ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าย็องโจแห่งโชซ็อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้าย็องโจ)
พระเจ้าย็องโจแห่งโชซ็อน
조선 영조
朝鮮英祖
พระบรมสาทิศลักษณ์ของพระเจ้าย็องโจ
พระมหากษัตริย์แห่งโชซ็อน
ครองราชย์16 ตุลาคม ค.ศ. 1724 – 22 เมษายน ค.ศ. 1776
ราชาภิเษกประตูอินจ็องมุน พระราชวังชังด็อก ฮันซ็อง
ก่อนหน้าพระเจ้าคย็องจง
ถัดไปพระเจ้าช็องโจ
ผู้สำเร็จราชการ
อุปราชแห่งโชซ็อน
ดำรงตำแหน่ง4 ธันวาคม ค.ศ. 1721 – 16 ตุลาคม ค.ศ. 1724
กษัตริย์พระเจ้าคย็องจง
พระราชสมภพ31 ตุลาคม ค.ศ. 1694
หอ Bogyeongdang พระราชวังชังด็อก ฮันซ็อง โชซ็อน
สวรรคต22 เมษายน ค.ศ. 1776(1776-04-22) (81 ปี)
หอ Jipgyeongdang พระราชวังคย็องฮี ฮันซ็อง โชซ็อน
ฝังพระศพพระราชสุสานว็อนนึง กลุ่มสุสาน Dongguneung คูรี จังหวัดคย็องกี ประเทศเกาหลีใต้
พระมเหสี
พระราชบุตร
กับองค์อื่น ๆ...
องค์ชายรัชทายาทซาโด
พระนามเต็ม
อี กึม (이금; 李昑)
พระสมัญญานาม
  • โชซ็อน: พระเจ้า Igmun Seonmu Huigyeong Hyeonhyo มหาราช → พระเจ้า Jeongmun Seonmu Huigyeong Hyeonhyo มหาราช (익문선무희경현효대왕 → 정문선무희경현효대왕; 翼文宣武熙敬顯孝大王 → 正文宣武熙敬顯孝大王)
  • ราชวงศ์ชิง: Jangsun (장순; 莊順)
วัดประจำรัชกาล
Yeongjong (영종; 英宗) → Yeongjo (영조; 英祖)[a]
ราชวงศ์อีแห่งช็อนจู
ราชวงศ์อี
พระราชบิดาพระเจ้าซุกจงแห่งโชซ็อน
พระราชมารดา
ศาสนาลัทธิขงจื๊อแบบเกาหลี (ลัทธิขงจื๊อใหม่)
พระนามเกาหลี
ฮันกึล
영종, ภายหลังเป็น 영조
ฮันจา
, ภายหลังเป็น
อาร์อาร์Yeongjong, ภายหลังเป็น Yeongjo
เอ็มอาร์Yŏngjong, ภายหลังเป็น Yŏngjo
ชื่อเกิด
ฮันกึล
이금
ฮันจา
อาร์อาร์I Geum
เอ็มอาร์Yi Kŭm
ชื่อสุภาพ
ฮันกึล
광숙
ฮันจา
อาร์อาร์Gwangsuk
เอ็มอาร์Kwangsuk
พระนามปากกา
ฮันกึล
양성헌
ฮันจา
อาร์อาร์Yangseongheon
เอ็มอาร์Yangsŏnghŏn

พระเจ้าย็องโจ (เกาหลี영조; ฮันจา英祖; อาร์อาร์Yeongjo; เอ็มอาร์Yǒngjo ค.ศ. 1694 - ค.ศ. 1776) ทรงเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 21 แห่งราชวงศ์โชซ็อน (ค.ศ. 1724 - ค.ศ. 1776) พระเจ้าย็องโจทรงปฏิรูปการปกครองบ้านเมืองหลายประการ ทรงเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ได้รับยกย่องที่สุดแห่งราชวงศ์โชซ็อน คู่กับพระนัดดา คือ พระเจ้าช็องโจแห่งโชซ็อน พระเจ้าย็องโจทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวที่สุดของราชวงศ์โชซ็อน

ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายโนนนและฝ่ายโซนน

[แก้]
เจ้าชายย็อนอิง

พระเจ้าย็องโจพระราชสมภพเมื่อค.ศ. 1694 เป็นพระโอรสของพระเจ้าซุกจง กับพระสนมเอกซุกบิน ตระกูลชเว ได้รับพระนามเป็น เจ้าชายย็อนอิง (연잉군 延礽君) ทรงเป็นองค์ชายที่ขุนนางฝ่ายตะวันตกให้การสนับสนุน มีพระเชษฐาต่างพระราชมารดาซึ่งเป็นพระโอรสของพระสนมฮีบิน ตระกูลชัง เมื่อปลายรัชสมัยพระเจ้าซุกจงขุนนางแตกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายตะวันตก (노론, 老論) สนับสนุนองค์ชายย็อนอิง ขณะที่ฝ่ายใต้ (소론, 少論) สนับสนุนองค์ชายรัชทายาท เมื่อค.ศ. 1720 พระเจ้าซุกจงสวรรคต องค์ชายรัชทายาทขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าคย็องจง

แต่ทว่าพระเจ้าคย็องจงมีพระพลานามัยที่ไม่สู้จะดีนัก ทรงใช้เวลาทั้งรัชสมัยส่วนใหญ่ไปกับการประชวรทำให้ทรงว่าราชการไม่ได้ และอำนาจจึงตกแก่ขุนนางฝ่ายโซนน ที่สำคัญพระเจ้าคย็องจงทรงไม่มีพระโอรสไว้สืบทอดราชบัลลังก์ ขุนนางฝ่ายโนนนจึงยื่นฎีกาถวายขอให้แต่งตั้งองค์ชายย็อนอิงเป็น พระอนุชารัชทายาท (왕세제, 王世弟) ซึ่งพระเจ้าคย็องจงก็ทรงอนุมัติเมื่อค.ศ. 1721 แต่เมื่อขุนนางฝ่ายโนนนพยายามจะผลักดันพระอนุชารัชทายาทขึ้นมาอีกขั้นโดยการขอให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน ขุนนางโซนนจึงกล่าวหาว่าฝ่ายโนนนกำลังพยายามจะผลักดันให้องค์ชายย็อนอิงขึ้นมาเป็นกษัตริย์แทนพระเจ้าคย็องจง จึงเกิดการกวาดล้างขุนนางฝ่ายโนนนเมื่อค.ศ. 1722 ที่เรียกว่า การลงทัณฑ์ปีชินอิม (신임옥사, 辛壬獄事) ขุนนางฝ่ายโนนนถูกประหารชีวิตและเนรเทศ[1] รวมถึงพระสนมโซฮุน ตระกูลอี ซึ่งเป็นพระสนมของพระอนุชารัชทายาท (ภายหลังได้เป็น พระสนมช็องบิน ตระกูลอี 정빈 이씨, 靖嬪 李氏) และเป็นมารดาขององค์ชายคย็องอี (경의군, 敬義君 ภายหลังเป็น องค์ชายรัชทายาทฮโยจัง) ถูกสำเร็จโทษไปในคราวนี้ด้วย

พระอนุชารัชทายาทจึงได้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าคย็องจง จนพระเจ้าคย็องจงสวรรตเมื่อค.ศ. 1724 พระอนุชารัชทยาทจึงได้ขึ้นครองราชสมบัติ และแต่งตั้งองค์ชายคย็องอีพระโอรสเป็นองค์ชายรัชทายาท

รัชสมัยพระเจ้าย็องโจ

[แก้]

แม้จะทรงขึ้นครองราชสมบัติแล้วพระเจ้าย็องโจยังต้องทรงเผชิญกับปัญหาการต่อต้านจากฝ่ายโซนน ขุนนางฝ่ายโซนนกล่าวหาว่าฝ่ายโนนนได้กระทำการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าคย็องจงเพื่อนำพระเจ้าย็องโจขึ้นครองราชย์ พระเจ้าย็องโจจึงทรงประกาศแผนการเพื่อความสมานฉันท์ (탕평책, 蕩平策)[2] ในปีค.ศ. 1728 เป็นการประกาศยุติการแบ่งฝ่ายของขุนนางและลงโทษขุนนางที่แสดงออกเป็นฝักฝ่าย แต่กลายเป็นว่าขุนนางฝ่ายโซนนกลายเป็นเป้าโจมตีถึงการแบ่งพรรคแบ่งพวก ทำให้ขุนนางฝ่ายโซนนต้องโทษและถูกเนรเทศออกราชสำนักจนหมด ฝ่ายโนนนจึงขึ้นมามีอำนาจ จนทำให้ขุนนางฝ่ายโซนนที่ถูกเนรเทศ นำโดย อีอินจวา (이인좌, 李麟佐) ก่อการกบฏในปีค.ศ. 1729 เพื่อยึดบัลลังก์ให้กับองค์ชายมิลพง (밀풍군, 密豊君 ลื่อของ เจ้าชายรัชทายาทโซฮย็อน) แต่ฝ่ายพระเจ้าย็องโจก็สามารถปราบปรามกบฏลงได้ ทำให้ฝ่ายโซนนถูกกวาดล้างไปหมดสิ้น

ในสมัยพระเจ้าย็องโจ การค้าของโชซ็อนพัฒนาขึ้นมามาก[3] ผู้คนในทุกระดับชั้นตั้งแต่ชาวบ้านถึงขุนนางพากับประกอบธุรกิจการค้า ชนชั้นพ่อค้าเรืองอำนาจและได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักในการผูกขาดสินค้าแต่ละชนิดให้เป็นของตน เป็นการละทิ้งแนวความคิดแบบขงจื้อเดิม ที่ประมาณอาชีพค้าขายว่าเป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ แต่ถ้าจะเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างราชวงศ์ชิงหรือญี่ปุ่นแล้ว กิจกรรมการค้าในเกาหลีนั้นยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นนั้น เพียงแต่จากเดิมที่กิจกรรมการค้าจะมีนานๆทีก็กลายเป็นมีทุกวัน โดยเฉพาะในฮันยาง

องค์ชายรัชทายาทสิ้นพระชนม์เมื่อค.ศ. 1728 ได้รับพระนาม องค์ชายรัชทายาทฮโยจัง (효장세자, 孝章世子) พระเจ้าย็องโจจึงทรงขาดรัชทายาท จนกระทั่งพระสนมย็องบิน ตระกูลอี (영빈 이씨, 暎嬪 李氏) ประสูติพระโอรสในค.ศ. 1735 ในขณะที่พระมเหสีไม่มีพระโอรส พระเจ้าย็องโจจึงทรงตั้งขึ้นเป็น ภายหลังได้รับพระนาม องค์ชายรัชทายาทซาโด (사도세자, 思悼世子)

นโยบายความสมานฉันท์ของพระเจ้าย็องโจทำให้รัชสมัยของพระองค์ค่อนข้างสงบสุข ปราศจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายขุนนาง เป็นผลให้ประเทศเกาหลีมีโอกาสพัฒนาในด้านต่างๆ พระเจ้าย็องโจยังทรงได้ชื่อว่าทรงห่วงใยราษฎรโดยการเสด็จออกนอกวังไปเยี่ยมและถือความเดือดร้อนของราษฎรเป็นสำคัญ อย่างที่กษัตริย์เกาหลีเพราะองค์ก่อนๆไม่เคยทำ เรียกได้ว่า พระเจ้าย็องโจทรงเข้าใกล้ความเป็นกษัตริย์ในอุดมคติตามลัทธิขงจื้อ ทรงลดความหรูหราของราชสำนัก เพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือทรงแม้แต่ห้ามการดื่มสุรา ซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของพระองค์ และยังทรงเลิกการใส่วิกผมของสตรีชั้นสูง[4]

แม้ว่าพระเจ้าย็องโจจะทรงไม่เลือกฝ่ายขุนนาง แต่ในรัชสมัยของพระองค์นั้นขุนนางส่วนใหญ่มากจากฝ่ายโนนนทั้งสิ้น นำโดยคิมฮันกู (김한구, 金漢耉) พระราชบิดาของพระมเหสี และฮงพงฮัน (홍봉한, 洪鳳漢) พระบิดาของพระชายาขององค์ชายรัชทายาท เมื่อค.ศ. 1749 พระเจ้าย็องโจทรงตั้งองค์ชายรัชทายาทเป็นผู้สำเร็จราชการแทน (승명대리, 承命代理)[5]องค์ชายรัชทายาทซึ่งตลอดมาถูกขุนนางฝ่ายโนนนโจมตีนั้น ทรงหันไปหาขุนนางฝ่ายโซนน ซึ่งหมดอำนาจไปตั้งแต่ต้นรัชกาล ทำให้องค์ชายรัชทายาททรงเป็นที่เพ่งเล็งของพระเจ้าย็องโจและขุนนางฝ่ายโนนน

องค์ชายซาโด

[แก้]

พระเจ้าย็องโจทรงเข้มงวดกับองค์ชายรัชทายาทอย่างมาก จนสร้างความเครียดให้กับองค์ชายรัชทายาทจนทรงเสียพระสติ ทรงเข่นฆ่าข้าราชบริพารและนางรับใช้ แอบลักลอบออกไปประพาสนอกพระราชวัง จนในค.ศ. 1762 ขุนนางฝ่ายโนนนที่ชื่อว่า นาคย็องออน (나경언, 羅景彦) ซึ่งน้องชายได้ถูกองค์ชายรัชทายาทสังหาร ได้ถวายฎีกาขอให้พระเจ้าย็องโจทรงลงพระอาญาองค์ชายรัชทายาท ขุนนางฝ่ายโนนนพากันรบเร้าให้พระเจ้าย็องโจทำตามฎีกาของนาคย็องออน พระเจ้าย็องโจยังทรงลังเลอยู่จนกระทั่งพระสนมย็องบิน[6] พระราชมารดาขององค์ชายรัชทายาท ขอให้พระเจ้าย็องโจทรงทำตามเพื่อความสงบของประเทศ องค์ชายรัชทายาทจึงทรงถูกปลดและลงพระอาญาให้เสด็จเข้าไปอยู่ในกล่องไม้ใส่ข้าว หลังจากผ่านไปเจ็ดวัน อดีตองค์ชายรัชทายาทก็สิ้นพระชนม์

ต่อมาภายหลังพระเจ้าย็องโจทรงคืนตำแหน่งให้แก่อดีตองค์ชายรัชทายาท พระนามว่า องค์ชายรัชทายาทซาโด เหตุการณ์สำเร็จโทษองค์ชายรัชทายาทซาโดนั้นทำให้เกิดการแตกแยกครั้งใหม่ในหมู่ขุนนาง คือ ฝ่ายที่เห็นชอบกับการสำเร็จโทษขององค์ชายรัชทายาทยาทซาโด เรียกว่า ฝ่ายพยอกพา (벽파, 僻派) และฝ่ายที่ไม่เห็นชอบกับการสำเร็จโทษองค์ชาย และควรจะคืนตำแหน่งและเกียรติยศให้ดังเดิม เรียกว่า ฝ่ายชิพา (시파, 時派) ราชสำนักจึงเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความขัดแย้งอีกครั้ง

เมื่อค.ศ. 1775 พระเจ้าย็องโจทรงตั้งพระนัดดารัชทายาท (왕세손, 王世孫) ที่เป็นพระโอรสขององค์ชายรัชทายทาซาโด เป็นผู้สำเร็จราชการแทน ท่ามกลางการต่อต้านจากขุนนางฝ่ายพยอกพา พระเจ้าย็องโจสวรรคตในค.ศ. 1776 พระนัดดารัชทายาทขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพระเจ้าช็องโจ มีพระสุสานพระนามว่า ว็อนนึง (원릉, 元陵)

พระนามเต็ม

[แก้]
  • สมเด็จพระราชาย็องโจ ยังซุน ชีแฮ็ง แทโจ ซุนด็อก ย็องโม อึยรย็อล ชังอึย ฮงยุน ควังอิน ทนฮี เชช็อน ค็อนกึก ซ็องกง ชินฮวา แทซ็อง ควังอุน แคแท คีย็อง ยมย็อง ซุนช็อล ค็อนก็อน กอนย็อง แพมย็อง ซูทง คย็องนย็อก ฮงฮยู ชุงฮวา ยุงโด ซุกชัง ชังฮุน ช็องมุน ซ็อนมู ฮีกย็อง ฮย็อนฮโย แห่งเกาหลี


พระบรมวงศานุวงศ์

[แก้]

พระมเหสี

พระสนม

  • พระสนมช็องบิน ตระกูลอี แห่งฮัมยาง (정빈 이씨) ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็น พระนางย็อนโฮ
  • พระสนมย็องบิน ตระกูลอี แห่งช็อนอึย (영빈 이씨, 1696 - 23 August 1764) ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็น พระนางซ็อนฮี
  • พระสนมควีอิน ตระกูลโช แห่งพุงยาง (귀인 조씨)
  • พระสนมซุกอึย ตระกูลมุน (숙의 문씨) ภายหลังถูกถอดจากตำแหน่งพระสนม

พระราชโอรส

  • เจ้าชายรัชทายาทฮโยจัง (효장세자, 1719–1728) ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็น พระเจ้าจินจง พระราชโอรสของพระสนมช็องบิน ตระกูลอี
  • เจ้าชายรัชทายาทซาโด (사도세자, 1735–1762) ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็น พระเจ้าชังโจ พระราชโอรสของพระสนมย็องบิน ตระกูลอี

พระราชธิดา

  • เจ้าหญิงฮวาอ๊อค (화억옹주) พระราชธิดาของพระสนมช็องบิน ตระกูลอี
  • เจ้าหญิงฮวาซุน (화순옹주) พระราชธิดาของพระสนมช็องบิน ตระกูลอี
  • เจ้าหญิงฮวาพย็อง (화평옹주) พระราชธิดาของพระสนมย็องบิน ตระกูลอี
  • เจ้าหญิงฮวาด็อก (화덕옹주)พระราชธิดาของพระสนมย็องบิน ตระกูลอี
  • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม พระราชธิดาของพระสนมย็องบิน ตระกูลอี
  • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม พระราชธิดาของพระสนมย็องบิน ตระกูลอี
  • เจ้าหญิงฮวาฮย็อบ (화협옹주) พระราชธิดาของพระสนมย็องบิน ตระกูลอี
  • เจ้าหญิงฮวาวาน (화완옹주) พระราชธิดาของพระสนมย็องบิน ตระกูลอี
  • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม พระราชธิดาของพระสนมควีอิน ตระกูลโช
  • เจ้าหญิงฮวายู (화유옹주) พระราชธิดาของพระสนมควีอิน ตระกูลโช
  • เจ้าหญิงฮวากิล (화길옹주)พระราชธิดาของพระสนมซุกอึย ตระกูลมุน
  • เจ้าหญิงฮวาย็อง (화령옹주)พระราชธิดาของพระสนมซุกอึย ตระกูลมุน

พงศาวลี

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. พระราชทานใน ค.ศ. 1776 และ 1889 ตามลำดับ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Jae Un-Kang, Jae Eun-Kang. The land of scholars: two thousand years of Korean Confucianism.
  2. Michael J. Seth. A concise history of Korea: from the neolithic period through the nineteenth century.
  3. http://www.koreaaward.com/kor/history/151[ลิงก์เสีย]
  4. Yi I-hwa. Korea's pastimes and customs: a social history.
  5. JaHyun Kim Haboush. The memoirs of Lady Hyegyŏng: the autobiographical writings of a Crown Princess of Eighteenth-Century Korea.
  6. http://www.koreanhistoryproject.org/Ket/C15/E1501.htm
ก่อนหน้า พระเจ้าย็องโจแห่งโชซ็อน ถัดไป
พระเจ้าคย็องจง กษัตริย์แห่งโชซ็อน
(ค.ศ. 1724–1778)
พระเจ้าช็องโจ