ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าเลออปอลที่ 3 แห่งเบลเยียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าเลออปอลที่ 3
พระบรมฉายาลักษณ์ในปี 1934
พระมหากษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม
ครองราชย์23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1934 – 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1951
(17 ปี 143 วัน)
ก่อนหน้าอัลแบร์ที่ 1
ถัดไปโบดวง
ผู้สำเร็จราชการ
นายกรัฐมนตรี
พระราชสมภพ3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1901(1901-11-03)
บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
สวรรคต25 กันยายน ค.ศ. 1983(1983-09-25) (81 ปี)
บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
ฝังพระศพโบสถ์แม่พระแห่งลาเกิน
คู่อภิเษก
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
เลออปอล ฟิลิป ชาร์ลส์ อัลแบร์ ฮับเบิร์ต มาเรีย มิเชล
ราชวงศ์
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าอัลแบร์ที่ 1 แห่งเบลเยียม
พระราชมารดาเอลิซาเบธแห่งบาวาเรีย สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระเจ้าเลออปอลที่ 3 แห่งเบลเยียม (3 พฤศจิกายน 1901 – 25 กันยายน 1983) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 จนกระทั่งสละราชสมบัติในปี ค.ศ. 1951 โดยครองราชสมบัติต่อของสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงผู้เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่

พระราชประวัติ

[แก้]

พระเจ้าเลออปอลที่ 3 พระราชสมภพเมื่อ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1901 ที่กรุงบรัสเซลส์ โดยทรงมีพระอิสริยยศคือ เจ้าชายเลออปอลแห่งเบลเยียม เจ้าชายแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา พระองค์ได้สืบราชบัลลังก์เบลเยียมภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอัลแบร์ที่ 1 พระราชบิดาของพระองค์

สงครามโลกครั้งที่ 2

[แก้]

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อุบัติขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 รัฐบาลฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรได้พยายามโน้มน้าวเบลเยียมให้ร่วมเป็นพันธมิตร แต่พระองค์รวมทั้งรัฐบาลยังคงปฏิเสธ และยังคงยืนกรานที่จะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยพิจารณาจากการเตรียมการไว้อย่างดีและระมัดระวังต่อการรุกรานที่อาจจะเกิดขึ้นจากกองกำลังฝ่ายอักษะ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนในปี ค.ศ. 1914 จากการรุกรานโดยกองทัพเยอรมัน

ในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 กองทัพเยอรมันได้บุกเข้าประเทศเบลเยียม เพียงหนึ่งวันของการเข้าโจมตีแนวตั้งรับของกองทัพเบลเยียมประจำป้อมเอเบิน-เอมาเอล ได้พ่ายแพ้จากปฏิบัติการโดยกองกำลังทหารร่ม และผ่านเข้าไปได้อย่างง่ายดายก่อนที่กองทัพฝรั่งเศสและอังกฤษจะเดินมาถึง และในที่สุดก็พ่ายแพ้ให้กับการเตรียมการมาอย่างดีของกองทัพเยอรมันที่มีความชำนาญในการรบมากกว่า

การรักษาพรมแดนเบลเยียมนั้นถือเป็นการป้องกันมิให้กองทัพอังกฤษถูกตีขนาบและตัดออกจากชายฝั่ง โดยสามารถที่จะทำการอพยพผ่านปฏิบัติการที่ดังเคิร์กได้ และหลังจากการพ่ายแพ้ของกองทัพเบลเยียมแล้ว พระเจ้าเลออปอลที่ 3 ยังคงประทับอยู่ในกรุงบรัสเซลส์เพื่อจะเผชิญหน้ากับกองทัพผู้รุกราน (ต่างจากสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาแห่งเนเธอร์แลนด์ ที่เผชิญวิกฤติการณ์เดียวกัน) ในขณะที่รัฐบาลนั้นอพยพไปยังปารีส และต่อมายังกรุงลอนดอน

ยอมจำนนต่อสงคราม และวิกฤติการณ์รัฐธรรมนูญ

[แก้]

ในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 พระองค์ยังคงเป็นผู้บัญชาการของกองทัพเบลเยียม และได้ทรงพบปะคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งคณะรัฐมนตรีนั้นพยายามโน้มน้าวให้พระองค์เสด็จลี้ภัยพร้อมกับรัฐบาล อูแบร์ ปิแยร์โล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กล่าวเตือนพระองค์ว่าการยอมจำนนต่อสงครามนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาล มิใช่ของกษัตริย์ ซึ่งพระองค์ก็ยังคงปฏิเสธที่จะลี้ภัย และยังคงอยู่ในประเทศกับกองทัพของพระองค์ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ตีความว่าพระองค์จะก่อตั้งรัฐบาลปกครองประเทศใหม่ภายใต้การควบคุมของฮิตเลอร์ ซึ่งจะถือว่าพระองค์เป็นกบฏต่อแผ่นดิน ซึ่งพระองค์ทรงคิดว่าหากทรงเสด็จลี้ภัยต่างประเทศแล้วจะกลายเป็นทหารหนีทัพ พระองค์เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่า "ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ข้าพเจ้าก็จะยอมร่วมชะตาเดียวกันกับกองทัพของข้าพเจ้า"[1] ซึ่งที่ผ่านมาพระองค์มีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยลงรอยกันกับคณะรัฐมนตรีของพระองค์ ซึ่งมักจะเห็นได้ว่าพระองค์มักจะประพฤติตรงกันข้ามกับรัฐบาลอยู่เสมอ และทรงมักจะหาอุบายเพื่อกำจัดหรือลดอำนาจของรัฐมนตรีลง และเพิ่มอำนาจให้กับพระองค์เอง[1]

ในขณะที่กองทัพฝรั่งเศส อังกฤษ และเบลเยียมถูกล้อมโดยกองทัพเยอรมันที่ยุทธการแห่งดังเกิร์ก พระองค์ทรงพระราชหัตเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร โดยโทรเลขเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 ว่ากองทัพเบลเยียมกำลังถูกบดขยี้ "ความช่วยเหลือที่เราพึงให้แก่พันธมิตรของเราจะต้องจบสิ้นลงหากกองทัพของเราถูกล้อมไว้สิ้น"[2] และสองวันต่อมา (27 พฤษภาคม ค.ศ. 1940) พระองค์ได้ยอมจำนนต่อกองทัพเยอรมัน

อูแบร์ ปิแยร์โล นายกรัฐมนตรีเบลเยียมได้กล่าวออกอากาศทางสถานีวิทยุฝรั่งเศสว่าการตัดสินใจของพระองค์ในการยอมแพ้นั้นมิใช่พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญของพระองค์ ว่าการตัดสินพระทัยในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการตัดสินทางการทหารเท่านั้น แต่ยังเป็นทางการเมืองด้วย และการที่ทรงประพฤติเช่นนั้นโดยปราศจากการปรึกษากับคณะรัฐมนตรีนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งในครั้งนี้ปิแยร์โลและรัฐบาลเชื่อว่าพระองค์ "ไม่สามารถปกครองได้อีกต่อไป":

สถานการณ์ในขณะนั้นดูจะเป็นไปได้ยากที่จะเรียกประชุมรัฐสภา และยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ และภายหลังจากการปลดปล่อยเบลเยียมในเดือนกันยายน ค.ศ. 1944 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระราชอนุชา เจ้าชายชาลส์ เคานท์แห่งฟลานเดอร์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

การยอมจำนนของพระองค์ยังเป็นการจุดชนวนการกล่าวหาว่าเป็นกบฏจากนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส โปล เรโน ซึ่งวาเลอร์ และวาน โกเธิม นักประวัติศาสตร์ชาวเฟลมิชได้เขียนว่าพระองค์ได้กลายเป็น "แพะรับบาปแทนเรโน"[4] เนื่องจากเรโนนั้นค่อนข้างมั่นใจว่าสมรภูมิในฝรั่งเศสนั้นจะต้องพบกับความพ่ายแพ้เป็นแน่

นอกจากนี้ ยังมีการประณามพระองค์โดยวินสตัน เชอร์ชิล ในสภาสามัญชน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ความว่า:

ในปี ค.ศ. 1949 การกล่าวของวินสตัน เชอร์ชิลเกี่ยวกับสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 ซึ่งตีพิมพ์ใน "เลอ​ ซัวร์" (12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1949) อดีตเลขานุการของพระองค์ได้ส่งจดหมายถึงเชอร์ชิลว่าสิ่งที่เขากล่าวนั้นผิดอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเชอร์ชิลได้ส่งสำเนาจดหมายฉบับนี้ไปยังเจ้าชายชาลส์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผ่านทางอ็องเดร เดอ สแตร์ก เลขานุการของพระองค์ ซึ่งมีใจความในจดหมายเขียนโดยเชอร์ชิลว่า

เดอ สแตร์ก ได้ตอบกลับจดหมายของเชอร์ชิล ว่าเขามีเหตุผลถูกต้องแล้ว: "เจ้าชายผู้สำเร็จราชการฯ คุณสปาก และข้าพเจ้าได้อ่านจดหมายของท่าน ซึ่งได้กล่าวถึงเรื่องจริงและดูเหมือนจะเป็นเรื่องยินดียิ่งแก่พวกเรา"[7]

อ็องเดร เดอ สแตร์ก เป็นหนึ่งในประจักษ์พยานสำคัญของวิกฤตการณ์ของรัฐบาลเบลเยียมในปี ค.ศ. 1940 ซึ่งเป็นไปตามคำร้องของเขา ว่าบันทึกประจำวันที่เขาเขียนขึ้นเกี่ยวกับเจ้าชายชาลส์ (ซึ่งได้เขียนจากการแนะนำของเชอร์ชิล) ให้ตีพิมพ์หลังจากที่เขาถึงแก่กรรมแล้วในปี ค.ศ. 2003 ด้วยความช่วยเหลือ และบทนำโดยนักประวัติศาสตร์เบลเยียม ฌ็อง สเต็นเกอร์ บันทึกเล่มนี้ยังกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าโบดวง มักจะไม่ทรงโปรดผู้คนที่อยู่ตรงข้ามกับพระราชบิดาในคราที่จะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเดอ สแตร์กก็ได้กลายมาเป็นพระสหายคนสำคัญของพระองค์ ในงานพระราชทานเลี้ยงหลังจากงานพระศพของเจ้าชายชาลส์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1983 พระองค์ประทับอยู่เบื้องซ้ายของเดอ สแตร์ก[8]

ฟรานซิส บาลาส นักประวัติศาสตร์ชาวเบลเยียมได้กล่าวว่าการยอมจำนนในครั้งนั้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากกองทัพเบลเยียมนั้นไม่อยู่ในสภาพที่จะรบกับกองทัพเยอรมันได้อีกต่อไป[9] แม้ว่าเชอร์ชิลยังยอมรับว่าสถานการณ์ในขณะนั้นวิกฤตยิ่ง ดังปรากฏในโทรเลขถึงจอมพลลอร์ดกอร์ต เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม เพียงหนึ่งวันหลังจากการยอมจำนนของเบลเยียม ความว่า "เรากำลังขอให้พวกเขาเสียสละชีวิตพวกเขาให้แก่เรา"[10]

หลังจากการพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส

[แก้]

ภายหลังจากการจำนนของพระองค์ รัฐบาลพลัดถิ่นของเบลเยียมนั้นยังลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส และเมื่อฝรั่งเศสได้พ่ายแพ้แก่สงครามเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 รัฐมนตรีหลายคนพยายามที่จะกลับไปยังเบลเยียม โดยพยายามร้องขอพระบรมราชนุญาติ แต่ถูกพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสัณฐานกลับ:

เนื่องจากความนิยมกษัตริย์ในสมัยนั้นสูงมาก และการลดความนิยมของรัฐบาลในช่วงยุค 1940[11] จึงทำให้เกิดวิกฤตการณ์ฝั่งรัฐบาลขึ้น จากหลักฐานจากสำนักพิมพ์ราชสำนัก ความว่า:

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1940 รัฐมนตรีหลายคนพบปะกันที่เลอ แปร์ตุส ใกล้กับชายแดนสเปน นายกรัฐมนตรีปิแอร์โล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โปล-อ็องรี สปาก นั้นถูกชักชวนให้ลี้ภัยยังกรุงลอนดอน แต่ก็สามารถเริ่มเดินทางได้เพียงปลายเดือนสิงหาคม และจะต้องผ่านทางสเปนและโปรตุเกสเท่านั้น และเมื่อพวกเขาไปถึงยังสเปน ก็ได้ถูกจับกุมและกักขังโดยการปกครองภายใต้ผู้นำฟรันซิสโก ฟรังโก และต่อมาถูกปล่อยตัวและเดินทางถึงลอนดอนเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ปีเดียวกันนั้น

ทรงพบปะกับฮิตเลอร์

[แก้]

พระองค์ทรงไม่ยอมร่วมมือใด ๆ กับนาซี และไม่ยอมปกครองเบลเยียมเป็นหุ่นเชิดตามที่เยอรมันบังคับ จึงทำให้เยอรมันต้องใช้วิธีการตั้งรัฐบาลทหารขึ้น พระองค์ยังพยายามที่จะใช้สิทธิในฐานะของพระมหากษัตริย์และประมุขของรัฐบาลถึงแม้ว่าในความจริงแล้วทรงเป็นเพียงเชลยศึกของเยอรมันเท่านั้น ถึงแม้จะมีท่าทีอันแข็งกร้าวต่อฝ่ายเยอรมัน รัฐบาลพลัดถิ่นของเบลเยียมในกรุงลอนดอนได้กล่าวย้ำว่าพระองค์มิได้เป็นตัวแทนของรัฐบาลเบลเยียม และไม่อยู่ในฐานะที่จะปกครองในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน กองทัพเยอรมันจึงจับกุมพระองค์ไว้ในพระราชวังที่ลาเกิน ในกรุงบรัสเซลส์ และด้วยความต้องการที่จะพบหน้ากับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 ในที่สุดพระองค์ก็ได้พบเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน ซึ่งพระองค์ต้องการให้ฮิตเลอร์ออกแถลงการณ์ถึงอิสรภาพของเบลเยียมในอนาคต ซึ่งฮิตเลอร์ก็ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงอิสรภาพของเบลเยียม หรือแม้กระทั่งออกแถลงการณ์ใด ๆ ที่เกี่ยวกัน ซึ่งจากการปฏิเสธของฮิตเลอร์นั้นได้กลายเป็นคุณต่อพระองค์ในภายภาคหน้าอย่างไม่ได้ตั้งใจ จากการถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกับเยอรมนี อันจะเป็นผลให้พระองค์กลายเป็นกบฏต่อแผ่นดินโดยปริยาย ซึ่งจะเป็นเหตุที่ทำให้พระองค์จะถูกบีบให้สละราชสมบัติภายหลังสงคราม "ฮิตเลอร์ได้ช่วยพระองค์ไว้ถึงสองครั้งด้วยกัน"[12]

เสด็จลี้ภัยและสละราชสมบัติ

[แก้]

ทรงถูกเนรเทศและลี้ภัย

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1944 ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอส ได้สั่งการให้เนรเทศพระองค์ไปยังเยอรมนี โดยเจ้าหญิงลิเลียนตามเสด็จพร้อมครอบครัวบนรถพระที่นั่งอีกคันหนึ่งภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของหน่วยรักษาความปลอดภัยชุทซ์ชทัฟเฟิล นาซีได้คุมขังพระองค์ไว้ในป้อมปราการแห่งหนึ่งในเมืองฮีรชไตน์ในรัฐซัคเซินเป็นเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 จนถึงมีนาคม ค.ศ. 1945 และต่อมาได้ย้ายไปที่ชโตรเบิล ประเทศออสเตรีย

รัฐบาลอังกฤษ และอเมริกันได้แสดงความเป็นห่วงถึงการกลับมาของพระองค์ ชาลส์ ซอว์เยอร์ เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศเบลเยียม ได้เตือนรัฐบาลอเมริกันว่าภายหลังจากการกลับมาของพระองค์จะ "สร้างความยุ่งยากมากขึ้น" "ท่ามกลางความแตกต่างภายในพระราชวงศ์ และสถานการณ์นี้เป็นเสมือนระเบิดเวลาสำหรับเบลเยียม และอาจจะยุโรปด้วย"[13] "กระทรวงการต่างประเทศกลัวว่าการเพิ่มจำนวนของผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสในเขตวัลลูนนั้นจะเรียกร้องอิสรภาพและปกครองตนเอง หรือไม่ก็รวมดินแดนกับฝรั่งเศส ซึ่ง ฯพณฯ วีแนนท์ เอกอัครราชทูตประจำสำนักเซนต์เจมส์ ได้รายงานมาทางกระทรวงถึงความกังวลที่เกี่ยวเนื่องมาจากการโฆษณาชวนเชื่อกระแสคลั่งชาติในเขตวัลลูน"[14] และ "เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงบรัสเซลส์... ยังเชื่อได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปล่อยกระแสโฆษณาชวนเชื่อนี้"[15]

พระเจ้าเลออปอลถูกปลดปล่อยจากที่คุมขังโดยกองพันทหารม้าที่ 106 ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1945 เนื่องจากข้อกังขาของสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำในระหว่างสงคราม พระองค์และพระราชินี รวมถึงพระราชโอรสและธิดานั้นไม่สามารถนิวัติกลับเบลเยียมได้ และใช้เวลาลี้ภัยนานถึงหกปีในเมืองเพรญี-ช็องเบซี ใกล้กับกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพระราชกรณียกิจสำคัญในฐานะของประมุข ได้ถูกผ่านให้กับพระราชอนุชาของพระองค์ เจ้าชายชาลส์แห่งเบลเยียม เคานท์แห่งฟลานเดอร์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความเห็นชอบของรัฐสภาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944

การต่อต้านการเสด็จนิวัติกลับพระนคร

[แก้]

แวน เดน ดันเจิน อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยเปิดแห่งบรัสเซลส์ (Université Libre de Bruxelles) ได้เขียนบันทึกส่งถึงพระองค์เมื่อ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1945 มีใจความเกี่ยวกับความวุ่นวายในเขตวัลลูน "คำถามนั้นไม่ใช่ว่าข้อกล่าวหาต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะถูกต้องหรือไม่ (เกรงแต่ว่า...) ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะมิได้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของเบลเยียมอีกต่อไปเสียแล้ว"[16]

กีญง ประธานวุฒิสภาเบลเยียม ได้กราบทูลฯ ทราบว่ามีความเป็นไปได้ถึงความไม่สงบอย่างรุนแรง "หากมีเพียงสิบหรือยี่สิบคนที่ถูกฆ่าตายแล้ว สถานการณ์ความไม่สงบครั้งนี้จะกลายเป็นความตกต่ำสำหรับองค์พระมหากษัตริย์" [17]

ฟรานซ์ แวน คอเวลลาร์ท ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงความห่วงใยว่าจะเกิดการนัดหยุดงานทั่วไปในเขตวัลลูน และกบฏในลีแยฌ เขาได้เขียนว่า "ประเทศแห่งนี้ไม่สามารถที่จะจัดการกับปัญหาความสงบได้อย่างเรียบร้อยเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนกองกำลังตำรวจและการขาดแคลนอาวุธ"[18]

ในปี ค.ศ. 1946 คณะกรรมการตรวจสอบได้เห็นชอบให้พระองค์พ้นข้อกล่าวหากบฏต่อแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม คำถามเกี่ยวกับพระองค์ยังคงดำเนินต่อไป และจนกระทั่งปี ค.ศ. 1950 ได้มีการลงประชามติเกี่ยวกับอนาคตของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ ซึ่งผลปรากฏว่า ร้อยละ 57 ของผู้มีสิทธิทั้งหมดเห็นชอบต่อการกลับมาของพระองค์ ซึ่งการแบ่งแยกระหว่างผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านพระองค์นั้นแบ่งตามเขตด้วย (ซึ่งฝ่ายสังคมนิยม และวัลลูนนั้นส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบ- เพียงร้อยละ 42 ของชาววัลลูนที่เห็นชอบ) ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปัตย์คริสเตียน และฟลานเดอร์นั้นเป็นฝ่ายสนับสนุนพระองค์ (ร้อยละ 70 เห็นชอบในฝั่งฟลานเดอร์)

การนัดหยุดงานครั้งใหญ่ปี ค.ศ. 1950

[แก้]

เมื่อคราวเสด็จนิวัติเบลเยียมในปี ค.ศ. 1950 พระองค์ทรงพบกับการนัดหยุดงานครั้งที่รุนแรงและสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์เบลเยียม ผู้ชุมนุมจำนวนสามคนได้ถูกสังหารเมื่อตำรวจปราบจลาจลได้ยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม ทำให้ประเทศนั้นเปิดฉากเข้าสู่สงครามกลางเมือง ธงชาติเบลเยียมได้ถูกปลดลงแทนที่ด้วยธงของเขตวัลลูนในลีแยฌ และเมืองสำคัญต่าง ๆ ในฝั่งเขตวัลลูน[19] จึงทำให้พระองค์ต้องตัดสินพระทัยเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของอาณาจักร รวมทั้งรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1950 เพื่อเปิดทางให้พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เจ้าชายโบดวง ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1951 แต่ในความจริงแล้วรัฐบาลได้บังคับให้ทรงตัดสินพระทัยในวันนั้น ซึ่งในการ"เลื่อนการสละราชสมบัติ"ไปอีกปีหนึ่งนั้น[20] พระเจ้าเลออปอลทรงถูกบังคับโดยรัฐบาลเพื่อสละราชสมบัติให้กับพระราชโอรส[21]

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • เจ้าชายเลออปอลแห่งเบลเยียม (ค.ศ. 1901 – ค.ศ. 1909)
  • เจ้าชายเลออปอล ดยุกแห่งบราบันต์ มกุฎราชกุมารแห่งเบลเยียม (ค.ศ. 1909 – ค.ศ. 1934)
  • พระเจ้าเลออปอลที่ 3 พระมหากษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม (ค.ศ. 1934 – ค.ศ. 1951)
  • พระเจ้าเลออปอลที่ 3 พระบรมราชชนก (ภายหลังจากทรงสละราชสมบัติในปี ค.ศ. 1951 จนกระทั่งสวรรคต)

พระราชบุตร

[แก้]
ประสูติแต่ สมเด็จพระราชินีอัสตริด
พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ หมายเหตุ
เจ้าหญิงโฌเซฟีน-ชาร์ล็อต 11 ตุลาคม ค.ศ. 1927 10 มกราคม ค.ศ. 2005 (77 พรรษา) เสกสมรสกับแกรนด์ดยุกฌ็องแห่งลักเซมเบิร์ก มีพระราชบุตร 5 พระองค์
สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง 7 กันยายน ค.ศ. 1930 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1993 (62 พรรษา) ราชาภิเษกสมรสกับฟาบิโอลา เด โมรา อี อารากอน ไม่มีพระราชบุตร
สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 6 มิถุนายน ค.ศ. 1934 (90 พรรษา) ราชาภิเษกสมรสกับเปาลา รุฟโฟ ดิ คาราเบลีย มีพระราชบุตร 3 พระองค์ (และมีพระราชธิดานอกสมรสอีก 1 พระองค์)
ประสูติแต่ ลิเลียน เจ้าหญิงแห่งเรตี
พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ หมายเหตุ
เจ้าชายอาแล็กซ็องดร์ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1942 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2009 (67 ปี) เสกสมรสกับเลอา โวลมัน ไม่มีพระบุตร
เจ้าหญิงมารี-คริสติน 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1951 (73 ปี) เสกสมรสครั้งแรกกับพอล ดูเกอร์ ต่อมาทรงหย่าและเสกสมรสครั้งที่สองกับจีน พอล จอร์จเกอร์ ไม่มีพระบุตรทั้งสองครั้ง
เจ้าหญิงมารี-แอ็สเมราลดา 30 กันยายน ค.ศ. 1956 (68 ปี) เสกสมรสกับ ซัลวาดอร์ มอนคาดา มีพระบุตร 2 คน

พงศาวลี

[แก้]


อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Marengo (20 ธันวาคม 2007). ""Belgian Royal Question" - the Abdication Crisis of King Leopold III of the Belgians". The Royal Articles.
  2. The Miracle of Dunkirk, Walter Lord, New York 1982, page 101, ISBN 0-670-28630-3
  3. The Belgian Constitution เก็บถาวร 2007-06-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Belgian Constitution, Title III, Chapter 3, Art 93
  4. De zondebok van Reynaud, ใน Velaers and Van Goethem, Leopold III, (ในภาษาดัตช์), Lannoo, Tielt, 1994, p. 264, ISBN 90-209-2387-0
  5. Commons Chamber, War situation. Hansard (Report). Vol. 361. 4 มิถุนายน 1940.
  6. Churchill's letter to de Saercke, quoted in English in André de Staercke, Tout cela a passé comme une ombre, Mémoires sur la Régence et la Question royale, Preface of Jean Stengers, Racine, Bruxelles, 2003, p. 279, ISBN 2-87386-316-1
  7. Le Prince, Monsieur Spaak et moi-même avons lu (...) votre texte [qui] exprime l'exacte vérité, nous semble parfait. ใน André de Staercke, Tout cela a passé comme une ombre, Mémoires sur la Régence et la Question royale, (ในภาษาฝรั่งเศส), Ibidem, p. 280
  8. Preface of Jean Stengers of the book Tout cela a passé comme une ombre, opus citatus, p. 15
  9. Francis Balace, Fors l'honneur. Ombres et clartés sur la capitulation belge in Jours de guerre, n° 4, Bruxelles 1991, p. 5–50, ISBN 2-87193-137-2
  10. Balace, opus citatus, p. 21
  11. Jean Stengers, Léopold III et le gouvernement, opus citatus, pages 128–199
  12. Jean Stengers, opus citatus, p. 161
  13. United States Department of State Records (USDSR), National Archives, 855.001 Leopold, Sawyer to Secretary of State Edward R. Stettinius, Mar. 29.1945
  14. Jonathan E. Helmreich, Dean of Instruction (Allegheny College), United States Policy and the Belgian Royal Question (March – October, 1945)[ลิงก์เสีย]
  15. USDSR Ibidem, Winant to Stettinius, 26 May 1945. J. E. Hemelreich adds "There is no further mention in the file of any alleged French activities"
  16. Het is niet de vraag of de aantijgingen die tegen U werden ingebracht terecht zijn [maar dat...] U niet langer een symbool is voor de Belgish eenheid. ใน Velaers en Van Goethem Leopold III, (ในภาษาดัตช์), Lannooo, Tielt, 1994, p. 955, ISBN 90-209-2387-0
  17. Al vielen er maar tien of twintig doden, de situatie van de koning zou vlug vreselijk worden ใน Velaers en Van Goethem, opus citatus, (ในภาษาดัตช์), p. 968
  18. Het land zou de ontlusten niet kunnen bedwingen wegens een ontoereikende politie macht een een tekort aan wapens. ใน Velaers and Van Goethem, opus citatus, (ในภาษาดัตช์), p. 969
  19. Philippe Destatte, L'Identité wallonne, Institut Destrée, Charleroi, 1997, p.235, ISBN 2-87035-000-7
  20. Jules Gérard-Libois, José Gotovitch, Leopold III, De l'an 40 à l'effacement, Pol-His, Bruxelles, 1991, pp. 304-306, ISBN 2-87311-005-8
  21. Els Witte, Jan Craeybeckx, Alain Meynen, Political History of Belgium: From 1830 Onwards, spoke about a forced abdication, Academic and Scentific Publishers, Brussels, 2009, p. 244, ISBN 978-90-5487-517-8

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]


ก่อนหน้า พระเจ้าเลออปอลที่ 3 แห่งเบลเยียม ถัดไป
สมเด็จพระเจ้าอัลแบร์ที่ 1
พระมหากษัตริย์เบลเยียม
(23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1934 – 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1951)

สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง


เจ้าชายเลออปอล
(สิ้นพระชนม์ก่อนรับราชสมบัติ)

ดยุกแห่งบราบันต์
(ค.ศ. 1909 – 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1934)
เจ้าชายโบดวง
(ภายหลังคือ สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง)