ทศวรรษที่สาบสูญ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ |
ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น |
---|
ทศวรรษที่สาบสูญ (ญี่ปุ่น: 失われた10年; โรมาจิ: Ushinawareta Jūnen) เป็นความซบเซาทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นจากการล้มลงของภาวะฟองสบู่ขึ้นในตลาดสินทรัพย์ในช่วงท้าย ค.ศ. 1991 นักวิจารณ์ใช้ถ้อยคำว่า "ทศวรรษที่สาบสูญ" เมื่อกล่าวถึงภาวะทางเศรษฐกิจในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990[1] ขณะที่ "20 ปีที่สาบสูญ" (失われた20年) และ "30 ปีที่สาบสูญ" (失われた30年) จะใช้เมื่อกล่าวถึงภาวะทางเศรษฐกิจในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2000 และ คริสต์ทศวรรษ 2010 ตามลำดับ[2][3][4]
ตั้งแต่ ค.ศ. 1991 ถึง ค.ศ. 2003 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเมื่อวัดด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นั้นเติบโตเพียง 1.14% ทุกปี ขณะที่อัตราการเติบโตจริงเฉลี่ยระหว่าง ค.ศ. 2000 ถึง 2010 อยู่เพียงที่ 1% ซึ่งถือว่าอยู่ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ[5][4] หนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเกิดมาจากวิกฤตการณ์การเงินในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ค.ศ. 2008 ประกอบกับแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ ใน ค.ศ. 2011 และ การระบาดทั่วของโควิด-19 ใน ค.ศ. 2020 ซึ่งทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและก่อความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น
ตลอดช่วง ค.ศ. 1995 ถึง ค.ศ. 2007 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ของประเทศญี่ปุ่นจาก 5.33 ล้านล้าน ตกลงมาอยู่ที่ 4.36 ล้านล้าน[6] ค่าจ้างแท้จริงตกลงมาที่ประมาณ 5%[7] ขณะที่ประเทศในภาพรวมประสบกับปัญหาระดับราคาหยุดนิ่ง[8] ในปี 2024 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค จากการที่ GDP หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สูญเสียตำแหน่งประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลกให้เยอรมนี[9]
ในปัจจุบันมีการถกเถียงกันในประเด็นเกี่ยวกับขอบข่ายและเกณฑ์วัดการถดถอยของญี่ปุ่น[10][11] ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากทศวรรษที่สาบสูญถูกยอมรับอย่างดี และผู้กำหนดนโยบายของญี่ปุ่นยังต้องต่อสู้กับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา
สาเหตุ
[แก้]จากปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ได้ยุติลงอย่างกะทันหันในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เนื่องจากปลายทศวรรษ 1980 เศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่เกิดจากนโยบายการเติบโตของสินเชื่อที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นผ่านกลไกนโยบายที่เรียกว่า "Window guidance" [12][13] ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ชื่อพอล ครุกแมนอธิบายว่า "ธนาคารของญี่ปุ่นนั้นปล่อยสินเชื่อมากกว่าธนาคารอื่น ๆ และยังมีการคำนึงถึงเครดิตผู้กู้น้อยกว่าธนาคารอื่น ๆ ด้วย การทำเช่นนั้นทำให้ธนาคารเหล่านี้เป็นตัวการขยายเศรษฐกิจฟองสบู่จนมีสัดส่วนที่แปลกประหลาด" [14] นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ริชาร์ด เวอร์เนอร์ กล่าวว่าแรงกดดันจากภายนอก เช่น ข้อตกลงพลาซา รวมถึงนโยบายของกระทรวงการคลัง (ญี่ปุ่น)ในการลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไม่เพียงพอที่จะอธิบายการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น [12][13]
จากความพยายามที่จะลดการเก็งกำไรและควบคุมอัตราเงินเฟ้อธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นจึงขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อย่างรวดเร็วในปลายปี 1989 [15]นโยบายที่เฉียบขาดนี้ทำให้เกิดฟองสบู่แตกและเกิดสภาวะตลาดหุ้นล้มในญี่ปุ่นดัชนีราคาหุ้นและสินทรัพย์ลดลง ส่งผลให้ธนาคารและบริษัทประกันภัยของญี่ปุ่นเกิดหนี้เสียค้างจำนวนมากส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อธนาคารซบเซา[16] สถาบันการเงินได้รับการช่วยเหลือผ่านการระดมทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นและได้รับเงินกู้ยืมสินเชื่อราคาถูกจากธนาคารกลาง แต่ก็ทำให้เสียความตระหนักจากการบริหารงานที่เสี่ยงต่อการขาดทุนเพราะหากขาดทุนธนาคารเหล่านั้นก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลและในที่สุดก็กลายเป็นธนาคารซอมบี้ (ธนาคารซอมบี้ หมายถึง บริษัทที่มีหนี้สินจำนวนมาก และไม่มีความสามารถที่จะสร้างกำไรเพื่อนำมาชำระหนี้ได้ แต่ยังสามารถทำธุรกิจต่อได้ด้วยความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากรัฐบาลหรือธนาคารกลาง) [17] บทความจากบลูมเบิร์ก นิวส์ที่เขียนโดยยัลมาน โอนารานซึ่งเป็นนักข่าวการเงินระบุว่าธนาคารซอมบี้นั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของความซบเซาทางเศรษฐกิจที่ยาวนานของญี่ปุ่น[18] ไมเคิล ชูแมนจากนิตยสารไทม์เขียนว่า "ธนาคารเหล่านี้ทำการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่บริษัทซอมบี้โดยที่ไม่ได้สร้างผลตอบแทนอะไรเลย โดยให้เหตุผลว่าบริษัทใหญ่เกินกว่าจะล้มละลาย" บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่มีหนี้สินจำนวนหมาศาลไม่สามารถอยู่รอดได้หากไม่มีเงินสนับสนุน ไมเคิล ชูแมนเชื่อว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาจนกว่ารัฐบาลจะหยุดให้เงินช่วยเหลือแก่บริษัทซอมบี้เหล่านี้[19]
ในที่สุดบริษัทที่ล้มเหลวหลายแห่งก็อยู่ไม่ยั่งยืนทำให้เกิดการควบรวมกิจการตามมา ส่งผลให้เกิดธนาคารระดับชาติสี่แห่งในญี่ปุ่น บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งมีภาระหนี้สินจำนวนมากการขอสินเชื่อจากธนาคารปกติจึงทำได้ยากลำบากผู้ต้องการกู้ยืมจึงใช้บริการซาราคิน (บริษัทเงินทุนให้กู้ไมโครไฟแนนซ) สำหรับอัตราดอกเบี้ยในญี่ปุ่นก็อยู่ในระดับต่ำในปี 2012 อัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 0.1%[20] อัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มต่ำกว่า 1% ตั้งแต่ปี 1994[21]
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
[แก้]แม้ภาคเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงทศวรรษปี 2000 แต่ภาคการบริโภคเพื่อแสดงสถานะ (การบริโภคสินค้าที่มีความหรูหรา)[22] ก็ยังไม่กลับไปเท่าช่วงทศวรรษปี 1980 บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า โซนี่ พานาโซนิค ชาร์ป และโตชิบาที่เคยครองอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1990 ในภาคการผลิตของตน ต้องต่อสู้กับการแข่งขันจากบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะกับเกาหลีใต้และจีนที่ขึ้นมาแข่งขันได้อย่างดีในทศวรรษที่ 2000 จากสถิติในปี 1989 บริษัทที่มีมูลค่าตลาดใหญ่ 50 อันดับแรกของโลกมีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นถึง 32 แห่ง แต่ใน ค.ศ. 2018 เหลือเพียงบริษัทโตโยต้าบริษัทเดียวที่ยังคงอยู่ใน 50 อันดับแรก[23] บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งได้เปลี่ยนรูปแบบพนักงานไปเป็นพนักงานชั่วคราวที่มีความมั่นคงในการทำงานน้อยลงและได้รับสวัสดิการน้อยกว่าเดิม คาดว่าในปี ค.ศ. 2009 มีพนักงานในรูปแบบชั่วคราวนี้มากกว่าหนึ่งในสามของกำลังแรงงานทั้งหมดในญี่ปุ่น[24] ค่าจ้างของแรงงานซบเซาลงมากแทบไม่เพิ่มตั้งแต่ปี 1997 อัตราค่าจ้างที่แท้จริงลดลงประมาณ 13% ภายในปี 2013[7]ซึ่งเป็นอัตราลดลงที่ไม่เคยมีมาก่อนในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จากการสำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการพบว่ารายได้ของครัวเรือนชาวญี่ปุ่นในปี 2010 ลดลงเทียบเท่ากับรายได้ครัวเรือนในปี 1987[25] จากข้อมูลของ เทโกกุ ดาด้าแบงค์ (teikoku databank) ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดอันดับที่มีความน่าเชื่อถือที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นพบว่ายอดขายรวมของบริษัททั้งหมดในญี่ปุ่นหดตัวลงราว 3.9% ในปี 2010 เมื่อเทียบกับปี 2000 หรือสูญเสียมูลค่าไป 13,848.2 พันล้านเยน[26]
เศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่นยังคงอยู่ในกระบวนการฟื้นตัวจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 1991 และช่วง "ทศวรรษที่สาบสูญ" โดยใช้เวลาถึง 12 ปีในการฟื้นตัวให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ให้กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับปี ค.ศ. 1995 สัญญาณที่เด่นเจนยิ่งขึ้นของปัญหาเศรษฐกิจคือญี่ปุ่นได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวอย่างต่อเนื่อง ในปี 1991 GDP per capita ของญี่ปุ่นสูงกว่าของออสเตรเลีย 14% แต่ในปี 2011 GDP per capita ของญี่ปุ่นกลับลดลงต่ำกว่าของออสเตรเลีย 14% [27]ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานที่ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ โดยในปี 1990 ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 6 ของกลุ่มประเทศ G7 และมีอันดับสูงกว่าสหราชอาณาจักร แต่ในปี 2021 ผลิตภาพแรงงานของญี่ปุ่นกลับลดลงมาอยู่ในอันดับสุดท้ายของกลุ่ม G7 และอันดับที่ 29 จาก 38 ประเทศสมาชิกของ OECD[28]
กว่า 25 ปีหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ญี่ปุ่นยังคงเผชิญผลกระทบจาก "ทศวรรษที่สาบสูญ" มาอย่างต่อเนื่อง แต่มีนักการเมืองหลายคนพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในนั้นคือ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่เข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2012 เขาได้เสนอแผนเศรษฐกิจที่เรียกว่า อาเบะโนมิกส์ ซึ่งประกอบด้วย "ลูกศรสามดอก" เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อต่ำ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแรงงาน และรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ[29] ในช่วงแรก นักลงทุนตอบรับแผนนี้อย่างดี ดัชนีหุ้น Nikkei 225 เพิ่มขึ้นถึง 20,000 จุดในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2015 จากจุดต่ำสุดราว 9,000 จุดใน ค.ศ. 2008 ธนาคารกลางญี่ปุ่นตั้งเป้าเงินเฟ้อผู้บริโภคไว้ที่ 2% แต่ความสำเร็จในช่วงแรกกลับถูกขัดขวางจากการขึ้นภาษีการขายเพื่อปรับสมดุลงบประมาณรัฐบาล[30] อย่างนั้นผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปยังไม่ชัดเจนนัก ผลสำรวจจาก เกียวโด นิวส์ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2014 พบว่า 73% ของชาวญี่ปุ่นยังไม่รู้สึกถึงผลของนโยบายอาเบะโนมิกส์โดยตรง และมีเพียง 28% เท่านั้นที่คาดว่าจะได้ขึ้นเงินเดือน ขณะเดียวกัน 70% ของผู้ตอบสำรวจกำลังพิจารณาลดการใช้จ่ายหลังจากการขึ้นภาษีการบริโภค[31]
ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2020 เมื่อญี่ปุ่นเริ่มประสบกับการระบาดของโควิด-19 จุน ไซโตะ จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่นกล่าวว่าผลกระทบของการระบาดใหญ่เป็น "การซ้ำเติมครั้งสุดท้าย" ต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซามาเป็นเวลานาน หลังจากก่อนหน้านี้ได้กลับมาเติบโตอย่างช้า ๆ ในปี ค.ศ. 2018 [32]
แปลความหมาย
[แก้]นักเศรษฐศาสตร์ พอล ครุกแมน ได้ให้เหตุผลว่าทศวรรษที่สาบสูญของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างของกับดักสภาพคล่อง อธิบายได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ผู้กำหนดนโยบายการเงินไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก เนื่องจากอยู่ในระดับใกล้ศูนย์แล้ว ครุกแมนอธิบายถึงขนาดของฟองสบู่สินทรัพย์ในญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1990 ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มาก โดยในช่วงทศวรรษ 1980 ราคาที่ดินและตลาดหุ้นได้เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าในช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการออมส่วนบุคคลที่สูงมาก มีสาเหตุมาจากโครงสร้างประชากรสูงวัย ส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นจำต้องพึ่งพาการกู้ยืมจากธนาคารแบบดั้งเดิม แทนการระดมทุนผ่านตลาดทุนด้วยการออกหุ้นหรือตราสารหนี้ เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างบริษัทและธนาคาร รวมถึงการค้ำประกันโดยนัยว่ารัฐบาลจะเข้ามาอุ้มระบบเงินฝากธนาคารหากเกิดปัญหา จากเหตุผลดังกล่าวจึงเกิดเป็นหาอันตรายบนศีลธรรมตามมา นำไปสู่ทุนนิยมแบบพวกพ้อง และการลดมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ฟองสบู่ทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว [14]
ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใน ค.ศ. 1990 ส่วนหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงจากฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ ในปี ค.ศ. 1991 ราคาที่ดินและตลาดหุ้นก็เริ่มปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยในเวลาไม่กี่ปี ราคาทรัพย์สินเหล่านี้ได้ลดลงถึง 60% จากจุดสูงสุด[14]
นักเศรษฐศาสตร์ ริชาร์ด คู ได้เขียนว่า "ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่" ของประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มขึ้นในปี 1990 เป็นภาวะถดถอยของงบดุลเกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปจากการมีภาระหนี้จนส่งผลให้คนไม่กล้าใช้จ่าย เกิดจากการที่ราคาที่ดินและหุ้นตกลงอย่างรุนแรง ทำให้บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากประสบปัญหาทางการเงิน แม้ว่ารัฐบาลจะลดดอกเบี้ยเป็นศูนย์และเพิ่มปริมาณเงินในระบบเพื่อกระตุ้นการกู้ยืม แต่บริษัทของญี่ปุ่นกลับเลือกชำระหนี้จากรายได้ของตัวเอง แทนที่จะกู้เงินเพื่อนำไปลงทุน ส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ GDP ลดลงถึง 22% ระหว่างปี 1990 ถึงปี 2003 นับแต่ปี 1998 เป็นต้นมา บริษัทญี่ปุ่นภาพรวมมักเก็บออมแทนที่จะเป็นผู้กู้ยืม ชาร์ด คู เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านการกู้เงินและการใช้จ่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยรักษาระดับ GDP ของญี่ปุ่นไว้ได้ และป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนักเหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในช่วงนั้น GDP ของสหรัฐฯ ลดลงถึง 46% ในแง่ของญี่ปุ่น ริชาร์ด คู มองว่านโยบายการเงินใช้ไม่ได้ผลในสถานการณ์นี้ เพราะบริษัทต่าง ๆ มุ่งเน้นการลดหนี้มากกว่าการกู้ยืมและลงทุน ในภาวะถดถอยของงบดุล GDP จะลดลงในปริมาณที่เท่ากับการชำระหนี้และการออม ส่งผลให้การใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลายเป็นมาตรการแก้ไขหลัก [33][34]
นักเศรษฐศาสตร์ สก็อตต์ ซัมเนอร์ กลับมองต่างออกไป โดยเชื่อว่านโยบายการเงินของญี่ปุ่นในช่วงที่เรียกว่า "ทศวรรษที่สาบสูญ" เข้มงวดเกินไป และเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวช้า[35][36][37][38]
ส่วน ฟูมิโอะ ฮายาชิ และ เอ็ดเวิร์ด เพรสคอตต์ เห็นว่า ปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมาเกิดจากการเติบโตของผลิตภาพรวมที่ต่ำ ซึ่งแตกต่างจากคำอธิบายทั่วไปที่มุ่งเน้นไปที่ปัญหาวิกฤตสินเชื่อหลังจากการล่มสลายของฟองสบู่สินทรัพย์ ทั้งสองศึกษาประเด็นนี้โดยอ้างอิงหลักฐานที่แสดงว่า แม้ภาคธนาคารญี่ปุ่นจะเผชิญความยากลำบากในช่วงเศรษฐกิจซบเซาแต่ในภาพรวมบริษัทต่างๆ ยังคงสามารถเข้าถึงเงินทุนสำหรับการลงทุนได้อย่างเพียงพอ ฮายาชิและเพรสคอตต์กล่าวว่าการลงทุนที่ลดลงของภาคเอกชนในญี่ปุ่นควรถูกอธิบายด้วยเหตุที่ว่าเกี่ยวกับระดับความต้องการลงทุนที่ต่ำมากกว่าข้อจำกัดทางสินเชื่อ [39][40]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Hayashi Prescott" (PDF).
- ↑ Leika Kihara (August 17, 2012). "Japan eyes end to decades long deflation". Reuters. สืบค้นเมื่อ September 7, 2012.
- ↑ "円は一段と上昇か、日本は次の失われた10年に直面-ムーディーズ". Bloomberg.com (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2020-10-18.
- ↑ 4.0 4.1 "「失われた30年」に向かう日本". Newsweek日本版 (ภาษาญี่ปุ่น). 2010-12-23. สืบค้นเมื่อ 2020-10-18.
- ↑ Nielsen, Barry. "The Lost Decade: Lessons From Japan's Real Estate Crisis". Investopedia (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-05-26.
- ↑ "Japanese GDP, nominal".
- ↑ 7.0 7.1 "Waging a New War". March 9, 2013.
- ↑ "Inflation Japan - CPI inflation".
- ↑ "ญี่ปุ่นสูญตำแหน่งอันดับ Top 3 เศรษฐกิจโลก หลัง GDP หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส เข้าสู่ภาวะถดถอย". THE STANDARD. 16 February 2024.
- ↑ Fingleton, Eamonn (January 6, 2012). "The Myth of Japan's Failure". The New York Times.
- ↑ Fingleton, Eamonn (January 12, 2012). "Video interview on BBC News with Eamonn Fingleton". BBC News, 5 min. 26 sec.
- ↑ 12.0 12.1 Werner, Richard (2005). New Paradigm in Macroeconomics. doi:10.1057/9780230506077. ISBN 978-1-4039-2074-4.
- ↑ 13.0 13.1 Werner, Richard A. (2002). "Monetary Policy Implementation in Japan: What They Say versus What They Do". Asian Economic Journal. 16 (2): 111–151. doi:10.1111/1467-8381.00145.
- ↑ 14.0 14.1 14.2 Krugman, Paul (2009). The Return of Depression Economics and the Crisis of 2008. W.W. Norton Company Limited. ISBN 978-0-393-07101-6.
- ↑ "Japan Raised Interest Rates". Reuters via The New York Times. December 25, 1989.
- ↑ Princes of the Yen. Japan's Central Bankers and the Transformation of the Economy. quantumpublishers.com. 2003.
- ↑ "รู้จัก "Zombie Company" บริษัทผีดิบ ในโลกของธุรกิจ". www.longtunman.com. 27 October 2022. สืบค้นเมื่อ 2 March 2024.
- ↑ Onaran, Yalman (2011-11-25). "Kill the zombie banks!". Salon Media Group. สืบค้นเมื่อ 2013-01-16.
- ↑ Schuman, Michael (2008-12-19). "Why Detroit Is Not Too Big to Fail". Time Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-23. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
- ↑ Ohno, Kenichi. "Economic Development of Japan". National Graduate Institute for Policy Studies. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-14. สืบค้นเมื่อ 3 April 2011.
- ↑ "Bank of Japan Interest Rates".
- ↑ "เมื่อมือถือเป็นมากกว่ามือถือ: รู้จักกับตลาดมือถือหรู | Blognone". www.blognone.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 4 March 2024.
- ↑ "昭和という「レガシー」を引きずった平成30年間の経済停滞を振り返る". ダイヤモンド・オンライン (ภาษาญี่ปุ่น). 20 August 2018. สืบค้นเมื่อ 2020-10-18.
- ↑ Tabuchi, Hiroko (2009-02-22). "When Consumers Cut Back: An Object Lesson From Japan". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-05-11.
- ↑ "世帯所得、昭和に逆戻り…10年平均538万円". 日本経済新聞 電子版 (ภาษาญี่ปุ่น). 5 July 2012. สืบค้นเมื่อ 2020-10-18.
- ↑ 田中秀臣 『日本経済復活が引き起こすAKB48の終焉』 主婦の友社、2013年、84頁。
- ↑ "The Japanese Tragedy". The Economist Blog.
- ↑ "労働生産性の国際比較 | 調査研究・提言活動". 公益財団法人日本生産性本部 (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2023-10-17.
- ↑ "The third arrow". 28 June 2014.
- ↑ "Inflation in Japan rises to 30-year high". 27 June 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-12.
- ↑ "Over 70% of Japanese not feeling benefits of Abenomics". AFP. 27 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 February 2014. สืบค้นเมื่อ 28 January 2014.
- ↑ Huang, Eustance (7 April 2020). "Japan's economy has been dealt the 'final blow' by the coronavirus pandemic, says analyst". CNBC. สืบค้นเมื่อ 7 April 2020.
- ↑ Koo, Richard (2009). The Holy Grail of Macroeconomics-Lessons from Japan's Great Recession. John Wiley & Sons (Asia) Pte. Ltd. ISBN 978-0-470-82494-8.
- ↑ White, Gregory. "Richard Koo's Awesome Presentation On The Real Reason Why This Recession Is Completely Different". Business Insider.
- ↑ Sumner, Scott. "Why Japan's QE didn't "work"". The Money Illusion. สืบค้นเมื่อ 24 November 2014.
- ↑ Sumner, Scott. "More evidence that the BOJ is not trying to create inflation". The Money Illusion. สืบค้นเมื่อ 24 November 2014.
- ↑ Sumner, Scott. "Rooseveltian Resolve". The Money Illusion. สืบค้นเมื่อ 24 November 2014.
- ↑ Sumner, Scott. "The other money illusion". The Money Illusion. สืบค้นเมื่อ 24 November 2014.
- ↑ Hayashi, Fumio; Prescott, Edward (2002). "The 1990s in Japan: A Lost Decade". Review of Economic Dynamics (ภาษาอังกฤษ). 5 (1): 206–235. doi:10.1006/redy.2001.0149.
- ↑ Dept, International Monetary Fund External Relations (1 January 2002). "Interview with Edward Prescott: Japan's prolonged slowdown parallels sharp decline in productivity growth". IMF Survey (ภาษาอังกฤษ). 31 (6). doi:10.5089/9781451934359.023.A005 (inactive 1 November 2024).
{{cite journal}}
: CS1 maint: DOI inactive as of พฤศจิกายน 2024 (ลิงก์)