ข้ามไปเนื้อหา

พระเสื้อเมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเสื้อเมือง
พระเสื้อเมืองในศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร
เป็นที่บูชาในศาสนาผี
ส่วนเกี่ยวข้องเทพพื้นเมือง
เป็นที่นับถือในประเทศไทย

พระเสื้อเมือง บ้างเรียก ผีเสื้อเมือง หรือ ผีเสื้อ เป็นเทพารักษ์ประจำเมือง และเป็นอมนุษย์จำพวกหนึ่ง ทำหน้าที่คุ้มครองและป้องกันภัยทางบกและทางน้ำ ดูแลไพร่พล รักษาบ้านเมืองเมืองให้เป็นสุข ปราศจากอริราชศัตรูเข้ามารุกราน[1]

ประวัติ

[แก้]

คติพระเสื้อเมืองถูกพัฒนามาจากคติความเชื่อเรื่อง "ผีเสื้อ" ในศาสนาผี ซึ่งเป็นศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษากลุ่มไท ทั้งไทยสยาม ลาว ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทคำตี้ และไทเขิน[2]

ผีเสื้อในที่นี้คือคำเดียวกับคำว่า "ผีเชื้อ"[3] แปลว่า "ผีรักษาท้องถิ่น" หรือ "ผีเจ้าที่"[4] จัดเป็นผีบรรพบุรุษอย่างหนึ่ง เพราะเป็นบรรพบุรุษที่อพยพเข้ามาตั้งแต่ยุคสร้างบ้านแปงเมือง ลูกหลานจึงสร้างศาลไว้บูชาประดุจศาลประจำตระกูล[3] ตามชนบทจะมี "ผีเสื้อบ้าน" คือผีรักษาหมู่บ้าน และ "ผีเสื้อเมือง" หรือ "ผีหลวง" คือผีรักษาเมืองเป็นต้น[4] ส่วนผีเสื้อที่อยู่ในเมืองหลวงจะถูกเรียกว่า "พระเสื้อเมือง" เพื่อลดกลิ่นอายของความเป็นผีลง[3] ในอดีตศาลของผีเสื้อในชาวไททุกกลุ่มจะไม่มีการประดิษฐานรูปเคารพใด ๆ ไว้ในศาลเลย มีแต่ศาลเปล่าโล่ง ๆ เท่านั้น[5] ในวัฒนธรรมของชาวไทดำจะเรียกว่า ผีเมือง คือผีของอดีตเจ้าเมืองที่คอยปกปักรักษาเมืองให้สงบสุขและอุดมสมบูรณ์ สิงสถิตอยู่ตามเนินเขา ต้นไม้ใหญ่ หลักเมือง หรือศาล ชาวไทดำจะประกอบพิธีเสนเมืองหรือเลี้ยงผีเมืองอย่างใหญ่โต บรรดาหัวเมืองบริวารจะต้องส่งวัวและควายเพื่อเซ่นสังเวย การสังเวยวัวควายจะจำนวนมากน้อย ขึ้นอยู่กับขนาดของเมือง หากเป็นเมืองใหญ่ก็จะสังเวยวัวควายจำนวนมาก หากเป็นเมืองเล็กก็จะสังเวยวัวควายน้อยลง[6]

พระเสื้อเมืองที่ประดิษฐานในศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทอง สูง 93 เซนติเมตร ยืนบนฐานสิงห์ พระหัตถ์ซ้ายถือคทา พระหัตถ์ขวาชูขึ้นพร้อมกับถือจักร[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "เทพารักษ์ 5 องค์ ที่ศาลหลักเมือง คือเทพองค์ใดบ้าง ?". ศิลปวัฒนธรรม. 21 เมษายน 2567. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552, หน้า 28
  3. 3.0 3.1 3.2 เสฐียรโกเศศ. ผีสางเทวดา. กรุงเทพฯ : เอเธนส์บุ๊คส์ (1997), 2549, หน้า 47
  4. 4.0 4.1 จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ชนนิยม, 2556, หน้า 365
  5. เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552, หน้า 30
  6. สุมิตร ปิติพัฒน์, รองศาสตราจารย์ (2544). ศาสนาและความเชื่อไทดำในสิบสองจุไท ประเทศเวียดนาม. สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. p. 12.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]