พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ | |
---|---|
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น 4 พระองค์เจ้าชั้นโท | |
ประสูติ | 18 มิถุนายน พ.ศ. 2393 |
สิ้นพระชนม์ | 29 เมษายน พ.ศ. 2459 (65 ปี) |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระมารดา | เจ้าคุณจอมมารดาเอม |
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ (เดิม หม่อมเจ้าวงศ์จันทร์; 18 มิถุนายน พ.ศ. 2393 – 29 เมษายน พ.ศ. 2459) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเอม
พระประวัติ
[แก้]พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน 8 บูรพาษาฒ ขึ้น 9 ค่ำ ปีจอ โทศก จ.ศ. 1212 ตรงกับวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2393[1] ได้รับพระราชทานหีบหมากเสวยลงยา โต๊ะทองคำ และพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันเสาร์ เดือน 5 แรม 12 ค่ำ ปีมะโรง อัฐศก จ.ศ. 1278 ตรงกับวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2459 พระชันษา 67 ปี[2] พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2463[3]โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศไม้สิบสอง ในคราวพระราชทานเพลิงพระศพ
ผู้สำเร็จราชการวังหน้า
[แก้]เมื่อปี พ.ศ. 2429 เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทิวงคตแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสยามมกุฎราชกุมาร อย่างสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าตามราชประเพณีเดิม จึงประกาศพระราชกฤษฎีกาเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าแต่นั้นมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะไม่ให้พระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่ร้าง จึงโปรดฯ ให้คงจัดรักษาเป็นพระราชวัง ให้มีเจ้าพนักงานรักษาหน้าที่อยู่อย่างเดิม ทรงมอบหมายการปกครองให้ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในทั่วไป และโปรดฯ ให้เสด็จขึ้นมาประทับอยู่ที่พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส
เมื่อพระองค์เจ้าดวงประภาสิ้นพระชนม์ โปรดฯ ให้พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวรองลงมา ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้าต่อมา เหมือนอย่างพระองค์เจ้าดวงประภา และโปรดฯ ให้พระองค์เจ้าวงจันทร์ พระเจ้าน้องนางร่วมพระชนนีกับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จขึ้นมาประทับที่พระที่นั่งบวรบริวัติมาจนตลอดรัชกาลที่ 5
ถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์สิ้นพระชนม์ จึงโปรดฯ ให้พระองค์เจ้าวงจันทร์ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้าแทนพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ต่อมาจนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อปีขาล พ.ศ. 2459 เจ้านายในวังหน้าจึงได้เสด็จไปประทับที่พระบรมมหาราชวัง และมิมีผู้ใดดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการวังหน้าอีก
พระที่นั่งวงจันทร์
[แก้]เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับยังพระบวรราชวัง พระองค์ทรงสร้างพระราชมณเฑียรแห่งใหม่ขึ้น โดยมีลักษณะเป็นเก๋งจีน เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปประทับ ณ พระราชมณเฑียรแห่งใหม่นั้น พระองค์เกิดพระอาการประชวรติดต่อเป็นเวลานาน เมื่อซินแสเข้ามาดูจึงกราบทูลว่า เนื่องจากพระที่นั่งเก๋งจีนองค์นี้ สร้างในที่ฮวงจุ้ยที่เป็นอัปมงคล ดังนั้น พระองค์จึงโปรดให้รื้อพระที่นั่งเก๋งจีนลง ไปปลูกไว้ที่นอกวัง
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่บริเวณที่สร้างพระที่นั่งเก๋งจีนองค์เดิม แต่ได้เลื่อนตำแหน่งที่ตั้งไปทางทิศตะวันออก ลักษณะเป็นตึกฝรั่ง เรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า "พระที่นั่งวงจันทร์" ตามพระนามของ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์[4]
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามพระที่นั่งใหม่ว่า "พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์"
พระเกียรติยศ
[แก้]พระอิสริยยศ
[แก้]- หม่อมเจ้าวงจันทร์ (18 มิถุนายน พ.ศ. 2393 – 2 เมษายน พ.ศ. 2394)
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ (2 เมษายน พ.ศ. 2394 – พ.ศ. 2430)[5][6]
- พระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ (พ.ศ. 2430 – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2454)
- พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 – 29 เมษายน พ.ศ. 2459)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2449 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)[7]
- พ.ศ. 2438 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายใน)
- พ.ศ. 2447 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 3 (ม.ป.ร.3)[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Somdetch Phra Paramindr Maha Mongkut, “The Family of the late Second King of Siam”, op.cit, p. 52
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๓ พ.ศ. ๒๔๕๙, หน้า ๓๐๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๗ พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๕๔๗.
- ↑ ภูมิบ้านภูมิเมือง: พระที่นั่งวงจันทร์ ภูมิสถานพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. พระเจ้าวรวงศ์เธอ (ตอนที่ ๑) (๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒)[ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อ 13 เมษายน 2556
- ↑ กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ราชสกุลวงศ์ เก็บถาวร 2017-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ:สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 2554, หน้า 229
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-05-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 23, ตอน 35, 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449, หน้า 893
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 21, ตอน 33, 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447, หน้า 570