เบเกิล
![]() เบเกิลแบบธรรมดาที่วางขายกันทั่วไป (โดยใช้การอบ) | |
ประเภท | ขนมปัง |
---|---|
แหล่งกำเนิด | ประเทศโปแลนด์ |
ภูมิภาค | ยุโรปกลาง |
ส่วนผสมหลัก | แป้งสาลี |
รูปแบบอื่น | พิซซาเบเกิล |
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/17/Bagels%27n%27Lox.jpg/250px-Bagels%27n%27Lox.jpg)
เบเกิล (อังกฤษ: bagel, beigel) [1] กำเนิดในประเทศโปแลนด์ มีลักษณะเป็นรูปวงแหวน ทำจากแป้งสาลี ขนาดประมาณ 1 กำมือ นำไปต้มในน้ำเดือดสักพักหนึ่ง แล้วนำไปอบต่อ[2] จะได้เนื้อภายในที่แน่นและนิ่ม กับเนื้อภายนอกสีอมน้ำตาล มักโรยหน้าด้วยงาดำ บ้างอาจโรยเกลือบนเบเกิล ทั้งยังมีแป้งประเภทต่าง ๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ เช่น ข้าวไรย์ หรือแป้งจากธัญพืชไม่ขัดสี[2]
เบเกิลเป็นที่นิยมในประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในเมืองที่มีประชากรชาวยิวอาศัยจำนวนมาก[3] วิธีการทำเบเกิลนั้นมีหลากหลาย เช่น เบเกิลที่ทำในเบเกอรี หรือเบเกิลประเภทแช่แข็งที่หาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศเหล่านั้น
เบเกิลชนิดที่เป็นวงกลมและมีรูตรงกลางออกแบบมาเมื่อหลายร้อยปีก่อน ซึ่งมีข้อดีหลาย ๆ อย่าง นอกจากการอบ ยังสามารถหยิบจับง่ายและยังเป็นจุดเด่นทำให้น่าสนใจอีกด้วย[4][5]
ประวัติ
[แก้]บ้างมีความเชื่อว่าเบเกิลนั้นไม่ได้มีรูปแบบมาจากการฉลองชัยชนะของสมเด็จพระเจ้าจอห์นที่ 3 โซบีสกีแห่งโปแลนด์ เหนือออตโตมันเติร์ก ในยุทธการที่เวียนนา เมื่อ ค.ศ. 1683[6] แท้จริงแล้วคาดว่า มีการคิดค้นเบเกิลมาก่อนหน้านี้ในเมืองกรากุฟ ประเทศโปแลนด์ เพื่อเป็นคู่แข่งของบูบลิก (อังกฤษ: bublik) หรือที่ชาวโปแลนด์รู้จักในชื่อ โอบวาร์ซาเนก (โปแลนด์: obwarzanek) ซึ่งเป็นขนมปังทำจากแป้งสาลีสำหรับเทศกาลมหาพรต
เลโอ รอสเต็น นักภาษาศาสตร์ชาวโปแลนด์เขียนใน "ความสุขของยิดดิช" (The Joys of Yiddish) ถึงคำว่า "bajgiel" ในระเบียบของชุมชนเมืองกรากุฟ เมื่อปี ค.ศ. 1610 ซึ่งระบุไว้ว่าเป็นของขวัญสำหรับหญิงในการคลอดบุตร[7]
ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เบเกิล (bajgiel) กลายเป็นอาหารประจำชาติโปแลนด์อย่างหนึ่ง[8] รวมไปถึงอาหารของชาวสลาฟโดยรวม[9] ชื่อนั้นมาจากภาษายิดดิชจากคำว่า 'beygal' ซึ่งมาจากภาษาเยอรมันคำว่า 'beugel' มีความหมายว่าวงแหวนหรือสร้อยข้อมือ[10]
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/b/b5/Sbitenshchik_and_Khodebshchik.jpg/250px-Sbitenshchik_and_Khodebshchik.jpg)
คำว่า beugal ซึ่งใช้ในภาษายิดดิช และภาษาออสเตรียเยอรมัน เพื่ออธิบายรูปลักษณ์ของขนมหวานที่โรยหน้าด้วย "โมนบอยเกิล" (เมล็ดงาดำ) และ "นุสส์เบเกิล" (ถั่ว) หรือในทางใต้ของเยอรมนีที่เบเกิลมีความหมายว่า กองท่อนไม้ จากการอ้างอิงตามพจนานุกรมของเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ 'เบเกิล' มาจากคำทับศัพท์ของภาษายิดดิช 'beygl' ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษาเยอรมันสูงกลาง (Middle High German) 'เบิลเกิล' (เยอรมัน: böugel) หรือวงแหวน ซึ่งมีรากศัพท์มากจากคำว่า 'บอซ' แปลว่าแหวน ในภาษาเยอรมันสูงเก่า (Old High German) คล้ายกับคำว่า 'bēag' ในภาษาอังกฤษเก่า [11] คล้ายกันในศัพทมูลวิทยา ของพจนานุกรมนิวเวิลด์คอลเลจของเว็บสเตอร์ ที่กล่าวว่าภาษาเยอรมันสูงกลางได้รับอิทธิพลมาจากภาษาออสเตรียเยอรมัน 'บอยเกิล' (beugel) เป็นชื่อของขนมที่มีรูปร่างเหมือนครัวซ็อง และคล้ายกับคำของภาษาเยอรมัน 'บือเกิล' (เยอรมัน: bügel) ซึ่งแปลว่าแหวน[12]
ในเขตบริกเลนและปริมณฑลของลอนดอน ประเทศอังกฤษ เบเกิล (อังกฤษ: bagels) หรือในท้องถิ่นสะกดว่า "beigels" มีขายตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 มักจัดแสดงในหน้าต่างของเบเกอรีบนชั้นไม้
มีการนำเบเกิลเข้าสหรัฐอเมริกา โดยผู้อพยบชาวโปแลนด์-ยิว กับธุรกิจที่เฟื่องฟูในนิวยอร์ก ที่ถูกควบคุมโดยคนอบเบเกิลท้องถิ่น 338 (Bagel Bakers Local 338) ซึ่งมีสัญญากับเบเกอรีเบเกิลเกือบทั้งหมดทั้งในและรอบเมืองสำหรับแรงงานทำเบเกิล ต่อมาเบเกิลเริ่มแพร่หลายทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามของแฮร์รี เลนเดอร์ เจ้าของเลนเดอส์เบเกิล และลูกชายของเขา เมอร์เรย์ เลนเดอร์ และฟลอเรนซ์ เซนเดอร์ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการผลิตเบเกิลอัตโนมัติและการจัดจำหน่ายเบเกิลแช่แข็งในคริสต์ทศวรรษ 1960[13][14][15] เมอร์เรย์ยังประดิษฐ์การหั่นเบเกิลก่อน (pre-slicing) ด้วย
ในสมัยใหม่ เกรกอรี ชามิตอฟฟ์ นักบินอวกาศชาวคะเนเดียน-อเมริกันของนาซา เป็นบุคคลแรกที่นำเบเกิลขึ้นสู่อวกาศในภารกิจสเปซชัทเทิล ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ใน ค.ศ. 2008[16] โดยเขาได้นำเบเกิลงาดำแบบมอนทรีออล 18 ชิ้น ซึ่งผลิตโดยแฟร์เมาต์เบเกิล เบเกอรีในมอนทรีออล โดยชามิตอฟฟ์นั้นเกิดในเมืองมอนทรีออลและเกิดในกลุ่มชนรัสเซียน-ยิว และมีควมเกี่ยวข้องกับครอบครัวชลาฟแมน ซึ่งเป็นเจ้าของเบเกอรี.[17][18]
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/8c/Bagels-Montreal-REAL.jpg/300px-Bagels-Montreal-REAL.jpg)
วิธีการทำและการเก็บรักษา
[แก้]แป้งของเบเกิลนั้น ดั้งเดิมจะใช้แป้งสาลีที่ถูกคัดรำข้าวออก, เกลือ, น้ำ และ หัวเชื้อยีสต์ แป้งที่เหมาะสมสำหรับการทำเบเกิลคือแป้งที่ทำให้เบเกิลเป็นรูพรุนและมีเนื้อที่นุ่ม[2] เบเกิลส่วนใหญ่นั้นจะใช้สูตรแบบที่จะเพิ่มความหวานลงไปในตัวแป้ง โดยการใส่ข้าวบาร์เลย์, น้ำผึ้ง, หัวเชื้อฟรักโตสจากข้าวโพด, น้ำตาล, ไข่, นม หรือ เนย[2] ซึ่งหัวเชื้อนั้นอาจใช้เทคนิคเดียวกับการทำซอร์โด (sourdough)
เบเกิลส่วนใหญ่จะทำโดยวิธีดังนี้ :
- ผสมส่วนผสมและนวดแป้ง
- ปั้นแป้งให้ได้รูปทรงของเบเกิล โดยมีรูอยู่ตรงกลาง
- เก็บเบเกิลเป็นระยะเวลานาน 12 ชั่วโมงในอุณหภูมิต่ำ 4.5–10 องศาเซลเซียส
- ต้มเบเกิลในน้ำเดือด หรืออาจจะใช้ น้ำด่าง, เบคกิงโซดา, หัวเชื้อข้าวบาร์เลย์ หรือ น้ำผึ้ง แทนน้ำ
- อบที่อุณหภูมิระหว่าง 175–315 องศาเซลเซียส
วิธีการทำเบเกิลที่กล่าวมานั้นเป็นที่นิยมและกล่าวกันว่าจะทำให้เบเกิลมีรสชาติที่โดดเด่น เพราะจะทำให้เนื้อของเบเกิลมีลักษณะผิวมันเงาและนุ่ม ในไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีวิธีการทำแบบใหม่คือเบเกิลอบไอน้ำ โดยจะไม่มีการต้มเบเกิล และเปลี่ยนเตาอบเป็นการอบด้วยไอน้ำ คล้ายกับการรวบกรรมวิธีให้เหลือเพียงขั้นตอนเดียว[19] ในการผลิตเบเกิล เบเกิลอบไอน้ำจะใช้แรงงานน้อยลงเพราะใช้เพียงวิธีเดียวในการผลิต เบเกิลจะถูกแช่แข็งและนำไปอบไอน้ำ อย่างไรก็ตาม เบเกิลอบไอน้ำนั้นไม่ได้รับการยอมรับในหมู่ครูสอนทำเบเกิล เพราะมีความนุ่มและเหนียวน้อยเกินไปจนคล้ายกับฟิงเกอร์โรลที่มีรูปร่างเหมือนเบเกิล และเบเกิลอบไอน้ำมีคุณภาพที่ต่ำ เพราะมีการฉีดเพิ่มค่า pH ให้เนื้อเบเกิลมีสีน้ำตาล
หากไม่ได้บริโภคเบเกิลในทันที ก็จะสามารถเก็บเบเกิลให้สดใหม่เสมอได้ด้วยการห่อไว้ในถุงกระดาษ และนำถุงกระดาษห่อไว้ในถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะสามารถเก็บไว้ในช่องแช่แข็งได้ถึง 6 เดือน[20]
คุณภาพของเบเกิล
[แก้]คุณภาพของเบเกิลนั้นสามารถประเมินได้จากการชิมหรือการพิจารณาด้วยคุณค่าทางโภชนาการ[21]
เบเกิลที่ดีควรมีเนื้อนอกที่กรอบเล็กน้อย โดยจะสามารถแยกเป็นชิ้นได้ด้วยการกัดหรือการฉีก ส่วนด้านในนั้นจะต้องมีความเหนียวและนิ่ม และรสชาติต้องสดใหม่[21] รสชาติของเบเกิลอาจได้รับการปรุงรสจากเครื่องเทศต่าง ๆ เช่น หัวหอม, กระเทียม, งาขาว และ งาดำ[21] สีของเบเกิลอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อนำไปอบ.[21] ซึ่งจะทำให้เนื้อด้านในมีรสชาติและมีความเหนียวนุ่ม[21]
เบเกิลทั่วไปให้พลังงาน 260–350 แคลอรี, ไขมัน 1.0–4.5 กรัม, โซเดียม 330–660 มิลลิกรัม และ ไฟเบอร์ 2–5 กรัม[21] เบเกิลแบบกลูเตนฟรี หรือสำหรับผู้ที่ไม่รับประทานแป้ง จะมีไขมันถึง 9 กรัม เพราะจะใช้ส่วนผสมอื่นแทนข้าวสาลี[21]
รูปแบบของเบเกิล
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/7/77/MontrealBagels.jpg/220px-MontrealBagels.jpg)
ความแตกต่างของเบเกิล 2 รูปแบบระหว่างเบเกิลแบบมอนทรีอัล และ เบเกิลแบบนิวยอร์ก[22] แม้ว่า 2 รูปแบบนี้จะเป็นแบบดั้งเดิมที่นำเข้ามาจากทวีปยุโรปตะวันออกสู่ทวีปอเมริกาเหนือ โดย "เบเกิลแบบมอนทรีอัล" จะใช้มอลต์และน้ำตาล โดยจะไม่ใช้เกลือ ซึ่งจะต้มด้วยน้ำผึ้งผสมน้ำก่อนจะนำไปอบด้วยเตาถ่าน และส่วนใหญ่จะโรยด้วยงาขาว (เบเกิลในโตรอนโตจะคล้ายกับนิวยอร์กที่จะมีความหวานน้อย โรยด้วยเมล็ดงาดำ และอบด้วยเตาธรรมดา)
ส่วน "เบเกิลแบบนิวยอร์ก" จะใส่มอลต์และเกลือ ต้มในน้ำเดือดก่อนจะนำไปอบในเตาธรรมดา เบเกิลที่ได้จะมีลักษณะอวบ ซึ่งแตกต่างกับแบบมอนทรีอัลที่มีขนาดเล็ก (แต่รูตรงกลางมีขนาดใหญ่) และหวานกว่า[23] เช่น ดาวิโดวิชเบเกิล (Davidovich Bagels) ผลิตในนิวยอร์ก เป็นที่โด่งดังและเป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตเบเกิล ซึ่งใช้เทคนิคการทำเบเกิลแบบดั้งเดิม คล้ายกับแบบมอนทรีอัล โดยจะใช้เตาถ่านในการอบ[24] เบเกิลสามารถพบได้ทั่วไปในพื้นเมือง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงเบเกิลแบบชิคาโก ซึ่งใช้การอบไอน้ำ[25] เบเกิลแบบลอนดอน จะมีเนื้อที่หยาบและมีฟองอากาศด้านในจำนวนมาก นอกจากนี้ในประเทศแคนาดาจะมีความแตกต่างกันระหว่างแบบมอนทรีอัลกับแบบโตรอนโต และ แบบมอนทรีอัลกับแบบนิวยอร์ก
เมล็ดงาดำบางครั้งจะเรียกชื่อตามภาษายิดดิช จะออกเสียงว่า "มัน" หรือ "มอน" (เขียนว่า מאָן) ซึ่งจะคล้ายกับภาษาเยอรมันที่แปลว่างาดำ คือ "โมน" (Mohn) จอห์น มิตเซวิช พ่อครัวชาวอเมริกัน ได้แสดงให้เห็นการทำเบเกิลสูตรใหม่ที่เขาเรียกว่า "เบเกิลแบบซานฟรานซิสโก" ซึ่งผิวจะบางกว่าแบบนิวยอร์กและมีเนื้อด้านนอกที่ขรุขระ[26]
รอบโลก
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/a/af/Vesirinkelit_-_2.jpg/220px-Vesirinkelit_-_2.jpg)
ในประเทศโปแลนด์ เบเกิลได้มีวางจำหน่ายในเบเกอรีที่ตลาดในเมืองเคลซ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี โดยเบเกิลแบบโปแลนด์ส่วนใหญ่จะโรยหน้าด้วยงาขาวและงาดำ
ในประเทศรัสเซีย, ประเทศเบลารุส และประเทศยูเครน บลูบลิก (รัสเซีย: bublik) เป็นเบเกิลที่มีขนาดใหญ่ และมีรูขนาดใหญ่ ส่วนขนมปังอื่น ๆ ที่คล้ายกันที่รู้จักกันของชาวสลาฟตะวันออก คือ บารันกิ (รัสเซีย: baranki) ซึ่งมีลักษณะแห้งและเล็กกว่า และ ซุชกิ (รัสเซีย: sushki) ซึ่งมีลักษณะแห้งและเล็กกว่าเช่นกัน
ในประเทศลิทัวเนีย เบเกิลถูกเรียกว่า "เรียสเทเนีย" (ลิทัวเนีย: riestainiai) และบางครั้งก็เรียกกันในภาษาสลาวิกว่า "บารอนกอส" (สลาวิก: baronkos)
ในประเทศฟินแลนด์ "เวซิรินเกลี" (vesirinkeli) หรือขนมปังแบบฟินแลนด์ เป็นขนมปังที่ทำมาจากแป้งสาลีและยีสต์ มีลักษณะเป็นวงแหวน โดนจะนำไปต้มในน้ำเกลือก่อนจะนำมาอบ มักจะทานเป็นอาหารเช้าโดยการทาเนย ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ต โดยจะมีทั้งรสหวานและเผ็ด
ที่ประเทศเยอรมนี "เบรตเซิล" (เยอรมัน: Bretzel) จะมีลักษณะนุ่มและอาจมีรูปร่างเป็นวงแหวนหรือเป็นแท่งก็ได้ ซึ่งเนื้อของขนมปังจะมีลักษณะคล้ายกับเบเกิล สิ่งสำคัญที่สุดคือเนื้อด้านนอกจะมีผิวมันวาวจากการนำไปชุบน้ำด่าง นอกจากนี้ "โมนเบิร์ทเชน" (เยอรมัน: Mohnbrötchen) จะเป็นเบเกิลแบบที่โรยหน้าด้วยงาดำ คล้ายกับเบเกิลทั่วไป แต่จะมีความหวานน้อยและเนื้อแน่น
ในประเทศโรมาเนีย "โคฟริกี" (โรมาเนีย: covrigi) จะโรยหน้าด้วยเมล็ดงาดำ, งาขาว หรือเกลือ โดยเฉพาะภาคกลางของประเทศ ซึ่งสูตรนี้จะไม่มีการเพิ่มความหวาน
ในบางส่วนของประเทศออสเตรีย ขนมอบรูปวงแหวนที่เรียกว่า "บอยเกิล" (เยอรมัน: beugel) จะถูกวางขายในสัปดาห์ก่อนอีสเตอร์ ซึ่งเหมือนกับเบเกิล บอยเกิลจะใช้แป้งข้าวสาลีและยีสต์ โรยด้วยยี่หร่า และจะต้มในน้ำเดือดก่อนนำไปอบ จะได้บอยเกิลที่มีความกรอบและเก็บไว้ได้นานหลายสัปดาห์ ตามธรรมเนียมนั้นเมื่อจะรับประทานต้องฉีกเป็นสองชิ้นก่อนจะทาน
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/8e/Guangzhou-Nur-Bostani-Restaurant-pseudo-bagel-0502.jpg/220px-Guangzhou-Nur-Bostani-Restaurant-pseudo-bagel-0502.jpg)
ในประเทศตุรกี "อัคมา" (ตุรกี: açma) ขนมปังที่มีรูปร่างอวบและเค็ม อย่างไรก็ตาม ซีมิท (simit) ขนมปังรูปวงแหวนมักถูกเรียกว่าเบเกิลแบบตุรกี และมีเอกสารบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ซีมิท ได้ถูกผลิตในอิสตันบูล ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1525[27] จากบันทึกของศาลอุสกูดาร์ ลงบันทึกที่ 1593[28] น้ำหนักและราคาของซีมิทถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานครั้งแรก เอฟลียา เซเลบี นักเดินทางชื่อดังในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้บันทึกเอาไว้ว่ามีร้านเบเกอรีขายซีมิท 70 ร้านในอิสตันบูลช่วงปี ค.ศ. 1630[29] ภาพวาดสีน้ำมันของ ฌ็อง บรินเดซี ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็แสดงให้เห็นว่าร้านขายซีมิทมีให้เห็นบนถนนทั่วไปของอิสตันบูล[30] วอร์วิก โกเบล หนังสือภาพวาด ก็แสดงให้เห็นว่ามีร้านขายซีมิทในเมืองอิสตันบูล ในปี ค.ศ.1906 เช่นกัน[31] เป็นเรื่องที่น่าแปลก เพราะซีมิทมีลักษณะคล้ายกับเบเกิลงาดำในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
ชาวอุยกูร์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน มีเบเกิลที่เรียกกันว่า "เกอร์เดห์นาน" (อุยกูร์: girdeh nan) มีรากศัพท์จากภาษาเปอร์เซีย หมายถึงขนมปังวงแหวน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของ "นาน" ขนมปังที่นิยมทานกันในซินเจียง[32]
ในประเทศญี่ปุ่น เบเกิลถูกนำเข้าครั้งแรกโดย เบเกิลเค (อังกฤษ: BagelK, ญี่ปุ่น: ベーグルK) จากนิวยอร์กเมื่อปี ค.ศ. 1989 โดยผลิตเบเกิลรสชาเขียว, ช็อคโกแลต, ถั่วเมเปิล และรสกล้วย-ถั่ว มีเบเกิลมากกว่า 3 ล้านชิ้นที่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา โดยเบเกิลส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นมักจะมีรสหวาน คล้ายกับในสหรัฐอเมริกา
รูปแบบในยุคใหม่
[แก้]ในขณะที่เบเกิลในยุคก่อนนั้นจะทำมาจาก ยีสต์ข้าวสาลี ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เบเกิลมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น โดยเบเกิลในยุคใหม่นั้นทำมาจากแป้งที่ผสมพัมเพอร์นิกเคล, ข้าวไรย์, ซอร์โด, รำข้าว, ธัญพืช และ ขนมปังมัลติเกรน ในรูปแบบอื่น ๆ นั้นจะเป็นการเปลี่ยนรสชาติของตัวแป้ง ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้กันแพร่หลายคือ บลูเบอร์รี, เกลือ, หอมใหญ่, กระเทียม, ไข่, อบเชย, ลูกเกด, ช็อกโกแลตชิป, เนยแข็ง หรืออาจจะเป็นส่วนผสมอื่น ๆ ในบางครั้ง เบเกิลสีเขียว ถูกผลิตขึ้นมาสำหรับ วันเซนต์แพทริก
ในปัจจุบันร้านขายเบเกิลนิยมที่จะขายเบเกิลที่มีรสชาติของช็อกโกแลตชิพ และ ขนมปังปิ้งแบบฝรั่งเศส เบเกิลแบบแซนด์วิช ได้รับความนิยมตั้งแต่ช่วงปลายยุค 1990 โดยร้านเบเกิลอย่าง บรึกเกอส์ และ ไอน์สไตน์บราเธอส์ รวมไปถึงร้านอาหารขายจานด่วนอย่าง แมคโดนัลด์ เบเกิลสามารถทานเป็นอาหารเช้าได้ ซึ่งจะถูกผลิตออกมาในรูปแบบพิเศษ โดยจะมีความนุ่มของแป้งและความหวานที่มากกว่าเบเกิลทั่วไป ซึ่งจะวางขายในรสผลไม้และรสหวาน (เช่น เชอร์รี, สตรอว์เบอร์รี, เนยแข็ง, บลูเบอร์รี, อบเชย-ลูกเกด, ช็อกโกแลตชิพ, น้ำเชื่อมเมเปิล, กล้วย และ ถั่ว) ส่วนใหญ่นั้นจะวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ อีกทั้งยังขายในรูปแบบของแผ่น เพื่อที่จะสะดวกต่อการนำไปปิ้งอีกด้วย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Definition: Beigel, retrieved from Dictionary.com website July 11, 2011
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Encyclopædia Britannica (2009) Bagel, retrieved February 24, 2009 from Encyclopædia Britannica Online
- ↑ Simpletoremember.com (2001). "World Jewish Population, Analysis by City". สืบค้นเมื่อ 2008-02-17.
- ↑ Nathan, Joan (2008) A Short History of the Bagel: From ancient Egypt to Lender's Slate, posted Nov. 12, 2008
- ↑ Columbia University NYC24 New Media Workshop website History of the Bagel: The Hole Story เก็บถาวร 2011-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, retrieved February 24, 2009.
- ↑ various. "Battle of Vienna: Culinary Legends". Battle of Vienna. Wikipedia. สืบค้นเมื่อ 3 August 2014.
- ↑ Filippone, Peggy Trowbridge. Bagel History: Bagels date back to the 1600s, About.com website, retrieved March 27, 2013.
- ↑ Altschuler, Glenn C. (2008) Three Centuries of Bagels, a book review of: 'The Bagel: The Surprising History of a Modest Bread', by Balinska, Maria, Yale University Press, 2008, Jewish Daily Press website, published on-line November 05, 2008 in the issue of November 14, 2008
- ↑ Zinovy Zinic, 'Freelance, ' in Times Literary Supplement, Nov., 18, 2011 p.16.
- ↑ Davidson, Alan (2006). Oxford Companion to Food (2nd ed.). Oxford, England: Oxford University Press. p. 49. ISBN 9780192806819. สืบค้นเมื่อ 3 August 2014.
- ↑ Merriam-Webster's Dictionary definition of 'bagel', Merriam-Webster Inc. online, 2009, retrieved 2009-04-24;
- ↑ Webster's New World College Dictionary definition of 'bagel', Wiley Publishing Inc., Cleveland, 2005, retrieved 2009-04-24;
- ↑ Klagsburn, Francine. "Chewing Over The Bagel’s Story", The Jewish Week, July 8, 2009. Accessed July 15, 2009.
- ↑ Hevesi, Dennis (2012-03-22). "Murray Lender, Who Gave All America a Taste of Bagels, Dies at 81". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2012-04-19.
- ↑ Rothman, Lily (2012-03-23). "Murray Lender, the man who brought bagels to the masses". Washington Post. สืบค้นเมื่อ 2012-04-19.
- ↑ Space Shuttle mission STS-124; International Space Station Expedition 17.
- ↑ CTV.ca Montreal-born astronaut brings bagels into space เก็บถาวร 2008-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Sun. Jun. 1 2008 7:29 PM ET; CTV National News - 1 June 2008 - 11pm TV newscast;
- ↑ The Gazette (Montreal), Here's proof: Montreal bagels are out of this world เก็บถาวร 2008-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Block, Irwin, Tuesday June 3, 2008, Section A, Page A2;
- ↑ Reinhart, P., The Bread Baker's Apprentice. Ten Speed Press, 2001, p. 115.
- ↑ Jonathan, Croswell. How to Keep a Bagel Moist, Aug 8, 2011.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 21.5 21.6 Consumer Reports (July 2012). "Top Bagels - Bagel Buying Guide". consumerreports.org. สืบค้นเมื่อ 6 March 2014.
- ↑ Spiegel, Alison (May 6, 2014). "Bagel Wars: Montreal vs. New York-Style Bagels". Huffington Post. สืบค้นเมื่อ January 17, 2015.
- ↑ Horowitz, Ruth (October 17, 2006). "The Hole Truth: Vermont's Bagel Bakers Answer The Roll Call". Seven Days. สืบค้นเมื่อ June 9, 2011.
- ↑ Arumugam, Nadia. "Taste Test: Dunkin' Donuts' "Fake" Artisan Bagels vs Real Artisan Bagels". FORBES. Forbes. สืบค้นเมื่อ January 1, 2014.
- ↑ "Hometown Bagel, Inc". สืบค้นเมื่อ 2012-04-20.
- ↑ Mitzewich, John (August 6, 2012). "San Francisco-Style Bagels – Taking Things to a Hole New Level". Food Wishes. Blogger. สืบค้นเมื่อ August 7, 2012.
- ↑ Sahillioğlu, Halil. “Osmanlılarda Narh Müessesesi ve 1525 Yılı Sonunda İstanbul’da Fiyatlar”. Belgelerle Türk Tarihi 2 [The Narh Institution in the Ottoman Empire and the Prices in Istanbul in Late 1525. Documents in Turkish History 2] (Kasım 1967) : 56
- ↑ Ünsal, Artun. Susamlı Halkanın Tılsımı.[The Secret of the Ring with Sesames] İstanbul: YKY, 2010: 45
- ↑ Evliya Çelebi Seyahatnâmesi Kitap I. [The Seyahatname Book I] (Prof. Dr. Robert Dankoff, Seyit Ali Kahraman, Yücel Dağlı). İstanbul: YKY, 2006: 231
- ↑ Jean Brindesi, Illustrations de Elbicei atika. Musée des anciens costumes turcs d'Istanbul, Paris: Lemercier, [1855]
- ↑ Alexander Van Millingen, Constantinople (London: Black, 1906) http://www.gutenberg.org/files/39620/39620-h/39620-h.htm
- ↑ Allen, Thomas B. (March 1996). Xinjiang. National Geographic Magazine, p. 36–37