จตุคามรามเทพ
จตุคามรามเทพ หมายถึง เทพรักษาวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช สององค์ คือ ท้าวขัตตุคาม และ ท้าวรามเทพ ซึ่งเดิมในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์เป็นเทพชั้นสูง และมีอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย แต่เมื่อภูมิภาคแถบอุษาคเนย์นี้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาเข้ามา ท้าวขัตตุคาม และ ท้าวรามเทพ จึงถูกเปลี่ยนสถานะเป็นเทวดารักษาพระบรมธาตุ และเปลี่ยนชื่อให้เป็นมงคล เป็น ท้าวจตุคาม และสถิตอยู่บนที่บานประตูทางขึ้นพระบรมธาตุ ในปี พ.ศ. 2530 เมื่อครั้งมีการตั้งดวงเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่ จึงมีการอัญเชิญ จตุคามรามเทพ ไปสถิต ณ ที่นั้นเป็นต้นมา
ความหมายและความเชื่อ
[แก้]ชาวนครศรีธรรมราช มีคติความเชื่อที่ว่า องค์จตุคาม คือ พระเสื้อเมือง จตุ หมายถึง สี่ คาม (คาม-มะ) เขตคาม หมายถึง อาณาเขตหรือบ้าน เมื่อรวมกันนัยความหมายที่มากกว่าความเป็นทิศทั้ง 4 ของบ้าน หรืออาณาเขต คือทิศทั้งสี่ ซึ่งหมายถึงทิศที่มีท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ดูแลอยู่ ความหมายของจตุคามจึงเป็น ตำแหน่งของผู้เป็นใหญ่ทั้งสี่ทิศ มีท้าวจตุมหาราช ปกป้องคุ้มครองดูแล พระเสื้อเมืองจึงมีความหมายที่ควรเป็นตำแหน่ง ๆ หนึ่ง เพียงแต่ปราชญ์โบราณของเมืองสมมติขึ้นเป็นท้าวจตุคาม ผู้เป็นใหญ่ใน 4 ทิศ
องค์รามเทพ คำว่า ราม มีรากฐานมาจากพระราม ที่หมายถึงพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระมหากษัตริย์ คำว่าเทพ ก็คือเทวดา นัยความหมายคือเป็นพระมหากษัตริย์ ที่เป็นสมมติเทพเมื่อองค์รามเทพเป็นพระทรงเมือง คำว่าทรงเมืองพ้องกับคำว่า ครองเมือง นั่งเมือง หรือผู้ปกครองบ้านเมือง ซึ่งก็คือเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์
เชื่อกันว่าเดิมนั้น องค์จตุคามรามเทพ เป็นกษัตริย์ในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช มีพระนามอย่างเป็นทางการว่า พระเจ้าจันทรภาณุ เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 2 ของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช เชื่อว่ามีพระวรกายเป็นสีเข้ม เป็นกษัตริย์นักรบที่แกร่งกล้า เมื่อสถาปนาอาณาจักรศรีวิชัยได้อย่างมั่นคงแล้ว จึงได้สมัญญานามว่า "ราชันดำแห่งทะเลใต้" หรือมีอีกราชสมัญญานามนึงว่า "พญาพังพกาฬ" และต่อมาสำเร็จวิชาจตุคามศาสตร์ และทรงบำเพ็ญบุญเพื่อสร้างบารมีอธิษฐานจิต เป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อบรรเทาทุกข์แก่มนุษย์ทั้งปวง แต่หากเชื่อกันว่า จตุคามรามเทพ คืออดีตกษัตริย์ศรีวิชัยแล้ว ดังเช่นพระเจ้าวิษณุราชที่ปรากฏในหลักจารึกกรุงศรีวิชัย อยู่ในราว พ.ศ. 1318 ผู้สร้างพระบรมธาตุเมืองนครฯ จะดูขัดแย้งกันเพราะ เป็นยุคสมัยที่ห่างจากพระเจ้าจันทรภาณุ ก่อนถึง 400 ปี
พระบรมธาตุปรากฏชัดว่า มีสององค์ คือองค์จตุคามกับท้าวรามเทพ แต่ภายหลังได้รวมเป็นองค์จตุคามรามเทพเพียงองค์เดียว ก็มิได้ผิดจากหลักศาสตร์ของการสร้าง เฉกเช่นการอธิบายในหลักของตรีมูรติ ของศาสนาฮินดูที่เป็นการรวมกันของมหาเทพทั้ง 3 พระองค์ ดังนั้น จตุคามรามเทพ จึงหมายถึง ดวงพระวิญญาณแห่งอดีตบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าผู้มาสถิตย์เป็นผู้คุ้มครองดูแลบ้านเมืองทั้งสี่ทิศทรงฤทธิ์อำนาจอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งยังเพียบพร้อมไปด้วยบารมีธรรม 10 ประการ แห่งพระโพธิสัตว์ ผู้มีความเมตตาต่อมนุษย์ผู้ทุกนาม เป็นพระเทวราชโพธิสัตว์
จตุคามรามเทพ มีบริวารเป็นทหารกล้า 4 นาย คือ พญาชิงชัย, พญาหลวงเมือง, พญาสุขุม และพญาโหรา เป็นกำลังหลักในการปราบพราหมณ์ ที่เคยปกครองเมืองอยู่ก่อน เมื่อได้บ้านเมืองแล้ว ก็ได้สร้างพระบรมธาตุ สถาปนาเมือง 12 นักษัตร หรือกรุงศรีธรรมาโศกราช ฝังรากฐานพระพุทธศาสนาอย่างถาวร จนได้รับเทิดพระเกียรติว่า พญาศรีธรรมาโศกราช หรือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
ปัจจุบัน จตุคามรามเทพ ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวาง โดยเชื่อว่าทรงฤทธานุภาพในทุก ๆ ด้าน ตามจารึกของชาวศรีวิชัยได้บอกว่า "มีอานุภาพดุจดังพระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่ขจัดความมืดมัวในโลก" การขออธิษฐานจากพระองค์นั้นทำได้โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ
- อธิษฐานขอในสิ่งที่เป็นไปได้ โดยไม่ขัดต่อศีลธรรม
- เมื่อได้รับสิ่งที่หวังแล้ว ต้องรักษาสัจจะที่ได้ให้ไว้กับพระองค์
- ควรจะสร้างกุศลกรรมถวายแด่องค์จตุคามรามเทพ
แต่ที่สำคัญ อย่าลำพังเพียงอธิษฐาน ต้องสร้างกุศลกรรมให้แก่ตนเองให้ครบทุกด้านด้วย คือ ให้ทาน รักษาศีล และบำเพ็ญภาวนา
ภาพลักษณ์ของจตุคามรามเทพ โดยมากจะปรากฏเป็นองค์เทพบุตรในท่านั่ง มี 4 กร ถืออาวุธต่าง ๆ และนายทหาร 4 นาย นั้น จะปรากฏในรูปของหนุมาน 4 กร ถืออาวุธในท่วงท่าต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เป็นไปตามศิลปะศรีวิชัย ที่มักสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาแทนความหมายต่าง ๆ
ประวัติ
[แก้]ในการจัดสร้างรูปเคารพขององค์จตุคามรามเทพ เมื่อปี พ.ศ. 2530 เป็นครั้งแรกในรูปแบบพระผงสุริยัน-จันทรา ดวงตราพญาราหู มีแวดล้อมด้วยพระราหู 8 ตน ตรงกลางมีรูปของเทวรูปประทับนั่ง 2 เศียร 4 กร ทรงเครื่องอาวุธ และผู้สร้างในสมัยนั้นก็ให้ความหมายไว้ว่า คือรูปจำลองสมมติของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นตัวแทนขององค์จตุคามรามเทพ กษัตริย์แห่งกรุงศรีวิชัย
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2538 ทางโหราศาสตร์เกิดสุริยคราส พาดผ่านประเทศไทย ซึ่งเกิดกระแสตื่นตัวไปทั่วประเทศในเรื่องของพระราหูกินเมือง ประชาชนต่างก็หาวัตถุมงคลหาเครื่องรางของขลัง มาแขวนติดตัวเพื่อแก้เคล็ดและสะเดาะเคราะห์ ประกอบกับนิตยสารพระเครื่องกรุงสยาม ได้ลงประวัติการสร้างทำให้มีคนรู้จักบ้าง จึงได้มีการเช่าหากันไปในบางส่วน
ในต้นปี พ.ศ. 2550 จตุคามรามเทพได้รับความนิยมอย่างยิ่ง จนกลายเป็นกระแสในสังคมไทย จากข่าวการพระราชทานเพลิงศพของขุนพันธรักษ์ราชเดช อดีตนายตำรวจมือปราบ ผู้ร่วมการจัดสร้างวัตถุมงคลจตุคามรามเทพรุ่นแรกขึ้นโดยมี พล.ต.ท. สรรเพชร ธรรมาธิกุล เป็นประธานในการจัดสร้าง ได้มีการสร้าง วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ ขึ้นในวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีหลายรุ่น พระเกจิหลายองค์ปลุกเสก หลายคนพากันแย่งชิงจนเกิดเป็นเหตุให้ฆาตกรรมกันก็มี และผลจากกระแสนี้ส่งผลให้ วัตถุมงคลจตุคามรามเทพรุ่นแรก ที่ผลิตออกมาในปี พ.ศ. 2530 มีราคาพุ่งไปถึงกว่า 40 ล้านบาท จากเดิมที่มีราคาเพียง 49 บาทเท่านั้น
กระแสความศรัทธาได้พุ่งทะยานขึ้นจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นพุทธพาณิชย์ และแฟชั่นบูชา ขยายวงกว้างไปทุกชนชั้น วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ ได้ถึงจุดความนิยมสูงสุดกลายเป็นวัตถุบูชา ที่ถูกผลิตขึ้นมากมายใกล้หนึ่งพันรุ่น ที่มีการปลุกเสกแบบรายวัน เกือบทุกวัด เกือบทุกแผงพระ และแม้แต่ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า สถาบัน และองค์กรต่าง ๆ มีการนำวัตถุมงคลจตุคามรามเทพ มาจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ทั้งการกุศลและไม่ใช่กุศล
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีการประเมินมูลค่าเงินหมุนเวียน ของ วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ มีมูลค่าสูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาท ผลักดันจีดีพีของประเทศ โตขึ้น 0.1-0.2 % ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา และทำให้กรมสรรพากร พิจารณาการจัดเก็บภาษีจากการสร้างและเช่าบูชา วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ ด้วย
คาถาสำหรับบูชาจตุคามรามเทพ
[แก้]ตั้งสมาธิให้จิตใจสงบ จากนั้นท่อง (นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ) 3 จบ แล้วให้กล่าวตามบทสวดดังต่อไปนี้ "จะตุคามรามะเทวัง โพธิสัตตัง มะหาคุณัง มะหิทธิกัง อะหัง ปูเชมิ สิทธิลาโภ นิรันตะรัง นะโมพุทธายะ" ซึ่งแปลความได้ว่า "ข้าพเจ้าขอบูชา ท้าวจตุคามรามเทพโพธิสัตว์ ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ มีฤทธานุภาพไพศาล ขอความสำเร็จและลาภ จงมีแก่ข้าพเจ้า เป็นนิรันดร"
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- หลักเมืองนครศรีธรรมราชและประวัติ จตุคามรามเทพ
- นิตยสาร Positioning ฉบับเดือน มิถุนายน 2550 หน้า 166
- ความจริงและความลับ ที่ไม่เคยมีใครรู้ จตุคามรามเทพ เก็บถาวร 2007-08-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์,เรื่องลึกแต่ไม่ลับกับจตุคามรามเทพ ISBN 978-974-8218-17-5
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ความจริงและความลับแห่งองค์จตุคามรามเทพ เก็บถาวร 2007-03-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พลังธรรม.คอม