พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พุทธศักราช 2493
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส บนภาพประธานด้านหลัง ของธนบัตรที่ระลึก ชนิดราคา 500000 บาท | |
วันที่ | 28 เมษายน พ.ศ. 2493 |
---|---|
สถานที่ | วังสระปทุม |
ที่ตั้ง | จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
ผู้เข้าร่วม | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร |
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีที่ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
เบื้องหลัง
[แก้]ปี พุทธศักราช 2491 ขณะที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคลรับราชการในฐานะเอกอัครราชทูตนั่นเอง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จจากเมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มายังชานเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครอบครัวของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลจึงได้มาเฝ้ารับเสด็จ
ในครั้งนั้น สมเด็จพระราชชนนีมีรับสั่งให้พระราชโอรสทอดพระเนตรหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรด้วยว่าสวยน่ารักไหม ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เขียนเล่าใน “ บันทึก เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ” ว่า หม่อมเจ้านักขัตรมงคลก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นหลานแท้ ๆ ของสมเด็จย่า และเป็นคนดี หม่อมหลวงบัวก็เป็นลูกสาวเจ้าพระยาวงศาฯ ซึ่งเป็นคนดี ซื่อตรง และยังทรงกำชับว่า ถึงปารีสแล้วโทรฯ บอกแม่ด้วย ท่านผู้หญิงเกนหลงทรงเล่าในบันทึกต่อมาว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จฯ ถึงปารีสแล้ว จึงโทรศัพท์ตอบคำถามพระราชชนนีว่า “เห็นแล้วน่ารักมาก”
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ในระหว่างเสด็จประทับยังต่างประเทศ ขณะที่พระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเฟียส ทอปอลิโน จากเจนีวาไปยังโลซาน ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กล่าวคือ รถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกกระเด็นเข้าพระเนตรขวา พระอาการสาหัส หลังการถวายการรักษา พระองค์มีพระอาการแทรกซ้อนบริเวณพระเนตรขวา แพทย์จึงถวายการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หากแต่พระอาการยังคงไม่ดีขึ้น กระทั่งวินิจฉัยแล้วว่าพระองค์ไม่สามารถทอดพระเนตรผ่านทางพระเนตรขวาของพระองค์เองได้ต่อไปแล้ว จึงได้ถวายการแนะนำให้พระองค์ทรงพระเนตรปลอมในที่สุด ทั้งนี้ ม.ร.ว. สิริกิติ์ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำจนกระทั่งหายจากอาการประชวร
” ตอนที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประสบอุบัติเหตุ ก็มีรับสั่งให้ครอบครัวเราเข้าเฝ้า เพราะทรงได้รับบาดเจ็บที่พระเนตรและพระเศียร คุณแม่ก็เข้าไปก่อน ตอนเข้าเฝ้าฯ ก็ให้จับพระหัตถ์ท่านแล้วบอกชื่อ พอถึงสมเด็จฯ ท่านก็ทูลว่า หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เพคะ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรท่านทรงจับมืออยู่นานพอสมควรเลย ” ท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงษ์ เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นในหนังสือ “ ด้วยพลังแห่งรัก ”
อันเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เป็นต้นเหตุให้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2492 สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต่อหม่อมเจ้านักขัตมงคล โดยพิธีหมั้นได้จัดขึ้นอย่างเงียบ ๆ เรียบง่าย ณ โรงแรมวินด์เซอร์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงสวมพระธำมรงค์เป็นของหมั้นต่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ซึ่งเป็นพระธำมรงค์องค์เดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงมอบต่อสมเด็จพระบรมราชชนนี
จนวันที่ 12 สิงหาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศข่าวทรงหมั้นให้คนไทยทราบในงานเลี้ยงอันเรียบง่าย ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ข่าวอันเป็นสิริมงคลนี้ ทำให้คนไทยเกิดความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ประหนึ่งดังแสงสว่างที่ส่องสู่หัวใจทุกดวง ท่ามกลางข่าวอันน่าเศร้าสลดที่จะทรงมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2493
หลังจากนั้น รัฐบาลได้แจ้งให้ประชาชนชาวไทยทราบว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะเสด็จนิวัติประเทศไทย พร้อมด้วยพระคู่หมั้นในวันที่ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2493
พระราชพิธี
[แก้]พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดให้วันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 เป็นวันประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อใกล้ถึงเวลาพระฤกษ์ เวลา 09.30 น. หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ทรงนำหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ไปยังวังสระปทุม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงลงพระปรมาภิไธย และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ลงนามในสมุดทะเบียนสมรส ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขี 2 คน คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น, พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น ร่วมลงนามด้วย เช่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชปิตุลา[ต้องการอ้างอิง]
เมื่อสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จออก ณ ชั้น 2 ของพระตำหนักแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ฯ ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนเครื่องราชสักการะ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์แก่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามโบราณราชประเพณี พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และบุคคลที่ได้รับเชิญมาร่วมในพระราชพิธี ทูลเกล้าฯ ถวายของขวัญ ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานของที่ระลึกเป็นหีบบุหรี่เงินขนาดเล็ก ประดับอักษรพระนามาภิไธยย่อ ภ.อ. และ ส.ก
ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์แก่สมเด็จพระราชินีในโอกาสนี้ด้วย เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันเดียวกันนี้ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระราชวโรกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์ เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล แล้วเสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยให้คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการและคณะทูตานุทูต เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 29 เมษายน พุทธศักราช 2493 ทั้งสองพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานโดยรถไฟพระที่นั่งไปประทับ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลา 5 วัน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พุทธศักราช ๒๔๙๓, เล่ม ๖๗, ตอน ๒๓ง, ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๑๖๙๐
- ราชกิจจานุเบกษา, กำหนดการ ที่ ๙/๒๔๙๓ เสด็จออกมหาสมาคม เนื่องในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พุทธศักราช ๒๔๙๓, เล่ม ๖๗, ตอน ๒๓ ง, ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ , หน้า ๑๖๙๒