การกระจายรายได้
การกระจายรายได้ (Income Distribution) หมายถึงการแบ่งสันปันส่วนผลผลิตมวลรวมของประเทศ (GDP) ในหมู่ประชากรของประเทศ โดยใช้เป็นปัจจัยชี้วัดความเท่าเทียมทางสังคม ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุล (Income Distribution, n.d.)[1]
อรรถาธิบาย
[แก้]การกระจายรายได้เป็นดัชนีตัวหนึ่งที่ใช้ในการวัดค่าความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมิใช่เรื่องเดียวกันกับความยากจน ความไม่เท่าเทียมในเชิงเศรษฐกิจที่วัดโดยใช้การกระจายรายได้นั้นจะดูจากการแบ่งสันปันส่วนผลผลิตมวลรวมของประเทศโดยแบ่งประชาชนออกเป็นส่วนๆ แล้วดูว่าประชาชนส่วนที่ได้รับรายได้สูงสุดนั้นได้รับรายได้มากกว่าประชาชนส่วนที่ได้รับรายได้น้อยที่สุดเท่าไร แล้วคิดออกมาเป็นสัดส่วนที่บ่งชี้ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ (Income Inequality Metrics, n.d.)[2]
ดังนั้น แม้จะมีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจก็มิได้หมายความว่าจะมีความยากจน เพราะประชาชนส่วนที่มีรายได้น้อยที่สุดอาจจะมีรายได้เหนือเส้นความยากจน หรือแม้แต่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีก็ได้ เพียงแต่มีรายได้น้อยกว่าประชาชนที่มีรายได้มากที่สุดของประเทศอย่างมากเท่านั้น โดยวิธีการคิดคำนวณเช่นนี้อาจมิได้คำนึงถึง หรือ ละเลยสิ่งที่เรียกว่า “ช่องว่างระหว่างรายได้” อันเกิดมาจากการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างผู้ที่มีรายได้มากที่สุด กับผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศไทยมีความแตกต่างกันหลายเท่า เพราะประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่เหนือระดับเส้นความยากจนก็อาจเป็นประเทศที่มีช่องว่างในการกระจายรายได้สูงหลายสิบเท่าได้ด้วยเช่นกัน
วิธีที่นิยมใช้กันในการวัดการกระจายรายได้คือค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ซึ่งเป็นวิธีวัดการกระจายทางสถิติวิธีหนึ่ง ค่านี้จะบ่งชี้การกระจายรายได้โดยคิดออกมาเป็นอัตราส่วนการกระจายรายได้ระหว่าง 0 กับ 1 “0” หมายถึงประชากรทั้งหมดมีรายได้เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง และ “1” หมายถึงการเหลื่อมล้ำสมบูรณ์แบบซึ่งมีบุคคลเพียงคนเดียวมีรายได้ทั้งหมดขณะที่คนที่เหลือไม่มีรายได้เลย (องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ)[3] สัมประสิทธิ์จีนีจะถูกเปลี่ยนเป็นร้อยละเพื่อคิดเป็นดัชนีจีนีสำหรับวัดการกระจายรายได้ เช่น ประเทศเยอรมนีมีสัมประสิทธิ์จีนีจากการกระจายรายได้เท่ากับ 0.283 ดัชนีจีนีของเยอรมนีจะเท่ากับร้อยละ 28.3
ดัชนีจีนี จะทำการชี้วัดการกระจายรายได้เพื่อวัดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศ ส่วนอัตราส่วนคนรวยคนจนที่แบ่งประชาชนออกเป็นกลุ่มๆ นั้นจะให้ข้อมูลของความแตกต่างระหว่างคนที่มีรายได้มากที่สุดกับคนที่มีรายได้น้อยที่สุดว่าความไม่เท่าเทียมมีความรุนแรงเพียงใด (โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ)[4] เมื่อเรานึกถึงรูปภาพแก้วแชมเปญ เราสามารถเห็นภาพของปัญหาการกระจายรายได้และการถือครองทรัพยากรของประชากรโลกที่ไม่เป็นธรรม กล่าวคือ คนรวยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ของโลกถือครองทรัพยากรกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ คนจนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ มีส่วนแบ่งในด้านรายได้และทรัพยากรเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ภาพแก้วแชมเปนปากกว้างและก้านเรียวเล็ก สะท้อนความไม่สมดุลในการกระจายรายได้ของประชากรโลกได้เป็นอย่างดี (โปรดดูเพิ่มเติม Champagne Glass Distribution from Conley (2008) You May Ask Yourself)
ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย
[แก้]ดัชนีจีนีของประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสหประชาชาติในปี ค.ศ.2013 อยู่ที่ 0.4 ส่วนสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐอเมริกาให้ค่าในปีเดียวกันไว้ที่ 0.536 (สำนักข่าวกรองกลาง)[5] ทั้งนี้ค่าความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ของประเทศ ถูกตั้งไว้ตั้งแต่ 0 ถึง 1 โดยยิ่งมีค่าเพิ่มจาก 0 มากเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้มากเท่านั้น
ปัจจัยจำนวนมากสามารถก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมของรายได้ ตั้งแต่โครงสร้างทางสังคม เพศ เชื้อชาติ วัฒนธรรมการศึกษา ทักษะของแรงงาน จนถึงนโยบายของภาครัฐ อย่างนโยบายด้านภาษี นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายแรงงาน นโยบายการเงิน รวมถึงระบบเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติในการผลิต จนถึงอิทธิพลจากโลกาภิวัตน์ แต่โดยพื้นฐานแล้วการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันนั้นมีสาเหตุมาจากธรรมชาติของการสั่งสมต้นทุนทางเศรษฐกิจของผู้เข้าแข่งขันในระบบตลาดเสรีที่จะได้เปรียบผู้ที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่น้อยกว่าอยู่แล้ว ปัจจัยอื่นๆ จึงเป็นเพียงตัวเร่ง และขยายความไม่เท่าเทียมดังกล่าวนี้ให้มากและรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น สำหรับประเทศไทยนั้น สาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้ความไม่เท่าเทียมดังกล่าวนี้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นก็คือ ความไม่เท่าเทียมในโอกาสทางการศึกษา ซึ่งส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่ต้องกลายเป็นประชาชนผู้มีรายได้ต่ำ และมีโอกาสเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้น้อยกว่าคนอื่นๆ แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการจัดให้มีการศึกษาภาคบังคับ และโครงการค่าเรียนฟรีแล้วก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่บีบบังคับ ทำให้ผู้คนเหล่านี้ท้ายที่สุดต้องผันตัวมาเป็นแรงงานรับจ้างที่มีรายได้ต่ำปัญหาที่ว่านี้ถูกส่งต่อไปยังบุตรหลานรุ่นต่อๆไปของพวกเขา ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงก็จะสามารถเข้าถึงและขยับขยายโอกาสในการแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้อยู่เสมอ และส่งต่อโอกาสที่ว่านี้ไปยังลูกหลานได้ด้วยเช่นกัน ความแตกต่างในโอกาสทางการศึกษาผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำดังกล่าวนี้ให้ห่างมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนมองว่าความเหลื่อมล้ำที่ถูกผลิตซ้ำส่วนหนึ่งเพราะรัฐไม่มีการจัดเก็บภาษีที่ดิน และภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้า หากสามารถบังคับใช้กฎหมายภาษีทั้งสองประเภทได้ ช่องว่างในการถือครองทรัพย์สินคือ ที่ดิน และการส่งต่อความมั่งคั่งคือมรดก ก็จะลดลงจากเดิม และจะสามารถตอบโจทย์ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของปัญหาการกระจายรายได้ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ วิกิพีเดีย 1. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://en.wikipedia.org/wiki/Income_distribution.
- ↑ วิกิพีเดีย 2. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://en.wikipedia.org/wiki/Income_inequality_metrics.
- ↑ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.fao.org/docs/up/easypol/329/gini_index_040en.pdf เก็บถาวร 2017-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://hdr.undp.org/en/media/HDR_2009_EN_[ลิงก์เสีย] Complete.pdf. และ http://hdr.undp.org/en/media/HDR_20072008_[ลิงก์เสีย] EN_Complete.pdf.
- ↑ สำนักข่าวกรองกลาง. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/fields/2172.html เก็บถาวร 2015-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.