ข้ามไปเนื้อหา

พระวิศวกรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระวิษณุกรรม)
พระวิศวกรรม
เทพเจ้าแห่งสถาปัตยกรรม
พระวิษณุกรรมศิลปะอินเดียเหนือ (ซ้าย) และศิลปะเบงกอล (ขวา)[1]
ส่วนเกี่ยวข้องเทพแห่งวิศวกรรม
ที่ประทับวิศวกรรมโลก
มนตร์โอม วิศวกรรมะยะ นะมะ
อาวุธตาชั่ง, ค้อน, สิ่ว, หม้อน้ำกมัณฑลุ, หนังสือ
พาหนะห่าน หรือ ช้าง (คติเบงกอล)
คู่ครองนางอัปสรฆฤตาจี (Gritachi) หรือ พระคยาตรี หรือ ตรีเทพีอันมีนามได้แก่: ราตรี (Rati), ปราปตี (Prapti) และนันทิ (Nandi)[2]
บุตร - ธิดาพระมณู, พระมายา, พระตวัษฎฤ, Viswajna, นางสัญชญา และเงาของนางคือ นางฉายา

พระวิศวกรรม (สันสกฤต: विश्वकर्मा) หรือ พระวิสสุกรรม (บาลี: วิสฺสุกมฺม) หรือ พระวิษณุกรรม เป็นเทวดาในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธและเทวดาผู้เป็นนายช่างใหญ่ของพระอินทร์ ตามตำนานกล่าวว่า เป็นผู้สร้างเครื่องมือ สิ่งของต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น และเป็นแบบอย่างให้กับมนุษย์สืบมา

พระวิศวกรรมรับเทวโองการต่าง ๆ จากพระอินทร์ เพื่อสร้าง อุปกรณ์ สิ่งของ อาคาร ต่าง ๆ มากมาย เป็นผู้นำวิชาช่าง มาสอนแก่มนุษย์ นับแต่นั้นมามนุษย์จึงรู้จักการสร้างและใช้งานสิ่งของต่าง ๆ จนมีการพัฒนารูปแบบมาจนถึงปัจจุบันนี้

ช่างไทยแขนงต่าง ๆ ให้ความเคารพบูชาพระวิศวกรรมในฐานะครูช่าง หรือเทพแห่งวิศวกรรมของไทย โดยเรามักพบเห็นรูปจำลององค์ท่านได้บ่อย ๆ ตามสถานศึกษาทางช่างทุกสถาบัน โดยนิยมสร้างอยู่สองท่า คือ ท่าประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือ ผึ่ง (จอบสำหรับขุดไม้) และอีกข้างถือ ดิ่ง และท่าประทับยืนมือขวาถือไม้เมตรหรือไม้วา มือซ้ายถือลูกดิ่งและไม้ฉาก

ที่มาขององค์พระวิษณุกรรมทั้ง 2 ท่านี้ พอขยายความได้ว่า หากสถาบันใดเปิดสอนวิชาชีพช่างก่อสร้าง มักอยู่ในท่ายืนมือถือลูกดิ่งและไม้เมตรหรือไม้วาอันเป็นเครื่องมือของช่างก่อสร้างมาแต่สมัยโบราณซึ่งช่างทั้งหลายทราบดีว่าเป็นเครื่องมือสำหรับวัดระยะ วัดความเที่ยงตรง แต่สิ่งที่นอกเหนือไปจากนั้นยังแฝงไปด้วยปรัชญาในการดำเนินชีวิต คือความแม่นยำ เที่ยงตรง ไม่เอนเอียงในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่มาของช่างที่ดี คือความมีคุณธรรมประจำใจ หากสถาบันใดเปิดสอนวิชาชีพสาขาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ช่างก่อสร้างอยู่ด้วย มักจะใช้ท่านั่ง เข้าใจว่าผู้สร้างคงจะชี้ให้เห็นเด่นชัดถึงสถาบันผู้ผลิตช่างก่อสร้าง อันเป็นช่างเก่าแก่มีมาแต่ก่อนแล้ว

ศาสนาพุทธ

[แก้]

ในชาตกัฏฐกถา สภชาดก กล่าวว่า ท่านเป็นผู้สร้างอาศรมให้แก่พระโพธิสัตว์หลายพระองค์ (ก่อนที่จะอุบัติเป็นพระพุทธเจ้า) เช่นในพระเวสสันดรชาดก [3] เป็นผู้สร้างบันไดเงิน บันไดทอง บันไดแก้ว ทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมายังโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสนคร ซึ่งเป็นเส้นทางที่พระพุทธเจ้าใช้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (หลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ในช่วงเข้าพรรษา) [4]

นอกจากจะเป็นสถาปนิกและเป็นวิศวกรด้านโยธาและสำรวจ ดังจะเห็นได้จากผลงาน ๒ ประการที่ว่านี้แล้ว พระวิศวกรรม ยังเป็นวิศวกรเครื่องกลอีกด้วย กล่าวคือ ท่านเป็นผู้สร้างวาฬสังฆาตยนต์ ซึ่งเป็นกงล้อหมุนรอบองค์พระสถูป ปกปักรักษาป้องกันมิให้บุคคลเข้าใกล้พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุหลังพุทธปรินิพพานและอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในองค์พระสถูปที่ว่านี้[5]

พระวิษณุกรรม ศิลปะลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระวิษณุกรรมและพระวิษณุ

[แก้]

คนไทยเรียกพระวิศวกรรมว่า 'พระวิษณุกรรม' และในที่สุดได้กร่อนลงเหลือเพียง 'พระวิษณุ' ซึ่งเป็นชื่อของเทพที่คนไทยรู้จักกันในฐานะหนึ่งใน ๓ เทพสำคัญของศาสนาฮินดู อันได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ทำให้หลายคนเข้าใจว่าพระวิษณุเป็นเทพแห่งวิศวกรรม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน[6]

"กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร ฯ มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" หมายถึง กรุงเทพมหานคร เมืองแห่งเทวดานั้น พระวิษณุกรรม เป็นผู้สร้าง ตามพระบัญชาของพระอินทร์

อ้างอิง

[แก้]
  1. চট্টোপাধ্যায়, কুন্তক. "বাংলায় ঢুকেই ভোলবদল বিশ্বকর্মার". anandabazar.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-09-19.
  2. https://incarnationofgods.blogspot.com/2022/03/vishwakarma-god-of-architecture.html
  3. ๙. เวสสันตรจริยา, อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญทานบารมี
  4. อรรถกถา สรภชาดก ว่าด้วย ละมั่งทำคุณแก่พระราชา
  5. ธาตุถูปปูชาวณฺณนา, มหาปรินิพพานสูตร, อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
  6. อ.ดร.ชนินทร์ วิศวินธานนท์, ความ (มัก) เข้าใจผิดเกี่ยวกับ "เทพแห่งวิศวกรรม", วารสารช่างพูด, ฉบับที่ 4/48, วารสารข่าวรายเดือน, คณะวิศวกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย