ข้ามไปเนื้อหา

นครนิวยอร์ก

พิกัด: 40°42′46″N 74°00′22″W / 40.71278°N 74.00611°W / 40.71278; -74.00611
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นิวยอร์กซิตี้)
นิวยอร์ก

New York
New York City • นครนิวยอร์ก
ธงของนิวยอร์ก
ธง
ตราอย่างเป็นทางการของนิวยอร์ก
ตรา
สมญา: 
แผนที่
แผนที่แบบโต้ตอบแสดงขอบเขตของนครนิวยอร์ก
พิกัด: 40°42′46″N 74°00′22″W / 40.71278°N 74.00611°W / 40.71278; -74.00611[1]
ประเทศ สหรัฐ
รัฐ รัฐนิวยอร์ก
ภูมิภาคแอตแลนติกกลาง
เทศมณฑลตามรัฐธรรมนูญ (โบโรฮ์)บร็องซ์ (เดอะบร็องซ์)
คิงส์ (บรุกลิน)
แมนแฮตตัน
ควีนส์
เกาะสแตเทน
อาณานิคมในประวัติศาสตร์นิวเนเดอร์ลันท์
มณฑลนิวยอร์ก
ก่อตั้งประมาณ ค.ศ. 1624
รวมกับอีก 4 เทศมณฑลค.ศ. 1898
ตั้งชื่อจากเจมส์ ดยุกแห่งยอร์ก
การปกครอง
 • ประเภทนายกเทศมนตรีเข้มแข็ง–สภา
 • องค์กรสภานครนิวยอร์ก
 • นายกเทศมนตรีเอริก อดัมส์ (เดโมแครต)
พื้นที่[2]
 • รวม472.43 ตร.ไมล์ (1,223.59 ตร.กม.)
 • พื้นดิน300.46 ตร.ไมล์ (778.19 ตร.กม.)
 • พื้นน้ำ171.97 ตร.ไมล์ (445.40 ตร.กม.)
ความสูง[3]33 ฟุต (10 เมตร)
ประชากร
 • รวม8,804,190 คน
 • อันดับที่ 1 ในสหรัฐ
ที่ 1 ในรัฐนิวยอร์ก
 • ความหนาแน่น29,302.37 คน/ตร.ไมล์ (11,313.68 คน/ตร.กม.)
 • รวมปริมณฑล[5]20,140,470 คน (อันดับที่ 1) คน
เดมะนิมนิวยอร์กเกอร์ (New Yorker)
เขตเวลาUTC−05:00 (เขตเวลาตะวันออก)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)UTC−04:00 (เวลาออมแสงตะวันออก)
รหัสไปรษณีย์100xx–104xx, 11004–05, 111xx–114xx, 116xx
รหัสพื้นที่212/646/332, 718/347/929, 917
รหัสฟิปส์36-51000
รหัสภูมิประเทศของจีนิส975772
ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี (JFK)
ลากัวร์เดีย (LGA)
เนวาร์กลิเบร์ตี (EWR)
ระบบขนส่งมวลชนเร็วรถไฟใต้ดินนครนิวยอร์ก,
รถไฟเกาะสเตแทน,
พาท
จีดีพี (เฉพาะในนคร, ค.ศ. 2020)8.30 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ[6] (1st)
จีเอ็มพี (ในเขตมหานคร, ค.ศ. 2020)1.67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[7] (1st)
โบโรฮ์ที่ใหญ่ที่สุดเมื่อจำแนกตามพื้นที่ควีนส์ (109 ตารางไมล์ หรือ 280 ตารางกิโลเมตร)
โบโรฮ์ที่ใหญ่ที่สุดเมื่อจำแนกตามประชากรบรุกลิน (2,559,903 คน [สำมะโนประชากร ค.ศ. 2019])[8]
โบโรฮ์ที่ใหญ่ที่สุดเมื่อแจำนกตามจีดีพี (ค.ศ. 2020)แมนแฮตตัน (6.104 แสนล้านดอลลาร์)[6]
เว็บไซต์www.nyc.gov
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนเทพีเสรีภาพ; สถาปัตยกรรมแบบคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของแฟรงก์ ลอยด์ ไวรท์
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์i, ii, vi
ขึ้นเมื่อค.ศ. 1984, ค.ศ. 2019 (คณะกรรมการสมัยที่ 8 และ 43)
เลขอ้างอิง[1]; [2]
ประเทศสหรัฐ
ภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ

นครนิวยอร์ก หรือที่นิยมเรียกกันว่า นิวยอร์กซิตี (อังกฤษ: New York City; NYC) เป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ด้วยประชากรกว่า 8,258,035 คน ในพื้นที่ 300.46 ตารางไมล์ (778.2 ตารางกิโลเมตร) ณ ค.ศ. 2023 ทำให้เป็นเมืองที่มีสัดส่วนประชากรต่อพื้นที่หนาแน่นที่สุดในสหรัฐ โดยมีประชากรมากกว่าเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศอย่างลอสแอนเจลิสถึงสองเท่า นิวยอร์กซิตีตั้งอยู่ทางทิศใต้ของรัฐนิวยอร์กบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ ประกอบด้วย 5 เขตปกครองสำคัญที่เรียกว่าโบโรฮ์ ได้แก่ เดอะบรองซ์ บรูคลิน แมนแฮตตัน ควีนส์ และสแตตัน ไอส์แลนด์[9] พื้นที่ทั้งหมดยังตั้งอยู่บริเวณท่าเรือนิวยอร์กซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือทางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลก

นิวยอร์กซิตีถือเป็นหนึ่งในสี่มหานครเอกของโลก ได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเงิน วัฒนธรรม บันเทิง การศึกษา การท่องเที่ยว อาหาร กีฬา การทูต และการแพทย์ของโลก และยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ในบางครั้งยังได้รับการขนานนามให้เป็นเมืองที่สำคัญที่สุดของโลก และเป็นเมืองหลวงของโลก[10][11][12] เมืองนี้ยังเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของมหานครตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่รู้จักในชื่อ ระเบียงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นเขตมหานครที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐทั้งในด้านประชากรและเขตเมือง ด้วยจำนวนประชากรกว่า 20.1 ล้านคนในพื้นที่ทางสถิติของนครหลวง และ 23.5 ล้านคนในพื้นที่ทางสถิติแบบรวม ณ ค.ศ. 2020 นิวยอร์กซิตีจึงเป็นหนึ่งในมหานครที่มีประชากรมากที่สุดในโลก[13] และยังเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการย้ายถิ่นฐานสู่สหรัฐอเมริกาอย่างถูกกฎหมาย มีภาษามากกว่า 800 ภาษาถูกใช้ในนิวยอร์ก ทำให้เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางภาษามากที่สุดในโลก[14] นิวยอร์กยังมีกฎหมายรองรับในการให้ที่พักอาศัยแก่ประชากรทุกคนที่ต้องการที่พักพิงโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติหรือสถานะการเข้าเมือง โดยข้อมูล ณ ค.ศ. 2016 ระบุว่า มีประชากรกว่า 3.2 ล้านคนซึ่งเกิดนอกสหรัฐอาศัยอยู่ในเมืองนี้ ส่งผลให้นิวยอร์กเป็นเมืองที่มีผู้อพยพและผู้พลัดถิ่นมากที่สุดในโลก

นิวยอร์กเป็นเมืองที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุดในสหรัฐ[15] ด้วยความพลุกพล่าน และแสงสียามค่ำคืนตลอด 24 ชั่วโมง จึงมีคำเปรียบเปรยถึงนิวยอร์กว่าเป็น “นครที่ไม่เคยหลับใหล” ขณะเดียวกันเมืองแห่งนี้ยังมีชื่อเล่นอื่น ๆ เช่น “กอร์ทเทม” (Gotham) และ “บิ๊กแอปเปิล” (Big Apple)[16][17] รถไฟใต้ดินนครนิวยอร์กถือเป็นหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนเร็วที่สำคัญที่สุดของโลก มีสถานีกว่า 472 แห่ง สถานีเพนซิลเวเนียในแมนฮัตตันเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่พลุกพล่านที่สุดในซีกโลกตะวันตก[18]

ชาวดัตซ์ถือเป็นผู้คนกลุ่มแรกที่เข้ามาเริ่มตั้งรกรากใน ค.ศ. 1624 แต่เดิมบริเวณแห่งนี้เคยถูกตั้งชื่อว่านิวอัมสเตอร์ดัม เนื่องจากเป็นนิคมของจักรวรรดิดัตช์ และได้รับการจดทะเบียนให้มีฐานะเป็นเมืองใน ค.ศ. 1653 ต่อมา ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิบริติชใน ค.ศ. 1664 ก่อนจะได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นนิวยอร์กภายหลังจากพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ พระราชทานที่ดินดังกล่าวแก่พระเจ้าเจมส์ที่ 2 พระอนุชาของพระองค์ เมืองนี้ได้กลับไปอยู่ใต้การปกครองโดยชาวดัตซ์อีกครั้งในช่วงสั้น ๆ และเปลี่ยนชื่อเป็นนิวออเรนจ์ ก่อนจะได้รับการตั้งชื่อว่านิวยอร์กอย่างถาวรตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1674 นิวยอร์กเคยเป็นอดีตเมืองหลวงของสหรัฐระหว่าง ค.ศ. 1785–1790[19] และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1790 อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของประเทศ โดยได้รับการส่งผ่านทางเกาะเอลลิสทางเรือในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 และถือเป็นสัญลักษณ์ของอุดมคติแห่งเสรีภาพและสันติภาพ[20]

นิวยอร์กซิตีเป็นที่ตั้งของวอลสตรีต ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจสำคัญทางตอนใต้ของแมนแฮตตัน ได้รับการขนานนามว่าเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก[21] และเมืองที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก[22] และเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกสองแห่งตามมูลค่าราคาตลาดของบริษัทจดทะเบียน ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กและแนสแด็ก[23][24] ใน ค.ศ. 2021 พื้นที่ของมหานครนิวยอร์กได้รับการจัดอันดับให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์รวมของมหานครเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากนครนิวยอร์กมีสถานะเป็นประเทศ เมืองนี้จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสิบของโลก นิวยอร์กเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนทั่วโลก[25] และเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสำหรับชาวต่างชาติสูงที่สุดในโลก (ค.ศ. 2023)[26] นิวยอร์กยังเป็นเมืองที่มีจำนวนมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลก เขตและอนุสาวรีย์หลายแห่งในนิวยอร์กซิตีถือเป็นสถานที่สำคัญของโลก โดยมีสามแห่งได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก (ค.ศ. 2023)[27] มีนักท่องเที่ยวมากถึง 66.6 ล้านคนเดินทางมายังนิวยอร์ก ณ ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ ไทม์สแควร์เป็นศูนย์กลางของเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของถนนบรอดเวย์อันเลื่องชื่อ และยังเป็นหนึ่งในถนนที่พลุกพล่านที่สุดในโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางความบันเทิงของโลก[28] สถานที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ ตึกระฟ้า สนามกีฬา ภัตตาคาร และสวนสาธารณะหลายแห่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญอย่าง ตึกเอ็มไพร์สเตต ได้รับการยกย่องเป็นต้นแบบของการวางรากฐานโครงสร้างอาคารสถาปัตยกรรมสมัยใหม่[29] อสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าและพักอาศัยในนิวยอร์กยังมีราคาสูงที่สุดในโลก[30]

นิวยอร์กเป็นที่ตั้งของสถานศึกษากว่า 120 แห่ง โดยหลายแห่งมีชื่อเสียงระดับโลก นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา นิวยอร์กกลายเป็นศูนย์รวมของเศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ การเป็นผู้ประกอบการระดับโลก และเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม[31][32] เดอะนิวยอร์กไทมส์ หนังสือพิมพ์รายวันเจ้าหลักของประเทศได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ และครองสถิติยอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศมายาวนาน เมืองนี้ยังเป็นศูนย์รวมในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ[33] และเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวของกลุ่มแอลจีบีทีของโลก[34] รวมทั้งเป็นหนึ่งในสถานที่สำหรับการแข่งขันกีฬาและทีมกีฬาระดับโลก อาทิ ทีมบาสเกตบอลนิวยอร์ก นิกส์ และเทนนิสยูเอสโอเพน นิวยอร์กซิตียังเป็นหนึ่งในศูนย์รวมผลงานทางศิลปะของโลก โดยมีหอศิลป์หลายแห่งซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประมูลงานศิลปะกว่าครึ่งหนึ่งของโลก พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ใหญ่ที่สุดและเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก มีชื่อเสียงในการเป็นเจ้าภาพจัดงานแฟชั่นเมตกาลาที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี[35][36]

ประวัติ

[แก้]
จิโอวานี เดอ เวเรซาโน่ ผู้ค้นพบและสำรวจนิวยอร์กเป็นคนแรก ใน ค.ศ. 1524

เดิมทีนิวยอร์กเป็นที่อยู่ของชนอเมริกันพื้นเมืองที่เรียกว่า “เลนาเป” (Lenape) ขณะนั้นมีประชากรประมาณ 5,000 คน ซึ่งอาศัยดินแดนแห่งนี้อยู่นานนับพันปี ก่อนที่จิโอวานี เดอ เวเรซาโน่ (Giovanni da Verrazzano) นักเดินเรือชาวอิตาเลียนจะค้นพบนิวยอร์กใน ค.ศ. 1524[37] โดยได้รับคำบัญชาจากราชวงศ์ฝรั่งเศส และเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า “Nouvelle Angoulême” (New Angoulême ในภาษาอังกฤษ) [38]

แมนแฮตตันส่วนใต้ใน ค.ศ. 1660 ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของนิวอัมสเตอร์ดัม

ค.ศ. 1614 ชาวยุโรปได้เข้ามาตั้งรกรากอย่างจริงจัง โดยเริ่มก่อตั้งชุมชนค้าผ้าขนสัตว์ของชาวดัตช์ และเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า "นิว นีเดอร์แลนด์" (“Nieuw Nederland” ในภาษาดัตช์) เรียกท่าเรือและเมืองในตอนใต้ของเกาะแมนแฮตตันว่า “นิวอัมสเตอร์ดัม” (Nieuw Amsterdam ในภาษาดัตซ์) มี Peter Minuit เป็นผู้ปกครองอาณานิคมนี้ ซึ่งต่อมาเขาได้ซื้อเกาะแมนแฮตตันทั้งหมดจากชนพื้นเมือง ใน ค.ศ. 1626 มูลค่าทั้งหมด 60 กิลเดอร์ (Guilders) หรือประมาณ $1,000 ในปัจจุบัน (ค.ศ. 2006) [39] แต่ต่อมามีข้อพิสูจน์ว่าไม่จริง กล่าวคือ เกาะแมนฮัตตันถูกซื้อไปด้วยลูกปัดที่ทำจากแก้วในราคา $24[40] ก่อนที่อังกฤษจะเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมของตนใน ค.ศ. 1664 และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า "นิวยอร์ก" เพื่อเกียรติให้กับ "ดยุคแห่งยอร์คและอัลแบนี" (English Duke of York and Albany) ขณะนั้นคือสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ[41] ในช่วงปลายสงครามแองโกล-ดัตช์ครั้งที่ 2 ชาวเนเธอร์แลนด์ได้ยึดครองเกาะรัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่มีค่ามากในขณะนั้น แลกกับการให้อังกฤษยึดครองนิวอัมสเตอร์ดัม หรือนิวยอร์กในดินแดนอเมริกาเหนือ ส่งผลให้ต่อมาใน ค.ศ. 1700 ประชากรชาวเลนาเปลดลงเหลือเพียง 200 คน[42]

ภายใต้กฎระเบียบของอังกฤษ นิวยอร์กได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ที่สำคัญอย่างยิ่ง ใน ค.ศ. 1754 มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ได้รับสิทธิจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่ เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ (King's College) ที่แมนแฮตตันตอนใต้ ก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติอเมริกา (American Revolution War) เนื่องจากอาณานิคมทั้งสิบสามที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษต้องการแยกตัวออกเป็นอิสระ และได้ทำการประกาศอิสรภาพในวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 นำโดยจอร์จ วอชิงตัน ผู้บัญชาการกองทัพภาคพื้นทวีปของฝ่ายอาณานิคม (Continental Army) มีการรบกับกองทัพอังกฤษทางตอนเหนือของแมนแฮตตัน และบรูคลิน จนกระทั่งสงครามได้สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1783 โดยชัยชนะเป็นของอดีตอาณานิคม

ภายหลังสงครามยุติลงได้มีการจัดประชุมและประกาศให้นิวยอร์กเป็นเมืองหลวง (จนถึง ค.ศ. 1790[43]) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Constitution) จอร์จ วอชิงตัน ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนแรก และเข้าแถลงต่อสภาคองเกรสใน ค.ศ. 1789 รวมทั้งมีการร่างกฎบัตรว่าด้วยสิทธิของชาวอเมริกัน (United States Bill of Rights) ณ เฟดเดอรัลฮอล (Federal Hall) (ปัจจุบันคืออนุสรณ์สถานแห่งชาติ) ที่วอลล์สตรีท และถือเป็นการเริ่มต้นดินแดนใหม่ที่ถูกเรียกว่า "สหรัฐอเมริกา" ก่อนที่จะแผ่ขยายอาณาเขตของตนเองจาก 13 รัฐไปถึง 50 รัฐกับอีกหนึ่งเขตปกครองกลาง

ใน ค.ศ. 1898 ได้มีการยกระดับฐานะของนิวยอร์กโดยการรวมเอาบรูคลิน เคาน์ตี้ นิวยอร์ก (ซึ่งรวมถึงส่วนของเดอะบรองซ์ด้วย) เคานตี้ ริชมอนด์ และส่วนตะวันตกของเคาน์ตี้ ควีนส์ เป็นหนึ่งเดียวกัน ให้เป็นมหานครนิวยอร์กมาถึงปัจจุบัน

เขตการปกครอง

[แก้]
แผนที่แสดงที่ตั้งของเขตชุมชน 1.แมนแฮตตัน 2.บรูคลิน 3.ควีนส์ 4.เดอะบรองซ์ 5.สแตตัน ไอส์แลนด์

นิวยอร์กประกอบด้วย 5 โบโรฮ์ (Borough) โดยในแต่ละโบโรฮ์ก็จะและแบ่งแยกย่อยออกเป็นอีกหลายเขตชุมชนย่อย (Neighborhoods) โดยที่โบโรฮ์จะขึ้นอยู่กับเทศมณฑล หรือ เคาน์ตี้ (County) โดยเป็นเขตการปกครองของรัฐนิวยอร์ก ศูนย์กลางของมหานครนิวยอร์กคือ แมนแฮตตัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญของทั้งเมือง และถูกล้อมรอบด้วยโบโรฮ์อื่น

  • เดอะบรองซ์ โบโรฮ์ที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของมหานครนิวยอร์ก เป็นที่ตั้งของสนามแยงกี้ สเตเดียม ถิ่นของทีมเบสบอล นิวยอร์ก แยงกี้ ขณะที่สวนสัตว์ในเขตเมืองที่ใหญที่สุดให้สหรัฐอเมริกา อย่าง สวนสัตว์บรองซ์ ก็อยู่ในโบโรฮ์นี้ เดอะบรองซ์ เป็นส่วนเดียวของมหานครนิวยอร์กที่ไม่ได้เป็นเกาะ (เป็นส่วนที่อยู่ติดกับแผ่นดินสหรัฐอเมริกา) และที่นี้ก็ยังเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมดนตรี แร็พ และ ฮิปฮอป ด้วย
  • บรูคลิน เป็นโบโรห์ที่มีประชากรมากที่สุด มีทั้งเขตเขตธุรกิจและเขตที่อยู่อาศัย (นอกจากแมนแฮตตันแล้ว บรูคลินเป็นโบโรห์เดียวที่มีการแบ่งย่านดาวน์ทาวน์ที่ชัดเจน และเป็นเขตธุรกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของนครนิวยอร์ก) ในอดีตบรูคลินมีสถานะเป็นเมืองอิสระไม่ขึ้นอยู่กับการดูแลของเมืองใด จนกระทั่ง ค.ศ. 1898 ได้ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหานครนิวยอร์ก บรูคลินเป็นที่รู้จักทางด้านความหลายหลายทางด้านผู้คน สังคม วัฒนธรรม รวมถึงเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับศิลปะ และเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมยุคเก่าที่ตกทอดมาแต่อดีต โบโรห์นี้ยังมีสถานที่ที่โดดเด่น คือ ชายหาดที่ทอดตัวเป็นแนวยาว และโคนีย์ ไอส์แลนด์ (Coney Island) ที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1870 เป็นหนึ่งในสถานที่พักผ่อนที่น่าสนใจของประเทศนี้
  • แมนแฮตตัน มีลักษณะเป็นเกาะ ตั้งอยู่ในเทศมณฑลนิวยอร์ก มีประชากร 1,564,798 คน เป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกด้าน มีตึกระฟ้าจำนวนมาก เซ็นทรัลพาร์ก พิพิธภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวตั้งอยู่ แมนแฮตตันเป็นบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด และค่าครองชีพสูงสุดในสหรัฐอเมริกา ในแมนแฮตตันจะมีแบ่งย่อยออกเป็นเขตชุมชนย่อยอีกหลายเขต เช่น ดาวน์ทาวน์ มิดทาวน์ อัพทาวน์ เฮลคิทเชน โซโห ฮาเล็ม ไชน่าทาวน์ ลิตเติลอิตาลี ไทบีกา เชลซี
  • ควีนส์ ตั้งอยู่ในเทศมณฑลควีนมีประชากร 2,225,486 คน เป็นเขตที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีพื้นที่มากที่สุดในบรรดา 5 เขต
  • สแตตัน ไอส์แลนด์ ตั้งอยู่ในเทศมณฑลริชมอนด์ มีประชากร 459,737 คน เป็นเกาะที่อยู่แยกออกไปแตกต่างจากเขตอื่น

เศรษฐกิจ

[แก้]
มิดทาวน์แมนแฮตตัน ย่านธุรกิจกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลก[44]
ดาวน์ทาวน์แมนแฮตตัน เป็นที่ตั้งของวอลสตรีต ศูนย์กลางทางการเงินขนาดใหญ่ที่สุดของโลก[45] รวมถึงอาคารวันเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา

นิวยอร์กได้รับการยอมรับเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและการพาณิชย์ระดับโลกซึ่งบางครั้งถูกขนานนามว่า "เมืองหลวงของโลก"[46] มหานครนิวยอร์กเป็นเขตเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์รวมของมหานครกว่า 2.16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐใน ค.ศ. 2022[47][48] เมืองนี้ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางด้านการธนาคารและการเงิน, สุขภาพ, วิทยาศาสตร์, วิจัยและนวัตกรรม, การคมนาคม, การท่องเที่ยว, อสังหาริมทรัพย์, การโฆษณา, การบริการด้านกฎหมาย, การบัญชี, ประกันภัย และศิลปะในสหรัฐอเมริกา[49]

บริษัทระดับโลก (Fortune 500) หลายแห่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก[50] เช่นเดียวกับบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก นิวยอร์กได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านการดึงดูดเงินทุน ธุรกิจ และนักท่องเที่ยว[51][52] บทบาทของนิวยอร์กในฐานะศูนย์กลางชั้นนำระดับโลกด้านอุตสาหกรรมการโฆษณาสะท้อนให้เห็นผ่านเมดิสันอเวนู[53] อุตสาหกรรมแฟชั่นของเมืองมีพนักงานประมาณ 180,000 คน นำไปสู่การจ้างเงินมากถึง 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[54] ในขณะภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยและสถาบันไม่แสวงหากำไร การผลิตลดลงในช่วงศตวรรษที่ 20 ทว่ายังมีอัตราการจ้างงานจำนวนมาก อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและเครื่องนุ่งห่มของเมืองซึ่งในอดีตมีศูนย์กลางอยู่ที่ย่านการ์เมนท์ในแมนฮัตตันขึ้นถึงจุดสูงสุดใน ค.ศ. 1950 ด้วยจำนวนแรงงานมากกว่า 323,000 รายในนิวยอร์ก ในปี 2015 มีการจ้างงานชาวนิวยอร์กน้อยกว่า 23,000 รายในอุตสาหกรรมนี้ แม้ว่ายังมีความพยายามในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมอยู่ตลอด[55] ในปี 2017 เมืองนี้มีบริษัทนายจ้าง 205,592 แห่ง โดย 22.0% ถือกรรมสิทธิ์โดยสตรี ในขณะที่ 31.3% เป็นของ และ 2.7% เป็นของทหารผ่านศึก

ใน ค.ศ. 2022 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของนิวยอร์กซิตีอยู่ที่ 1.053 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนี้ มากกว่า 781 พันล้านดอลลาร์ (74%) ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดเป็นของศูนย์กลางความเจริญอย่างแมนแฮตตัน เช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่น ๆ นิวยอร์กซิตีมีความแตกต่างทางการกระจายรายได้ ตามที่ระบุโดยค่าสัมประสิทธิ์จินีที่ 0.55 ณ ค.ศ. 2022[56] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2023 เมืองนี้มีการจ้างงานรวมกว่า 4.75 ล้านคน ซึ่งกว่าหนึ่งในสี่เป็นงานด้านการศึกษาและบริการด้านสุขภาพ โดยอัตราการจ้างงานในแมนฮัตตันซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของงานทั้งหมดในเมือง มีค่าจ้างรายสัปดาห์เฉลี่ยอยู่ที่ 2,590 ดอลลาร์ในไตรมาสที่สองของปี 2023 ซึ่งสูงเป็นอันดับสี่ในบรรดาเทศมณฑลที่ใหญ่ที่สุดจำนวน 360 แห่งของประเทศ นิวยอร์กยังเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองในสหรัฐอเมริกาที่มีการเรียกเก็บภาษีเงินได้จากผู้อยู่อาศัย[57][58] อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเก็บภาษีดังกล่าว แต่ใน ค.ศ. 2024 นิวยอร์กยังกลายเป็นที่พำนักของมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลกด้วยจำนวน 110 คน[59]

วอลสตรีต

[แก้]
A large flag is stretched over Roman style columns on the front of a large building.
ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ถือเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามมูลค่าราคาตลาด

ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของนิวยอร์กซิตีมีบทบาทในฐานะศูนย์กลางทางการเงินที่ครอบคลุมเศรษฐกิจของประเทศ เป็นที่รู้จักในนามวอลสตรีต ย่าน Lower Manhattan ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของถนน 14th Street เป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกสองแห่งตามมูลค่าราคาตลาดของบริษัทจดทะเบียน ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กและแนสแด็ก ทั้งสองแห่งครองสถานะดังกล่าวโดยวัดทั้งจากปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันโดยรวม และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนในปี 2013[60] ในปีงบประมาณ 2013–14 อุตสาหกรรมหลักทรัพย์ของวอลสตรีตสร้างรายได้กว่า 19% ของรายได้ภาษีรวมในนิวยอร์ก[61]

นิวยอร์กซิตียังมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการซื้อขายหุ้นสาธารณะและตลาดตราสารหนี้[62]: 31–32 [63] นิวยอร์กยังเป็นผู้นำในด้านการจัดการกองทุนบริหารความเสี่ยง การลงทุนภาคเอกชน; และปริมาณการเงินของการควบรวมกิจการ ธนาคารเพื่อการลงทุนและผู้จัดการการลงทุนหลายแห่งซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในแมนฮัตตันล้วนเป็นผู้มีส่วนสำคัญในศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกอื่น ๆ[62]: 34–35  และยังเป็นศูนย์กลางการธนาคารพาณิชย์ที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา[64] แมนฮัตตันมีพื้นที่สำนักงานมากกว่า 500 ล้านตารางฟุต (46.5 ล้านตารางเมตร) ในปี 2018[65] ทำให้นิวยอร์กซิตีมีสถานะเป็นตลาดอาคารสำนักงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก[66][67] โดยมีพื้นที่ 400 ล้านตารางฟุต (37.2 ล้านตารางเมตร) ในปี 2018 รวมทั้งเป็นย่านธุรกิจกลางที่ใหญ่ที่สุดของโลก

เทคโนโลยี

[แก้]
ย่านแฟลตไอรอน เป็นแหล่งกำเนิดของซิลิคอนแวลลีย์ ซึ่งมีบทบาทแรกเริ่มในภาคเทคโนโลยีขั้นสูงของเขตมหานครนิวยอร์ก

นิวยอร์กเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก[68] โดยครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นนามแฝงของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงของภูมิภาคมหานคร[69] แต่ในปัจจุบันไม่มีการใช้ชื่อนี้แล้วเนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีของเมืองได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในด้านสถานที่ตั้งและขอบเขต นับตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจเทคโนโลยีปรากฏในสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้นในแมนฮัตตันและในเขตอื่น โดยไม่มีซิลิคอนเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก[70] ขอบเขตเทคโนโลยีในปัจจุบันของนครนิวยอร์กครอบคลุมแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในระดับสากล[71] รวมถึงอินเทอร์เน็ต, สื่อใหม่, เทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech), คริปโทเคอร์เรนซี, เทคโนโลยีชีวภาพ, การออกแบบเกมส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น ๆ บริษัทสตาร์ทอัพที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและการจ้างงานของผู้ประกอบการกำลังเติบโตในนิวยอร์กซิตีและภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ภาคเทคโนโลยียังอ้างสิทธิ์ในส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจของนิวยอร์กมากขึ้นตั้งแต่ปี 2010[72]

Tech:NYC เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของนิวยอร์กซิตีร่วมกับรัฐบาล สถาบันพลเมือง ในภาคธุรกิจ และในสื่อ โดยมีเป้าหมายหลักคือการขยายฐานผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีที่สำคัญของนิวยอร์ก และเพื่อสนับสนุนนโยบายที่จะดูแลบริษัทเทคโนโลยีให้เติบโตในเมือง[73] ภาคส่วน AI ของนิวยอร์กซิตีระดมทุนได้ 483.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ในปี 2023 นิวยอร์กได้เปิดตัวโครงการริเริ่มที่ครอบคลุมครั้งแรกเพื่อกำหนดกรอบกฎและแชทบอทเพื่อควบคุมการใช้ AI ภายในขอบเขตของเมือง[74]

ภาคเทคโนโลยีชีวภาพกำลังเติบโตในนิวยอร์กซิตี โดยอิงจากจุดแข็งของเมืองในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เชิงวิชาการ และการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐและเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 2011 นายกเทศมนตรี ไมเคิล บลูมเบอร์ก ได้ประกาศเลือกมหาวิทยาลัยคอร์เนล และสถาบันเทคโนโลยี Technion-Israel เพื่อสร้างบัณฑิตวิทยาลัยสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้ชื่อ Cornell Tech บนเกาะรูสเวลต์ โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนนครนิวยอร์กให้กลายเป็นเมืองหลวงด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก[75][76]

อสังหาริมทรัพย์

[แก้]
ฟิฟท์อเวนูในมิดทาวน์แมนแฮตตัน ถนนชอปปิงที่มีราคาแพงที่สุดในโลก[77]

อสังหาริมทรัพย์ในนิวยอร์กซิตี้เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนทั่วโลก[78] มูลค่ารวมของทรัพย์สินทั้งหมดในนิวยอร์กซิตีได้รับการประเมินที่ 1.479 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับปีงบประมาณ 2017 เพิ่มขึ้น 6.1% จากปีก่อนหน้าจากมูลค่าตลาดทั้งหมด โดยบ้านเดี่ยวมีมูลค่า 765 พันล้านดอลลาร์ (51.7%) ในขณะที่คอนโดมิเนียม สหกรณ์ และอาคารอพาร์ตเมนต์มีมูลค่ารวม 351 พันล้านดอลลาร์ (23.7%) และทรัพย์สินเชิงพาณิชย์มีมูลค่า 317 พันล้านดอลลาร์ (21.4%)[79] ฟิฟท์อเวนูเป็นทางสัญจรสายหลักในเขตแมนฮัตตันในนิวยอร์กซิตีมีค่าเช่าร้านค้าปลีกที่สูงที่สุดในโลก โดยอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์ต่อตารางฟุต (22,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตารางเมตร) ในปี 2023[80] นิวยอร์กซิตีเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของเมือง[81][82] ในปี 2023 อพาร์ตเมนต์แบบหนึ่งห้องนอนในแมนฮัตตันมีค่าเช่าเฉลี่ยต่อเดือนที่ 4,443 ดอลลาร์สหรัฐ[83] ด้วยจำนวนยูนิตว่าง 33,000 ยูนิตในปี 2023 ในบรรดาอพาร์ทเมนต์ให้เช่าจำนวน 2.3 ล้านยูนิตของเมือง อัตราว่างอยู่ที่ 1.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1968 และเป็นอัตราที่บ่งบอกถึงการขาดแคลนห้องว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีค่าเช่าต่ำกว่าค่าเช่ารายเดือนที่ 1,650 ดอลลาร์ ซึ่งมียูนิตว่างน้อยกว่า 1%[84] ความต้องการที่อยู่อาศับที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องจากประชากรวัยผู้ใหญ่ และวัยหนุ่มสาวได้ผลักดันให้ค่ามัธยฐานค่าเช่าอพาร์ทเมนต์แบบหนึ่งห้องนอนมีราคาสูงกว่า 4,000 เหรียญสหรัฐ และค่าเช่าแบบสองห้องนอนมีมูลค่ามากกว่า 5,000 ดอลลาร์ซึ่งถือเป็นอัตราขั้นต่ำที่สูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา[85]

การคมนาคม

[แก้]
มหานครนิวยอร์กมีสถานีรถไฟที่สำคัญ 2 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ สถานีแกรนด์เซ็นทรัลเทอร์มินัล (ในภาพ)

ระบบขนส่งสาธารณะของเมืองถือว่ามีความสำคัญอย่างมากกับการเดินทางของชาวนิวยอร์ก โดยคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ใช้ระบบขนส่งในสหรัฐอเมริกา และ 2 ใน 3 ของผู้ใช้การขนส่งระบบรางอาศัยอยู่ในนิวยอร์กและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งนั้นตรงกันข้ามกับวิถีของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ที่ 90% ใช้รถยนต์ส่วนตัวไปทำงาน นิวยอร์กเป็นเพียงเมืองเดียวในสหรัฐอเมริกาที่ประชากรในท้องถิ่นกว่าครึ่งไม่มีรถยนต์ส่วนตัว (โดยเฉพาะในแมนแฮตตัน กว่า 75% ของผู้พักอาศัยไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หรือคิดเป็น 8% ของคนทั้งสหรัฐอเมริกา) และรายงานของสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา (US Census Bureau) พบว่าผู้พักอาศัยในนิวยอร์กจะใช้เวลาเฉลี่ยกับการเดินทางไปทำงานประมาณ 38.4 นาที ต่อวัน ซึ่งนั้นถือเป็นเวลาที่ใช้ในการเดินทางนานที่สุดในกลุ่มเมืองขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา การขนส่งระหว่างเมืองนิวยอร์กให้บริการในระบบรางโดย เอมแทรค (Amtrak) มีสถานีเพนซิลเวเนีย เป็นสถานีหลัก เชื่อมการเดินทางระหว่างนิวยอร์กไปยัง บอสตัน ฟิลาเดลเฟีย และวอชิงตัน ดี.ซี.

รถไฟใต้ดินนครนิวยอร์ก จัดว่าเป็นระบบขนส่งความเร็วสูง (Rapid Transit) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งนับจากสถานีที่มากถึง 468 สถานี และมีผู้ใช้บริการต่อปีมากสุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก (ผู้โดยสารประมาณ 1.5 พันล้านคน ใน ค.ศ. 2006) รถไฟใต้ดินมหานครนิวยอร์กมีจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ การให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ผิดกับรถไฟใต้ดินในเมืองอื่นๆ ที่จะปิดให้บริการในเวลากลางคืน ไม่ว่าจะเป็น ลอนดอน ปารีส วอชิงตัน ดี.ซี. มาดริด โตเกียว หรือ กรุงเทพมหานคร ระบบการคมนาคมในนิวยอร์กจัดได้ว่าสามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุมและซับซ้อน ซึ่งรวมถึงสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในอเมริกาเหนือ อุโมงค์รถยนต์ที่มีความทันสมัยแห่งแรกของโลก แท็กซี่เยลโล่ แคป (Yellow Cabs) มากกว่า 12,000 คัน กระเช้าไฟฟ้า (Aerial Tramway) ที่ให้บริการระหว่าง รูสเวลท์ ไอส์แลนด์ (Roosevelt Island) และแมนแฮตตัน และเรือเฟอร์รี่ที่เชื่อมระหว่างแมนแฮตตันกับพื้นที่อื่นๆ นอกเมือง โดยมีสแตนตัน ไอส์แลนด์ เฟอร์รี่ ซึ่งถือเป็นเรือเฟอร์รี่ที่มีผู้ใช้บริการมากถึง 19 ล้านคนต่อปี ให้บริการในระยะทาง 5.2 ไมล์ (8.4 กิโลเมตร) ระหว่างสแตนตัน ไอส์แลนด์ และแมนแฮตตันตอนใต้ รถโดยสารประจำทาง และโครงข่ายระบบรางของนิวยอร์ก ถือได้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ โครงข่ายระบบรางจะเชื่อมกับพื้นที่ชานเมืองของรัฐที่อยู่ใกล้เคียง 3 รัฐ (Tri-state Region) ประกอบไปด้วยพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐนิวยอร์ก (รวมโบโรห์ทั้ง 5 ของนครนิวยอร์กด้วย) พื้นที่ตอนเหนือของรัฐนิวเจอร์ซีย์ และพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐคอนเนทิคัต โดยมีสถานีมากกว่า 250 แห่ง ใน 20 เส้นทาง สถานีหลักคือแกรนด์เซ็นทรัลเทอร์มินัล และสถานีเพนซิลเวเนีย

ระบบรถโดยสารประจำทาง และระบบรถไฟในนิวยอร์กนั้นจะเป็นส่วนเดียวกัน ตั๋วรถไฟและตั๋วรถประจำทางสามารถใช้ร่วมกันได้ โดยรถไฟจะวิ่งในแนวเหนือใต้ ขณะที่รถโดยสารประจำทางส่วนใหญ่จะวิ่งในแนวตะวันออกตะวันตก

อาคารสายการบินทีดับเบิลยูเอ (The TWA Flight Center) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี จัดว่าเป็นอาคารผู้โดยสารที่ได้ชื่อว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่นแห่งหนึ่งของโลก

นิวยอร์กยังติดอันดับเมืองที่มีการขนส่งทางอากาศมากที่สุด ผู้มาเยือนส่วนใหญ่จะใช้นิวยอร์กเป็นประตูเข้าสู่สหรัฐอเมริกา ในพื้นที่ของเมืองมีท่าอากาศยานที่สำคัญอยู่ถึง 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี (JFK) ท่าอากาศยานนานาชาตินูอาร์ก ลิเบอร์ตี (EWR) และท่าอากาศยานลากวาเดีย (LGA) นอกนั้นยังมีแผนที่จะสร้างท่าอากาศยานแห่งที่ 4 คือ ท่าอากาศยานนานาชาติสจ๊วต (SWF) ใกล้กับเมืองนิวเบิร์ก รัฐนิวยอร์ก ภายใต้ความรับผิดชอบของการท่าแห่งนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ (Port Authority of New York and New Jersey) เพื่อที่จะรองรับกับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ใน ค.ศ. 2005 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 100 ล้านคน ที่ใช้ท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งในการเดินทาง การจราจรทางอากาศในนิวยอร์กถือว่ามีความหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

การเดินทางด้วยจักรยานก็ยังมีให้เห็นในนิวยอร์ก มีผู้ใช้จักรยานประมาณ 120,000 คนต่อวัน และยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่อาศัยการเดินเท้า การเดินและการใช้จักรยานในการเดินทางมีอัตราอยู่ประมาณ 21% จากแต่ละวิธีในการเดินทางในเมือง

อีกองค์ประกอบของระบบคมนาคมขนส่งในนิวยอร์ก ก็คือ ทางด่วน (Expressways) และทางธรรมดา (Parkways) ที่มีโครงข่ายที่ครอบคลุม เชื่อมต่อนิวยอร์กไปยังตอนเหนือของรัฐนิวเจอร์ซีย์ เวสต์เชสเตอร์ เคาน์ตี้ ลองไอแลนด์ และตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐคอนเนทิคัต โดยผ่านทั้งสะพาน และอุโมงค์ใต้น้ำ (ค่าผ่านทางประมาณ $7-$15 ต่อรอบ) เส้นทางดังกล่าวได้ให้ความสะดวกกับการเดินทางสู่นิวยอร์กสำหรับผู้ที่พักอาศัยอยู่ในแถบชานเมือง แต่ในบางครั้งก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน สะพานจอร์จ วอชิงตัน หนึ่งในเส้นทางเชื่อมต่อ ก็เป็นสะพานแห่งหนึ่งของโลกที่มีการจราจรที่คับคั่งที่สุด

ผังเมือง

[แก้]

ระบบคมนาคมขนส่งและถนนในนิวยอร์ก เป็นระบบที่มีคุณภาพและเป็นหน้าตาของเมือง เป็นผลมาจากรูปแบบการวางผังเมืองด้วยโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพ ผังเมืองในแมนแฮตตันถูกออกแบบมาในลักษณะแนวสี่เหลี่ยมตัดกัน (Grid Plan) เมื่อมองจากทางอากาศจะเห็นถนนวางตัวหลักเป็นแนวสี่เหลี่ยมอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยจะมีระบบชื่อเรียกถนนว่า “สตรีท” และ “อเวนิว” ถนนที่วิ่งแนวตะวันออก-ตะวันตก จะใช้ชื่อว่า “สตรีต” และตัวเลขของถนนจะนับจากทิศใต้เพิ่มขึ้นเรื่อย ในขณะเดียวกันถนนที่วิ่งแนวเหนือ-ใต้ จะใช้ชื่อว่า “อเวนิว” ซึ่งตัวเลขถนนจะเริ่มต้นจากทิศตะวันออกจากแม่น้ำอีสต์ไปสู่ทิศตะวันตกจบที่แม่น้ำฮัดสัน การวางผังเมืองในรูปแบบนี้ทำให้สะดวกต่อการค้นหาสถานที่ โดยการบอกตำแหน่งของอาคารหรือสำนักงานส่วนใหญ่ จะบอกเป็นชื่อของถนนสองเส้นที่ตัดกัน เช่น ตึกเอมไพร์สเตต ตั้งอยู่ที่อเวนิว 5 (5th Avenue) ตัดกับสตรีต 34 (34th Street) ซึ่งถ้าต้องการเดินทางจากไทม์สแควร์ (สตรีต 42 ตัดกับ อเวนิว 7) จะทำให้ทราบได้เลยว่าต้องเดินทางไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือจึงจะถึงเอมไพร์สเตต

นอกจากนั้นแล้วชื่อของถนน (สตรีท และ อเวนิว) บางแห่งยังมีชื่อเรียกเฉพาะ อย่างเช่น บรอดเวย์ (ภาพยนตร์) วอลล์สตรีท (การเงิน) และเมดิสันสแควร์ อเวนิว (การโฆษณาองค์กร) ตามแต่ลักษณะของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ตั้งอยู่นั้นย่านนั้น สำหรับผังเมืองในโบโรห์อื่นก็ถูกออกแบบมาในลักษณะแนวสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกับในแมนแฮตตัน แต่การวางแนวถนนโดยแบ่งเป็นเหนือใต้ หรือตะวันออกตะวันตกจะไม่แน่นอน

สถานที่ท่องเที่ยว

[แก้]
ภาพวิวของนครนิวยอร์ก สถานที่สำคัญ ประกอบด้วยเทพีเสรีภาพ ตึกเอ็มไพร์สเตท และตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ก่อนเหตุการณ์ 9/11

นิวยอร์กมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเกาะแมนแฮตตัน นักท่องเที่ยวมักจะแวะตามที่สถานที่เที่ยวที่มีชื่อเสียงได้แก่ ตึกเอมไพร์เสตต ตึกไครสเลอร์ ไทม์สแควร์ เทพีเสรีภาพ วอลล์สตรีต สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ โบสถ์เซนต์แพทริก สะพานบรูคลิน เรือบรรทุกเครื่องบินอินทรีพิด เซ็นทรัลปาร์ค

แหล่งชอปปิ้งมากมายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้แก่ บริเวณ ฟิฟท์อเวนูสำหรับของมียี่ห้อและเครื่องประดับ ห้างสรรพสินค้าเมซีส์ (Macy's) ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ เฮอรัลด์สแควร์ที่มีขายของหลายระดับ กรีนวิชวิลเลจมีของขายเกี่ยวกับซีดีเพลงและหนังสือ อีสต์วิลเลจสำหรับขายของที่น่าสนใจ ถนน 47th ช่วงระหว่าง ฟิฟท์อเวนู และซิกซ์อเวนู ขายเครื่องประดับและอัญมนี โซโหแหล่งชอปปิ้งเสื้อผ้าชั้นนำต่างๆ เชลซีสำหรับการซื้อขายงานศิลป์ นอกจากในเขตแมนแฮตตันยังมีบริเวณดาวน์ทาวน์บรูคลิน และบริเวณควีนส์บูเลอวาร์ดในควีนส์ สำหรับแหล่งชอปปิ้งอื่น ๆ

ในช่วงวันสิ้นปี บริเวณไทมส์แสควร์จะมีผู้คนหลายแสนคนไปรวมกันเพื่อไปเคานต์ดาวน์ ต้อนรับงานปีใหม่ และในช่วงวันขอบคุณพระเจ้า ทางห้างเมซีส์ จัดขบวนพาเหรดทุกปี บริเวณถนนบอร์ดเวย์

พิพิธภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักในนิวยอร์กได้แก่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตัน (เดอะเม็ต) Museum of Modern Art (โมมา) และ American Museum of Natural History

สวนสาธารณะ

[แก้]
เซ็นทรัลพาร์ก ค.ศ. 1980 สวนสาธารณะใจกลางนครนิวยอร์ก

นิวยอร์กมีพื้นที่กว่า 113 กม² (28,000 เอเคอร์) ที่มีบริเวณเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่มีต้นไม้ขึ้นเป็นกลุ่มๆ และชายหาดความยาวถึง 22 กิโลเมตร (14 ไมล์) พื้นที่หลายหมื่นเอเคอร์ดังกล่าวเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวนิวยอร์ก และยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุทยานแห่งชาติด้วย สำหรับสวนสาธารณะนั้น นิวยอร์กมีสวนสาธารณะกว่า 1,700 แห่ง ทั้งเล็กใหญ่กระจายไปในตัวเมือง ซึ่งที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็ คือ เซ็นทรัลพาร์ก ในแมนแฮตตัน สวนแห่งนี้ถูกออกแบบโดย Frederick Law Olmsted และ Calvert Vaux มีผู้เข้าเยี่ยมชมกว่า 30 ล้านคนต่อปี ถือเป็นสวนสาธารณะที่มีผู้คนเข้าเยี่ยมชมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา (อันดับที่ 2 คือ ลินคอล์นพาร์ก ในชิคาโก) นอกจากนั้น Olmsted และ Vaux ยังเป็นผู้ออกแบบ โพรสเปคพาร์ก ในบรูคลินอีกด้วย ขณะที่ฟลัชชิ่ง เมลโด โคโรน่าพาร์ก ที่ควีนส์ ก็เคยถูกใช้ในการจัดงานเวิลด์แฟร์ ใน ค.ศ. 1939 และ ค.ศ. 1964 มาแล้ว

ประชากร

[แก้]

การศึกษา

[แก้]

นิวยอร์กซิตีมีระบบการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดเทียบกับเมืองอื่น ๆ[86] โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาของเมืองครอบคลุมการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา การศึกษาระดับอุดมศึกษา และการวิจัย ระบบโรงเรียนรัฐบาลในนครนิวยอร์กบริหารจัดการโดยกรมสามัญศึกษาแห่งนครนิวยอร์ก เป็นระบบโรงเรียนรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ให้บริการนักเรียนประมาณ 1.1 ล้านคนในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาแยกกันโดยประมาณ 1,800 แห่ง รวมถึงโรงเรียนกฏบัตร ณ ปี 2017–2018 มีโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนศาสนาอีกประมาณ 900 แห่งที่ดำเนินการโดยเอกชน[87]

หอสมุดประชาชนนิวยอร์ก มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา (และอันดับ 3 ของโลก) รองจากหอสมุดรัฐสภา มีคอลเลกชันระบบห้องสมุดสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา[88] เมืองนี้มีจำนวนนักเรียนและนักศึกษามากกว่าหนึ่งล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดมากกว่าเมืองใด ๆ ในสหรัฐอเมริกา ได้ลงทะเบียนเรียนในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามากกว่า 120 แห่งโดยมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในระบบของ City University of New York (CUNY) เพียงแห่งเดียวในปี 2020 นอกจากนี้ ตามการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกในด้านวิชาการหรือที่เรียกว่าการจัดอันดับเซี่ยงไฮ้พบว่า นิวยอร์กซิตีมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ดีที่สุดของโลก[89]

วัฒนธรรม

[แก้]

นิวยอร์กซิตีเป็นสถานที่สำคัญสำหรับนวนิยาย ภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ และได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมของโลก[90][91][92][93] เมืองนี้เป็นแหล่งกำเนิดของการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมมากมาย รวมถึงฮาร์เล็มเรอเนซองส์ในวรรณคดีและทัศนศิลป์[94] และลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม และฮิปฮอป[95][96] รวมถึงพังก์ร็อก[97], ฮาร์ดคอร์พังก์[98], ซัลซา และแจ๊ส[99] และ (ร่วมกับฟิลาเดลเฟีย) ดิสโก นิวยอร์กซิตีถือเป็นเมืองหลวงแห่งการเต้นรำของโลก[100]

เมืองนี้มีจุดเด่นในวิถีชีวิตอันเร่งรีบ และผู้อยู่อาศัยในนิวยอร์กซิตีเป็นที่รู้จักอย่างโดดเด่นในด้านความสามารถในการฟื้นตัวจากอดีต และล่าสุดเกี่ยวข้องกับการจัดการกับผลกระทบของวินาศกรรม 11 กันยายน และการระบาดทั่วของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019[101][102][103][104][105] นิวยอร์กได้รับการโหวตให้เป็นเมืองที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุดในโลกในปี 2021 และ 2022 ตามการสำรวจชาวเมืองทั่วโลกของ Time Out[106]

โรงละครและโรงภาพยนตร์

[แก้]

ศูนย์กลางด้านความบันเทิง โรงละครและภาพยนตร์นั้นตั้งอยู่ในแในแฮตตัน ละครบรอดเวย์เป็นที่รู้จักทั่วโลก[107] นิวยอร์กยังเป็นถิ่นพำนักของนักแสดงระดับโลกจำนวนมาก[108] โรงละครบรอดเวย์เป็นหนึ่งในรูปแบบชั้นนำของโรงละครที่ใช้ภาษาอังกฤษของโลก ตั้งชื่อตามบรอดเวย์ ซึ่งเป็นทางสัญจรหลักที่ตัดผ่านไทม์สแควร์[109] บางครั้งได้รับการเรียกขานว่า "Great White Way"[110][111][112] โรงละครกว่า 41 แห่งซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในย่านโรงละครของมิดทาวน์แมนฮัตตัน แต่ละแห่งมีที่นั่งอย่างน้อย 500 ที่นั่งจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรงละครบรอดเวย์[113] ละครบรอดเวย์ในปี 2018–19 สร้างสถิติใหม่ด้วยจำนวนผู้เข้าชม 14.8 ล้านคน และสร้างรายได้รวม 1.83 พันล้านดอลลาร์[114] ภายหลังจากฟื้นตัวจากการปิดกิจการเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ในปี 2022–23 เพิ่มขึ้นเป็น 1.58 พันล้านดอลลาร์ โดยมีผู้เข้าชมทั้งหมด 12.3 ล้านคน[115][116] รางวัลโทนีซึ่งเป็นการมอบรางวัลให้กับศิลปะการแสดงละครเวที ละครบรอดเวย์ของชาวอเมริกัน เป็นพิธีประจำปีที่จัดขึ้นในแมนฮัตตัน[117]

อาหาร

[แก้]
เบเกิลสไตล์นิวยอร์กทานคู่กับล็อกซ์

วัฒนธรรมอาหารของนิวยอร์กซิตีประกอบด้วยอาหารนานาชาติมากมายที่ได้รับอิทธิพลจากประวัติศาสตร์ผู้อพยพมายาวนานของเมือง ซึ่งประกอบด้วยผู้อพยพจากยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก รวมถึงชาวยิวอเมริกันจำนวนมาก ผู้คนจากภูมิภาคเหล่านั้น ได้นำเบเกิล, ชีสเค้ก, ฮอทดอก, อาหารประเภทเนื้อ และอาหารสำเร็จรูปสไตล์นิวยอร์กมาเผยแพร่ในเมือง ในขณะที่ผู้อพยพชาวอิตาลีนำพิซซาสไตล์นิวยอร์กและอาหารอิตาเลียนเข้ามาในเมือง และผู้อพยพชาวยิวและผู้อพยพชาวไอริชเป็นผู้นำพาสตาเข้ามา[118] อาหารเอเชียอย่างอาหารจีนและอาหารตะวันออกพบเห็นได้ทั่วไปจากการตั่งถิ่นฐานโดยชาวเอเชียตลอดหลายศตวรรษ ในขณะที่ร้านแซนด์วิช ร้านอาหารอิตาลี และร้านกาแฟมีอยู่ทั่วไปทั่วเมือง ผู้จำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ราว 4,000 รายได้รับใบอนุญาตจากเมืองนี้ ซึ่งมีผู้อพยพจำนวนมากเป็นเจ้าของ ได้ปรุงอาหารจากตะวันออกกลาง เช่น ฟาลาเฟลและเคบับซึ่งได้รับความนิยม[119] ซึ่งกลายเป็นอาหารข้างถนนที่ได้รับความนิยม

เมืองนี้เป็นที่ตั้งของ "ร้านอาหารชั้นสูงที่ดีที่สุดและมีความหลากหลายมากที่สุดในโลกเกือบหนึ่งพันร้าน" ตามข้อมูลของมิชลิน ในปี 2019 มีร้านอาหาร 27,043 แห่งในเมือง เพิ่มขึ้นจาก 24,865 ในปี 2017[120] ตลาดกลางคืนอย่าง Queens ใน Flushing Meadows–Corona Park ดึงดูดผู้คนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนทุกคืนให้ลิ้มลองอาหารจากกว่า 85 ประเทศ

แฟชั่น

[แก้]
การสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายแนวโอตกูตูร์ในสัปดาห์แฟชั่นนิวยอร์ก

นครนิวยอร์กเป็นหนึ่งในสถานที่ชั้นนำของวงการแฟชั่นโลก และนำไปสู่การแจ้งงานกว่า 4.6% ในเมือง[121] สัปดาห์แฟชั่นนิวยอร์ก เป็นงานแสดงครึ่งปีที่มีชื่อเสียงสูง โดยมีนางแบบจำนวนมากมาแสดงเสื้อผ้าที่สร้างสรรค์โดยนักออกแบบแฟชั่นทั่วโลก ก่อนที่แฟชั่นเหล่านี้จะเข้าสู่ตลาดผู้บริโภค[122] มีบทบาทในการเป็นผู้กำหนดแนวทางให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลก[123] ย่านแฟชั่นของนิวยอร์กครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30 ช่วงตึกในมิดทาวน์แมนแฮตตัน[124] งานสำคัญประจำปีอย่างงานแฟชั่นเมตกาลา มักถูกมองว่าเป็น "ค่ำคืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแฟชั่น"

กีฬา

[แก้]
สนามแยงกีส์ สเตเดียม สนามเหย้าของทีมนิวยอร์ก แยงกีส์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1923 จนถึงปัจจุบัน

นิวยอร์กมีทีมกีฬาซึ่งเล่นอยู่ในลีกอาชีพของอเมริกาเหนือถึง 5 ลีก

  • เบสบอล - เมเจอร์ลีกเบสบอล : นิวยอร์กเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองของสหรัฐอเมริกาที่กีฬาเบสบอลดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากกว่าอเมริกันฟุตบอล ทีมเบสบอลของนิวยอร์กมีอยู่ 2 ทีม ที่เล่นอยู่ในเมเจอร์ลีกเบสบอล (Major League Baseball หรือ MLB) คือ นิวยอร์ก แยงกีส์ และนิวยอร์ก เม็ตส์ (นิวยอร์กเป็นหนึ่งใน 5 เมืองใหญ่นอกเหนือจาก ชิคาโก วอชิงตัน บอลทิมอร์ ลอสแอนเจลิส และซานฟรานซิสโกเบย์ที่มีทีมเบสบอลอาชีพถึง 2 ทีมที่เล่นอยู่ในลีกสูงสุด) โดยที่แยงกีส์และเม็ตส์จะได้พบกัน 6 ครั้งในแต่ละฤดูกาล นิวยอร์ก แยงกีส์ เคยได้แชมป์เวิลด์ซีรีส์ มาแล้วถึง 26 ครั้ง และเป็นทีมที่คว้าแชมป์รายการนี้มากที่สุดอีกด้วย ขณะที่นิวยอร์ก เม็ตส์ เคยได้แชมป์ในรายการนี้ 2 ครั้ง นิวยอร์กยังเคยเป็นถิ่นของทีมนิวยอร์ก ไจแอนส์ (ปัจจุบันคือ ซานฟรานซิสโก ไจแอนส์) และบรูคลิน ดอร์จเจอร์ (ปัจจุบันคือ ลอสแอนเจลิส ดอร์จเจอร์) ก่อนที่ทั้ง 2 ทีมจะย้ายไปยังแคลิฟอร์เนีย ใน ค.ศ. 1958 นอกจากนั้นแล้วเมืองนี้ยังมีทีมเบสบอลอีก 2 ทีมที่เล่นอยู่ในไมเนอร์ลีกเบสบอล (Minor League Baseball) ด้วย คือ สแตตัน ไอส์แลนด์ แยงกีส์ และบรูคลิน ไซโคลน
  • อเมริกันฟุตบอล - เอ็นเอฟแอล : อเมริกันฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ตัวแทนเข้าไปแข่งขันในลีกอเมริกันฟุตบอล (National Football League หรือ NFL) ของนิวยอร์กมีอยู่ด้วยกัน 2 ทีม คือ นิวยอร์ก เจ็ตส์ และนิวยอร์ก ไจแอนส์ (ชื่อเป็นทางการคือ นิวยอร์ก ฟุตบอล ไจแอนส์ ) โดยใช้สนามไจแอนส์ สเตเดียม ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ เป็นสนามเหย้าของทั้ง 2 ทีม
  • ฮอกกี้ - เอ็นเฮชแอล : อีกหนึ่งชนิดกีฬาที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันอย่างฮอกกี้ ทีมนิวยอร์ก เรนเจอร์ เป็นตัวแทนของเมืองที่เข้าร่วมแข่งขันในลีกฮอกกี้อาชีพ (National Hockey League หรือ NHL) กับอีก 2 ทีมคือ นิวเจอร์ซีย์ เดวิล และนิวยอร์ก ไอแลนเดอร์ ที่เล่นอยู่ในลองไอแลนด์
  • ฟุตบอล - เมเจอร์ลีกซอกเกอร์ : ทางด้านกีฬาฟุตบอล มีทีมเรด บูลล์ นิวยอร์ก เข้าร่วมในเมเจอร์ลีกซอกเกอร์ (Major League Soccer หรือ MLS) และใช้สนามไจแอนส์ สเตเดียม ในนิวเจอร์ซีย์เป็นสนามเหย้า
  • บาสเกตบอล - เอ็นบีเอ : บาสเกตบอลมี ทีมนิวยอร์ก นิกส์ ที่เล่นอยู่ในลีกบาสเกตบอลอาชีพ (National Basketball Association หรือ NBA) และทีมบาสเกตบอลหญิง นิวยอร์ก ลิเบอร์ตี ที่เล่นอยู่ในลีกบาสเกตบอลหญิงอาชีพ (WNBA) นิวยอร์กกับบาสเกตบอลมีจุดที่น่าสนใจอยู่ที่สนาม แต่สนามบาสเกตบอลที่สำคัญที่สุดในเมืองนี้ไม่ใช่สนามที่ทันสมัย หรือสนามที่ใหญ่โต แต่เป็นลานบาสเกตบอลที่มีชื่อว่า รัคเคอร์ พาร์ก (Rucker Park) ในเขตชุมชนฮาเล็ม โบโรห์แมนแฮตตัน นักกีฬาที่ได้ก้าวไปสู่การเล่นในระดับอาชีพหลายคน เคยใช้ลานแห่งนี้ในการฝึกฝนทักษะมาแล้ว ซึ่งก็รวมทั้งนักกีฬาบาสเกตบอลที่ได้ก้าวไปสู่การเล่นในเอ็นบีเอด้วย และรัคเคอร์ พาร์ก ยังเป็นสนามให้ผู้เล่นได้เลือกใช้เป็นลานประลองกันในเกม NBA Ballers, NBA Street, NBA Street Vol.2, NBA Street V3, NBA 2K7 และ NBA 2K8

ทางด้านของการแข่งขันระดับโลก นครนิวยอร์กก็มีชื่อเสียงในรายการแข่งขันที่สำคัญหลายรายการ เช่น

เทนนิสยูเอสโอเพน (ที่โบโรห์ ควีนส์) หนึ่งในแกรนด์สแลมรายการใหญ่ที่สุด 4 รายการของโลก และเป็นการแข่งขันรายการสุดท้ายของปี
  • เทนนิสยูเอสโอเพน หนึ่งในรายการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม รายการใหญ่ที่สุด 4 รายการของโลก จัดขึ้นที่โบโรห์ ควีนส์
  • นิวยอร์ก ซิตี้ มาราทอน การแข่งขันวิ่งมาราทอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในช่วง ค.ศ. 2004-2006 รายการนี้ติด 1 ใน 3 ของการแข่งขันวิ่งมาราทอนที่มีผู้สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยมากที่สุด รวมกับผู้ที่วิ่งเข้าเส้นชัยถึง 37,866 คนใน ค.ศ. 2006
  • มิลล์โรส์ เกม เป็นการแข่งขันกีฬาประเภทลู่และลาน (Track and Field) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
  • มวยสมัครเล่นโกลด์เด้น โกลฟ์ การแข่งขันมวยเองก็เป็นอีกหนึ่งกีฬาที่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองแห่งนี้ ในแต่ปีจะมีการแข่งขันรายการมวยสมัครเล่นโกลด์เด้น โกลฟ์ (Amateur Boxing Golden Gloves) ที่ เมดิสัน สแควร์ การ์เดน

ยังมีกีฬาอีกมากมายที่มีความเกี่ยวข้องกับนิวยอร์กซึ่งมาจากกลุ่มผู้เข้ามาตั้งรกรากในเมืองแห่งนี้ สติ๊กบอล (Stickball) เป็นเบสบอลในรูปแบบของสตรีทเกม จัดว่าเป็นกีฬาที่นิยมในเขตชุมชนอิตาเลียน เยอรมัน และไอริช ในปี 1930 ซึ่งสติ๊กบอล ก็ยังคงได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน ถึงขนาดว่าถนนแห่งหนึ่งในเดอะบอรงซ์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสติ๊กบอล บูเลอวาร์ด (Stickball Blvd.) และทำให้นิวยอร์กถูกเปรียบว่าเป็นเมืองที่มีกีฬาในรูปสตรีทเกมที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ก็มีการนำเอาลีกคริกเกตสมัครเล่นเข้ามาในนิวยอร์ก จากผู้ที่ย้ายถิ่นมาจากเอเชียใต้ และแถบแคริเบียน กีฬาประเภทสตรีทฮอกกี้ สตรีทฟุตบอล และสตรีทเบสบอล เป็นกีฬาที่จะเห็นคนทั่วไปเล่นกันบนท้องถนนของนิวยอร์ก ทำให้บ่อยครั้งที่เมืองนี้จะถูกเรียกว่า “เมืองสนามเด็กเล่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก” กีฬาในรูปสตรีทเกมเป็นกีฬาที่เข้าใจวิธีการเล่นได้ง่าย และทุกเพศทุกวัยสามารถที่จะเล่นได้

อ้างอิง

[แก้]
  1. "US Gazetteer files: 2010, 2000, and 1990". United States Census Bureau. February 12, 2011. สืบค้นเมื่อ April 23, 2011.
  2. "2021 U.S. Gazetteer Files". United States Census Bureau. สืบค้นเมื่อ September 5, 2021.
  3. "US Board on Geographic Names". United States Geological Survey. June 23, 2018. สืบค้นเมื่อ January 31, 2008. Search for feature ID 975772.
  4. "QuickFacts: New York city, New York". U.S. Census Bureau. สืบค้นเมื่อ August 17, 2021.
  5. "2020 Population and Housing State Data". United States Census Bureau. August 22, 2021. สืบค้นเมื่อ November 24, 2021.
  6. 6.0 6.1 "Gross Domestic Product by County, 2020" (PDF). Bureau of Economic Analysis. December 9, 2020. สืบค้นเมื่อ December 9, 2020.
  7. "U.S. metro areas—ranked by Gross Metropolitan Product (GMP) 2020 | Statistic". Statista. สืบค้นเมื่อ May 31, 2019.
  8. "State & County QuickFacts—Kings County (Brooklyn Borough), New York". United States Census Bureau. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 17, 2016. สืบค้นเมื่อ May 16, 2020.
  9. "KBD Preface". web.archive.org. 2011-10-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-23. สืบค้นเมื่อ 2023-09-19.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  10. Martin, Will; Jun 14, Libertina Brandt; 2019; Et, 10:28 Am. "The 21 most influential cities in the world, according to A.T. Kearney". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).{{cite web}}: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
  11. Ellis, Edward Robb (2004-12-21). The Epic of New York City: A Narrative History (ภาษาอังกฤษ). Basic Books. ISBN 978-0-7867-1436-0.
  12. Roberts, Sam (2017-09-14). "When the World Called for a Capital". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2023-09-19.
  13. "Big Radius Tool: StatsAmerica". www.statsamerica.org (ภาษาอังกฤษ).
  14. Lubin, Gus. "Queens has more languages than anywhere in the world — here's where they're found". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  15. "America's 10 Most Visited Cities". WorldAtlas (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-09-23.
  16. "Nicknames for Manhattan". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-01. สืบค้นเมื่อ 2008-11-02.
  17. Irving's mocking Salmagundi Papers, 1807, noted by Edwin G. Burrows and Mike Wallace, Gotham: A History of New York to 1898 (Oxford) 1999:xii.
  18. Kimmelman, Michael (September 30, 2016). "Penn Station Reborn". The New York Times. ISSN 1553-8095. OCLC 1645522. Archived from the original on September 30, 2016. Retrieved September 16, 2023.
  19. "U.S. Senate: 404 Error Page". www.senate.gov.
  20. Centre, UNESCO World Heritage. "Statue of Liberty". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
  21. Jones, Huw (2022-03-24). "New York widens lead over London in top finance centres index". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-09-19.
  22. "Global Cities: divergent prospects and new imperatives in the global recovery". Kearney (ภาษาอังกฤษ).
  23. Florida, Richard (2012-05-08). "What Is the World's Most Economically Powerful City?". The Atlantic (ภาษาอังกฤษ).
  24. Bird, Mike. "The 25 cities with the most economic power on earth". Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  25. "International investors eye New York as safe haven". Property Investor Today (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-03. สืบค้นเมื่อ 2023-09-19.
  26. Tong, Goh Chiew (2023-06-08). "New York overtakes Hong Kong as the most expensive city in the world for expats, new survey shows". CNBC (ภาษาอังกฤษ).
  27. "World's Most Visited Tourist Attractions, Ranked". www.farandwide.com (ภาษาอังกฤษ).
  28. "New York Architecture Images- Midtown- times square short history 3". web.archive.org. 2017-01-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-25. สืบค้นเมื่อ 2023-09-19.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  29. "Singapore transport minister says Suez block may disrupt supplies to region". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2021-03-25. สืบค้นเมื่อ 2023-09-19.
  30. "Buoyed by a Strong Dollar, NYC's Luxury Housing Market Surpasses London's". Robb Report. 2023-03-02.
  31. Phillips, Kristine (2021-10-26). "New York mayor on Germany trip: The world should know that Americans don't align with Trump". Washington Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. สืบค้นเมื่อ 2023-09-19.
  32. "Venture Investment - NVCA". web.archive.org. 2016-04-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-08. สืบค้นเมื่อ 2023-09-19.
  33. Minkoff, Peter (2018-04-05). "New York – The World's Gay Capital". express Magazine (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  34. "Obama inaugural speech references Stonewall gay-rights riots - NorthJersey.com". web.archive.org. 2013-05-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-30. สืบค้นเมื่อ 2023-09-19.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  35. "The 100 most popular art museums in the world—who has recovered and who is still struggling?". The Art Newspaper - International art news and events. 2023-03-27.
  36. "The NYC Art Market Report - Independent". Independent - NYC Art Market Report (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  37. "Gotham Center for New York City History" Timeline 1500 - 1700
  38. Rankin, Rebecca B., Cleveland Rodgers (1948). New York: the World's Capital City, Its Development and Contributions to Progress. Harper.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  39. "Value of the Guilder / Euro". International Institute of Social History. สืบค้นเมื่อ 19 สิงหาคม ค.ศ. 2008. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  40. The message of the purchase, which was sent to Amsterdam, is present in the National Archive in The Hague.
  41. Homberger, Eric (2005). The Historical Atlas of New York City: A Visual Celebration of 400 Years of New York City's History. Owl Books. p. 34. ISBN 0805078428.
  42. "Gotham Center for New York City History" Timeline 1700-1800
  43. "The Nine Capitals of the United States". United States Senate. สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน ค.ศ. 2008. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  44. "New York widens lead over London in top finance centres index". Reuters (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-07-04. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  45. "The Global Financial Centres Index 36". www.longfinance.net. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  46. Jackson, Kenneth T. (2021-04-02). "Opinion | Does New York Still Want to Be the Capital of the World?". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  47. "Gross Domestic Product by County and Metropolitan Area | FRED | St. Louis Fed". fred.stlouisfed.org. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  48. "Total Gross Domestic Product for New York-Newark-Jersey City, NY-NJ-PA (MSA)". fred.stlouisfed.org (ภาษาอังกฤษ). 2024-12-04. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  49. "Governor Hochul, Mayor Adams Announce Plan for SPARC Kips Bay, First-of-Its-Kind Job and Education Hub for Health and Life Sciences Innovation | Governor Kathy Hochul". www.governor.ny.gov (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  50. "Fortune 500 2011: Cities with most companies - FORTUNE on CNNMoney.com". money.cnn.com. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  51. "Beijing Breaks Into Top Ten in Rankings by A.T. Kearney". Bloomberg.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2025-01-26. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  52. "New York City Tops Global Competitiveness Rankings, Economist Report Says - Bloomberg". web.archive.org. 2012-03-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-12. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  53. "Definition of Metonymy | Chegg.com". web.archive.org. 2020-07-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-31. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  54. "Mayor de Blasio announces $3M in grants for New York City's fashion industry". New York Daily News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2014-02-07. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  55. Hu, Winnie (2017-02-07). "New York Tries to Revive Garment Industry, Outside the Garment District". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  56. Honan, Katie (2019-09-11). "New York City's Income-Inequality Gap Hasn't Changed, Report Says". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  57. "States With Local Income Taxes". The Balance (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  58. "Personal Income Tax and Non-Resident Employees". web.archive.org. 2022-08-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-27. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  59. Grosser, Annika. "The Cities With The Most Billionaires 2024". Forbes (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  60. "NYSE, New York Stock Exchange > Listings > Listings Directory > NYSE". web.archive.org. 2013-06-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-21. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  61. "DiNapoli: Wall Street Bonuses Edge Up in 2014 | Office of the New York State Comptroller". www.osc.ny.gov (ภาษาอังกฤษ). 2015-03-11. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  62. 62.0 62.1 Sustaining New York's and the US' Global Financial Services Leadership (PDF) (Report). New York City Economic Development Corporation. สืบค้นเมื่อ July 19, 2015.
  63. "Total debt securities" (PDF). Bank for International Settlements. June 2013. สืบค้นเมื่อ July 19, 2015.
  64. Chaudhuri, Saabira (2014-09-15). "Ranking the Biggest U.S. Banks: A New Entrant in Top 5". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  65. "Colliers International | Q3 2018 U.S. Office Market Outlook". web.archive.org. 2019-04-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-14. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  66. Miller, Joe; Chaffin, Joshua (2023-12-22). "Law firm Paul Weiss signs biggest US office lease of 2023 in Manhattan". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  67. "Manhattan Office Space Market - Manhattan Office Space". web.archive.org. 2014-07-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-13. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23. {{cite web}}: no-break space character ใน |title= ที่ตำแหน่ง 30 (help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  68. Thomas, Brad. "'Silicon Alley' Provides Path To Prosperity For New York City". Forbes (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  69. D'Onfro, Megan Rose Dickey, Jillian. "SA 100 2013: The Coolest People In New York Tech". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  70. Ward, Peter (2018-03-08). "The History Of New York's Silicon Alley". Culture Trip (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  71. Leswing, Kif (2023-08-24). "Google, Amazon, Nvidia and other tech giants invest in AI startup Hugging Face, sending its valuation to $4.5 billion". CNBC (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  72. Casselman, Ben; Collins, Keith; Russell, Karl (2019-02-15). "Even Without Amazon, Tech Could Keep Gaining Ground in New York". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  73. Shieber, Jonathan (2017-05-24). "A year after its launch, Tech:NYC has become a force in New York politics". TechCrunch (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  74. PYMNTS (2023-10-16). "New York City Unveils AI Action Plan that Develops Rules Framework". PYMNTS.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  75. Pérez-Peña, Richard (2011-12-19). "Cornell Alumnus Is Behind $350 Million Gift to Build Science School in City". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  76. "'Game-changing' tech campus goes to Cornell, Technion | Cornell Chronicle". news.cornell.edu (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  77. "New York's Fifth Avenue Retains its Top Ranking as the World's Most Expensive Retail Destination". ir.cushmanwakefield.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  78. "International investors eye New York as safe haven..." web.archive.org. 2023-11-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-03. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  79. "FY24 Tentative Assessment Roll Press Release - DOF". www.nyc.gov. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  80. "New York's Fifth Avenue retains its top ranking as the world's most expensive retail destination | Cushman & Wakefield". Cushman & Wakefield (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2025-02-19. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  81. "New York's Housing Shortage Pushes Up Rents and Homelessness". pew.org (ภาษาอังกฤษ). 2023-05-25. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  82. Morabito, Charlotte (2023-06-24). "How New York City's sky-high cost of living stacks up to London". CNBC (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  83. Duddridge, Natalie (2023-08-11). "Manhattan's average rent soared to record $5,588 in July - CBS New York". www.cbsnews.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  84. Zaveri, Mihir (2024-02-08). "New York City's Housing Crunch Is the Worst It Has Been in Over 50 Years". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  85. London, Giulia Carbonaro is a Newsweek Reporter based in; U.S, U. K. Her focus is on; politics, European; Affairs, Global; ups, housing She has covered the; extensively, downs of the U. S. housing market; Europe, as well as given in-depth insights into the unfolding war in Ukraine Giulia joined Newsweek in 2022 from CGTN; English, had previously worked at the European Central Bank She is a graduate of Nottingham Trent University Languages:; Italian (2024-08-28). "New York City rent hits all-time high". Newsweek (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.{{cite web}}: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  86. Ellis, Edward Robb (2004-12-21). The Epic of New York City: A Narrative History (ภาษาอังกฤษ). Basic Books. ISBN 978-0-7867-1436-0.
  87. "Private School Universe Survey (PSS)". nces.ed.gov (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  88. "Nation's Largest Libraries - LibrarySpot Lists". web.archive.org. 2007-05-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-29. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  89. "ARWU World University Rankings 2019 | Academic Ranking of World Universities 2019 | Top 1000 universities | Shanghai Ranking - 2019". web.archive.org. 2019-08-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-15. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  90. "Cultural Affairs > United States - New York > The Icelandic Foreign Services". web.archive.org. 2013-02-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-05. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  91. "Consulate of Latvia in New York". web.archive.org. 2013-02-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-08. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  92. "NYCdata: Culture". web.archive.org. 2013-05-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-02. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  93. "New York, culture capital of the world, 1940-1965 / edited by Leonard Wallock ; essays by Dore Ashton... - Catalogue | National Library of Australia". catalogue.nla.gov.au (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  94. "HARLEM IN THE JAZZ AGE". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 1987-02-08. ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  95. Toop, David (1991). Rap Attack 2: African Rap to Global Hip Hop (ภาษาอังกฤษ). Serpent's Tail. ISBN 978-1-85242-243-1.
  96. Gonzalez, David (2007-05-21). "Will Gentrification Spoil the Birthplace of Hip-Hop?". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  97. Harrington, Joe S. (2002). Sonic Cool: The Life & Death of Rock 'n' Roll (ภาษาอังกฤษ). Hal Leonard Corporation. ISBN 978-0-634-02861-8.
  98. "Survival of the Streets | VICE | United States". VICE (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2009-09-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-23. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  99. "Harlem Renaissance Music". www.1920s-fashion-and-music.com. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  100. "Great Performances: Free To Dance - About The Film - Episode Descriptions". web.archive.org. 2010-04-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-14. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  101. Chauvin, Kelsy (2019-03-15). "15 Things NOT to Do in New York City". Fodors Travel Guide (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  102. "Adjusting To New York City - tribunedigital-sunsentinel". web.archive.org. 2015-12-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-03. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  103. Miller, Stephen (2016-10-03). Walking New York: Reflections of American Writers from Walt Whitman to Teju Cole (ภาษาอังกฤษ). Fordham University Press. ISBN 978-0-8232-7425-3.
  104. TIME, By <a class="font-bold" href="https://time com/author/stephanie-zacharek/">Stephanie Zacharek</a> | Photographs by Daniel Arnold for (2021-09-07). "The City That Endures". TIME (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23. {{cite web}}: |first= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  105. Weaver, Shaye. "New York is the most resilient city in the world". Time Out New York (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2025-02-19. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  106. Weaver, Shaye. "New York is the most resilient city in the world". Time Out New York (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2025-02-19. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  107. Londré, Felicia Hardison; Watermeier, Daniel J. (1998). The history of North American theater: [the United States, Canada, and Mexico]; from pre-Columbian times to the present. New York: Continuum Publ. Co. ISBN 978-0-8264-1079-5.
  108. Lojek, Helen; Richardson, Gary A.; Miller, Jordan Y.; Frazer, Winifred L. (1994-12). "American Drama from the Colonial Period Through World War I: A Critical History". American Literature. 66 (4): 872. doi:10.2307/2927740. ISSN 0002-9831. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  109. "SignOnSanDiego.com > News > Features -- 2 plays + 9 nominations = good odds for locals". web.archive.org. 2008-10-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-05. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  110. "The Great White Way | Times Square New York City". web.archive.org. 2011-05-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-04. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  111. Tell, Darcy (2007-11-06). Times Square Spectacular: Lighting Up Broadway (ภาษาอังกฤษ). Harper Collins. ISBN 978-0-06-088433-8.
  112. Allen, Irving Lewis (1995-02-23). The City in Slang: New York Life and Popular Speech (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. ISBN 978-0-19-535776-9.
  113. "Broadway Theatres". Playbill (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2025-02-13. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  114. "2018 – 2019 Broadway End-of-Season Statistics". The Broadway League. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  115. "2022–2023 Broadway End-Of-Season Statistics Show That Broadway Had Attendance Of 12.3 Million And Grosses Of $1.58 Billion". The Broadway League. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  116. "Statistics - Broadway in NYC | The Broadway League". www.broadwayleague.com. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  117. "FAQ". www.tonyawards.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  118. Magazine, Smithsonian; Esposito, Shaylyn. "Is Corned Beef Really Irish?". Smithsonian Magazine (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  119. Bleyer, Jennifer (2006-05-14). "Kebabs on the Night Shift". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  120. Tiedemann, Jennifer (2019-04-08). "$15-Per-Hour Minimum Wage Isn't What NYC Restaurant Workers Ordered". Goldwater Institute (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  121. "Fashion | NYCEDC". edc.nyc (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  122. "New York Fashion Week 2023 | Retailers bring the runway to real-life - Lightspeed". Lightspeed (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-08-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2025-02-19. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  123. Juarez, Diana. "The Economic Impact of New York Fashion Week". The Fordham Ram. สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.
  124. "All About the NYC Fashion Design Scene". All Art Schools (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2025-02-23.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]