พระยาโชฎึกราชเศรษฐี
พระยาโชฎึกราชเศรษฐี | |
---|---|
ผู้แต่งตั้ง | พระมหากษัตริย์ไทย |
วาระ | ตลอดชีวิต |
สถาปนา | พ.ศ. 1997 |
คนสุดท้าย | พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ผ่อง โชติกะพุกกะณะ) |
พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางที่ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมท่าซ้าย ถือศักดินา 1400 ดูแลการเก็บภาษีอากร การติดต่อค้าขายกับประเทศทางตะวันออก ศาลคดีจีน ไปจนถึงการควบคุมดูแล ชาวจีน ในสังคมไทยให้อยู่อย่างสงบสุข[1] มีประวัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในทำเนียบศักดินาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทำเนียบตำแหน่งขุนนาง ซึ่งในชั้นหลังเรียกว่า กรมท่าซ้าย มีหลวงโชฎึกราชเศรษฐี หัวหน้าฝ่ายจีน คู่กับพระจุฬาราชมนตรี เป็นหัวหน้าฝ่ายแขก ซึ่งปัจจุบันตำแหน่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐีไม่มีแล้ว คงเหลือแต่จุฬาราชมนตรีเท่านั้น
ประวัติ
[แก้]ตำแหน่งเจ้ากรมท่าซ้าย เริ่มมีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฎในกฎหมายพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนที่ตราขึ้นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อ พ.ศ. 1997 กล่าวถึงกรมท่า ประกอบด้วย 2 กรมคือ
- กรมท่าซ้าย – มีขุนนางตำแหน่งเจ้ากรมคือ หลวงโชดึกราชเศรษฐี ศักดินา 1,400 ไร่
- กรมท่าขวา – มีขุนนางตำแน่งเจ้ากรม คือ พระจุฬาราชมนตรี ศักดินา 1,400 ไร่
ต่อมาปรับเป็นพระยาทั้ง 2 กรม ในสมัยอยุธยาตอนกลาง
ขุนนางเจ้ากรมท่าซ้ายในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าเป็นจีนฮกเกี้ยนส่วนมาก ทำหน้าที่ติดต่อดูแลกับชาวต่างชาติทางฝั่งซ้ายของทะเลไทย คือพวกจีน ญวน ญี่ปุ่น รับผิดชอบกิจการสำเภาหลวงที่ออกไปค้าขายกับประเทศเหล่านั้นด้วย มีหน้าที่เป็นหัวหน้าควบคุมชาวจีนในประเทศไทย ร่างและแปลพระราชสาส์นระหว่างไทยกับจีนด้วย[2] คู่กับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา ทำหน้าที่คุมการค้ากับมลายู อินเดีย และเปอร์เซีย
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ กรมท่าซ้ายคุมการเดินเรือและการค้าของสยามโดยมีชาวจีนเป็นกะลาสี นอกจากนี้กรมท่าจะทำหน้าที่เจรจาในการทำสนธิสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นข้อบังคับใช้ปฏิบัติ ซึ่งกลายเป็นหน้าที่หลักของกรมท่า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 กรมท่าถูกยุบและปรับเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเหตุให้ตำแหน่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ถูกยกเลิกไปด้วย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งคนสุดท้ายคือ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ผ่อง โชติกะพุกกะณะ)[3]
รายชื่อพระยาโชฎึกราชเศรษฐี
[แก้]ลำดับที่ | ราชทินนาม | ช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่ง | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
1 | พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) | สมัยรัชกาลที่ 3 | |
2 | พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (บุญมา) | สมัยรัชกาลที่ 3 | เป็นข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ 3 เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระวิเศษวารี ภายหลังได้เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี สังกัดกรมท่าฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาไกรโกษาเมื่อพ.ศ. 2394[4] |
3 | พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก โชติกะพุกกณะ) | พ.ศ. 2416 – พ.ศ. 2421 | |
4 | พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน โชติกเสถียร) | พ.ศ. 2421 – พ.ศ. 2437 | |
5 | พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกสวัสดิ์) | 7 มีนาคม พ.ศ. 2437 – 19 กันยายน พ.ศ. 2438[5] | |
6 | พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฮวด โชติกะพุกกณะ) | พ.ศ. 2454 – พ.ศ. 2458 | บุตรพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก โชติกะพุกกณะ)[6] |
7 | พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (มิ้น เลาหเศรษฐี) | พ.ศ. 2458 – พ.ศ. 2472 | รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเลื่อนขึ้นเป็นพระยาเจริญราชธนเมือ พ.ศ. 2454 แล้วโปรดให้เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมท่าซ้ายในปี 2457 ต่อมาอีกปีหนึ่งทรงโปรดเลื่อนเป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐีิและเป็นองคมนตรีในปีนั้น ถึงรัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นองคมนตรีต่อมา และโปรดทรงเลือกให้เป็นกรรมการองคมนตรี |
8 | พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ผ่อง โชติกะพุกกะณะ) | พ.ศ. 2472 – พ.ศ. 2476 | บุตรพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฮวด โชติกะพุกกณะ) |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ รศ. ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล. เถียน-เต็ง-หอย สามชาวจีนอพยพ สู่นายทุน-ขุนนางยุคแรกในสยาม กับภาพสะท้อนระบบอุปถัมภ์. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2540. เผยแพร่วันพฤหัสที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566
- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา โชฎึก (๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒)
- ↑ เปิดตำนานทุนจีนรุ่นแรก ขุนนางเจ้าสัว สู่นายทุนการเมือง วันที่ 23 พฤาภาคม พ.ศ. 2566
- ↑ จดหมายเหตุเรื่องเซอเชมสบรุกเข้ามาขอทำสัญญาในรัชกาลที่ 3 เมื่อปีจอ พ.ศ. 2393. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร, 2466. (พิมพ์ในงารพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2466)
- ↑ หลวงพิพิธภัณฑวิจารณ์ (ฟัก) ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย
- ↑ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน-พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว-ภาค-๑๕/ประวัติย่อ