พริษฐ์ วัชรสินธุ
พริษฐ์ วัชรสินธุ | |
---|---|
พริษฐ์ใน พ.ศ. 2567 | |
ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 5 ตุลาคม พ.ศ. 2566 (1 ปี 100 วัน) | |
ก่อนหน้า | ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ |
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 (1 ปี 244 วัน) | |
โฆษกพรรคประชาชน | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 9 สิงหาคม พ.ศ. 2567 (0 ปี 157 วัน) | |
โฆษกพรรคก้าวไกล | |
ดำรงตำแหน่ง 23 กันยายน พ.ศ. 2566 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 (0 ปี 318 วัน) | |
ก่อนหน้า | รังสิมันต์ โรม |
ถัดไป | ตนเอง (พรรคประชาชน) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 10 ธันวาคม พ.ศ. 2535 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | ประชาชน (2567–ปัจจุบัน) |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น | ประชาธิปัตย์ (2561–2562) ก้าวไกล (2565–2567) |
ความสัมพันธ์ | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (น้าชาย) |
การศึกษา | โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี วิทยาลัยอีตัน |
ศิษย์เก่า | วิทยาลัยเซนต์จอห์น มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (ศศ.ม.) |
อาชีพ | พิธีกร นักการเมือง |
ชื่อเล่น | ไอติม |
พริษฐ์ วัชรสินธุ (เกิด 10 ธันวาคม พ.ศ. 2535) ชื่อเล่น ไอติม เป็นนักการเมืองชาวไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน อดีตโฆษกพรรคก้าวไกล อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม NewDem ที่รวบรวมคนรุ่นใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์ แต่หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ พ.ศ. 2562 พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พริษฐ์จึงลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์และสมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลแทน
ปฐมวัยและการศึกษา
[แก้]พริษฐ์เป็นบุตรของศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับศาสตราจารย์แพทย์หญิง อลิสา วัชรสินธุ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพี่สาวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พริษฐ์จึงมีศักดิ์เป็นหลานน้าของนายอภิสิทธิ์[1]
พริษฐ์จบการศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่ออายุเก้าปี และเข้าศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพฯ และโรงเรียนเตรียมมัธยมศึกษาและวิทยาลัยอีตันที่ประเทศอังกฤษ ต่อมา เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีควบปริญญาโทในสาขาวิชาปรัชญาการเมือง และเศรษฐศาสตร์ (Philosophy, Politics and Economics) เกียรตินิยมเหรียญทอง จากวิทยาลัยเซนต์จอห์น มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
ระหว่างที่ศึกษาในออกซ์ฟอร์ด เขาได้รับเลือกเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และประธานชมรมโต้วาทีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งทำให้เขากลายเป็นนักศึกษาคนแรกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้[2] ในช่วงที่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี พริษฐ์ก็กลับไทยมาฝึกงานเป็นระยะเวลาไม่นานที่สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2552 ซึ่งก็ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง[3]
การทำงานก่อนลงการเมือง
[แก้]เมื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาโทแล้ว เขาต้องการทำงานการเมืองในประเทศไทย แต่ขณะนั้น ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จึงตัดสินใจเข้าทำงานให้บริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company[4] ทำให้มีโอกาสได้ไปทำงานหลายประเทศ และได้ช่วยคิดนโยบายแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การรณรงค์ให้คนขึ้นรถเมล์ หรือนโยบายการท่องเที่ยว จึงทำให้เขาฉุกคิดขึ้นมาว่าทำไมจึงไม่กลับมาช่วยพัฒนาประเทศ[5]
หลังจากที่เขาลาออกจากบริษัทที่ปรึกษาและเดินทางกลับประเทศไทย และได้ทำงานเป็นพิธีกรและโปรดิวเซอร์ของรายการ ‘เห็นกับตา’ ทางช่องพีพีทีวี ซึ่งเป็นรายการสารคดีตามติดดูอาชีพแต่ละอาชีพ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวันของคนแต่ละอาชีพ[1][5][6] ออกอากาศเทปแรกเมื่อ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ทำให้ พริษฐ์ ได้เรียนรู้อุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลากหลายอาชีพ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์สำหรับเขาที่ต้องการทำงานการเมืองรับใช้ประชาชน
งานการเมือง
[แก้]พรรคประชาธิปัตย์
[แก้]ในปี พ.ศ. 2561 เขาได้ลาออกจากบริษัทที่ปรึกษาในต่างประเทศ และเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อเริ่มต้นอาชีพการเมืองของเขากับ พรรคประชาธิปัตย์ โดยเขาได้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม NewDem ซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับ สุรบถ หลีกภัย บุตรชายของ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานรัฐสภา, นาย พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ บุตรชายของ พนิช วิกิตเศรษฐ์ และ คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์
เมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เขาได้รับมอบหมายจาก พรรคประชาธิปัตย์ ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 13 บางกะปิ วังทองหลาง (แขวงพลับพลาเท่านั้น) ใน การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562[7] ซึ่งเจ้าของที่นั่งก่อนหน้านี้คือนาย ณัฏฐ์ บรรทัดฐาน (บุตรชายของนาย บัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งครั้งนี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้สูญเสียที่นั่งทุกที่นั่งในกรุงเทพมหานคร โดยเขตเลือกตั้งที่ 13 พริษฐ์ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับที่ 4[8]
หลังการเลือกตั้งจบลงก็มีกระแสข่าวว่าสมาชิกรุ่นอาวุโสของ พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมเข้าร่วมรัฐบาลกับ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ พริษฐ์ และสมาชิกกลุ่ม NewDem จำนวนหนึ่งตัดสินใจลาออกจากสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ นับเป็นจุดสิ้นสุดของกลุ่ม NewDem[9] พริษฐ์เคยให้เหตุผลในวงเสวนาที่ร้าน Cafe' Velo Dome มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถึงเหตุผลที่ว่าทำไมเขาถึงเลือกที่จะมาอยู่พรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากเขาอยากจะลองเปลี่ยนแปลงแก้ไขพรรคนี้จากภายในด้วยตัวของเขาเอง กล่าวคือเปลี่ยนจากพรรคที่มีความเป็นอนุรักษย์นิยมมาเป็นพรรคที่เป็นประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาเป็นได้แค่ฟันเฟืองเล็กๆที่มีสิ่งที่ใหญ่กว่าทำให้พรรคไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้[10]
ขับเคลื่อนกฎหมายภาคประชาชน
[แก้]แม้หลังลาออกจาก พรรคประชาธิปัตย์ พริษฐ์ ไม่ได้ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น และไปก่อตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีการศึกษา แต่เขาก็ไม่ได้หันหลังให้กับการเมืองอย่างสิ้นเชิง โดยช่วงกันยายน 2562 พริษฐ์ได้เปิดตัวหนังสือ “Why So Democracy? ประชาธิปไตย มีดีอะไร?” โดยหวังว่าจะช่วยให้คนอ่านเข้าใจปรัชญาและรากฐานของประชาธิปไตยมากขึ้นผ่านการตั้งโจทย์และขยายความว่า ประชาธิปไตยคืออะไร และทำไมเราถึงอยากได้ประชาธิปไตย[11]
นอกจากนี้ พริษฐ์ ได้ร่วมก่อตั้ง รัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) โดยมีการจัดกิจกรรมห้องทดลองออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กระตุ้นให้ประชาชนนึกถึงรัฐธรรมนูญที่ตัวเองต้องการ และแสวงหาแนวร่วมในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป[12]
กลุ่ม รัฐธรรมนูญก้าวหน้า ยังได้ร่วมกับ iLaw คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล เคลื่อนไหวในนาม กลุ่ม Re – Solution เพื่อล่ารายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560[13] ปิดโอกาสการสืบทอดอำนาจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยการยกเลิก ส.ว. ให้เหลือสภาเดี่ยว และยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดย พริษฐ์ ได้เป็นตัวแทนผู้เสนอรายชื่อกล่าวรายงานหลักการและเหตุผลในการแก้ไข ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564[14] แต่สมาชิกรัฐสภาลงมติไม่รับหลักการในวาระ 1 แม้จะมีประชาชนร่วมเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มาถึง 150,921 รายชื่อ[13][15]
นอกจากนี้ เขายังได้เป็น 1 ใน 22 คนผู้ริเริ่มเชิญชวนเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 เพื่อกระจายอำนาจ ปลดล็อกให้ประชาชนในพื้นที่สามารถบริการจัดการแก้ไขปัญหาและกำหนดอนาคตของตนเองได้[16][17]
ในฐานะที่สนใจด้านการศึกษาและทำธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา พริษฐ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการใน กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... แทนตำแหน่งที่ว่าง เมื่อ 21 เมษายน 2565 หลัง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ลาออกไปเพื่อลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[18]
พรรคก้าวไกล
[แก้]ในปี พ.ศ. 2565 พริษฐ์เป็นผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล โดยเปิดตัวในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2565 ของพรรค ณ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 เขาลงสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล ในลำดับที่ 11[19] และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรก จากนั้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2566 พริษฐ์ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคให้เป็นโฆษกพรรคต่อจากรังสิมันต์ โรม และดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ของสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26
บริษัทเทคโนโลยีการศึกษา
[แก้]ในปี 2563 พริษฐ์ ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งซีอีโอของ บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) ที่มีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แอปพลิเคชัน StartDee โดยมีเนื้อหาการเรียนการสอนครอบคลุมทุกวิชา ตั้งแต่ระดับชั้น ป.4-ม.6[20] โดยมาจากการที่ต้องการปลดล็อกข้อจำกัดการศึกษาไทยแบบเดิม ด้วยการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานเข้ากับการเรียนในโรงเรียน เนื่องจากเล็งเห็นถึง ความไม่เท่าเทียมในระบบการเรียนการสอน จึงตั้งเป้าให้แอปฯ ตอบโจทย์การให้ความรู้ที่มีคุณภาพ ราคาไม่สูง และเข้าถึงง่าย[21] และเขายังยืนยันว่า StartDee ไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยได้กล่าวว่า “การทำสตาร์ทอัพเป็นความต้องการส่วนตัวครับ ผมไม่เคยมองถึงประเด็นทางการเมือง ผมมีสองบทบาทและมีความพยายามอย่างเคร่งครัดที่จะทำให้สองบทบาทไม่กระทบกันและกัน”[22]
ข้อวิจารณ์และจุดยืนทางการเมือง
[แก้]เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553
[แก้]เมื่อพริษฐ์เข้าสู่วงการการเมืองและแสดงจุดยืนอยู่ฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย เขาถูกตั้งคำถามจากสาธารณะค่อนข้างมากถึงความจริงใจต่ออุดมการณ์นี้ รวมถึงมีเสียงเรียกร้องจากสาธารณะให้เขาแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยรัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น้าชายของเขา
พริษฐ์เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในงานเสวนา "30 ปีพฤษภาประชาธรรม บทเรียน 17 พฤษภา 35 พัฒนาปชต." ว่าเมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองใด ๆ รวมถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 การถอดบทเรียนเพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกเป็นเรื่องสำคัญแต่การคืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียก็มีความสำคัญเช่นกัน
เขาได้กล่าวถึงการคืนความยุติธรรมสำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองว่าจะต้องทำ 3 ขั้นตอน ได้ 1. ปฏิเสธนิรโทษกรรมให้การกระทำผิดที่เกิดขึ้น 2. มีกระบวนการค้นหาความจริงที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย 3. ยุติวัฒนธรรม ‘ลอยนวลพ้นผิด’ ต้องนำผู้กระทำผิดขู่กระบวนยุติธรรม[23]
พริษฐ์เคยเขียนถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553 ว่าเป็น “อีกหนึ่งโศกนาฏกรรมที่ผู้เกี่ยวข้องกับความสูญเสียยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม” เพราะไม่มีกระบวนค้นหาความจริงที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงในเหตุการณ์ ถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข้อแตกต่างกับรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย. – พ.ค. 53 (ศปช.) ทำให้สังคมมี ‘ความจริง’ 2 ชุดที่แตกต่างกันในหลายประเด็น
เมื่อมีกระบวนการค้นหาความจริงที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว พริษฐ์เห็นว่า จะต้องมีนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ไม่ทำตามคำสั่งและใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตขัดกับหลักสากล หรือเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาที่ออกคำสั่งอนุมัติให้ใช้มาตรการที่รุนแรงเกินขอบเขตและขัดกับหลักสากล หรือปัจเจกบุคคลอื่นที่มีการพิสูจน์ว่าได้ใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ เพื่อกำจัดวัฒนธรรม ‘ลอยนวลพ้นผิด’ ที่เกิดขึ้นหลังความรุนแรงทางการเมืองตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย “ไม่ใช่แค่เพื่อสะสางสิ่งที่ยังค้างคาจากอดีต แต่เพื่อสร้างบรรทัดฐานสำหรับการชุมนุมทางการเมืองของทุกฝ่ายในอนาคต"[24]
การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
[แก้]เมื่อเรียนจบกลับมาประเทศไทย พริษฐ์ได้สมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหารด้วยตัวเอง ทำให้เกิดกระแสตอบรับในสื่อสังคมออนไลน์อย่างหลากหลาย[1] เรื่องนี้ยังถูกจับตามองอย่างมาก เนื่องจากอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นน้าของเขา เคยมีปมฟ้องร้องคดี ‘พล.อ.อ.สุกำพล’ ปลดจากราชการทหาร โดยกล่าวหาว่าอภิสิทธิ์ไม่ได้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร[25]
พริษฐ์ชี้แจงว่า เขามีหน้าที่มาเกณฑ์ทหารตามกฎหมาย จึงตัดสินใจเป็นทหารเกณฑ์ เพราะเป็นวิธีการที่ตรงไปตรงมาที่สุด และรู้สึกว่าได้ตัดสินใจด้วยตัวเองมากกว่าต้องเสี่ยงดวง[1] และเขาสนับสนุนให้ 'ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร' และเปลี่ยนไปใช้ระบบสมัครใจ ปฏิรูปหลักสูตร จปร. และอบรมและฝึกฝนบุคลากรเรื่องสิทธิมนุษยชน ลดความรุนแรงทั้งทางร่างกาย[26]
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]การเป็นหลานของอภิสิทธิ์ จึงมักทำให้คนชอบหรือไม่ชอบเขาตั้งแต่แรก แต่เขากล่าวเสมอว่า เขาต้องการให้คนจำเขาในฐานะ พริษฐ์ วัชรสินธุ มากกว่าการจำว่าเป็นลูกหลานของใคร[5]
นอกจากนี้ พริษฐ์เป็นที่รู้จักจากความสัมพันธ์ของเขากับนักแสดงสาวสังกัดช่อง 3 ณิชา ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์ พวกเขาคบหากันเป็นเวลาสามปีก่อนที่พวกเขาจะเลิกกันในปี พ.ศ. 2560[27]
พริษฐ์ ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลอย่างมากมาตั้งแต่เด็ก ทั้งชอบเตะฟุตบอล ชอบดูบอล และเป็นผู้สนับสนุนสโมสรลิเวอร์พูล อีกทั้งยังเล่นเกมแฟนตาซีพรีเมียร์ลีก ติดอันดับ 200 ของประเทศด้วย เขาเคยระบุว่า ถ้าไม่ทำงานด้านการเมือง ก็อยากไปสมัครทำงานเป็นนักวิเคราะห์ฟุตบอล[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "10 รู้จัก ไอติม พริษฐ์ ไฮโซหนุ่มไฟแรง ถอดแบบน้ามาเป๊ะๆ". ไทยรัฐ. 10 April 2018.
- ↑ BUDSARAKHAM SINLAPALAVAN, KOR (28 April 2014). "Abhisit's nephew 'Itim' first Thai to lead top Oxford society". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-21. สืบค้นเมื่อ 2020-08-18.
- ↑ "ทำเนียบคึกคัก ไอติม หลานนายกฯ หวนฝึกงานรอบ 2". Kapook.com. 14 July 2009.
- ↑ Countdown 11: Itim Parit Wacharasindhu, สืบค้นเมื่อ 16 March 2019
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "อย่าจำผมหลานอภิสิทธิ์ เปลือยใจไอติม ทิ้งเงินเดือน 3 แสน มาพลิกโฉม ปชป. (คลิป)". www.thairath.co.th. 2018-12-14.
- ↑ ""ไอติม พริษฐ์" นั่งแท่นพิธีกร "เห็นกับตา" เจาะลึกอาชีพในมุมที่คุณไม่เคยรู้". PPTV HD. 3 May 2018.
- ↑ "รับฟังทำได้จริง 'ไอติม' ขันอาสา!ปชป.ไฟเขียวลงเขตบางกะปิ-วังทองหลาง". Thaipost. 26 December 2018.
- ↑ Thaitrakulpanich, Asaree; Reporter, Staff (25 March 2019). "Surprises, Snubs of Thailand's 2019 Election". Khaosod English. สืบค้นเมื่อ 11 April 2019.
- ↑ ""ไอติม" หลาน "อภิสิทธิ์" โบกมือลาประชาธิปัตย์ หลังจับขั้วพลังประชารัฐ". www.thairath.co.th. 2019-06-05.
- ↑ "'จากประชาธิปัตย์ สู่ก้าวไกล' เส้นทางการเมืองที่ไม่ง่าย ของ 'ไอติม' - พริษฐ์ วัชรสินธุ" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-06-30.
- ↑ หนังสือเล่มแรกในชีวิต – Why So Democracy? ประชาธิปไตย - เฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ "เข้าสู่ระบบ Facebook". Facebook.
- ↑ "CONstitution LAB - ห้องออกแบบรัฐธรรมนูญ". conlab.conlabth.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-08. สืบค้นเมื่อ 2022-04-29.
- ↑ 13.0 13.1 SUB_TIK (2021-11-29). ""ไอติม พริษฐ์" เปิดสูตรรื้อระบอบประยุทธ์ ร่วมวงการเมืองก้าวไกล-ก้าวหน้า". ประชาชาติธุรกิจ.
- ↑ "เดือด! "ไอติม-ปิยบุตร" แท็กทีมลุยเสนอรื้อ รธน.60 กวาดล้าง "ไวรัสประยุทธ์" อ้อนขอโหวตผ่านวาระแรก". mgronline.com. 2021-11-16.
- ↑ matichon (2021-11-13). "'ไอติม' หวัง ส.ว.ถอดสลัก ยุติความขัดแย้ง เปิดทางสภาเดี่ยว ประหยัดงบปีละพันล้าน". มติชนออนไลน์.
- ↑ ""ไอติม พริษฐ์" ชู ปลดล็อกท้องถิ่น ชี้ ไม่ใช่ปชช.ไม่รู้ปัญหาแต่ไม่มีอำนาจ". NationTV. 2022-04-24.
- ↑ "ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น". คณะก้าวหน้า.
- ↑ "ประกาศตั้ง "ไอติม - พริษฐ์" เป็นกรรมาธิการ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ". pptvhd36.com.
- ↑ "เช็ค 92 รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรียงตามลำดับ". prachatai.com.
- ↑ "StartDee – คืออะไร". www.startdee.com.
- ↑ Prachachat, I. C. T. (2020-05-11). "18 พ.ค. นี้ 'StartDee' เรียนฟรีพร้อมกันทั่วประเทศ". ประชาชาติธุรกิจ.
- ↑ "เปิดโลกอีกใบของ "ไอติม พริษฐ์" ซีอีโอ StartDee การศึกษาคือรากฐานการพัฒนาประเทศ". www.thairath.co.th. 2021-05-09.
- ↑ "รวมความเห็นการเมือง 12 ปี 10 เมษา 2553". workpointTODAY.
- ↑ "6 บทเรียน จาก 6 ตุลา ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย - The 101 World Politics". The 101 World (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-10-06.
- ↑ "'อภิสิทธิ์' ชนะคดี 'พล.อ.อ.สุกำพล' ปลดจากราชการทหาร ย้อนหลัง 23 ปี". workpointTODAY.
- ↑ Ltd.Thailand, VOICE TV (2020-11-13). "อดีตพลทหารไอติม ยก 3 เหตุผล เลิกเกณฑ์ทหาร-ปฏิรูปหลักสูตร จปร". VoiceTV.
- ↑ "'ณิชา'น้ำตาคลอเบ้า ยอมรับเลิก'ไอติม'แล้ว". 12 September 2017.