พระเทพญาณมงคล (เสริมชัย ชยมงฺคโล)
พระเทพญาณมงคล (เสริมชัย ชยมงฺคโล) | |
---|---|
ชื่ออื่น | หลวงป๋า |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 6 มีนาคม พ.ศ. 2472 (89 ปี) |
มรณภาพ | 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561 |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | น.ธ.เอก ป.ธ. 6 รป.ม. (มธ.) |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ราชบุรี |
อุปสมบท | 6 มีนาคม พ.ศ. 2529 |
พรรษา | 32 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ประธานศูนย์ประสานงานสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย |
พระเทพญาณมงคล นามเดิม เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์ ฉายา ชยมงฺคโล อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม เจ้าสำนักและอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี ผู้จัดการโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัดราชบุรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ราชบุรี ประธานศูนย์ประสานงานสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย (ศปท.) ประธานศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ประจำวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม (ศสค.) Director, Wat Luang Phor Sodh Buddhist Meditation Institute, an Affiliated Institution of the World Buddhist University
ประวัติสังเขป
[แก้]ชาติภูมิ
[แก้]พระเทพญาณมงคล หรือ "หลวงป๋า" เดิมชื่อ เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2472 ณ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นบุตรคนที่ 4 ของคุณพ่อทองดี และคุณแม่บุญนาค พลพัฒนาฤทธิ์ ท่านมีพี่น้องร่วมมารดาบิดา 6 คน
ใฝ่การศึกษา
[แก้]ภายหลังจากที่ท่านสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนบุรีรัมย์วิทยาลัยและเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยแล้ว เข้ามาทำงานเป็นพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยอยู่ชั่วระยะเวลา 2-3 ปี ท่านได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนสำเร็จปริญญาตรีเมื่อปี พ.ศ. 2498 ทำงานแล้วได้ศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญารัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (เกียรตินิยม "ดี") ในปี พ.ศ. 2508
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ท่านได้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร "ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์" จาก Institute of Social Research, The University of Michigan, Ann Arbor สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรการควบคุมระบบงานคอมพิวเตอร์ จัดโดยกองฝึกอบรม สำนักข่าวสารอเมริกัน สำนักงานใหญ่อเมริกา
การอาชีพก่อนบวช
[แก้]ท่านทำงานเป็นพนักงานต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐ ประจำอยู่ที่สำนักข่าวสารอเมริกัน แห่งสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการวิจัย (Research Specialist)
แสวงหาสัจจธรรม
[แก้]ระหว่างที่ท่านอยู่ที่สำนักข่าวสารอเมริกันนั้น งานในหน้าที่ระดับหัวหน้าฝ่ายวิจัยฯ ทำให้มีความเคร่งเครียดในการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ท่านจึงหาเวลาศึกษาและปฏิบัติธรรม ร่วมกับเพื่อน ๆ ที่ทำงานอยู่ที่เดียวกัน โดยใช้เวลาพักกลางวัน ปิดประตูห้องทำงาน นั่งสมาธิกันประมาณวันละ 15-30 นาที และไปปฏิบัติธรรมที่วัดธาตุทองได้ 7 วันก่อนที่จะต้องเดินทางไปอเมริกา
หลังจากพักอยู่ที่อเมริกาได้ระยะหนึ่ง พอให้สิ่งต่าง ๆ เข้าที่เข้าทางดีแล้ว ท่านก็เริ่มปฏิบัติภาวนาต่อ ทุก ๆ คืนก่อนเข้านอน วันละ 1 ชั่วโมง มิได้ขาด จนปรากฏผลของสมาธิในระดับหนึ่ง สามารถเห็นภรรยาที่ประเทศไทยกำลังทำงานบ้านอยู่ได้ และได้จดหมายสอบถามดู ก็ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง
ศิษย์พบอาจารย์
[แก้]จากนั้นมาอาจารย์เสริมชัย โดยการแนะนำของพระอาจารย์ณัฐนันท์ กุลสิริ ได้ฝากตนเข้าเป็นศิษย์ของพระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม) รองเจ้าอาวาสและพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ทำหน้าที่สืบทอดวิชชาธรรมกายจากหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ท่านได้ต่อวิชชาธรรมกายชั้นกลาง และชั้นสูงให้กับอาจารย์เสริมชัยเป็นครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ตรงกับวันขึ้น 11 ค่ำ เดือนอ้าย เวลา 17.30 น. ทันทีที่อาจารย์มงคลบุตรกราบนมัสการถวายตัวเป็นศิษย์ของท่าน พระราชพรหมเถรได้กล่าวแก่อาจารย์มงคลบุตรเพียงสั้น ๆ แต่มีความล้ำลึกว่า
หาตัวมานานแล้ว เพิ่งพบ ดีแล้วที่มา เกือบจะสายไป
คือท่านเห็นด้วยใจมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมาพบตัวจริงในคราวนี้
เผยแผ่วิชชาธรรมกาย
[แก้]เมื่อได้พบของจริงในศาสนาพุทธเช่นนี้แล้ว ท่านจึงได้จัดตั้งโครงการพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย และโครงการธรรมปฏิบัติเพื่อประชาชนขึ้น เพื่อเผยแพร่ธรรมปฏิบัตินี้ ทางสื่อมวลชน ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
ในปี พ.ศ. 2524 ได้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย และสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เพื่อบริหารโครงการทั้งสองนั้น แล้วได้จัดอบรมพระกัมมัฏฐานแด่พระภิกษุสามเณร และสาธุชนทั่วไปในปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน
อุปสมบท
[แก้]ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2529 ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ได้รับฉายาว่า "ชยมงฺคโล" โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (สมัยที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระพรหมคุณาภรณ์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร (สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระธรรมธีรราชมหามุนี) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
[แก้]ในปี พ.ศ. 2534 เมื่อท่านได้บริหารกิจการเผยแผ่พระสัทธรรมให้เจริญขึ้นแล้ว ก็ได้ดำเนินขั้นตอนมาเป็นลำดับ จนกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนาขึ้น ชื่อ "วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
ครั้นถึงเวลาอันเหมาะสม เมื่อท่านอุปสมบทได้ 5 พรรษา อายุได้ 62 ปี ได้ศึกษาภาคปริยัติจากสำนักเรียนวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนสำเร็จเปรียญธรรม 3 ประโยค และนักธรรมชั้นเอก เป็นพระมหาเปรียญ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ท่านจึงได้กราบลาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ มารับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
มรณภาพ
[แก้]พระเทพญาณมงคลได้ถึงแก่มรณภาพอย่างอันสงบด้วยภาวะหัวใจวายในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 16.50 น. ระหว่างการเดินทางไปรักษาตัวทีโรงพยาบาลดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี[1] สิริอายุ 89 ปี 6 เดือน 7 วัน
การศึกษาและหน้าที่การงาน
[แก้]- พ.ศ. 2508 รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (เกียรตินิยม “ดี”) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พ.ศ. 2512 Certificate in Public Opinion Survey Research, Institute of Social Research, the University of Michigan, Ann Arbor, สหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2531 สอบได้นักธรรมชั้นเอก
- พ.ศ. 2534
- ได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม
- เป็นกรรมการสอบธรรมสนามหลวง
- สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค
- ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
- พ.ศ. 2535 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
- พ.ศ. 2536
- สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค
- ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์
- พ.ศ. 2537 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
- พ.ศ. 2539 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
- พ.ศ. 2540 ได้รับอาราธนาเป็น กรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2541 ได้รับอาราธนาเป็นวิทยากรบรรยายถวายความรู้พระสังฆาธิการในเขตภาค 15 เรื่อง "หลักการบริหารวัด และการจัดทำแผนและโครงการ"
- พ.ศ. 2550 พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) สาขาการจัดการเชิงพุทธ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- พ.ศ. 2551 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานศูนย์ประสานงานสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย (ศปท.) สนญ. วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
- พ.ศ. 2552 ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) สาขาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ลำดับสมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2537 สอบไล่ได้เปรียญธรรม 6 ประโยค มหาเถรสมาคมจัดลำดับชั้นพัดยศสมณศักดิ์ ที่ พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2541 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระภาวนาวิสุทธิคุณ[2]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชญาณวิสิฐ ภาวนามงคลสิทธิปรีชา มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระเทพญาณมงคล วิมลภาวนานุสิฐ พิพิธกิจจานุกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
ผลงานทางวิชาการ
[แก้]พระอาจารย์มหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ท่านยังได้แต่งและเรียบเรียงหนังสือต่าง ๆ เป็นผลงานทางวิชาการไว้ในพุทธศาสนาอีกมาก เช่น
- นิพพาน 3 นัย
- อริยสัจ 4
- ตอบปัญหาธรรมปฏิบัติ
- พุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย เล่ม 1 และเล่ม 2
- หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน
- ธรรมะคุณภาพเพื่อชีวิต
- โพธิปักขิยธรรม
- การบริหารวัด
- รวมปาฐกถาธรรมเล่ม 1-2-3 ...
- The Heart of Dhammakaya Meditation
- ทางมรรคผล นิพพาน
รวมทั้งมีบทความทางพุทธศาสนาที่ลงในนิตยสารธรรมกายตั้งแต่เล่มที่ 1 จนถึงปัจจุบัน มีคัสเซ็ทเทปและวิดีโอเทป บันทึกธรรมบรรยาย และคำสอนวิธีปฏิบัติพระกัมมัฏฐานตามแนววิชชาธรรมกาย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
อ้างอิง
[แก้]- พระเทพญาณมงคล วิ. (เสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6) เก็บถาวร 2012-01-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "สิ้น 'หลวงป๋า' เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดฯ มรณภาพ สิริอายุรวม 90 ปี". ไทยรัฐ. 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 115 (24 ข): 8. 9 ธันวาคม 2541. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2561.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 121 (25 ข ฉบับทะเบียนฐานันดร): 11. 24 ธันวาคม 2547. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2561.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 129 (6 ข): 4. 15 กุมภาพันธ์ 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2561.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2472
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2561
- ภิกษุในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
- พระราชาคณะชั้นเทพ
- เปรียญธรรม 6 ประโยค
- เจ้าอาวาส
- สายธรรมกาย
- พนักงานรัฐวิสาหกิจชาวไทย
- บุคคลจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย
- บุคคลจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
- บุคคลจากอำเภอนางรอง
- บุคคลจากอำเภอดำเนินสะดวก
- ภิกษุจากจังหวัดบุรีรัมย์
- ภิกษุจากจังหวัดราชบุรี
- เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว