ข้ามไปเนื้อหา

ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Siluriformes
วงศ์: Sisoridae
สกุล: Oreoglanis
สปีชีส์: O.  siamensis
ชื่อทวินาม
Oreoglanis siamensis
Smith, 1933

ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (อังกฤษ: Siamese freshwater batfish, Siamese bat catfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Oreoglanis siamensis) ปลาน้ำจืดขนาดเล็กในอันดับปลาหนังชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae)

ลักษณะ

[แก้]

มีลักษณะที่แตกต่างไปจากปลาหนังชนิดอื่น ๆ ตรงที่ครีบหลังและครีบอกไม่มีก้านแข็ง ลำตัวเรียวยาว หัวและอกแบนราบ มีหนวด 4 คู่ ปากมีขนาดเล็กอยู่ด้านล่าง ครีบอกและริมฝีปากมีลักษณะคล้ายถ้วยดูด ใช้สำหรับดูดเกาะติดกับกรวดหินในน้ำ ครีบหางปลายมนกลม ครีบอกใหญ่ ครีบก้นมีขนาดเล็ก ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเขียว หลังมีแต้มสีจาง ๆ กินอาหารจำพวก แมลงน้ำและสัตว์น้ำขนาดเล็ก มีพฤติกรรมวางไข่ใต้ก้อนหิน ไข่มีขนาดเล็ก และคอยดูแลไข่

มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร

ที่อยู่

[แก้]

พบได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในโลก ที่ลำธารน้ำไหลแรงบนทิวเขาอินทนนท์ และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะพบที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร

การค้นพบ

[แก้]

ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ ถูกค้นพบและทำการศึกษาโดย ดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ นักมีนวิทยาชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษาพันธุ์สัตว์น้ำในประเทศไทย โดยได้ตัวอย่างมาจากชาวกะเหรี่ยง ที่จับได้จากลำธารบนดอยอ่างกาหรือดอยอินทนนท์ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1928 ต่อมาได้มีการสำรวจพบอีกหลายแห่งตามลำธารที่เป็นสาขาของแม่น้ำปิงในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ถือเป็นชนิดต้นแบบของปลาสกุลนี้ด้วย[2]

ชื่ออื่น

[แก้]

เป็นปลาที่ถูกใช้ทำเป็นอาหารบริโภคของชาวเขาในท้องถิ่น[3] โดยมีชื่อเรียกในภาษาถิ่นว่า "แต๊กหิน" หรือ "แม๊ะหิน" เป็นต้น ปัจจุบันมีสถานะใกล้สูญพันธุ์แล้ว เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและการที่ถูกจับเป็นจำนวนมาก และถือเป็นปลาน้ำจืดคุ้มครองชนิดหนึ่งของกรมประมงร่วมกับปลาชนิดอื่นอีก 3 ชนิด (ปลาตะพัด (Scleropages formosus), ปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher) และ ปลาหมูอารีย์ (Yasuhikotakia sidthimunki))

ปัจจุบันมีความพยายามจากภาครัฐโดย กรมประมง ในการเพาะขยายพันธุ์ ซึ่งจะกระทำได้เฉพาะบนภูเขาสูงเท่านั้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. Kottelat, M. 1996. Oreoglanis siamensis. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 4 August 2007.
  2. หน้า 50, สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒ โดย สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์ (พ.ศ. 2547) ISBN 974-00-8738-8
  3. "www.moohin.com > ปลา > ติดหิน, ค้างคาว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-28. สืบค้นเมื่อ 2010-11-08. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]