L. Friend: The structure and function of Populus root systems. In: R.F. Stettler et al.: Biology of Populus and its implications for management and conservation. 1996, S. 331–354.
- ↑ Dipl.-Ing. öbv Sachverst. Thomas Sinn: Wurzelsysteme von Bäumen.
- ↑ Brettwurzeln - Lexikon der Biologie. spektrum.de. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2021.
- ↑ Flora of Pakistan, abgerufen am 25. Februar 2008.
- ↑ G. Schlenker: Beobachtungen über die Geschlechtverhältnisse bei jungen Graupappeln und Aspen. – Zeitschrift für Forstgenetik 2, 1953, S. 102–104.
- ↑ F.W. Seitz & E. Sauer: Salicaceae – Weiden und Pappeln. In: T. Roemer & W. Rudorf: Handbuch der Pflanzenzüchtung, 2. Aufl., Bd. 6. 1962, S. 786–805.
- ↑ James E. Eckenwalder: Systematics and evolution of Populus. In: R.F. Stettler et al.: Biology of Populus and its implications for management and conservation. 1996, S. 7–32.
- ↑ J. H. Braatne, S. B. Rood, P. E. Heilman: Life history, ecology, and conservation of riparian cottonwoods in North America. In: R. F. Stettler et al.: Biology of Populus and its implications for management and conservation. 1996, S. 57–85.
- ↑ 21.0 21.1 Keeler, H. L. (1900). Our Native Trees and How to Identify Them. New York: Charles Scribner's Sons. pp. 410–412.
- ↑ T.G. Whitham, K.D. Floate, G.D. Martinson, E.M. Driebe, P. Keim: Ecological and evolutionary implications of hybridization: Populus-herbivore interactions. In: R.F. Stettler et al.: Biology of Populus and its implications for management and conservation. 1996, S. 247–275.
- ↑ Martin-Garcia, J. "Patterns and monitoring of Sesia apiformis infestations in poplar plantations at different spatial scales". Journal of Applied Entomology.
- ↑ H. A. Shapiro (2007). The Cambridge Companion to Archaic Greece. Cambridge University Press. p. 69. ISBN 978-1-139-82699-0.
- ↑ Angier, Bradford (1974). Field Guide to Edible Wild Plants. Harrisburg, PA: Stackpole Books. p. 172. ISBN 0-8117-0616-8. OCLC 799792.
- ↑ Poplar cultivation in Europe เก็บถาวร 3 พฤศจิกายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Aiken, Laura (18 April 2012). "Baking Bread Abroad". Bakers Journal.
- ↑ Aylott, Matthew J.; Casella, E; Tubby, I; Street, NR; Smith, P; Taylor, G (2008). "Yield and spatial supply of bioenergy poplar and willow short-rotation coppice in the UK". New Phytologist. 178 (2 fvhc): 358–370. doi:10.1111/j.1469-8137.2008.02396.x. PMID 18331429. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 January 2013.
- ↑ Nassi; Di Nasso, N.; Guidi, W.; Ragaglini, G.; Tozzini, C.; Bonari, E. (2010). "Biomass production and energy balance of a twelve-year-old short-rotation coppice poplar stand under different cutting cycles". Global Change Biology Bioenergy. 2 (2): 89–97. doi:10.1111/j.1757-1707.2010.01043.x. S2CID 86414864.
- ↑ Dou, C; Marcondes, W.; Djaja, J.; Renata, R.; Gustafson, R. (2017). "Can we use short rotation coppice poplar for sugar based biorefinery feedstock? Bioconversion of two-year-old poplar grown as short rotation coppice". Biotechnology for Biofuels. 10 (1): 144. doi:10.1186/s13068-017-0829-6. PMC 5460468. PMID 28592993.
- ↑ Dou, C; Chandler, D.; Resende, F.; Renata, R. (2017). "Fast pyrolysis of short rotation coppice poplar: an investigation in thermochemical conversion of a realistic feedstock for the biorefinery". Biotechnology for Biofuels. 10 (1): 144. doi:10.1021/acssuschemeng.7b01000.
- ↑ "Harps by Wm. Rees - WM REES HARP MYTH 8". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 March 2012. สืบค้นเมื่อ 2011-07-01. Rees Harps Website, "Harp Myth #8".
- ↑ Shiitake growth studies performed by RMIT เก็บถาวร 3 มกราคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Guidi Nissim, W.; Palm, E.; Mancuso, S.; Azzarello, E. (2018). "Trace element phytoextraction from contaminated soil: a case study under Mediterranean climate". Environmental Science and Pollution Research. 25 (9): 9114–9131. doi:10.1007/s11356-018-1197-x. PMID 29340860. S2CID 3892759.
- ↑ Werther Guidi Nissim, Alessandra Cincinelli, Tania Martellini, Laura Alvisi, Emily Palm, Stefano Mancuso, Elisa Azzarello, Phytoremediation of sewage sludge contaminated by trace elements and organic compounds, Environmental Research, Volume 164, July 2018, Pages 356-366, ISSN 0013-9351, https://doi.org/10.1016/j.envres.2018.03.009., landfill leachate
- ↑ Justin, MZ; Pajk, N; Zupanc, V; Zupanƒçiƒç, M (2010). "Phytoremediation of landfill leachate and compost wastewater by irrigation of Populus and Salix: Biomass and growth response". Waste Management. 30 (6): 1032–42. doi:10.1016/j.wasman.2010.02.013. PMID 20211551.
- ↑ Meggo RE, Schnoor JL. Cleaning Polychlorinated Biphenyl (PCB) Contaminated Garden Soil by Phytoremediation. Environmental sciences. 2013;1(1):33-52
- ↑ Gordon, M; Choe, N; Duffy, J; และคณะ (1998). "Phytoremediation of trichloroethylene with hybrid poplars". Environmental Health Perspectives. 106 (Suppl 4): 1001–1004. doi:10.2307/3434144. JSTOR 3434144. PMC 1533336. PMID 9703485.
- ↑ Spriggs, T.; Banks, M. K.; Schwab, P. (2005). "Phytoremediation of Polycyclic Aromatic Hydrocarbons in Manufactured Gas Plant–Impacted Soil". J. Environ. Qual. 34 (5): 1755–1762. doi:10.2134/jeq2004.0399. PMID 16151227.
- ↑ "Iași - the county of centuries-old trees". Agerpres.ro. 2017-10-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-06. สืบค้นเมื่อ 2018-10-15.
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พอพิวลัส
- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ พอพิวลัส ที่วิกิสปีชีส์