ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต
พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าชั้นโท
ประสูติ20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463
จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม
สิ้นพระชนม์16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 (56 ปี)
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทย
พระสวามีหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต (พ.ศ. 2489–2520)
พระบุตร
ราชสกุลรัชนี (ประสูติ)
รังสิต (เสกสมรส)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
พระมารดาหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต (20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 – 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520) พระนามเดิม หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต (ราชสกุลเดิม รัชนี) นักเขียนชาวไทย เจ้าของนามปากกา ว.ณ ประมวญมารค มีผลงานประพันธ์ที่สร้างชื่อเสียงจากเรื่อง ปริศนา[1]

หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต ได้รับการสถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2520 หลังสิ้นชีพตักษัยขณะประกอบกรณียกิจแทนพระองค์[2] และได้มีการจัดงาน "วันวิภาวดี" เพื่อถวายสดุดี[3]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต
รับใช้ ไทย
แผนก/สังกัดกองอาสารักษาดินแดน
ชั้นยศ นายกองเอก

พระประวัติ

[แก้]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต มีพระนามเมื่อแรกประสูติคือ “หม่อมเจ้าวิภาวดี รัชนี” เป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กับหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี (ราชสกุลเดิม วรวรรณ) มีพระอนุชาร่วมพระบิดามารดาเดียวกันองค์เดียว คือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี

หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต เสกสมรสกับหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 โดยได้รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีธิดาสองคน คือ

  1. หม่อมราชวงศ์วิภานันท์ รังสิต สมรสกับสวนิต คงสิริ และสมรสอีกครั้งกับวิลเลียม บี. บูธ มีบุตรจากการสมรสครั้งแรกสองคน และครั้งที่สองหนึ่งคน
  2. หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต สมรสและหย่ากับ มหาราช จกัต สิงห์ พระอนุชาของมหาราชองค์ปัจจุบันแห่งเมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย ปัจจุบันสมรสกับปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล มีบุตรจากการสมรสครั้งแรกสองคน

พระนามแฝง

[แก้]

พระองค์ทรงมีผลงานนวนิยาย โดยเฉพาะนวนิยายในแนวรักสุข ด้วยพระนามแฝง ว.ณ ประมวญมารค ซึ่งเป็นพระนามแฝงเดียวที่ใช้ ถ้าไม่ใช้พระนามแฝงก็จะทรงใช้ชื่อพระนามเลย ซึ่งท่านได้ทรงอธิบายพระนามแฝงว่า ตัว ว. คืออักษรย่อตัวแรกของชื่อคือวิภาวดี, ตัว ณ (ณะ) แปลว่า แห่ง, คำว่า ประมวญ คือ ชื่อถนนที่บ้านของท่าน (วังประมวญ) ตั้งอยู่, คำว่า มารค หรือ มรคา คือ ถนนในภาษาสันสกฤต ดังนั้น ว.ณ ประมวญมารค ก็คือ ว.แห่งถนนประมวญ นั่นเอง

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี พระอนุชาของพระองค์ ทรงใช้นามปากกาว่า ภ.ณ ประมวญมารค ด้วยเหตุผลเดียวกัน

การศึกษา

[แก้]

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงศึกษาเริ่มต้นที่โรงเรียนผดุงดรุณี อยู่หนึ่งปี ต่อมาได้ทรงย้ายมาศึกษาที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ไม่ถึงปีก็เสด็จไปศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 มหาวิทยาลัยน.ม.ส. การเรียนในสมัยนั้น ผู้สอนเป็นแม่ชีชาวอเมริกันและยุโรป กวดขันเรื่องภาษาแก่เด็กนักเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง ตำราต่างล้วนเป็นภาษาอังกฤษ แม้แต่ตำราคณิตศาสตร์ก็เรียนเป็นภาษาอังกฤษล้วน เด็กนักเรียนจึงอ่านเขียนและพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง พระองค์เจ้าวิภาวดี ทรงเล่าว่า "พูดอังกฤษได้คล่องตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนอยู่ เพราะได้ศึกษาจากมาแมร์เจ็มมะ ซึ่งจ้ำจี้จ้ำไชขนาดหนักมาตั้งแต่เด็ก"

สิ้นพระชนม์

[แก้]
กระเป๋าถือส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต มีรอยเปื้อนพระโลหิตจากการที่ทรงถูกผู้ก่อการร้ายระดมยิงใส่เฮลิคอปเตอร์ที่ประทับเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 จนทรงได้รับบาดเจ็บสาหัสและสิ้นพระชนม์ จัดแสดงที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

หม่อมเจ้าวิภาวดี ได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยเสด็จเยื่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 2500 และกรณียกิจที่เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเยี่ยม ทหาร ตำรวจ พลเรือน ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ขณะเสด็จไปรับตำรวจตระเวนชายแดนที่บาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิด ที่ ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้ระดมยิงมาที่เฮลิคอปเตอร์ที่ประทับ หม่อมเจ้าวิภาวดีทรงถูกยิง ซึ่งก่อนการสิ้นชีพตักษัย หม่อมเจ้าวิภาวดียังมีพระสติสัมปชัญญะดี ทรงเป็นห่วงตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ตลอด มีรับสั่งว่า “ตชด.เป็นอย่างไรบ้าง เอาออกมาได้หรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาล อย่าให้พวกมันรู้ว่าฉันถูกยิง มันจะเหิมเกริม” และ “ฉันไม่เป็นไรแล้ว ตชด.มาหรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาลด่วน” [4] ผู้เห็นเหตุการณ์ยังเล่าอีกว่า หม่อมเจ้าวิภาวดีตรัสขอให้พระมหาวีระ ถาวโร และครูบาธรรมชัย กราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แทน ทรง "ขอนิพพาน" และตรัสเป็นประโยคสุดท้ายว่า ทรงเห็นนิพพานแล้ว พระนิพพานที่พระองค์เห็นนั้น สวยงดงาม และ "แจ่มใสเหลือเกิน"

วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระศพ หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต และต่อมาได้นำพระนาม "วิภาวดีรังสิต" มาใช้เป็นชื่อถนนตามพระนามดังกล่าว (เดิมชื่อ ถนนซูเปอร์ไฮเวย์)

วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศพจากพระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ไปยังฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อพระราชทานเพลิงพระศพร่วมกับศพของเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร ซึงเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในกรณีปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นที่รักยิ่งของชาวอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานี เนื่องด้วยพระองค์เป็นผู้นำความเจริญต่าง ๆ ไปสู่พื้นที่จนได้รับฉายาว่า “เจ้าแม่พระแสง” และพระองค์ยังได้ประทานชื่อตำบลบางสวรรค์ ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอพระแสง

ด้านพระนิพนธ์

[แก้]

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเล่าว่า “ได้เคยเป็นเลขานุการของพ่อตอนพระเนตรเป็นต้อ ก็ทรงบอกให้ฉันเขียนหน้าห้าไปลงหนังสือประมวญวัน ทุกวันและยังรับคำบอกของท่าน เรื่อง "สามกรุง" และอื่น ๆ เป็นเล่ม ๆ ทีเดียว” การที่ได้ทรงคลุกคลีอยู่กับหนังสือ และยังทรงได้ใกล้ชิดกับพระบิดา ผู้ทรงเป็นกวีเอก ทำให้พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงสนพระทัยที่จะนิพนธ์ขึ้นเองบ้าง เมื่อพระชันษาเพียง 14 ปี

พระนิพนธ์เรื่องแรก ไม่ใช่ "ปริศนา" แต่เป็นเรื่องแปล ชื่อ "เด็กจอมแก่น" ทรงแปลจากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด William ของ Richmal Crompton ซึ่งเป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังของอังกฤษ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

วิลเลียม เป็นเด็กชายอายุ 11 ปี อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในชนบทของอังกฤษ มีเพื่อนร่วมกลุ่มอีกสามคน ชื่อจินเจอร์ ดักลาส เฮนรี่ เรียกตัวเองว่า คณะนอกกฎหมาย หรือ The Outlaws เจตนาดีของวิลเลียม ด้วยความไร้เดียงสาประสาเด็ก ก่อเรื่องให้ผู้ใหญ่เวียนหัวไปตาม ๆ กัน แต่ก็ขบขันครื้นเครงสำหรับผู้อ่าน

เรื่องนี้เมื่อลงพิมพ์ ใน "ประมวญสาร" เป็นเรื่องที่ขายดีมาก นักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนที่อยู่ใกล้โรงพิมพ์ ได้เข้ามาซื้อจนเกลี้ยงโรงพิมพ์กลายเป็นเรื่องขายดี เพราะเด็กนักเรียนชอบอ่าน ทรงรำลึกว่า "การที่ข้าพเจ้ากลายเป็นนักเขียนขึ้นมาตั้งแต่อายุ 14 ปีนั้น ก็เพราะข้าพเจ้ามีพ่อแม่ที่เข้มงวด อยากให้ข้าพเจ้ารู้ค่าของเงิน จึงไม่ได้ตามใจข้าพเจ้าให้เงินทองใช้จนเหลือเฟือ แต่สนับสนุนข้าพเจ้าในทางที่ควร คือสอนให้มีมานะ ให้รู้จักใช้หัวคิดที่จะทำโน่นทำนี่เพื่อถึงจุดหมายในความต้องการของตน... ถ้าพ่อแม่ของข้าพเจ้าไม่ฉลาด เห็นการณ์ไกลและสนับสนุนข้าพเจ้าในทางที่ถูกที่ควรแล้ว ว.ณ ประมวญมารค ก็คงจะไม่มีกำเนิดขึ้นมาในโลก คงจะดำดินอยู่ตลอดชีวิต ไม่มีผลงานออกมาให้ใครได้อ่านสักชิ้นเดียวเป็นแน่"

รายชื่อผลงาน

[แก้]
ส่วนหนึ่งของผลงานพระนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ภายใต้นามปากกา "ว. ณ ประมวลมารค"
  • ปริศนา (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 3 ครั้ง 2530 ช่อง 3 , 2543 ช่อง 7 และ 2558 ช่อง PPTV)
  • เจ้าสาวของอานนท์ (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 3 ครั้ง 2531 ช่อง 3 , 2542 ช่อง 5 และ 2558 ช่อง PPTV)
  • รัตนาวดี (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2 ครั้ง 2531 ช่อง 3 และ 2558 ช่อง PPTV)
  • นิกกับพิม
  • คลั่งเพราะรัก
  • ฤทธิ์ราชินีสาว
  • พระราชินีนาถวิกตอเรีย
  • เรื่องลึกลับ
  • เรื่องหลายรส
  • นี่หรือชีวิต
  • ตามเสด็จปากีสถาน
  • เสด็จพระราชดำเนินสหพันธรัฐมลายา พ.ศ. 2505
  • เสด็จพระราชดำเนินปากีสถานและสหพันธรัฐมลายา พ.ศ. 2505 (ฉบับพิมพ์รวมเล่มของ "ตามเสด็จปากีสถาน" และ "เสด็จพระราชดำเนินสหพันธรัฐมลายา พ.ศ. 2505")

พระเกียรติยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม/เพคะ

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 — 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 : หม่อมเจ้าวิภาวดี รัชนี
  • 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 — 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 : หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต
  • 4 เมษายน พ.ศ. 2520 : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของประเทศไทยและต่างประเทศ ดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

[แก้]

พระยศกองอาสารักษาดินแดน

[แก้]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ThaiPR.net (9 กุมภาพันธ์ 2555). มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ฯ ร่วมกับผลิตภัณฑ์อาหาร ซีพี และทรูวิชั่นส์ ภูมิใจเสนอละครเพลง “ปริศนา เดอะ มิวสิคัล”. เรียกดูเมื่อ 20 กรกฎาคม 2556
  2. "เคาะข่าวริมโขง : "โสภณ" เผยความลับ ไอ้โม่งยิงคอปเตอร์พระที่นั่ง "ม.จ.วิภาวดี รังสิต"" (Press release). ASTVผู้จัดการออนไลน์. 11 มกราคม พ.ศ. 2553. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-25. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  3. แนวหน้า (13 กุมภาพันธ์ 2555). คุณแหน ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555. เรียกดูเมื่อ 20 กรกฎาคม 2556
  4. "รำลึก 35 ปี วันสิ้นพระชนม์ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต" (Press release). เดลินิวส์. 16 กุมภาพันธ์ 2555. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต, เล่ม ๙๔, ตอน ๓๐ ง, ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๐, หน้า ๒๙๘
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๓๐ ง หน้า ๑๕๓๗, ๕ เมษายน ๒๕๒๐
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๓๐ ง หน้า ๑๕๓๘, ๕ เมษายน ๒๕๒๐
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๔๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๐, ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๑
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๕๔ ง หน้า ๒๙๖๗, ๑๘ สิงหาคม ๒๔๙๖
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชรุจิ เก็บถาวร 2022-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๑๗ ง หน้า ๔๔๗, ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔
  11. 11.00 11.01 11.02 11.03 11.04 11.05 11.06 11.07 11.08 11.09 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๙ ตอนที่ ๙๕ ง หน้า ๒๒๔๐, ๒๓ ตุลาคม ๒๕๐๕
  12. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2022-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๙๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒๗๐, ๑ ตุลาคม ๒๕๐๖
  13. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2022-09-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๑๐๑ ง หน้า ๒๓๕๗, ๑๕ ตุลาคม ๒๕๐๖

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]