ข้ามไปเนื้อหา

พระเทพมงคลวชิรมุนี (หา สุภโร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเทพมงคลวชิรมุนี,วิ.

(หา สุภโร)
พระเทพมงคลวชิรมุนี (หลวงปู่หา สุภโร)
ชื่ออื่นหลวงปู่ไดโนเสาร์,หลวงปู่หา
ส่วนบุคคล
เกิด2 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 (98 ปี)
มรณภาพ24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
นิกายธรรมยุตินิกาย ญัตติ พ.ศ. 2490
การศึกษาน.ธ.เอก
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) กาฬสินธุ์
อุปสมบทพ.ศ. 2489 มหานิกาย
พรรษา80
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว)
อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ.)
ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ.)

พระเทพมงคลวชิรมุนี,วิ.[1] (หา สุภโร) หรือ หลวงปู่ไดโนเสาร์ (2 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566) พระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเถรวาท คณะธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามตามสัญญาบัตรว่า พระเทพมงคลวชิรมุนี,วิ. เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ และอดีตรองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นพระเถราจารย์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นที่น่าเคารพสักการบูชาของบรรดาศิษยานุศิษย์ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า ท่านเป็นผู้ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ ทำให้มีการขุดค้นพบแหล่งไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย[2] และยังมีการสร้างพิพิธภัณฑ์สิรินธร บริเวณที่ขุดค้นพบอีกด้วย[3]

ประวัติ

[แก้]

พระเทพมงคลวชิรมุนี,วิ. [1] (หลวงปู่หา สุภโร) ท่านมีนามเดิมว่า หา นามสกุล ภูบุตตะ เกิดวันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีฉลู ที่บ้านนาเชือก ตำบลเว่อ (ปัจจุบันเป็นตำบลนาเชือก) อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ บิดาชื่อ นายสอ ภูบุตตะ มารดาชื่อ นางบัวลา ภูบุตตะ มีพี่น้องรวมกัน 7 ท่าน

ท่านถือกำเนิดในตระกูลที่มีฐานะดีในหมู่บ้านนาเชือก ซึ่งอพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี มีฝูงวัวมากกว่า 30 ตัว มีที่นากว่า 60 ไร่ มารดาเลี้ยงหม่อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะมั่นคงที่สุดในแถบนั้น เมื่อท่านเป็นฆราวาส ท่านมีความขยันหมั่นเพียร และความอุตสาหะ ท่านช่วยโยมบิดามารดาทำงานทุกอย่าง ท่านได้สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดบ้านนาเชือกเหนือ หรือวัดดุสิตอินทาราม (ปัจจุบัน​คือ โรงเรียนนาเชือกวิทยาสรรพ์)​ ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่2ท่านก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นทหารอาสาเพื่อไปร่วมรบในสงคราม และท่านได้เข้ารับการฝึกซ้อมรบ ภายหลังก่อนที่ท่านจะไปในสงครามจริง ๆ สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้ยุติลงก่อนในปี พ.ศ. 2488 ครั้งนึงท่านชอบการต่อยมวยมาก ท่านชอบไปต่อยมวยตามงานวัดต่าง ๆ ในเวลาว่างจากการทำนาและงานอื่น แต่โยมบิดาของท่านไม่ชอบที่ท่านเป็นนักมวยนัก พอช่วงอายุประมาณ 20 ปี คุณยายของท่านก็ได้ปรารภกับท่านว่าอยากจะให้ท่านบวชให้คุณยายของท่านหน่อย อันเป็นที่มาของการออกบวชภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ในบวรพระพุทธศาสนา

ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุย่างเข้า 21ปี ที่สิมน้ำ (อุทกุกเขปสีมา) ณ วัดสว่างนิวรณ์นาแก บ้านนาแก ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีหลวงปู่ลือ เป็นพระอุปัชฌาย์ สังกัดมหานิกาย เมื่อท่านบวชแล้วก็มาอยู่ที่วัดนาเชือกใต้ (วัดสุวรรณชัยศรี ปัจจุบัน) ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปี พ.ศ. 2489 ขณะนั้นที่นั่นการปกครองในคณะสงฆ์ยังไม่ทั่วถึงมากนัก การบวชของคณะธรรมยุติกนิกายและคณะมหานิกายยังไม่มีการแยกจากกัน ยังคงใช้พระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน ในปี พ.ศ. 2490 ทางคณะสงฆ์ได้ประกาศว่า พระอุปัชฌาย์สังกัดนิกายอะไรผู้บวชก็ต้องสังกัดนิกายนั้น พระครูประสิทธิ์สมณญาณ จนฺโทปโม (หลวงปู่โสม) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณชัยศรี (ศิษย์อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สมัยท่านจำพรรษาอยู่แถบจังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านจึงได้ขึ้นไปอบรมการเป็นพระอุปัชฌาย์ของคณะธรรมยุติกนิกาย ต่อมาเมื่อท่านอายุ 22ปี ทำทัฬหีกรรม(ญัตติซ้ำ)​เป็นพระภิกษุสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ที่สิมน้ำ (อุทกุกเขปสีมา) ณ วัดบ้านหนองโจด (ปัจจุบันเป็นที่นาชาวบ้าน) ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อ วันที่ 21 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เวลา 13.00 น. โดยมีพระครูประสิทธิ์สมณญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูปลัดอ่อน ขนฺติโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระทองสุข เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีฉายา ว่า “สุภโร” แปลว่า “ผู้เลี้ยงง่าย”

เมื่อท่านยังเป็นพระนวกะ (ผู้บวชใหม่) ปี พ.ศ. 2494 ได้จำพรรษาที่วัดสุวรรณชัยศรี จนสอบได้นักธรรมชั้นตรี และ ในปีพ.ศ. 2495 สอบได้นักธรรมชั้นโทที่วัดขวัญเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ และในปีพ.ศ. 2497 ได้มีโอกาสศึกษาต่อที่วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพมหานคร จนสำเร็จนักธรรมชั้นเอก ท่านได้มีโอกาสอุปัฏฐากท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) และด้วยความที่ท่านมีนิสัยใฝ่เรียนรู้ ท่านจะเรียนบาลีเป็นประจำทุกวัน เมื่อเว้นว่างจากการเรียนบาลีแล้ว ท่านก็จะเดินทางด้วยเท้าเปล่าเพื่อไปเรียนกรรมฐานจากพระธรรมมงคลญาณ (วิริยังค์ สิรินฺธโร) วัดธรรมมงคล และพระสุทธิธรรมรังสี (ลี ธมฺมธโร) ที่วัดบรมนิวาส

เมื่อเรียนไปได้สักระยะหนึ่ง ท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคดีซ่าน การเรียนทั้งปริยัติและปฏิบัติจึงได้ระงับไว้ก่อน เมื่ออาการหนักมากจนถึงขั้นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงฆ์ นานถึง 3 เดือน โดยไม่มีท่าทีว่าจะหาย หรือดีขึ้นเลย ท่านจึงทอดอาลัยในชีวิต แล้วตั้งความปรารถนาขอใช้ชีวิตที่เหลือในการรับใช้พระศาสนาให้สมกับที่เป็นผู้อุทิศตนต่อชาวโลก โดยท่านได้ตั้งสัตยาธิษฐาน ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้วมรกต) ว่า “หากข้าพเจ้าจะมีชีวิตในการบวช ขอให้โรคหาย ถ้าหากจะไม่มีชีวิตแล้ว ขอให้ตายกับผ้าเหลือง” ท่านมีความคิดว่าหากได้บวชอยู่นาน ๆ จะได้ทำประโยชน์ในพระศาสนาให้สมกับที่เป็นผู้อุทิศตนต่อชาวโลก จากนั้นท่านจึงเดินทางกลับมาที่บ้านเกิดเพื่อตั้งต้นดำเนินภารกิจดังที่ตั้งปณิธานไว้ และได้ตั้งสัตยาธิษฐานอีกครั้งหนึ่งว่า “ขอให้ได้อยู่ป่าทำความสงบสบายทางจิต”

ด้วยอานิสงส์แห่งการอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา ในขณะนั้นท่านก็ได้รับการรักษาจากหมอพื้นบ้าน และการอบรมทางใจจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานเข้าช่วยเหลือ จึงเป็นผลให้อาการของโรคทุเลาลงจนหายขาดในที่สุด เมื่อหายเป็นปกติแล้วท่านจึงออกเที่ยวปฏิบัติรุกขมูล หาความวิเวกทางกายและใจออกธุดงค์ไปยังภาคต่าง ๆ ในประเทศไทยแทบทุกจังหวัด ไปทุกมุมเมืองในภาคอีสาน และข้ามไปยังฝั่งลาว ไปถึงนครเวียงจันทน์ถึงสองครั้ง เข้ากัมพูชา จนเห็นผลทางจิตอันแน่นอนแล้ว ท่านจึงกลับมาช่วยงานพระศาสนาดังปฐมปณิธาน

ตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์

[แก้]
  • เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ชั้น เอก โท ตรี
  • เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวงในคณะธรรมยุติภาคอีสาน
  • พ.ศ. 2498 เป็นเจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2498 เป็นเจ้าคณะตำบล (ธ) ตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2502 เป็นเจ้าคณะอำเภอ (ธ) ปกครอง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ และอำเภอท่าคันโท
  • พ.ศ. 2539 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ)
  • พ.ศ. 2548 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ)

สมณศักดิ์

[แก้]

งานการศึกษา

[แก้]
  • พ.ศ. 2498 – 2509 เปิดสอนนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก
  • เปิดสำนักสอบธรรมสนามหลวง จำนวน 13 พรรษา ณ วัดสักกะวัน (วัดเดิม) ตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
  • พ.ศ. 2510 – 2527 เปิดสำนักสอบธรรมสนามหลวง ณ วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

งานสาธารณูปการ

[แก้]
  • ปี พ.ศ. 2510 ได้ย้ายวัดสักกะวัน จากตำบลโนนศิลา มาอยู่ที่ภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
  • ได้พัฒนาวัดสักกะวัน โดยการสร้างโบสถ์ วิหาร และตัดถนนรอบวัดจำนวน 5 สาย เพื่อใช้ในการเดินจงกรม
  • ได้ตัดถนนสายหน้าวัดสักกะวัน - วัดตาดแม่นาย
  • ได้ก่อสร้างเมรุเผาศพ
  • ได้ช่วยวัดต่าง ๆ สร้างโบสถ์จำนวน 9 หลัง ในจังหวัดกาฬสินธุ์
  • ได้มอบพื้นที่บริเวณลานจอดรถให้กับหน่วยงานราชการทำประโยชน์
  • ได้สนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอุทยานโลกไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว

งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

[แก้]
  • เป็นหัวหน้าพระธรรมทูต (ธรรมยุต) สายที่ 5 ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 โดยมีพระสงฆ์ในสาย จำนวน 25 รูป มีพื้นที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในจังหวัดกาฬสินธุ์ และต่างจังหวัด

รางวัลพิเศษ

[แก้]
  • พ.ศ. 2528 ได้รับพระราชทานรางวัลบุคคลผู้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาดีเด่น “เสมาธรรมจักรทองคำ” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
  • พ.ศ. 2537 วัดสักกะวัน ภูกุ้มข้าว ได้โล่รางวัล วัดพัฒนาตัวอย่างจากสมเด็จพระสังฆราช
  • พ.ศ. 2546 ได้รับการถวายโล่การค้นพบไดโนเสาร์จากอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

ฝากตัวเป็นศิษย์กับพ่อแม่ครูบาอาจารย์

[แก้]

มรณภาพ

[แก้]

พระเทพมงคลวชิรมุนี (หา สุภโร) มรณภาพเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เวลา 17.52 น. ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพมหานคร สิริอายุ 98 ปี พรรษา 77

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 138, ตอนที่ 28 ข, 7 พฤษภาคม 2564, หน้า 1
  2. พิพิธภัณฑ์สิรินธร เก็บถาวร 2013-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนสืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2557
  3. ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์สิรินธร เก็บถาวร 2014-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนสืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2557