ข้ามไปเนื้อหา

วลาดีมีร์ ปูติน

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปูติน)

วลาดีมีร์ ปูติน
Владимир Путин
ปูตินในปี ค.ศ. 2023
ประธานาธิบดีรัสเซีย
เริ่มดำรงตำแหน่ง
7 พฤษภาคม ค.ศ. 2012
นายกรัฐมนตรีดมีตรี เมดเวเดฟ
มีฮาอิล มีชุสติน
ก่อนหน้าดมีตรี เมดเวเดฟ
ดำรงตำแหน่ง
7 พฤษภาคม ค.ศ. 2000 – 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2008
รักษาการ: 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999 – 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2000
ก่อนหน้าบอริส เยลต์ซิน
ถัดไปดมีตรี เมดเวเดฟ
นายกรัฐมนตรีรัสเซีย
ดำรงตำแหน่ง
9 สิงหาคม ค.ศ. 1999 – 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2000
ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน
ก่อนหน้าเซียร์เกย์ สเตปาชิน
ถัดไปมิฮาอิล คัสยานอฟ
ดำรงตำแหน่ง
8 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 – 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2012
ประธานาธิบดีดมีตรี เมดเวเดฟ
ก่อนหน้าวิคตอร์ ซุบคอฟ
ถัดไปดมีตรี เมดเวเดฟ
เลขาธิการสภาความมั่นคง
ดำรงตำแหน่ง
9 มีนาคม ค.ศ. 1999 – 9 สิงหาคม ค.ศ. 1999
ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน
ก่อนหน้านีโคเลย์ บอร์ดูชา
ถัดไปเชียร์เกย์ อีวานอฟ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด (1952-10-07) 7 ตุลาคม ค.ศ. 1952 (72 ปี)
เลนินกราด สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย สหภาพโซเวียต
ศาสนารัสเซียออร์โธด็อกซ์
คู่สมรสลุดมีลา ปูตินา (1983–2014)
บุตรอย่างน้อย 2 คน
การศึกษามหาวิทยาลัยรัฐเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก (LLB)
สถาบันเหมืองแร่เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก (PhD)
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ สหภาพโซเวียต
สังกัด เคจีบี
ประจำการค.ศ. 1975–1991
ยศ พันเอก[1]

วลาดีมีร์ วลาดีมีโรวิช ปูติน (รัสเซีย: Владимир Владимирович Путин, สัทอักษรสากล: [vlɐˈdʲimʲɪr vlɐˈdʲimʲɪrəvʲɪtɕ ˈputʲɪn] ( ฟังเสียง); อังกฤษ: Vladimir Vladimirovich Putin; เสียงอ่านภาษาอังกฤษ: /ˈputɪn/) เป็นนักการเมืองชาวรัสเซียผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่สองและคนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. 2012 และเคยดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 2000 ถึง 2008 ปูตินยังเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐนตรีใน ค.ศ. 1999 ถึง 2000 และ ค.ศ. 2008 ถึง 2012 จึงถือได้ว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีมาต่อเนื่องตั้งแต่ ค.ศ. 1999 ปูตินเป็นประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดเป็นอันดับสองในยุโรปรองจาก อาเลียกซันดร์ ลูกาแชนกา ของเบลารุส

ปูตินเคยเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองต่างประเทศแห่งคณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐเป็นเวลา 16 ปี ก่อนจะลาออกในปี 1991 เพื่อเริ่มต้นอาชีพทางการเมืองในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เขาย้ายไปมอสโกในปี 1996 เพื่อร่วมงานกับ บอริส แฟตแมน ประธานาธิบดีในขณะนั้น ปูตินยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแห่งหน่วยความมั่นคงกลาง และเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงในช่วงสั้น ๆ ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1999 เขารักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999 เมื่อเยลต์ซินลาออกจากตำแหน่ง ก่อนจะได้ชนะการเลือกตั้งสมัยแรกและขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในอีกสี่เดือนต่อมา และชนะการเลือกตั้งสมัยที่สองใน ค.ศ. 2004

เนื่องจากถูกจำกัดสมัยการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ปูตินจึงไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สาม หลังชัยชนะของผู้สืบทอดเขา ดมีตรี เมดเวเดฟ ในการเลือกตั้ง ค.ศ. 2008 เมดเวเดฟได้เสนอชื่อปูตินเป็นนายกรัฐมนตรี ปูตินดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2008 ต่อมา ในเดือนกันยายน 2011 ปูตินและเมดเวเดฟตกลงกันว่าปูตินจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สามไม่ติดต่อกันในการเลือกตั้งปี 2012 ซึ่งเขาชนะรอบแรกเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2012[2][3] โดยถูกกล่าวหาเรื่องการฉ้อโกงและตามมาด้วยการประท้วง ก่อนจะได้รับเลือกอีกครั้งเป็นสมัยที่สี่ ใน ค.ศ. 2018 ต่อมา ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ภายหลังการลงประชามติ ปูตินลงนามในกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการอนุญาตให้ตัวเขาลงเลือกตั้งได้อีกสองสมัยซึ่งอาจขยายเวลาการดำรงตำแหน่งของเขาไปถึง ค.ศ. 2036 [4][5]

ปูตินได้รับชื่อเสียงว่านำพาเสถียรภาพทางการเมือง[6] ระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา เศรษฐกิจรัสเซียเติบโตขึ้นเก้าปีต่อเนื่อง เห็นได้จากจีดีพีแบบอำนาจซื้อ เพิ่มขึ้น 72% (หกเท่าในราคาตลาด)[7][8] ความยากจนลดลงมากกว่า 50%[9][10][11] และค่าจ้างรายเดือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 80 เป็น 640 ดอลลาร์สหรัฐ[7][12][13] ความสำเร็จนี้คาดว่ามาจากการจัดการเศรษฐกิจมหภาค การปฏิรูปนโยบายการคลังอย่างสำคัญและประจวบกับราคาน้ำมันที่สูง การไหลบ่าเข้ามาของทุนและการเข้าถึงเงินทุนภายนอกราคาถูกเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลัน[14] ซึ่งนักวิเคราะห์อธิบายว่า น่าประทับใจ[15][16]

ระหว่างดำรงตำแหน่ง ปูตินผ่านกฎหมายปฏิรูปขั้นพื้นฐานหลายฉบับ รวมทั้งภาษีเงินได้อัตราเดียว การลดภาษีกำไร และประมวลที่ดินและกฎหมายใหม่[15][17] เขาทุ่มเทความพยายามอย่างมากในการพัฒนานโยบายพลังงานของรัสเซีย โดยยืนยันตำแหน่งของรัฐเซียเป็นอภิมหาอำนาจด้านพลังงาน[18][19] ซึ่งรวมถึงการฟื้นฟูอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในประเทศและการริเริ่มการก่อสร้างท่อส่งออกหลักหลายแห่ง รวมทั้งเอสโปและนอร์ดสตรีม เช่นเดียวกับเมกะโปรเจกต์อื่น ๆ ในรัสเซีย ในการดำรงตำแหน่งสมัยที่สาม ปูตินลงนามในสนธิสัญญาการผนวกไครเมีย และสนับสนุนการทำสงครามในภูมิภาคตะวันออกของยูเครนด้วยการรุกรานทางทหารหลายครั้ง ส่งผลให้เกิดการคว่ำบาตรระหว่างประเทศและวิกฤตการณ์ทางการเงินในรัสเซีย[20] นอกจากนี้ เขายังสั่งการให้ทหารเข้าแทรกแซงในซีเรียเพื่อต่อต้านรัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์[21] และในวาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่สี่ ได้เกิดวิกฤตการณ์รัสเซีย–ยูเครน และเขาเป็นผู้สั่งการให้กองทัพเข้าโจมตียูเครนนำไปสู่การเกิดสงครามเต็มรูปแบบใน ค.ศ. 2022[22] ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ริเริ่มการไต่สวนคดีอาชญากรรมสงครามจากเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมา ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2022 ปูตินอนุมัติการผนวกภาคใต้และภาคตะวันออกของยูเครนเข้ากับรัสเซียซึ่งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

ขณะที่การปฏิรูปและพฤติการณ์หลายอย่างระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถูกวิจารณ์โดยผู้สังเกตการณ์ตะวันตกและผู้ต่อต้านภายในประเทศว่าไม่เป็นประชาธิปไตย[23] การดูแลการฟื้นฟูระเบียบและเสถียรภาพของปูตินทำให้เขาได้รับความนิยมในสังคมรัสเซีย ปูตินมักสนับสนุนภาพลักษณ์ชายทรหดในสื่อ โดยแสดงความสามารถทางกายของเขาและเข้าร่วมในกิจกรรมวิสามัญหรืออันตราย เช่น กีฬาเอกซ์ตรีมและปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ป่า[24] ปูตินเป็นนักยูโดและนักกีฬาแซมโบ เคยเป็นแชมป์เลนินกราดสมัยวัยเยาว์ ปูตินมีส่วนสำคัญในการพัฒนากีฬารัสเซีย ที่โดดเด่นคือ ช่วยให้นครโซชีชนะการประกวดเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 นอกจากนี้ นิตยสารฟอบส์ได้จัดอันดับให้เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกในปี 2013 ถึง 2015 โดยฟอบส์ได้อธิบายว่าเขาเป็น "บุรุษเพียงไม่กี่คนของโลกที่ทรงอิทธิพลพอจะทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ"[25]

ประวัติ

ปูตินในวัยเด็ก

วลาดีมีร์ ปูตินในวัยเด็ก เป็นช่วงที่หนังสายลับได้รับความนิยมจึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับปูติน ในสมัยนั้นมีอาชีพอยู่เพียงสองประเภทที่สามารถเป็นสายลับได้คือต้องเป็นทหารหรือจบนิติศาสตร์

วลาดีมีร์ ปูตินได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเลนินกราด สาขานิติศาสตร์ จบมาเขาได้ทำงานกับหน่วยสายลับได้ประจำหน่วยข่าวกรองสายลับและได้ถูกส่งไปประจำที่ประเทศเยอรมนีตะวันออก ภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายเขาจึงลาออกจากเคจีบี แล้วกลับไปอยู่กับอาจารย์ที่ชื่อว่า ดร. อนาโตลี ซับซัค และช่วยหาเสียงจน ดร. อนาโตลี ซับซัคได้เป็นผู้ว่าการเลนินกราด เมื่อ ดร.อนาโตลี ซับซัค ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดนข้อหาทุจริต แล้วปูตินเป็นลูกศิษย์ที่ไม่ยอมทิ้งอาจารย์ไป ได้หาข้อมูลมาช่วยอาจารย์จนพ้นความผิด

ต่อมาเพื่อนร่วมรุ่นมาชวนปูตินไปทำงานในทำเนียบประธานาธิบดีเยลซินในกรุงมอสโก จึงได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยบอริส เยลต์ซิน เป็นประธานาธิบดี ต่อมาเยลต์ซินได้ลาออกแล้วให้ปูตินมารักษาการณ์แทน แล้วปูตินก็ได้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของรัสเซีย เพราะบอริส เยลต์ซินเป็นคนแนะนำ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ในวันที่ 14 มีนาคม 2004

ต่อมา เดือนธันวาคม ค.ศ. 2007 นิตยสารไทม์ได้เลือกให้เขาเป็นบุคคลแห่งปี 2007 ด้วยเหตุผลว่าเขามีความเป็นผู้นำซึ่งเปลี่ยนความวุ่นวายในรัสเซียให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยนิตยสารไทมส์ ได้ขนานนามแก่ปูตินว่าเป็น "ซาร์แห่งรัสเซียใหม่" แม้ว่าปูตินจะสละตำแหน่งประธานาธิบดีให้แก่ ดมีตรี เมดเวเดฟแล้วก็ตาม แต่ปูตินก็ยังคงมีอำนาจและได้รับความนิยมอยู่[26]

ชีวิตครอบครัว

ปูตินสมรสกับชาวเลนินกราดนามว่า ลุดมินา ชเกรบเนวา (Людми́ла Шкребнева) ในวันที่ 28 กรกฎาคม 1983 และทั้งสองได้ใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนีตะวันออกด้วยกันระหว่างปี 1985 ถึง 1990[27] ทั้งสองมีลูกสาวสองคน คือ มารียา ปูตีนา เกิดในเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก และ เยกาเจรีนา ปูตีนา เกิดในเดรสเดิน[28] ต่อมาในวันที่ 6 มิถุนายน 2013 ปูตินได้ออกมาแถลงว่า ชีวิตคู่ของเขาทั้งสองได้จบลงไปแล้ว ซึ่งทางทำเนียบเครมลินได้ออกมายืนยันในวันที่ 1 เมษายน 2014 ว่ากระบวนการหย่าได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์[29][30]

เจ้าหน้าที่ความมั่นคง

ปูตินเริ่มการทำงานในหน่วยเคจีบี (KGB) ในปี 1975 เมื่อจบการศึกษา โดยเข้ารับการฝึกฝนเป็นเวลาหนึ่งปีที่ โรงเรียนเคเกเบในออตา เลนินกราด อย่างไรก็ตาม ในรายงานการประเมินผลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยได้ระบุว่าปูตินนั้นมีข้อบกพร่อง ว่าเขานั้นเป็นคนไม่เข้าสังคมและมีสัญชาติญาณต่อภัยอันตรายต่ำ[31] ต่อมาไปทำงานเป็นระยะเวลาสั้นๆที่กรมหลักที่สองแห่งคณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ (หน่วยราชการลับฝ่ายโต้ตอบ) ก่อนที่ต่อมาจะย้ายไปยังกรมหลักที่หนึ่งฯ ซึ่งเขามีหน้าที่ที่จะต้องเฝ้าจับตามองชาวต่างประเทศและเจ้าหน้าที่กงสุลในเลนินกราด[32][33]

ปูตินในเครื่องแบบ KGB

ระหว่างปี 1985 ถึง 1990 ปูตินได้เป็นเจ้าหน้าที่ KGB ที่ประจำการในเดรสเดิน เยอรมนีตะวันออก ในช่วงนั้น ปูตินได้ถูกมอบหมายให้สังกัดกรม S: หน่วยข่าวกรองและราชการลับสิ่งผิดกฎหมาย และเพื่อปกปิดตัวตนของเขา เบื้องบนจึงได้ระบุให้เขามีอาชีพเป็นล่าม หนึ่งในงานของปูตินคือการทำงานร่วมกับกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐของเยอรมนีตะวันออก ในการติดตามและสรรหาชาวต่างประเทศในเดรสเดินเพื่อรับเข้าเป็นบุคลากร คนที่เขาหาได้โดยส่วนมากเป็นคนที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเดรสเดิน จุดประสงค์การสรรหาคนก็เพื่อส่งคนเหล่านี้ไปเป็นสายลับในสหรัฐอเมริกา จากการที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนีถึง 15 ปีนี้เองทำให้ปูตินสามารถพูดภาษาเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่ว

เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายลง มีนักสิทธิมนุษยชนเดินขบวนประท้วงมายังอาคารของ KGB ในเบอร์ลิน ปูตินได้เผาทำลายเอกสารของ KGB และยื่นขอคำสั่งเร่งด่วนไปยังผู้บังคับบัญชาในกรุงมอสโก ซึ่งเขาก็ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า "มอสโกได้แต่เงียบ"[34] เมื่อรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกล่มสลาย ปูตินก็ถูกเรียกตัวกลับไปอยู่ที่เลนินกราดในสหภาพโซเวียต ที่ซึ่งในปี 1991 เขาได้ควบตำแหน่งในภาควิชากิจการต่างประเทศของมหาวิทยาลัยเลนินกราด ตามบันทึกของรองอธิการบดี ยูรี มอลคานอฟ[33] ด้วยตำแหน่งใหม่นี้ ปูติดคอยจับตามองเหล่านักศึกษาที่มีแววเพื่อเฟ้นหาคนเข้าสังกัด และในช่วงนี้เองที่เขาได้พบกับ อนาโตลี ซ็อบจัก ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์ของเขาอีกครั้งซึ่งกำลังดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเลนินกราด

ปูตินลาออกจากการเป็นเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงขณะดำรงยศ พันโท ในวันที่ 20 สิงหาคม 1991[35] วันที่สองระหว่างความพยายามรัฐประหารเพื่อล้มล้างรัฐบาลของประธานาธิบดี มีฮาอิล กอร์บาชอฟ[36] ซึ่งหน่วย KGB ก็ร่วมสนับสนุนการรัฐประหาร ปูตินได้อธิบายเหตุผลการลาออกของเขาว่า "ทันทีที่รัฐประหารเริ่มขึ้น ผมก็ตัดสินใจทันทีว่าจะอยู่ข้างไหน" และในปี 1999 ปูตินก็ได้อธิบายว่าลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นเป็น "ทางตันที่ไกลจากกระแสหลักของความศิวิไลซ์"[37]

งานการเมือง

นครเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก (1990–96)

ในเดือนพฤษภาคม 1990 ปูตินได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านกิจการต่างประเทศของนายกเทศมนตรีอนาโตลี ซ็อบจัก ต่อมาในเดือนมิถุนายน 1991 เขาก็ได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ภายนอกประจำสำนักนายกเทศมนตรีนครเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก รับผิดชอบงานพัฒนาความสัมพันธ์กับต่างประเทศและการลงทุนจากต่างชาติ[38] ในคณะกรรมการที่มีเขาเป็นประธานนี้ ปูตินได้เปิดโอกาสให้บุคคลจากภาคธุรกิจเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ ในเดือนมีนาคม 1994 ปูตินได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานคนที่หนึ่งของฝ่ายบริหารเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 1995 ปูตินได้บริหารสาขาของพรรคนาชโดม – รซซียา (Our Home Is Russia) ในเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่ก่อตั้งโดยนายกรัฐมนตรี วีกเตอร์ เชอร์โนมีร์ดีน ซึ่งในฤดูร้อนของปีเดียวกันนั้น ปูตินได้เป็นผู้ทำหน้าที่จัดการนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งของพรรคฯ ปูตินเป็นหัวหน้าสาขาของพรรคนาชโดม – รซซียาประจำเซนต์ปีเตอส์เบิร์กจนถึงเดือนมิถุนายน 1997[39]

เริ่มทำงานในมอสโก (1996–99)

ถึงแม้เจ้านายของปูติน อนาโตลี ซ็อบจัก จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีในปี 1996 แต่ปูตินได้รับข้อเสนอตำแหน่งงานในคณะบริหารเซนต์ปีเตอร์เบิร์กชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม ปูตินได้ปฏิเสธตำแหน่งดังกล่าวไปเนื่องจากไม่ต้องการหักหลังนายเก่า เมื่อทราบว่าตนเองกำลังจะว่างงาน ปูตินจึงคิดจะเป็นคนขับรถแท็กซี่หรือทำงานพาร์ทไทม์เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่แล้วปูตินก็ได้รับคำเชิญจากพาเวล โบโรดีน หัวหน้าสำนักจัดการทรัพย์สินส่วนประธานาธิบดี ให้ไปเป็นผู้ช่วยของเขาในมอสโก ปูตินตอบรับคำเชิญดังกล่าวและย้ายไปยังกรุงมอสโกในเดือนมิถุนายน 1996 ในตำแหน่งรองหัวหน้าสำนักจัดการทรัพย์สินส่วนประธานาธิบดี ต่อมาในเดือนมีนาคม 1997 ประธานาธิบดีเยลต์ซินได้แต่งตั้งปูตินเป็นรองเสนาธิการทำเนียบเครมลินควบตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับการใหญ่สำนักจัดการทรัพย์สินส่วนประธานาธิบดี

นายกรัฐมนตรีครั้งแรก (1999)

ในวันที่ 9 สิงหาคม 1999 ปูตินได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี บอริส เยลต์ซิน ให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่หนึ่งจากสามลำดับ และภายหลังในวันเดียวกันนั้นได้รับแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรัสเซีย[40] ซึ่งประธานาธิบดีเยลต์ซินได้ประกาศด้วยว่า เขาอยากเห็นปูตินเป็นผู้สืบทอดทางการเมืองต่อจากเขา หนึ่งสัปดาห์ให้หลัง สภาล่างได้มีเห็นชอบการแต่งตั้งปูตินเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 233 เสียง (คัดค้าน 84 เสียง, งดออกเสียง 17 เสียง)[41] ซึ่งทำให้ปูตินกลายเป็นผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังอยู่บนเส้นทางการเมืองระดับชาติได้เพียง 18 เดือน ซึ่งในตอนที่เขาได้รับแต่งตั้งนั้น เขาแทบจะไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนมาก่อน และผู้คนไม่คาดหวังอะไรกับเขามากนักที่ติดภาพลักษณ์เป็นเด็กเส้นของเยลต์ซิน แล้วก็เหมือนกับนายกฯคนอื่นๆของเยลต์ซิน ปูตินไม่ได้เป็นคนเลือกสมาชิกคณะรัฐมนตรีด้วยตัวเอง คณะรัฐมนตรีของเขาถูกเลือกมาโดยประธานาธิบดี[42]

สุขภาพของประธานาธิบดีเยลต์ซินย่ำแย่ลงอย่างกะทันหัน คู่แข่งทางการเมืองของเยลต์ซินเริ่มออกปราศัยถึงบุคคลที่จะมาแทนที่เขา แต่พวกเขาก็ต้องพบกับความยากลำบากเมื่อปูตินก้าวขึ้นมาเป็นรักษาการประธานาธิบดี การรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย (law-and-order) ตลอดจนการเดินหน้าปฏิบัติการในสงครามเชชเนียครั้งที่สองถือเป็นภาพลักษณ์ทรงศักยภาพของปูติน นำมาซึ่งกระแสนิยมในตัวปูตินที่เพิ่มขึ้น และพาให้ปูตินสามารถยืนอยู่เหนือคู่แข่งทางการเมืองทั้งหมดได้

เนื่องจากเขาไม่ได้กำลังสังกัดอยู่กับพรรคการเมืองใด ปูตินได้ให้สัญญาที่จะสนับสนุนพรรคเอกภาพ[43] ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่พึ่งตั้งขึ้นใหม่และครองสัดส่วนเป็นอันดับสองของคะแนนเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (23.3%) ในเดือนธันวาคม 1999 และจะตอบแทนปูตินในสภาเป็นการต่างตอบแทน

รักษาการประธานาธิบดี (1999–2000)

ประธานาธิบดีเยลต์ซิน ส่งมอบอำนาจสูงสุดให้แก่นายกรัฐมนตรีปูติน วันที่ 31 ธันวาคม 1999

ในวันที่ 31 ธันวาคม 1999 ประธานาธิบดีเยลต์ซินประกาศลาออกอย่างไม่คาดคิด ซึ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทำให้ปูตินซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องขึ้นมาเป็นรักษาการประธานาธิบดี ซึ่งในระหว่างที่เขาเป็นรักษาการนี้ เขาได้เดินทางไปให้กำลังกองทหารในเชชเนีย

คำสั่งประธานาธิบดีฉบับแรก ได้รับการลงนามโดยปูตินในวันที่ 31 ธันวาคม 1999 โดยเป็นคำสั่งเรื่อง "คำรับรองแก่อดีตประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียและสมาชิกครอบครัว"[44][45] เพื่อเป็นที่มั่นใจได้ว่า "บรรดาข้อกล่าวหาการทุจริตที่มีต่อประธานาธิบดีที่พึ่งพ้นจากตำแหน่งไปและที่มีต่อญาติของท่าน" จะไม่ถูกสืบและดำเนินการต่ออีก[46] ซึ่งประเด็นนี้เคยถูกพุ่งเป้าไปที่บริษัทก่อสร้าง Mabetex ที่มีชื่อเยลต์ซินและครอบครัวเข้าไปพัวพัน และเมื่อการลาออกของเยลต์ซินมีผล การเลือกตั้งประธานาธิบดีจึงมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 26 มีนาคม 2000 ซึ่งปูตินชนะการลงคะแนนรอบแรกด้วยคะแนน 53%[47]

ประธานาธิบดีครั้งแรก (2000–08)

ปูตินในพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดี วันที่ 7 พฤษภาคม 2000

ปูตินเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีในวันที่ 7 พฤษภาคม 2000 และได้แต่งตั้งรัฐมนตรีคลัง มีฮาอิล คาซยานอฟ เป็นนายกรัฐมนตรี

บททดสอบแรกในตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2000 เรือดำน้ำนิวเคลียร์ คูร์สก ขนาด 13,400 ตันที่อยู่ระหว่างการฝึกในทะเลเกิดการระเบิดขึ้นและจมลง ทำให้ลูกเรือเสียชีวิต 118 คน[48] โศกนาฎกรรมครั้งร้ายแรงนี้ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในตัวปูตินอย่างมาก เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายวันกว่าที่ปูตินจะกลับจากหยุดยาวพักผ่อน และกว่าเขาจะมาดูซากเรือก็กินเวลาอีกหลายวัน[48]

ในวาระแรกของการดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2000 ถึง 2004 ปูตินได้วางแนวทางในการแก้ไขภาวะความยากจนในประเทศ นอกจากนี้ปูตินยังได้ต่อรองกับชนชั้นนำในประเทศ ซึ่งปูตินเปิดทางให้ชนชั้นนำเหล่านี้ยังมีอิทธิพลได้อย่างเต็มเปี่ยม และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ชนชั้นนำเหล่านี้ก็หันมาสนับสนุนและกลายเป็นฐานอำนาจที่มั่นคงของปูติน[49] เกิดนักธุรกิจใหญ่โตขึ้นมากมายในรัสเซียซึ่งล้วนแต่เป็นพันธมิตรของปูติน

ไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2004 ปูตินได้ปลดคณะรัฐมนตรีของคาซยานอฟ และตั้งมีฮาอิล ฟรัดกอฟ ขึ้นมาเป็นนายกฯแทน และในวันที่ 14 มีนาคม 2004 ปูตินก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีติดต่อเป็นวาระที่สอง โดยได้รับคะแนนเสียงถึง 71%[47]

นายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง (2008–12)

นายกรัฐมนตรีปูตินและประธานาธิบดีเมดเวเดฟในปี 2008

เนื่องจากรัฐธรรมนูญรัสเซียบัญญัติให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระ ดังนั้นปูตินจึงเลือกให้ดมีตรี เมดเวเดฟ ซึ่งเป็นเพื่อนและอดีตเสนาธิการเครมลินของเขาเป็นตัวแทนของเขาในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน ซึ่งเมดเวเดฟก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 ซึ่งในวันเดียวกันนั้นเองปูตินได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ปูตินยังสามารถคงอิทธิพลทางการเมืองการปกครองไว้ได้[50]

ปูตินอ้างว่า การเอาชนะความยากลำบากในวิกฤตเศรษฐกิจโลก เป็นหนึ่งในความสำเร็จสองอย่างของปูตินในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง[51] ความสำเร็จอีกอย่างคือการรักษาเสถียรภาพด้านขนาดประชากรในรัสเซียระหว่างปี 2008–2011 หลังจากที่รัสเซียต้องเผชิญกับภาวะจำนวนประชากรถดถอยมากว่าสองทศวรรษ[51] ในการประชุมใหญ่ของพรรคในวันที่ 24 กันยายน 2011 เมดเวเดฟก็ประกาศให้ปูตินเป็นผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม นักสังเกตการณ์จำนวนมากเชื่อว่าปูตินจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีวาระที่สาม และเมดเวเดฟก็ถูกวางตัวให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไปหลังเมดเวเดฟลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม หลังผลการเลือกตั้งเมื่อ 4 ธันวาคม 2011 ได้ออกมาและปูตินเป็นผู้ชนะนั้น มีชาวรัสเซียหลายหมื่นคนออกมาประท้วงต่อต้านผลการเลือกตั้งและกล่าวหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปูตินเข้ามาปกครองประเทศ กลุ่มผู้ประท้วงได้ออกมาเรียกร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ[52]

การผนวกดินแดนไครเมียและรุกรานยูเครน

ประธานาธิบดีปูติน ลงนามในสนธิสัญญาผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย 18 มีนาคม 2014 ณ วังเครมลิน กรุงมอสโก

ในปี ค.ศ. 2014 ประเทศยูเครนเกิดความวุ่นวายและก่อจลาจลขึ้นเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูคอวิช ซึ่งช่วงนี้เองประธานาธิบดีปูตินได้สั่งให้เคลื่อนกำลังทหารสู่ไครเมียโดยข้ออ้างว่าเพื่อปกป้องผลประโยชน์และพลเมืองเชื้อสายรัสเซียในไครเมีย[53] กองทหารรัสเซียสามารถเข้าควบคุมไครเมียได้ทั้งหมดในวันที่ 2 มีนาคม 2014 การกระทำนี้ถูกประณามจากบรรดาชาติสมาชิกนาโตอย่างรุนแรงและมีมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานต่อรัสเซีย[53] หลังจากนั้นสองสัปดาห์ก็มีการลงประชามติว่าด้วยสถานภาพของไครเมียขึ้น โดยเสียงข้างมากกว่า 93% ของผู้มาใช้สิทธิต้องการให้ใครเมียแยกตัวออกจากยูเครนและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย สนธิสัญญาผนวกดินแดนระหว่างไครเมียได้ลงนามเมื่อวันที่ 18 มีนาคม และรัฐสภารัสเซียให้การรับรองในวันที่ 21 มีนาคม[54] อย่างไรก็ตาม สิบสามชาติสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ลงมติให้ประกาศว่าการลงประชามตินั้นเป็นโมฆะ แต่รัสเซียในฐานะสมาชิกถาวรได้ใช้อำนาจยับยั้งและจีนงดออกเสียง[55][56] แม้ญัตติจะตกไปแต่ฝ่ายนาโตก็ไม่ลดความพยายาม ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2014 ได้มีมติเสียงข้างมากให้ประกาศว่า การลงประชามติดังกล่าวเป็นโมฆะ และสหประชาชาติมิอาจยอมรับการผนวกดินแดนไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย [57] จากมติดังกล่าวนำไปสู่การเพิ่มมาตรการลงโทษต่อรัสเซีย ฝ่ายนิยมรัสเซียได้แพร่เข้าไปในภาคใต้และภาคตะวันออกของยูเครน และกลายเป็นกองกำลังกบฎที่สนับสนุนโดยรัสเซีย

จากมาตรการลงโทษต่าง ๆ ต่อรัสเซียประกอบกับการที่ราคาน้ำมันโลกลดลงอย่างมาก ทำให้รัสเซียเผชิญกับกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่จากการที่รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับสามของสหภาพยุโรปและเป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ของยุโรป การลงโทษต่อรัสเซียก็ทำให้เศรษฐกิจในยุโรปถดถอยและเผชิญกับความเสี่ยงด้านวิกฤตพลังงาน[58]

การแทรกแซงซีเรีย

ในวันที่ 30 กันยายน 2015 ประธานาธิบดีปูตินได้อนุมัติให้กองทัพรัสเซียทำการเข้าแทรกแทรงในสงครามกลางเมืองซีเรีย ภายหลังจากได้รับคำร้องขอสนับสนุนด้านการทหารจากรัฐบาลซีเรียเพื่อการปราบกบฎและกลุ่มญิฮาดในซีเรีย รัสเซียเข้าแทรกแทรงด้วยการทิ้งระเบิดทางอากาศ, การยิงขีปนาวุธ และใช้กำลังรบพิเศษทะลวงเข้าจัดการกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ซึ่งรวมถึงฝ่ายค้านซีเรีย, รัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์ (ไอซิส) และกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอื่นๆ[59][60] ต่อมาปูตินได้ประกาศในวันที่ 14 มีนาคม 2016 ว่าปฏิบัติการในประเทศซีเรียนั้น "ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง" และสั่งการให้ถอนกองกำลังหลักของรัสเซียออกจากซีเรีย[61] แต่ยังคงเหลือกองทหารรัสเซียบางส่วนอยู่ในซีเรียเพื่อสู้กับกลุ่มต่อต้านฯและสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย[62] ต่อมาในเดือนธันวาคม 2017 ปูตินได้เดินทางเยือนประเทศซีเรียเป็นครั้งแรกตั้งแต่การเข้าแทรกแซงของรัสเซีย

ภาพลักษณ์

ประธานาธิบดีปูตินในห้องนักบินของเครื่องบินทิ้งระเบิด ตู-160 ก่อนทะยานขึ้น, ค.ศ. 2005

ในมุมมองของสาธารณชน ปูตินมีภาพลักษณ์ที่เป็นชายชาตรี องอาจ และน่าเกรงขาม ภาพลักษณ์เหล่านี้ไม่ได้ปรากฏเฉพาะในรัสเซียเท่านั้น แต่เป็นที่โจษจันในระดับโลก เขาโปรดปรานกีฬาผาดโผนและอันตรายต่างๆเช่นการล่าสัตว์[63] ปูตินมีความสามารถในการขับเครื่องบิน ทั้งเครื่องบินทั่วไปไปจนถึงเครื่องบินรบสมรรถนะสูง[64] นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะการต่อสู้หลายแขนง เช่น แซมโบ, ยูโด, คาราเต้ ซึ่งปูตินเคยเป็นแชมป์กีฬาแซมโบและยูโดของนครเลนินกราดด้วย[64] นอกจากนี้ยังมีความสามารถอื่นๆอีก อาทิ การขี่ม้า, ล่องแก่ง, การตกปลา ไปจนถึงการว่ายน้ำในแม่น้ำไซบีเรียที่เย็นยะเยือก ซึ่งมักจะปรากฏภาพที่เขาไม่ใส่เสื้อขณะทำกิจกรรมเหล่านี้[65] และยังสามารถดำน้ำลึก[66][67] หยุดเสือและหมีขั้วโลกด้วยปืนยิงยาสลบ[65][68], เป็นนักบินผู้ช่วยในเครื่องบินดับไฟป่า, ยิงลูกดอกใส่วาฬเพื่อการติดตาม[64][69], ขับรถสูตร[64][70] เป็นต้น

ทรัพย์สิน

ตัวเลขอย่างเป็นทางการที่เปิดเผยระหว่างการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ ค.ศ. 2007 ระบุว่าปูตินมีทรัพย์สินประมาณ 3.7 ล้านรูเบิล (150,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ในบัญชีธนาคาร มีอพาร์ตเมนต์ 77.4 ตารางเมตรในเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก และทรัพย์สินจิปาถะอีกจำนวนหนึ่ง[71][72] ปูตินรายงานรายได้รวม 2 ล้านรูเบิล (ประมาณ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ใน ค.ศ. 2006 และใน ค.ศ. 2012 ปูตินรายงานรายได้ 3.6 ล้านรูเบิล (ประมาณ 113,000 ดอลลาร์สหรัฐ)[73][74]

เคยมีภาพถ่ายปูตินสวมนาฬิกาข้อมืหรูจำนวนหนึ่ง มูลค่ารวมประมาณ 700,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นรายได้ประมาณ 6 ปี[75][76] บางโอกาสเขามอบนาฬิกามูลค่าหลักพันดอลลาร์สหรัฐให้เป็นของขวัญแก่ชาวนาและคนงานโรงงาน[77]

นักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายค้านของรัสเซียระบุว่า ปูตินเป็นเจ้าของทรัพย์สินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างลับ ๆ[78][79] โดยเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทรัสเซียจำนวนหนึ่ง[80][81] รายงานของ Polygraph.info ตรวจสอบรายงานของนักวิเคราะห์ตะวันตก (1–1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) และรัสเซีย (40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซีไอเอ (40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และข้อโต้แย้งของสื่อรัสเซีย สรุปว่า ทรัพย์สินรวมของปูตินนั้นสรุปแน่ชัดไม่ได้ และการประเมินของผู้อำนวยการข่าวกรองสหรัฐยังไม่สมบูรณ์ แต่จากหลักฐานต่าง ๆ พบว่าสำนักข่าวกรองตะวันตกพบหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินของปูตินบ้างเหมือนกัน[82]

อ้างอิง

  1. Фоменко Виктория, บ.ก. (7 October 2017). "Мастер спорта, полковник запаса, трижды президент: Владимиру Путину – 65" (ภาษารัสเซีย). экспресс газета.
  2. Putin Hails Vote Victory, Opponents Cry Foul RIAN
  3. "Elections in Russia: World Awaits for Putin to Reclaim the Kremlin". The World Reporter. March 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-09. สืบค้นเมื่อ 2012-03-07.
  4. "Putin signs law allowing him to serve 2 more terms as Russia's president". www.cbsnews.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  5. "Putin — already Russia's longest leader since Stalin — signs law that may let him stay in power until 2036". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  6. Krone-Schmalz, Gabriele (2008). "Der Präsident". Was passiert in Russland? (ภาษาเยอรมัน) (4 ed.). München: F.A. Herbig. ISBN 9783776625257.
  7. 7.0 7.1 "Russians weigh Putin's protégé". Moscow. Associated Press. 3 May 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-12-29.
  8. GDP of Russia from 1992 to 2007 International Monetary Fund Retrieved on 12 May 2008
  9. "Putin's Eight Years". Kommersant. 4 May 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-06. สืบค้นเมื่อ 2011-12-31.
  10. Russia’s economy under Vladimir Putin: achievements and failures เก็บถาวร 2013-09-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน RIA Novosti Retrieved on 1 May 2008
  11. Putin’s Economy – Eight Years On. Russia Profile, 15 August 2007. Retrieved on 23 April 2008
  12. "Putin visions new development plans for Russia". China Economic Information Service. สำนักข่าวซินหัว. 2008-05-08.
  13. "RUSSIA AVERAGE MONTHLY ACCRUED WAGES OF EMPLOYEES". Russia's Federal State Statistics Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-20. สืบค้นเมื่อ 2011-12-31.
  14. "Russian Economic Report" (PDF). ธนาคารโลก. November 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-11-12.
  15. 15.0 15.1 "The Putin Paradox". Americanprogress.org. 2004-06-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-13. สืบค้นเมื่อ 2010-03-02.
  16. Rutland, Peter (2005). "Putin's Economic Record". ใน White; Gitelman; Sakwa (บ.ก.). Developments in Russian Politics. Vol. 6. Duke University Press. ISBN 0822335220.
  17. Sharlet, Robert (2005). "In Search of the Rule of Law". ใน White; Gitelman; Sakwa (บ.ก.). Developments in Russian Politics. Vol. 6. Duke University Press. ISBN 0822335220.
  18. Russia, China in Deal On Refinery, Not Gas by Jacob Gronholt-Pedersen. Wall Street Journal, 22 September 2010
  19. Did A New Pipeline Just Make Russia The Most Important Energy Superpower By Far by Graham Winfrey. Business Insider, 6 Jan 2010
  20. Rapoza, Kenneth. "It's Official: Sanctioned Russia Now Recession Free". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  21. "Russia carries out first air strikes in Syria". www.aljazeera.com (ภาษาอังกฤษ).
  22. Fisher, Max (2022-02-24). "Putin's Case for War, Annotated". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2022-10-13.
  23. Treisman, D. "Is Russia's Experiment with Democracy Over?". UCLA International Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-16. สืบค้นเมื่อ 2007-12-31.
  24. "Putin Bolsters Tough Guy Image With Shirtless Photos". Abcnews.go.com. 2009-08-05. สืบค้นเมื่อ 2011-09-25.
  25. "The World's Most Powerful People". Forbes. November 2015. สืบค้นเมื่อ 4 November 2015.
  26. "The odd couple". The Economist. 2008-07-10. สืบค้นเมื่อ 2008-07-13.
  27. Vladimir Putin Visits Taj Mahal, Agra, India, in 1983. สืบค้นเมื่อ 16 September 2016 – โดยทาง YouTube.
  28. Sakwa, Richard (2007). Putin: Russia's Choice (2 ed.). Routledge. ISBN 1134133456.
  29. "Russia President Vladimir Putin's divorce goes through". BBC News. 2 April 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-02. สืบค้นเมื่อ 2 April 2014.
  30. Allen, Cooper (2 April 2014). "Putin divorce finalized, Kremlin says". USA Today.
  31. Ben Judah (7 October 2015). "Ben Judah: The ruthlessness of Vladimir Putin". The New Statesman. {{cite magazine}}: Cite magazine ต้องการ |magazine= (help)
  32. (Sakwa 2007, pp. 8–9) harv error: multiple targets (2×): CITEREFSakwa2007 (help)
  33. 33.0 33.1 Hoffman, David (30 January 2000). "Putin's Career Rooted in Russia's KGB". The Washington Post.
  34. "Vladimir Putin, The Imperialist". นิตยสารไทม์. 10 December 2014. สืบค้นเมื่อ 11 December 2014.
  35. Sakwa, Richard (2007). Putin : Russia's Choice (2nd ed.). Abingdon, Oxon: Routledge. p. 10. ISBN 9780415407656. สืบค้นเมื่อ 11 June 2012.
  36. R. Sakwa Putin: Russia's Choice, pp. 10–11
  37. Remick, David. "Watching the Eclipse". The New Yorker (11 August 2014). สืบค้นเมื่อ 3 August 2014.
  38. "Committee for External Relations of Saint-Petersburg". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-21. สืบค้นเมื่อ 2015-11-24.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  39. "Владимир Путин: от ассистента Собчака до и.о. премьера" (ภาษารัสเซีย). GAZETA.RU.
  40. "Text of Yeltsin's speech in English". BBC News. 9 August 1999. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-18. สืบค้นเมื่อ 31 May 2007.
  41. "Yeltsin's man wins approval". BBC News. 16 August 1999. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  42. Richard Sakwa Putin: Russia's choice, 2008. p. 20.
  43. "Political groups and parties: Unity". Centre for Russian Studies. Norsk Utenrikspolitisk Institutt. 2 July 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2001.
  44. "УКАЗ от 31 декабря 1999 г. № 1763 О ГАРАНТИЯХ ПРЕЗИДЕНТУ РОССИЙСКОЙ ФЕДЕРАЦИИ, ПРЕКРАТИВШЕМУ ИСПОЛНЕНИЕ СВОИХ ПОЛНОМОЧИЙ, И ЧЛЕНАМ ЕГО СЕМЬИ". Rossiyskaya Gazeta. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-02-19. สืบค้นเมื่อ 2016-05-04.
  45. Александр Колесниченко. ""Развращение" первого лица. Госдума не решилась покуситься на неприкосновенность экс-президента". Newizv.ru. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-03. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  46. Ignatius, Adi. Person of the Year 2007: A Tsar Is Born เก็บถาวร 2013-08-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Time, page 4 (19 December 2007). Retrieved 19 November 2009.
  47. 47.0 47.1 "История президентских выборов в России". РИА Новости. สืบค้นเมื่อ 25 November 2015.
  48. 48.0 48.1 Spectre of Kursk haunts Putin, BBC News, 12 August 2001
  49. Putin: Russia's Choice, By Richard Sakwa, (Routledge, 2008) page 143-150
  50. "Putin Is Approved as Prime Minister". The New York Times. 9 May 2008.
  51. 51.0 51.1 "BBC Russian – Россия – Путин очертил "дорожную карту" третьего срока". BBC. สืบค้นเมื่อ 25 November 2015.
  52. Russian election protests – follow live updates, The Guardian. Retrieved 10 December 2011
  53. 53.0 53.1 ""ยุโรป-มะกัน" เห็นต่าง คว่ำบาตรรัสเซียได้ไม่คุ้มเสีย ?". ประชาชาติธุรกิจ. 12 มีนาคม 2557.
  54. "Crimea, Sevastopol officially join Russia as Putin signs final decree". RT. 22 March 2014. สืบค้นเมื่อ 9 April 2014.
  55. "Security Council Fails to Adopt Text Urging Member States Not to Recognize Planned 16 March Referendum in Ukraine's Crimea Region". Un.org. 2 January 2013. สืบค้นเมื่อ 17 March 2014.
  56. "Russia Vetoes U.N. Security Council Resolution On Crimea". NPR. 15 March 2014. สืบค้นเมื่อ 17 March 2014.
  57. "General Assembly Adopts Resolution Calling upon States Not to Recognize Changes in Status of Crimea Region". สหประชาชาติ. 27 March 2014.
  58. “รัสเซีย” ประกาศตัดส่งก๊าซ “ยูเครน” ยุโรปหวั่นขาดแคลนพลังงานด้วย[ลิงก์เสีย] ผู้จัดการ. 16 มิถุนายน 2557
  59. "Clashes between Syrian troops, insurgents intensify in Russian-backed offensive". U.S. News & World Report. 8 October 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 October 2015. สืบค้นเมื่อ 10 October 2015.
  60. Dearden, Lizzie (8 October 2015). "Syrian army general says new ground offensive backed by Russian air strikes will 'eliminate terrorists'". The Independent. สืบค้นเมื่อ 10 October 2015.
  61. "Syria conflict: Russia's Putin orders 'main part' of forces out". BBC World Service. 14 March 2016. สืบค้นเมื่อ 14 March 2016.
  62. "Новости NEWSru.com :: Генштаб ВС РФ объявил о новых авиаударах по террористам в Сирии". สืบค้นเมื่อ 9 April 2016.
  63. Bass, Sadie (5 August 2009). "Putin Bolsters Tough Guy Image With Shirtless Photos, Australian Broadcasting Corporation". ABC News. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  64. 64.0 64.1 64.2 64.3 7 Reasons Vladimir Putin Is the World's Craziest Badass cracked.com
  65. 65.0 65.1 "Putin gone wild: Russia abuzz over pics of shirtless leader". Canadian Broadcasting Corporation. Associated Press. 22 August 2007. สืบค้นเมื่อ 2 March 2010.
  66. Vladimir Putin diving discovery was staged, spokesman admits, The Daily Telegraph. Retrieved 16 March 2012
  67. Путин погрузился с аквалангом на дно Таманского залива tetis.ru
  68. Организаторы сафари для Путина объяснились по поводу "подставы с тигром": "Кому-то что-то показалось" newsru.com
  69. Using crossbow, Putin fires darts at whale MSNBC
  70. "Премьер-гонка: Владимир Путин протестировал болид "Формулы-1"". Rg.ru. 17 March 2012. สืบค้นเมื่อ 7 May 2012.
  71. Wile, Rob (23 January 2017). "Is Vladimir Putin Secretly the Richest Man in the World?". Time Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-11. สืบค้นเมื่อ 19 May 2017.
  72. "Quote.Rbc.Ru :: Аюмй Яюмйр-Оерепаспц – Юйжхх, Ярпсйрспю, Мнбнярх, Тхмюмяш". Quote.ru. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 October 2007. สืบค้นเมื่อ 2 March 2010.
  73. ЦИК зарегистрировал список "ЕР" Rossiyskaya Gazeta N 4504 27 October 2007
  74. ЦИК раскрыл доходы Путина Vzglyad 26 October 2007
  75. Radia, Kirit (8 June 2012). "Putin's Extravagant $700,000 Watch Collection". ABC News. สืบค้นเมื่อ 1 February 2019.
  76. Hanbury, Mary (23 June 2017). "How Vladimir Putin spends his mysterious fortune rumoured to be worth $70 billion". The Independent. สืบค้นเมื่อ 1 February 2019.
  77. Rickett, Oscar (17 September 2013). "Why Does Vladimir Putin Keep Giving His Watches Away to Peasants?". Vice. สืบค้นเมื่อ 1 February 2019.
  78. "Is Vladimir Putin the richest man on earth?". News.com.au. 26 September 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-08. สืบค้นเมื่อ 2020-08-23.
  79. Joyce, Kathleen (29 June 2019). "What is Russian President Vladimir Putin's net worth?". FOXBusiness. สืบค้นเมื่อ 30 June 2019.
  80. Gennadi Timchenko: Russia's most low-profile billionaire Sobesednik No. 10, 7 March 2007
  81. Harding, Luke (21 December 2007). "Putin, the Kremlin power struggle and the $40bn fortune". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 18 August 2008.
  82. William Echols (14 May 2019). "Are 'Putin's Billions' a Myth?". Polygraph.info. สืบค้นเมื่อ 16 May 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า วลาดีมีร์ ปูติน ถัดไป
ดมีตรี เมดเวเดฟ ประธานาธิบดีรัสเซีย
(ครั้งที่สอง: ค.ศ. 2012 - ปัจจุบัน)
อยู่ในวาระ
บอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีรัสเซีย
(ครั้งแรก (สองวาระ): 2000 - 2008)
ดมีตรี เมดเวเดฟ
วิคตอร์ ซุบคอฟ นายกรัฐมนตรีรัสเซีย
(สมัยที่สอง: ค.ศ. 2008 – 2012)
ดมีตรี เมดเวเดฟ
เซียร์เกย์ สเตปาชิน นายกรัฐมนตรีรัสเซีย
(สมัยแรก: ค.ศ. 1999 – 2000)
มีฮาอิล คัสยานอฟ
"คุณ" บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์
(ค.ศ. 2007)
บารัก โอบามา