ข้ามไปเนื้อหา

ไม้ขีดไฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไม้ขีดไฟกำลังติดไฟ

ไม้ขีดไฟ คืออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับจุดไฟ ทำจากแท่งไม้อันเล็กๆ และมีสารติดไฟชุบอยู่ที่ปลายข้างหนึ่งเรียกว่า หัวไม้ขีด ไม้ขีดไฟมักขายในบรรจุภัณฑ์เป็นกล่องเรียกว่า กลักไม้ขีด เวลาจุดไฟจะใช้หัวไม้ขีดฝนลงไปกับพื้นผิวขรุขระหรือพื้นผิวที่ทำมาเฉพาะข้างกล่อง ความร้อนจากการฝนหัวไม้ขีดจะทำให้ไม้ขีดติดไฟ

ไม้ขีดไฟมีบทบาทในการใช้ชีวิตของมนุษย์มาก ในยุคก่อนที่จะมีไฟแช็ก เนื่องจากมนุษย์มีความจำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานไฟ แต่ในเมืองคนกลับใช้ไม้ขีดไฟลดลง และหันไปใช้ไฟแช็กมากขึ้น ปัจจุบันมีการใช้ไม้ขีดไฟในบางโอกาสและในชนบทเท่านั้น แต่จุดเด่นของไม้ขีดไฟที่ดีกว่าไฟแช็กคือมีความปลอดภัยสูงกว่า

ประวัติ

[แก้]

ปี พ.ศ. 2370 (ต้นสมัยรัชกาลที่ 3) มีนักเคมีชาวอังกฤษชื่อ จอห์น วอล์คเกอร์ ทำไม้ขีดจากเศษไม้จุ่มปลายลงในส่วน ผสมของ แอนติโมนีซัลไฟด์โปตัสเซียมคลอเรตและกาวซึ่งทำจากยางไม้ หรือ gumarabic เมื่อนำไม้ขีดไฟขูดลงบนกระดาษทรายจะเกิดแรงเสียดสี ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนที่ทำให้ไม้ขีดลุกเป็นไฟ ไม้ขีดแบบที่ จอห์น วอล์คเกอร์ ประดิษฐ์เป็นแบบเดียวกันกับไม้ขีดประเภท "ขีดกับอะไรก็ได้" แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะติดไฟทุกครั้ง ไม้ขีดไฟชนิดนี้เพิ่งคิดค้นได้หลังจากการประดิษฐ์ไฟแช็กถึง 4 ปี[1]

ถึงปี พ.ศ. 2373 ในประเทศฝรั่งเศส ชาร์ลส์ โซเรีย ได้คิดค้นไม้ขีดไฟที่มีปลายทำจากฟอสฟอรัสเหลือง แต่ช่วงสิ้นศตวรรษที่ 19 หัวไม้ขีดมีส่วนประกอบของฟอสฟอรัสเหลืองหรือขาวมีพิษทำให้คนงานในโรงงานผลิตไม้ขีดไฟเจ็บป่วยถึงพิการหรือเสียชีวิตด้วยโรคที่เรียกกันว่า phossy jaw

ในช่วง พ.ศ. 2383 หรือปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการค้นพบฟอสฟอรัสแดงซึ่งทำให้ผลิตไม้ขีดได้อย่างปลอดภัย แต่ไฟจะติดได้ก็ต้องจุดเฉพาะพื้นที่ที่เตรียมไว้เท่านั้น ผิวสำหรับขีดอยู่ข้างกล่องไม้ขีดมีฟอสฟอรัสแดง ทาติดอยู่ ด้วยยางไม้ gumarbic หรือกาวชนิดอื่น ส่วนที่หัวไม้มีโปแตสเซียมคลอเรตซึ่งเมื่อกระทบกับ ฟอสฟอรัสแดง ก็จะเกิดปฏิกิริยาให้ความร้อนมากพอและไฟจะติดขึ้นได้ เรื่องยังมีวัสดุอื่นๆอีกที่สามารถใช้เป็นก้านไม่ขีดไฟได้เช่น ด้ายเคลือบขี้ผึ้ง และกระดาษแข็งเคลือบขี้ผึ้ง แต่วัสดุที่ใช้ทำก้านไม้ขีดได้ดีที่สุดก็คือไม้ ลักษณะไม้ซึ่งเหมาะสำหรับทำก้านไม้ขีดควรจะเป็นไม้สีขาว ไม่มีกลิ่น เนื้อไม้ไม่แข็งหรืออ่อนเกินไป นิยมใช้ไม้มะยมป่า ไม้มะกอก ไม้อ้อยช้าง ไม้ปออกแตก เป็นต้น ก่อนจุ่มทำหัวไม้ขีดจะต้องเอาปลายก้านไม้ขีดที่จะติดหัวนั้นไปจุ่มขี้ผึ้งพาราฟินก่อน หากเนื้อไม้แข็งเกินไปก็จะไม่ดูดซึมพาราฟิน พาราฟินจะเป็นตัวส่งผ่านจากหัวไม้ขีดไปสู่ก้านไม้ขีด หากไม่มีพาราฟิน เมื่อไฟติดก็จะดับในทันที และหากเนื้อของไม้อ่อนจนเกินไปก้านไม้ขีดก็จะไม่คงรูปเป็นก้านตรงได้

ไม้ขีดไฟในประเทศไทย

[แก้]

สมัยแรกเป็นการนำเข้าไม้ขีดไฟของสวีเดนและญี่ปุ่น โดยของญี่ปุ่นนั้นมีตราต่างๆ และมีภาพวาดบนฉลากไม้ขีดไฟเป็นรูปต่างๆ เรียกว่า หน้าไม้ขีดไฟ มีนักสะสมจะเก็บรวบรวมหน้าไม้ขีดไฟ ต่อมาช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 คนไทยสามารถผลิตไม้ขีดไฟเองได้ มีโรงงานไม้ขีดไฟของเมืองไทยในยุคนั้น ได้แก่ บริษัทมิ่นแซจำกัด ผลิตตรานกแก้ว ตรารถกูบ บริษัทตังอาจำกัด ผลิตตรามิกกี้เม้าส์ ตราแมวเฟลิกซ์ บริษัทไทยไฟ ผลิตตรา 24 มิถุนา เป็นรูปพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นที่ระลึกในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตย บริษัทเอเซียไม้ขีดไฟจำกัด ผลิตชุด ก.ไก่ ข.ไข่ บริษัทสยามแมตซ์แฟ็กตอรี่ ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นบริษัทไม้ขีดไฟไทย ผลิตตราธงไตรรงค์ ตราพระยานาค [2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Bram Van Damme (2006-3-27). "My Lighter". Bram.us. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-19. สืบค้นเมื่อ 2008-03-14.

ดูเพิ่ม

[แก้]