ปลาค้างคาว (น้ำจืด)
ปลาค้างคาว | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Siluriformes |
วงศ์: | Sisoridae |
วงศ์ย่อย: | Glyptosterninae |
เผ่า: | Glyptosternina |
สกุล: | Oreoglanis Smith, 1933 |
ชนิดต้นแบบ | |
Oreoglanis siamensis Smith, 1933 | |
ชนิด | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลาค้างคาว หรือ ปลาติดหิน (อังกฤษ: Freshwater batfish, Bat catfish) เป็นสกุลของปลาน้ำจืดในชั้นปลากระดูกแข็งสกุลหนึ่ง มีชื่อสกุลว่า Oreoglanis (/ออ-รี-โอ-แกลน-อิส/) [2] ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae)
ลักษณะ
[แก้]มีลักษณะโดยรวมคือ เป็นปลาหนังขนาดเล็ก มีขนาดความยาวลำตัวไม่เกิน 13-15 เซนติเมตร ส่วนหัวและลำตัวแบน ริมฝีปากแผ่กว้างเป็นอวัยวะสำหรับยึดเกาะใช้สำหรับดูดเกาะกับพื้นหินในลำธาร ท่อนหางแบนข้าง หัวค่อนข้างกลม นัยน์ตาเล็ก มีหนวดทั้งหมด 4 คู่ (ระหว่างรูจมูก 1 คู่, ริมฝีปากบน 1 คู่, ริมฝีปากล่าง 1 คู่, คาง 1 คู่) ช่องเหงือกแคบอยู่เหนือครีบอก ครีบไขมันยาว ครีบอกและครีบท้องแผ่ออกด้านข้างลำตัว ครีบหางเว้าเล็กน้อย ที่หน้าอกไม่มีแผ่นหนังใช้เกาะติดเหมือนปลาแค้ในสกุล Glyptothorax กินอาหารจำพวก สัตว์น้ำขนาดเล็กและแมลงน้ำ อาศัยเฉพาะในต้นน้ำลำธารที่มีน้ำไหลเชี่ยว ถือเป็นสัตว์น้ำที่ใช้บ่งชี้คุณภาพของแหล่งน้ำชั้นเยี่ยม เนื่องจากเป็นปลาที่มีความอ่อนไหวมากต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำมาก อีกทั้งยังต้องอาศัยอยู่ในน้ำที่อุณหภูมิต่ำในบริเวณต้นน้ำเท่านั้น คือ บนภูเขาสูง ในระดับที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 700-800 เมตร[2]
ปลาในสกุลนี้ ที่เป็นที่รู้จักดี คือ ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (O. siamensis) ที่พบเฉพาะบนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่เดียวเท่านั้น และยังถือเป็นปลาต้นแบบของปลาในสกุลนี้อีกด้วย
การแพร่กระจายพันธุ์ของปลาค้างคาว พบกระจายทั่วไปในอนุทวีปอินเดีย, จีนทางตอนใต้ และประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เช่น ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำอิระวดี, ลุ่มน้ำโขง, ลุ่มแม่น้ำน่าน เป็นต้น
การจำแนก
[แก้]ปัจจุบัน พบแล้วทั้งหมด 20 ชนิด โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 2005 มีการค้นพบเพิ่มเติมอีกถึง 8 ชนิดด้วยกัน ซึ่งล้วนแต่เป็นปลาที่พบในเขตประเทศไทยทั้งนั้น และได้ถูกตั้งชื่อชนิดเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลในแวดวงการอนุรักษ์ธรรมชาติชาวไทยด้วย ได้แก่ นายสุรพล ดวงแข นักวิชาการสัตว์ป่า, นายสืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าศูษย์รักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมประมงและอดีตอธิบดีกรมป่าไม้[3]
ปลาค้างคาวที่พบในประเทศไทย
[แก้]- ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ Oreoglanis siamensis Smith, 1933
- ปลาค้างคาวภูคา Oreoglanis colurus Vidthayanon, Saenjundaeng & Ng, 2009[4]
- ปลาค้างคาวน้ำยวม Oreoglanis heteropogon Vidthayanon, Saenjundaeng & Ng, 2009[4]
- ปลาค้างคาวน้ำปาย Oreoglanis laciniosus Vidthayanon, Saenjundaeng & Ng, 2009[4]
- ปลาค้างคาวคุณสืบ Oreoglanis nakasathiani Vidthayanon, Saenjundaeng & Ng, 2009[4]
- ปลาค้างคาว อ. สุรพล Oreoglanis sudarai Vidthayanon, Saenjundaeng & Ng, 2009[4]
- ปลาค้างคาวดอยตุง Oreoglanis suraswadii Vidthayanon, Saenjundaeng & Ng, 2009[4]
- ปลาค้างคาวทุ่งช้าง Oreoglanis tenuicauda Vidthayanon, Saenjundaeng & Ng, 2009[4]
- ปลาค้างคาวศิลาเพชร Oreoglanis vicinus Vidthayanon, Saenjundaeng & Ng, 2009[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Linthoingambi, I.; Vishwanath, W. 2011: Oreoglanis majusculus, a new glyptosternine catfish from Arunachal Pradesh, India (Teleostei: Sisoridae). Zootaxa, 2754: 60–66. Preview
- ↑ 2.0 2.1 หน้า 49, สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒ โดย สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์ (พ.ศ. 2547) ISBN 974-00-8738-8
- ↑ [https://web.archive.org/web/20160304130857/http://www.nicaonline.com/webboard/index.php?topic=2445.0 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พบปลาค้างคาวพันธุ์ใหม่ 8 ชนิดจากป่าต้นน้ำภาคเหนือ จากเว็บไซต์กรมประมง]
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 Vidthayanon, C., Saenjundaeng, P., and Ng, H. H. (2009). "Eight new species of the torrent catfish genus Oreoglanis (Teleostei: Sisoridae) from Thailand". Ichthyological Exploration of Freshwaters. 20(2): 127-156. http://www.pfeil-verlag.de/04biol/pdf/ief20_2_04.pdf
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Oreoglanis ที่วิกิสปีชีส์