ปาแลเดอชาโย
ปาแลเดอชาโย | |
---|---|
ทรอกาเดโร (Trocadéro) | |
ทัศนียภาพของปาแลเดอชาโย และฌาร์แด็งดูว์ทรอกาเดโร จากหอไอเฟลในปี 2015 | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | วัง |
สถาปัตยกรรม | ฟื้นฟูคลาสสิก |
เมือง | ปารีส แคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ |
ประเทศ | ประเทศฝรั่งเศส |
พิกัด | 48°51′44″N 2°17′18″E / 48.86222°N 2.28833°E |
เริ่มสร้าง | ค.ศ. 1935 - 1937 |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
สถาปนิก | เลอง อาเซมา (Léon Azéma) ฌัก การ์ลูว์ (Jacques Carlu) หลุยส์-อีปอลิต บัวโล (Louis-Hippolyte Boileau) |
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1980) |
ปาแลเดอชาโย (ฝรั่งเศส: Palais de Chaillot) ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามหอไอเฟลคนละฝั่งของแม่น้ำแซน ในเขตที่ 16 ของปารีส ตั้งอยู่บนที่ตั้งเดิมของ ปาแลดูว์ทรอกาเดโร (Palais du Trocadéro) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกสั้นของสถานที่นี้ว่า ทรอกาเดโร (Trocadéro) อาคารขนาดใหญ่แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้จัดงานนิทรรศการ Exposition Internationale des Arts et Techniques dans la Vie Moderne ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงปารีส ในระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคมถึง 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1937 สร้างในสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูคลาสสิก (Neo-Classic)
อาคารแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1980[1]
อาคารหลังเก่า (ปาแลดูว์ทรอกาเดโร)
[แก้]ในการแสดงนิทรรศการนานาชาติ (Exposition Universelle) ประจำปี ค.ศ. 1878 นั้นได้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่บนเนินเขาชาโย (Colline de Chaillot) โดยใช้ชื่อเดียวกันว่าปาแลดูว์ทรอกาเดโร ซึ่งใช้เป็นสถานที่รองรับการจัดประชุมสำหรับองค์กรนานาชาติต่าง ๆ ในระหว่างงานนิทรรศการ โดยได้สร้างเป็นแบบโรงละครขนาดใหญ่ ประกอบด้วยอาคารขนาดทั้งสองข้าง และหอสูงจำนวนสองแห่ง สร้างในสถาปัตยกรรมผสมผสานแบบตะวันออก (แบบแขกมัวร์) กับสถาปัตยกรรมแบบสำคัญในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของกาบรีแยล ดาวียู (Gabriel Davioud) ภายในโรงละครนั้นเป็นที่ตั้งของออแกนขนาดใหญ่ผลงานของอาริสตีด กาวาเย-กอล (Aristide Cavaillé-Coll) ซึ่งถือเป็นออร์แกนขนาดใหญ่ชุดแรกในประเทศฝรั่งเศสที่ได้ติดตั้งในโรงละคร (ต่อมาออแกนชุดนี้ได้ย้ายมาไว้ที่โรงละครมอริส ราแวล (Auditorium Maurice Ravel) ที่เมืองลียง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 ตราบจนปัจจุบัน) ตัวอาคารในสมัยนั้นไม่ค่อยได้รับความนิยมอันมีสาเหตุมาจากค่าก่อสร้างที่เกินจากงบประมาณ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความล่าช้าในการก่อสร้าง
ภายใต้อาคารนั้นเป็นที่ว่างซึ่งเคยเป็นเหมืองหินในอดีต เคยเป็นที่ตั้งของสวนน้ำ (Aquarium) ซึ่งใช้แสดงพันธุ์ปลาต่าง ๆ จากแม่น้ำในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้ปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1937 และอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1985 จนถึงปี ค.ศ. 2006 ที่ว่างระหว่างตัวอาคารกับแม่น้ำแซนนั้น จัดเป็นสวนสาธารณะ และน้ำพุเรียงรายเป็นแถวสวยงาม ผลงานการออกแบบของฌ็อง-ชาร์ล อาลฟ็อง (Jean-Charles Alphand) ซึ่งยังเห็นได้ดีอยู่ ณ ปัจจุบัน
ในบริเวณสวนนั้น ยังมีรูปปั้นรูปสัตว์ขนาดใหญ่จำนวนสองรูป เป็นรูปช้าง และรูปแรด ซึ่งย้ายมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ออร์แซในระหว่างช่วงการรื้อถอนอาคารหลังเดิม และต่อมาได้ย้ายมาตั้งอยู่บริเวณทางเข้าหลักของพิพิธภัณฑ์ออร์แซตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 เป็นต้นมา
อาคารปัจจุบัน
[แก้]ต่อมาได้มีการรื้อถอนอาคารเดิมขึ้น โดยแทนที่ด้วยอาคารแบบใหม่ ซึ่งจะใช้เปิดตัวในงานการแสดงนิทรรศการนานาชาติประจำปี ค.ศ. 1937 โดยใช้ชื่อใหม่ว่า ปาแลเดอชาโย (Palais de Chaillot) โดยได้สร้างถัดขึ้นไปบนยอดเนินเขาแทน โดยการออกแบบนั้นได้รับการเรียกขานว่าเป็นแบบสมัยใหม่หรืออาร์ต-เดโคยุคปลาย ซึ่งเป็นผลงานออกแบบของเลอง อาเซมา (Léon Azéma), ฌัก การ์ลูว์ (Jacques Carlu) และหลุยส์-อีปอลิต บัวโล (Louis-Hippolyte Boileau) โดยมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับอาคารเดิม คือ มีตัวอาคารยื่นออกเป็นปีกทั้งสองข้าง โดยเป็นลักษณะโค้ง โดยสร้างบนรากฐานของอาคารเดิมทั้งหมด เว้นแต่เพียงว่า ปีกโค้งทั้งสองอาคารนั้นเป็นอาคารแยกกัน โดยไม่มีอาคารเชื่อมตรงกลาง แต่เว้นเป็นลานจัตุรัสเปิดโล่งแทน โดยสามารถเห็นทิวทัศน์ของหอไอเฟลได้จากจัตุรัสทรอกาเดโรผ่านจากลานว่างแห่งนี้ได้เลย
ในปัจจุบันภายในตัวอาคารเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้
- พิพิธภัณฑ์แห่งชาติทางทะเล (Musée national de la Marine)
- พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา (Musée de l'Homme)
- พิพิธภัณฑ์ทางสถาปัตยกรรมแห่งชาติ (Cité de l'Architecture et du Patrimoine) และพิพิธภัณฑ์อนุสาวรีย์แห่งชาติของฝรั่งเศส (Musée national des Monuments)
- โรงละครแห่งชาติแห่งชาโย (Théâtre national de Chaillot) ตั้งอยู่ด้านล่างของลานว่างระหว่างสองอาคาร (esplanade)
บริเวณลานทางเดินแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ยืนถ่ายรูปพร้อมฉากหลังซึ่งเป็นหอไอเฟลในระหว่างการเยี่ยมชมครั้งสั้น ๆ ในปีค.ศ. 1940 ซึ่งต่อมาในภายหลังกลายเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2
นอกจากนี้ ที่แห่งนี้ยังเป็นสถานที่ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ตกลงประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948 ซึ่งได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานเป็นแท่นหิน และบนลานว่างแห่งนี้จึงมีชื่อใหม่ว่า "แอ็สปลานาดเดดรัวเดอลอม" (Esplanade des Droits de l'Homme) และยังเคยเป็นที่ทำการชั่วคราวขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในระหว่างการก่อสร้างที่ทำการถาวรในสมัยนั้น ซึ่งเรียกว่า "Palais de l'OTAN" (ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยปารีส-โดฟีน)
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Notice No. PA00086706 Base Merimee - กระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
บรรณานุกรม
[แก้]- (ฝรั่งเศส) Gabriel Davioud, architecte, 1824-1881, Paris, délégation à l’action artistique de la ville de Paris, 1981.
- (ฝรั่งเศส) Pascal Ory, Les Expositions universelles de 1855 à 1939, Paris, Ramsay, 1982.
- (ฝรั่งเศส) Isabelle Gournay, Le nouveau Trocadéro, Liège/Bruxelles, Mardaga/IFA, 1985, 240 pages, (ISBN 2-87009-211-3).
- (ฝรั่งเศส) Bertrand Lemoine [dir.], Paris 1937. Cinquantenaire de l'Exposition internationale des arts et des techniques de la vie moderne, Paris, Institut français d’architecture/Paris-Musées, 1987.
- (ฝรั่งเศส) Linda Aimone et Carlo Olmo, Les Expositions universelles, 1851-1900, Paris, Belin, 1993.
- (ฝรั่งเศส) Frédéric Seitz, Le Trocadéro : les métamorphose d'une colline de Paris, Paris, Belin, 2005.
- (ฝรั่งเศส) Pascal Ory, Le palais de Chaillot, coll. Les grands témoins de l'architecture, Cité de l’architecture et du patrimoine / Aristéas / Actes Sud, 2006.
- (ฝรั่งเศส) La Cité de l’architecture et du patrimoine / le musée des Monuments français / les Archives nationales, Esprits des lieux : Du Trocadéro au palais de Chaillot, 2011, 140 pages.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]