พระใบฎีกาอินทร์ (หลวงพ่ออินทร์เทวดา)
พระใบฎีกาอินทร์ (อินทร์ , หลวงพ่ออินทร์เทวดา) | |
---|---|
ชื่ออื่น | หลวงพ่ออินทร์ วัดราษฎรบำรุง |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | พ.ศ. 2419 (44 ปี) |
มรณภาพ | 26 กันยายน พ.ศ. 2463 |
นิกาย | มหานิกาย |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดราษฎรบำรุง ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี |
อุปสมบท | พ.ศ. 2440 |
พรรษา | 23 พรรษา |
ตำแหน่ง | - อดีตเจ้าคณะหมวดบ้านคอย - อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎรบำรุง |
พระใบฎีกาอินทร์ นิยมเรียกว่า “หลวงพ่ออินทร์ วัดราษฎรบำรุง” หรือ "หลวงพ่อวัดใหม่โรงหีบ" มีฉายาว่า "หลวงพ่ออินทร์เทวดา" เป็นพระเถราจารย์จังหวัดสุพรรณบุรี อดีตเจ้าคณะหมวดบ้านคอย อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎรบำรุง ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี[1]
ประวัติ
[แก้]ชาติภูมิ
[แก้]ชื่อ อินทร์ บ้างเขียนว่า อิน สมัยนั้นยังไม่มีนามสกุลใช้ ชาตะวันอาทิตย์ เดือน 12 ปีชวด พ.ศ. 2419[2] ณ บ้านละแวกวัดพร้าว ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
วัยเยาว์ - วัยหนุ่ม
[แก้]ก่อนบวชเคยทำน้ำตาล ซึ่งยังคงเก็บรักษาเครื่องมือ คือ มีดปาดตาล ไว้จนมรณภาพ
อุปสมบท
[แก้]บรรพชาและอุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2440 ณ พัทธสีมาวัดพร้าว ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสันนิษฐานว่า
พระอุปัชฌาย์แก้ว วัดพร้าว เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์ปลื้ม (ภายหลังมีสมณศักดิ์ที่ พระครูปลื้ม) วัดพร้าว เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์ปลื้ม (อีกรูปหนึ่ง) วัดพร้าว เป็นพระอนุสาวนาจารย์
การศึกษา
[แก้]อุปสมบทแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดพร้าว ศึกษาอักษรสมัย (หนังสือขอม) จากพระอาจารย์พริ้ง วชิรสุวณฺโณ (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูธรรมสารรักษา) ท่านเล่าว่าเรียนคู่กับพระอาจารย์หวาด ซึ่งเป็นคู่แข่งกันมา ท่านสามารถเทศน์ปากเปล่าได้ พระอาจารย์หวาดเอาอย่างบ้าง แต่ไม่ได้เหมือน
จากนั้นย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ) กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาต่อ ช่วงเวลานั้นโรงไฟฟ้าข้างวัดกำลังมีการก่อสร้าง ส่งผลให้กุฏิสั่นสะเทือนไปหมด บิณฑบาตก็ลำบาก ไม่พอฉัน จำพรรษาอยู่ได้ไม่นานจึงต้องกลับวัดพร้าวตามเดิม[2]
ต่อมา พ.ศ. 2446 พระครูปลื้ม เจ้าอาวาสวัดพร้าว และเป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอศรีประจันต์ ย้ายมาจำพรรษาและทำหน้าที่เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสที่วัดราษฎรบำรุง ท่านจึงทำหน้าที่เป็นพระอนุจรติดตามพระครูปลื้ม กระทั่งเมื่อออกพรรษา (ปวารณาแล้ว) พระครูปลื้มจึงกลับวัดพร้าวตามเดิม และมอบหมายให้ท่านเป็นหัวหน้าปกครองวัด และแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎรบำรุงต่อเนื่องมา
วัตรปฏิบัติ และปฏิปทา
[แก้]พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ) อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะ ซึ่งเป็นลูกศิษย์พระใบฎีกาอินทร์ เล่าว่าท่านเป็นพระที่มีความสามารถในด้านการก่อสร้างที่สำคัญมาก พูดจาไพเราะที่สุด เรียกว่าบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น มีเรื่องเล่าว่าพระรูปใดสวดพระปาฏิโมกข์ผิดพลาด แทนที่จะดุ ท่านกลับชมเชย ยกย่องว่ามีความสามารถ มีความอุตสาหะท่องบ่นจนจบ เมื่อชมแล้วท่านจะให้สวดใหม่ และขอให้เปล่งอักขระให้ชัดเจน หลวงพ่อปุยให้ความเคารพมาก ทุกครั้งที่พูดถึงหลวงพ่ออินทร์จะมีความแจ่มใสทันที[3]
ผลงาน
[แก้]ผลงานพระใบฎีกาอินทร์ เท่าที่พบข้อมูล[1][2][4]
งานปกครอง
[แก้]- พ.ศ. 2446 - พ.ศ. 2463 เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎรบำรุง
- พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล - พ.ศ. 2463 เป็นพระกรรมวาจาจารย์
- พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล - พ.ศ. 2463 เป็นเจ้าคณะหมวดบ้านคอย
งานสาธารณูปการ
[แก้]- สร้างหอสวดมนต์ ขนาด 3 ห้อง (5 ห้องรวมเฉลียง) หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- สร้างกุฎิ เครื่องบนและฝาไม้สัก พื้นไม้มะม่วงป่า หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- สร้างกุฎิ เครื่องไม้สัก ขนาด 3 ห้อง จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- มีผู้ถวายเรือน ฝาสำหรวด (ฝากรุจาก) ขนาด 3 ห้อง นำมาสร้างเป็นกุฎิ จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- สร้างกุฎิ เครื่องบนไม้ป่า ฝาไม้สัก ขนาด 5 ห้อง จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- ทำนอกชานรอบหอสวดมนต์ เพื่อเชื่อมกุฏิกับหอสวดมนต์ติดต่อกันทั้ง 5 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- สร้างศาลาการเปรียญ เครื่องไม้ป่า หลังคาลดระดับ 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์เป็นแห่งแรกในลุ่มน้ำท่าคอย จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- หล่อพระพุทธรูปประจำศาลาการเปรียญ ที่วัดราษฎรบำรุง
- หล่อระฆังประจำศาลา ที่วัดราษฎรบำรุง
- หล่อช่อฟ้า ใบระกา ด้านใต้ศาลาการเปรียญ ที่วัดราษฎรบำรุง
- สร้างศาลาคู่ มีนอกชานกลาง จำนวน 2 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- สร้างกุฏิสงฆ์ จำนวน 1 หลัง ที่วัดเกาะ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
- สร้างหอไตร 2 ชั้น ชั้นบนทำหลังคาเป็น 4 มุข แต่ละมุขลดระดับ 3 ชั้น มียอดกลางแบบปราสาท ชั้นล่างทำเป็นพาไลกว้างออกไป เสาตั้งบนดิน จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง (สร้างไม่เสร็จ เนื่องจากมรณภาพ)
- เตรียมไม้ชิงชันเพื่อสร้างธรรมาสน์ ที่วัดราษฎรบำรุง (สร้างไม่เสร็จ เนื่องจากมรณภาพ)
- วางโครงการสร้างอุโบสถด้วยไม้ล้วนๆ ทั้งหลัง (ยังไม่ทันสร้าง เนื่องจากมรณภาพ)
- ฯลฯ
งานสาธารณสงเคราะห์
[แก้]- สร้างถนนจากวัดราษฎรบำรุงถึงบ้านหนองสระ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี
- สร้างศาลาที่พักกลางทาง และสะพานข้ามลำน้ำห้วยไกร ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 1 แห่ง
- สร้างศาลาที่พักกลางทาง ที่บ้านหนองไผ่ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 1 หลัง
- ขุดสระน้ำสาธารณะ ที่บ้านหนองสระ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 1 สระ
- สร้างศาลากลางบ้าน ที่บ้านหนองสระ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 1 หลัง
- สร้างศาลาที่พักกลางทาง ระหว่างทางจากบ้านหนองสระ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) ถึงบ้านสระกระโจม ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลสระกระโจม อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี ไม่ทราบจำนวนชัดเจน
- ฯลฯ
งานพิเศษ
[แก้]- พ.ศ. 2456 ช่วยเหลือราชการแผ้วถางป่า ทำถนน ขุดสระน้ำ และสร้างพลับพลารองรับการเสด็จของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ในการเสด็จบวงสรวงและสมโภชเจดีย์ยุทธหัตถี ที่ดอนทำพระ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี
เกียรติคุณ
[แก้]เป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านวิชาช่างก่อสร้าง ได้รับยกย่องว่าเป็นบรมครูช่างแห่งลุ่มน้ำท่าคอย มีลูกศิษย์สืบทอดวิชาช่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เรียกว่า "สกุลช่างบ้านคอย"
เป็นพระนักพัฒนา นักก่อสร้าง มีความรู้ความสามารถรอบด้าน ประชาชนเคารพนับถือ ยกย่องให้ฉายาว่า "หลวงพ่ออินทร์เทวดา"[2]
สมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล เป็นพระฐานานุกรมใน พระครูปลื้ม วัดพร้าว (เจ้าคณะแขวงศรีประจันต์) ที่ พระใบฎีกาอินทร์
อาพาธ - มรณภาพ
[แก้]พระใบฎีกาอินทร์ เริ่มอาพาธเมื่อต้นพรรษา พ.ศ. 2463 กระทั่งวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2463 (วันอาทิตย์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก) เวลา 21.57 น. ถึงแก่มรณภาพ สิริอายุย่างเข้า 44 ปี อุปสมบทได้ 23 พรรษา[2]
ศิษย์
[แก้]ศิษย์พระใบฎีกาอินทร์ อาทิ
- พระเมตตาวิหารีเถร (ปัด ธมฺมสโร) วัดคูหาสวรรค์ กรุงเทพมหานคร
- พระครูประภัศร์ธรรมาภรณ์ (แต้ม ปุญฺญสุวณฺโณ) วัดพระลอย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
- พระอาจารย์ทอง ศรีคำ วัดราษฎรบำรุง จังหวัดสุพรรณบุรี
- พระอาจารย์โพธิ์ ศรีคำ วัดราษฎรบำรุง จังหวัดสุพรรณบุรี
- พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ) วัดเกาะ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
- พระครูยิ้ม สปญฺโญ วัดชีธาราม อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
- มหาสุนทร ศรีโสภาค ป.ธ.3 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
- พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร
- มหาสำราญ อารยางกูร ป.ธ.4 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (โยมบิดาของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดญาณเวศกวัน)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 พีระศักดิ์ สุนทรวิภาต. (2563). ที่ระลึก 125 ปีชาตกาล 40 ปีมรณภาพ พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: กุศลบุญการพิมพ์.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 พระอธิการจุ้ย ตนฺติปาโล. (2525). อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสิริยาภินันท์ (หลวงพ่อแช่ม ฐานคุโณ). สุพรรณบุรี: มนัสการพิมพ์
- ↑ พระปลัดสกล ปญฺญาพโล. (2523). ประวัติพระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ). กรุงเทพฯ: อาทรการพิมพ์.
- ↑ พระศีลขันธโศภิต. (2499). ที่ระลึกในงานเปิดป้ายและฉลองอาคารเรียน โรงเรียนประชาบาลตำบลดอนเจดีย์ 1 (วัดราษฎร์บำรุง). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ก่อนหน้า | พระใบฎีกาอินทร์ (หลวงพ่ออินทร์เทวดา) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระครูปลื้ม (รักษาการ) |
เจ้าอาวาสวัดราษฎรบำรุง (พ.ศ. 2446 — พ.ศ. 2463) |
พระอาจารย์ทอง ศรีคำ (รักษาการ) | ||
เจ้าอธิการอินทร์ วัดโพธาราม | เจ้าคณะหมวดบ้านคอย (พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล – พ.ศ. 2463) |
ยังไม่พบข้อมูล
|