ข้ามไปเนื้อหา

พระอาทิตย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระสุรยะ)
พระอาทิตย์
เทพผู้เป็นใหญ่ในบรรดาดาวนพเคราะห์ เทพแห่งดวงอาทิตย์ แสงสว่าง ความร้อน กลางวัน การเกษตร
พระอาทิตย์ ในคติอินเดีย ทรงจักร, สังข์, คทา ทรงราชรถเทียมม้า 7 ตัว มีพระอรุณเป็นสารถี
ชื่อในอักษรเทวนาครีसूर्य
ส่วนเกี่ยวข้องเทวดานพเคราะห์ เทพโลกบาล เทพคณะอาทิตย์ และเทพคณะวสุ
ดาวพระเคราะห์สูรยโลก (ดวงอาทิตย์)
อาวุธศรสูรยาสตร์, พระขรรค์, ตรีศูล, คทา, จักร, สังข์, ดอกบัว, ขวาน, หม้อน้ำ, ไม้เท้า ฯลฯ
พาหนะราชสีห์, ราชรถสีแดงเทียมม้า 7 ตัว มีพระอรุณเป็นสารถี
ข้อมูลส่วนบุคคล
คู่ครองพระนางศรัณยา, พระนางฉายา ฯลฯ
บุตร - ธิดาพระไววัสวัตมนู, พระยม,พระยมี, พระสวรรณีมนู, พระเสาร์, พระนางตัปตี, พระนางภัทรา,พระอัศวิน, พระเรวันต์, สุครีพ, กรรณะ
บิดา-มารดา

พระอาทิตย์ (เทวนาครี: सूर्य สูรฺย), พระสุริยะ หรือ พระสูรยะ เป็นเทวดานพเคราะห์องค์หนึ่ง มีอำนาจเหนือกว่าเทวดานพเคราะห์ทั้งหลาย ในคติไทย พระอาทิตย์ถูกสร้างขึ้นมาจากพระศิวะทรงนำไกรสรราชสีห์ 6 ตัว มาบดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีแดง ประพรมด้วยน้ำอมฤต แล้วเสก ได้เป็นพระอาทิตย์ มีพระวรกายสีแดง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำและแก้วปัทมราช (ทับทิม) ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอิสาน) และแสดงถึงอักษร อ และสระทั้งหมดในภาษาบาลี-สันสกฤต (อ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) เรียกว่า ครุฑนาม ในฤคเวท พระอาทิตย์เป็นหนึ่งในสามเทพสูงสุด อันได้แก่ พระอัคนี เทพแห่งไฟ พระอินทร์ เทพแห่งสายฟ้า และพระอาทิตย์ เทพแห่งแสงสว่าง บางตำราก็ให้พระอาทิตย์ทรงเป็นเทพโลกบาล ประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้ แทนที่พระนิรฤติ

ในศาสนาฮินดู

[แก้]

ในคติฮินดู พระอาทิตย์ มีนามว่า พระสูรยะ เป็นบุตรของพระกัศยปฤๅษีเทพบิดร และพระแม่อทิติ เดิมมีนามว่า พระมารตัณฑะ เป็นเทพในตระกูลเทพพระอาทิตย์ 12 องค์ ได้แก่ พระวรุณ (พระพิรุณ), พระมิตระ, พระอรรยมัน, พระภคะ, พระองศา, พระธาตรี, พระอินทร์, พระวิศวกรรม, พระปรรชันยะ, พระอังศุมาน, พระปูษัน และพระมารตัณฑะ

แต่เดิมพระมารตัณฑะมีรูปไม่งาม มารดาจึงทอดทิ้งเขา ต่อมาเหล่าพี่ชายได้ขึ้นเป็นเทพแล้วได้มอบพลังให้พระมารตัณฑะ มอบนามใหม่ให้ว่าพระสูรยะ พระศิวะทรงแต่งตั้งให้เป็นเทพประจำดวงอาทิตย์และเป็นใหญ่ในหมู่ดาวนพเคราะห์ มอบแสงสว่างแก่โลก เป็นใหญ่ในเวลากลางวัน อนุเคราะห์การเกษตร พระสูรยะได้วิวาห์กับนางศรัณยา บุตรีของพระวิศวกรรม มีบุตรด้วยกัน คือ พระมนูไววัสวัต พระยม และพระยมี แต่อยู่ไปนานวันเข้า นางศรัณยาก็ไม่อาจทนทานต่อแสงสุริยะได้ นางจึงได้สร้างร่างจำแลงจากเงา ชื่อว่า นางฉายา ให้นางฉายาอยู่กินกับพระสูรยะ จนให้กำเนิดบุตร ได้แก่ พระสวรรณีมนู พระศนิ (พระเสาร์) พระนางตัปตี และพระนางภัทรา ส่วนนางศรัณยาได้หนีไปหาพระวิศวกรรม แต่พระวิศวกรรมกล่าวว่า การที่หญิงที่วิวาห์แล้วจะกลับมาอยู่กับบิดาเป็นการผิดธรรมเนียม นางจึงหนีไปบำเพ็ญตบะต่อองค์พระวิษณุ ด้วยการแปลงเป็นม้า ชื่อ อัศวินี อยู่ในป่าหิมพานต์ ทางด้านสูรยโลก วันหนึ่งพระศนิเกิดเรื่องวิวาทกับพระยม นางฉายาได้เข้ามาห้าม พระยมไม่พอใจจึงเตะนางฉายาด้วยเท้า นางจึงสาปให้พระยมขาพิการ มีแผลเน่าและมีหนอนเจาะแทะแผล พระยมจึงนำเรื่องไปฟ้องพระสูรยะ พระสูรยะจึงรู้ว่านางฉายาไม่ใช่นางศรัณยา พระสูรยะได้เสกไก่แจ้มารักษาหนอนและรักษาแผลให้ และได้ไปไต่ถามความจริงจากนางฉายา และได้ไปตามหานางศรัณยากับพระวิศวกรรม พระวิศวกรรมกล่าวว่า นางไปบำเพ็ญตบะโดยการแปลงเป็นม้า อยู่ในป่าหิมพานต์ แต่ก่อนที่พระสูรยะจะไป พระวิศวกรรมได้ขูดเอารัศมี 1 ใน 8 ส่วนของพระสูรยะออกมา สร้างเป็นศัสตราวุธจำนวนมาก เช่น สร้างขวานปรศุให้พระศิวะ สร้างดาบนันทกะให้พระวิษณุ สร้างพระขรรค์ให้พระพรหม สร้างหอกให้พระขันทกุมาร สร้างคันธนูวิชัยให้พระอินทร์ สร้างคทาให้พระพิรุณ สร้างคันธนูคาณฑีวะให้พระอัคนี สร้างกระบองมหากาลให้ท้าวกุเวร สร้างบ่วงยมบาศและกระบองยมทัณฑ์ให้พระยม สร้างหอกให้พระพาย เป็นต้น พระสูรยะได้ตามหานางจนเจอ และได้แปลงกายเป็นม้า ชื่อ อัศวราช และสมสู่กับนาง และให้กำเนิดบุตรที่มีเศียรเป็นม้า คือ พระอัศวิน และพระเรวันต์ และพระสูรยะก็พานางกลับมาที่สูรยโลก พระสูรยะทรงเป็นบิดาแห่งพระไววัสวัตมนู ปฐมกษัตริย์ต้นตระกูลแห่งราชวงศ์สูรยวงศ์ พระวิษณุทรงอวตารลงมาเป็นพระราม ก็ทรงถือกำเนิดในตระกูลนี้ด้วย

พระสูรยเทพ

ลักษณะของพระอาทิตย์ ในคติไทย เป็นเทพบุรุษมีกายสีแดง มี 2 กร ทรงศรและพระขรรค์เป็นอาวุธ สวมมงกุฎน้ำเต้า สวมอาภรณ์สีทอง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำและแก้วปัทมราช (ทับทิม) ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ ในคติฮินดู เป็นเทพบุรุษมีกายสีแดงดังดอกชบา รูปร่างเล็ก แต่กำยำล่ำสัน นัยน์ตาสีทองประกายแดง มี 4 กร ทรงดอกบัว คทา จักร สังข์ ตรีศูล ฯลฯ สวมมงกุฎทองคำ มีรัศมีสีแดงมี 7 แฉก สวมอาภรณ์สีทอง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำและแก้วปัทมราช (ทับทิม) ประทับนั่งบนดอกบัว ทรงราชรถสีแดงเทียมม้า 7 ตัว แทนวันทั้ง 7 มีพระอรุณเป็นสารถี พระอาทิตย์ ยังมีนามอื่น ๆ อีก เช่น พระสูรยะ, พระรวิ, พระมิตระ, พระภานุ, พระภาสกร, พระทินกร, พระนภัสกร, พระประภากร, พระทิวากร, พระเคราะหราช, พระมารตัณฑะ, พระสาวิตร, พระวิวัสวาน, พระวิวัสวัต ฯลฯ

พระยมราชพาวิญญาณบริสุทธิ์ มานมัสการพระสูรยเทพ

พระอาทิตย์ เป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทางใจร้อน นั่นคือ ผู้ใดเกิดวันอาทิตย์ หรือมีพระอาทิตย์สถิตร่วมกับลัคนา มักมีความหยิ่งทรนงในเกียรติยศ ศักดิ์ศรี มีความเป็นผู้นำสูง อารมณ์ร้อนเร่า ตัดสินใจไว เฉียบขาด รักอิสระ แต่ซื่อสัตย์ ตามนิทานชาติเวร พระอาทิตย์เป็นมิตรกับพระพฤหัสบดี และเป็นศัตรูกับพระอังคาร เรื่องมีอยู่ว่า พระอาทิตย์เกิดเป็นมานพหนุ่ม พระพฤหัสบดีเกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ พระจันทร์เกิดเป็นบุตรีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ พระอังคารเกิดเป็นวิทยาธร มานพหนุ่มได้มาเล่าเรียนวิชากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ จนสำเร็จวิชา อาจารย์จึงยกบุตรีให้ และให้ใส่นางไว้ในผอบทองเพื่อจะได้ปลอดภัย วันหนึ่งมานพไปหาผลไม้ในป่า วิทยาธรได้ลักลอบมาเป็นชู้กับบุตรีอาจารย์ อาจารย์เข้าฌานและได้เห็นความประพฤติชั่วของบุตรี จึงคิดอุบายขึ้นมา วันหนึ่งมานพกลับมาเยี่ยมอาจารย์ อาจารย์ได้หยิบเซี่ยนหมากออกมารับรองไว้สองเซี่ยน มานพเห็นผิดธรรมเนียมจึงไต่ถาม อาจารย์จึงให้รีบกลับไปที่เรือนและเปิดผอบดูเถิด เมื่อมานพหนุ่มกลับมา เปิดผอบพบนางผู้เป็นภรรยาเป็นชู้กับวิทยาธร วิทยาธรเห็นดังนั้นก็ตกใจ หยิบพระขรรค์ฟันศีรษะมานพหนุ่ม ส่วนมานพขว้างจักรเพชรไป ถูกขาวิทยาธรขาด ตั้งแต่นั้น พระอาทิตย์จึงเป็นมิตรกับพระพฤหัสบดี ส่วนพระอาทิตย์เป็นศัตรูกับพระอังคาร และพระจันทร์เป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี จากตำนานนี้ผู้ใดที่เกิดวันอาทิตย์แล้วพระพฤหัสบดีโคจรเข้าสู่ดวงชะตา จะมีผู้ใหญ่อุปถัมภ์ ได้ลาภยศทรัพย์สินเงินทอง หากพระอังคารโคจรเข้าสู่ดวงชะตา จะเกิดอุบัติเหตุศีรษะแตก หรือมีอาการปวดหัว ตัวร้อนเป็นไข้

ในโหราศาสตร์ไทย พระอาทิตย์ถูกแทนด้วยสัญลักษณ์ 1 (เลขหนึ่งไทย) และด้วยเหตุที่สร้างขึ้นมาจากราชสีห์ 6 ตัวนี้เอง จึงทำให้มีกำลังพระเคราะห์เป็น 6 สำหรับพระประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ก็คือ ปางถวายเนตร

นอกจากราชสีห์แล้ว พระอาทิตย์ยังมีราชรถเทียมม้า 7 ตัวโดยมีสารถีชื่อพระอรุณ เป็นเทวพาหนะอีกอย่าง[1]

เมื่อเทียบกับความเชื่อทางตะวันตกแล้ว พระอาทิตย์เทียบได้กับ ฟีบัส หรือ อพอลโล หรือ เฮลิออส ตามเทพปกรณัมกรีกและเทพปกรณัมโรมัน

ในพุทธศาสนา

[แก้]

ในพุทธศาสนาแบบเถรวาท พระอาทิตย์ หรือ สุริยเทพบุตร เป็นเทพบุตร 1 ในเทพ 33 องค์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานกว้าง 150 โยชน์ ใหญ่ 50 โยชน์ มีราชรถเทียมม้า 100 ตัว เป็นผู้ขับเคลื่อนดวงอาทิตย์ ให้โคจรในทางทั้ง 3 ทำให้เกิดฤดูกาล ทางนอกสุดเรียกว่า โคณวิถี ก่อให้เกิดเหมันตฤดู (ฤดูหนาว) ทางกลางเรียกว่า อัชวิถี ก่อให้เกิดคิมหันตฤดู (ฤดูร้อน) ทางในสุดเรียกว่า นาควิถี ก่อให้เกิดวสันตฤดู (ฤดูฝน) ในสมัยพุทธกาลได้เป็นพระโสดาบัน

ในพุทธศาสนาแบบมหายานของภูมิภาคเอเชียตะวันออก พระอาทิตย์เป็น 1 ใน 12 เทพธรรมบาลที่พบได้รอบ ๆ ศาลเจ้า

ในญี่ปุ่นเรียกพระอาทิตย์ว่า ญี่ปุ่น: 十二天; Jūniten[2]

พระอาทิตย์เป็นเทพร่วมกับเทวดาองค์อื่น ๆ รวมถึงเทวดาตามความเชื่อของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พระอินทร์, พระอัคนี, พระยม, พระนิรฤติ, พระพาย, พระอีศาณ (พระนามหนึ่งของพระศิวะ), พระกุเวร, พระพิรุณ, พระพรหม, พระปฤถวี, พระจันทร์[3][4][5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. The Book of Hindu Imagery: Gods, Manifestations and Their Meaning By Eva Rudy Jansen p. 65
  2. Twelve Heavenly Deities (Devas) เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Nara National Museum, Japan
  3. Willem Frederik Stutterheim et al (1995), Rāma-legends and Rāma-reliefs in Indonesia, ISBN 978-8170172512, pages xiv-xvi
  4. S Biswas (2000), Art of Japan, Northern, ISBN 978-8172112691, page 184
  5. Adrian Snodgrass (2007), The Symbolism of the Stupa, Motilal Banarsidass, ISBN 978-8120807815, pages 120-124, 298