ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นโท
ประสูติ12 เมษายน พ.ศ. 2399[1]
สิ้นพระชนม์11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 (90 ปี)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จังหวัดพระนคร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาสีดา
ศาสนาพุทธ

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม (12 เมษายน พ.ศ. 2399 – 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสีดา

พระประวัติ

[แก้]

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสีดา (สตรีชาวสุพรรณบุรี มารดาชื่อแพงดีมีเชื้อสายลาวเวียงจันทน์ ทั้งนี้เจ้าจอมมารดาสีดาเป็นญาติห่าง ๆ ของเจ้าจอมมารดาวันดี พระมารดาของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิมพับสรสร้อย และพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสอางองค์)

พระองค์เจ้าเฉิดโฉมประสูติเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2399 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อแรกประสูติมีพระอิสริยยศที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2430 มีพระอิสริยยศที่ พระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระองค์เจ้าเฉิดโฉมประชวร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยให้พระองค์เจ้าเฉิดโฉมเสด็จไปเข้ารับการรักษาที่ตึกปัญจมราชินี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กระทั่งสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเพียงสองวัน สิริพระชันษา 90 ปี นับเป็นพระราชบุตรในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีพระชันษาสูงที่สุดและมีพระชนม์ชีพเป็นพระองค์สุดท้าย

จากบันทึกของเอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์ มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาเป็นครูในโรงเรียนวังหลัง (ต่อมาคือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) ซึ่งได้มีโอกาสสนิทสนมกับพระองค์เจ้าเฉิดโฉม แสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นเจ้านายสยามที่สนพระทัยในศาสนาคริสต์เป็นอย่างยิ่ง ดังข้อความที่ปรากฏในหนังสือ "สยามคือบ้านของเรา" ความว่า "พระองค์ทรงเล่าให้ฉันฟังโดยทรงรับสั่งอย่างช้า ๆ และเว้นจังหวะหยุดเป็นช่วง ๆ ว่าพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ได้เข้าเฝ้าฯในพระบรมมหาราชวังเป็นครั้งราว และยังทรงสละเวลามีพระราชปฏิสันถารด้วย หัวข้อที่พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดสนทนาเป็นพิเศษคือเรื่องศาสนา และมักจะทรงวกมาที่เรื่องของศาสนาคริสต์อยู่เสมอ เพราะพระเจ้าอยู๋หัวทรงทราบดีว่าพระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องนี้ โดยทรงเรียนรู้จากพระสหายที่เป็นคริสเตียนในโรงเรียนวังหลัง หลังจากนั้นอีกหลายปีต่อมา พระองค์ทรงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมป์ของสโมสรสตรีแห่งแรกของกรุงเทพฯ..."[2]

พระเกียรติยศ

[แก้]

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 12 เมษายน พ.ศ. 2399 – พ.ศ. 2430 : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม[3][4]
  • พ.ศ. 2430 – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 : พระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม
  • 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 – 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 : พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. ISBN 974-221-818-8
  2. เอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์, สยามคือบ้านของเรา,  แปลโดย เด็กวัฒฯ รุ่น 100 (กรุงเทพฯ: ประยูรวงศ์พริ้นท์ติ้ง, 2550),  หน้า 96.
  3. ราชบัณฑิตยสถาน. พระเจ้าวรวงศ์เธอ (ตอนที่ ๑) (๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒)[ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อ 13 เมษายน 2556
  4. กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ราชสกุลวงศ์ เก็บถาวร 2017-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ:สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 2554, หน้า 229
  5. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 21, ตอน 32, 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447, หน้า 570
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 25, ตอน 39, 27 ธันวาคม พ.ศ. 2451, หน้า 1153

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]