ข้ามไปเนื้อหา

ตำบลหน้าถ้ำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำบลหน้าถ้ำ
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันTambon Na Tham
ประเทศไทย
จังหวัดยะลา
อำเภอเมืองยะลา
พื้นที่
 • ทั้งหมด9.18 ตร.กม. (3.54 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2561)
 • ทั้งหมด3,315[1] คน
 • ความหนาแน่น361.11 คน/ตร.กม. (935.3 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 95000
รหัสภูมิศาสตร์950110
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

หน้าถ้ำ หรือภาษามลายูปัตตานีว่า บาโย[2] เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา มีพื้นที่ 9.18 ตารางกิโลเมตร[3] เป็นตำบลที่มีขนาดและประชากรน้อยที่สุดของอำเภอเมืองยะลา[4] ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธ[2] และเป็นที่ตั้งของวัดคูหาภิมุข ศาสนสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดยะลา[5]

ประวัติ

[แก้]

ตำบลหน้าถ้ำมีร่องรอยของการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังพบหลักฐานภาพเขียนที่ถ้ำศิลป จนถึงยุคประวัติศาสตร์ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 เพราะพบว่าถ้ำหลายแห่งในตำบลนี้มีร่องรอยของการดัดแปลงเป็นพุทธสถานแบบมหายาน[2] ก่อนถูกทิ้งให้โรยราไป

ราวสองร้อยปีก่อน มีประชาชนเข้ามาลงหลักปักฐาน ณ ตำบลหน้าถ้ำ โดยอพยพมาจากจังหวัดปัตตานี, สงขลา และพัทลุง[2] โดยชนกลุ่มแรกที่ตั้งถิ่นฐานนั้นเป็นชาวไทยเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลาม กระทั่งในปี พ.ศ. 2392 ชาวมุสลิมบ้านหน้าถ้ำได้ค้นพบพระพุทธรูปในถ้ำคูหาภิมุข ครั้นชาวจีนและไทยพุทธบ้านเปาะเส้งทราบข่าวจึงได้ขอเจรจาแลกเปลี่ยนพื้นที่ตั้งชุมชนกับชาวมุสลิมเพราะตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณพุทธสถานที่ไม่ใช่สิ่งที่ตนนับถือ ด้วยเหตุนี้ชาวมุสลิมบ้านหน้าถ้ำจึงย้ายไปอยู่ที่บ้านเปาะเส้ง และชาวพุทธเปาะเส้งก็ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านหน้าถ้ำจนถึงปัจจุบัน[6] ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีชาวไทยพุทธจากเมืองยะหริ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่นี่ 10 ครัวเรือน และได้ขออนุญาตจากเจ้าเมืองยะลาเพื่อสร้างวัดหน้าถ้ำ[2] ที่ต่อมาจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดคูหาภิมุข"[5][7]

ส่วนชื่อบาโย ในภาษามลายูปัตตานีนั้นมีความหมายว่า "ต้นพรากวาง" ซึ่งมีมากบนเขาหน้าถ้ำ[2]

มีการจัดตั้งบ้านหน้าถ้ำเป็นตำบลหน้าถ้ำเมื่อปี พ.ศ. 2540[3]

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

ตำบลหน้าถ้ำอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมืองยะลา มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้[8]

ประชากร

[แก้]

ตำบลหน้าถ้ำมีประชากรทั้งหมด 3,315 คน แบ่งเป็นชาย 1,674 คน และเป็นหญิง 1,641 คน (สำรวจเมื่อ พ.ศ. 2561)[1] ประชากรประกอบไปด้วยชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยเชื้อสายมลายู ในปี พ.ศ. 2553 มีการประมาณการว่าประชากรร้อยละ 70 นับถือศาสนาพุทธ อาศัยอยู่ในบ้านหน้าถ้ำและบ้านหน้าถ้ำเหนือ และร้อยละ 30 นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ในบ้านบันนังลูวาและบ้านกูแบอีเต๊ะ (บาเต๊ะ)[2] มีมัสยิดจำนวนสามแห่งและวัดหนึ่งแห่ง[9] ทั้งนี้ชาวพุทธและชาวมุสลิมต่างรักใคร่สนิทสนมกันดี เมื่อชาวพุทธมีงานบุญชาวมุสลิมก็จะมาเยี่ยมชมงาน หากมีงานบุญที่มัสยิดชาวพุทธก็มีส่วนร่วมในการจัดขบวนแห่ ทั้งยังให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่เสมอ อาทิชาวมุสลิมบริจาคที่ดินเพื่อสร้างถนนเข้าถ้ำศิลปสำหรับพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยไม่คิดมูลค่า[2]

ประเพณีของชาวพุทธในตำบลนี้มีความใกล้เคียงกับชาวพุทธในภาคใต้ทั่วไป เช่น วันสงกรานต์ งานบุญชักพระ ชิงเปรต และลอยกระทง แต่ไม่คึกคักดังเก่าเนื่องจากมีเหตุการณ์ความไม่สงบ และยกเลิกงานประกวดนางนพมาศ[10]

ด้านการศึกษา มีโรงเรียนประถมศึกษาสองแห่ง ได้แก่โรงเรียนวัดหน้าถ้ำ (พุทธไสยานุสรณ์) และโรงเรียนบ้านบันนังดูวา และตาดีกาอีกสามแห่ง[9]

ภูมิศาสตร์

[แก้]

ตำบลหน้าถ้ำเป็นตำบลขนาดเล็ก มีพื้นที่ทั้งหมด 9.18 ตารางกิโลเมตร[3] และห่างจากตัวเมืองยะลาเพียง 8 กิโลเมตร[11] พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมทุกปีซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้สำหรับเกษตรกรรม[8] มีภูเขาหินปูนสองลูกคือภูเขาหน้าถ้ำ (บูเกะบาโย) และภูเขากำปั่น (บูเกะตาแป) มีถ้ำที่มีชื่อเสียงอาทิ ถ้ำสำเภา และถ้ำมณโฑ[7] รวมไปถึงถ้ำที่เป็นโบราณสถานของท้องถิ่น ได้แก่ ถ้ำพระนอน, ถ้ำ ป.ป.ร., ถ้ำมืด, ถ้ำศิลป และถ้ำเสือ[2]

เศรษฐกิจ

[แก้]

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกไม้ผล และยางพารา[8] ที่บ้านหน้าถ้ำเหนือบางครอบครัวเก็บมูลค้างคาวขายเป็นอาชีพเสริมด้วย[7] เฉพาะในบ้านหน้าถ้ำจะมีพัฒนาการดุจสังคมเมืองเป็นหมู่บ้านใหญ่เพราะมีวีดคูหาภิมุขเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ชาวบ้านมีการศึกษาดี และมีอาชีพค่อนข้างหลากหลาย[2]

เขตการปกครอง

[แก้]

ตำบลหน้าถ้ำ แบ่งเขตการปกครองเป็น 4 หมู่บ้าน[2] และมีประชากรเมื่อ พ.ศ. 2561 ดังนี้[1]

หมู่ที่ ชื่อหมู่บ้าน จำนวนครัวเรือน ประชากร
1 บ้านหน้าถ้ำ 289 864 คน
2 บ้านบันนังลูวา 134 698 คน
3 บ้านกูแบอีเต๊ะ (บาเต๊ะ) 179 904 คน
4 บ้านหน้าถ้ำเหนือ 179 849 คน
รวม 886 3,315 คน

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 "รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2561". กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 ทรัยนุง มะเด็ง และอื่น ๆ. "ในท้องถิ่นยาลอ". ยาลอเป็นยะลา ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและคนรุ่นใหม่ในเมืองและปริมณฑลเมืองยะลา, หน้า 158-168
  3. 3.0 3.1 3.2 "องค์การบริหารส่วนตำบลหน้าถ้ำ – อำเภอเมืองยะลา – จังหวัดยะลา". องค์การบริหารส่วนตำบล. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "บรรยายสรุปข้อมูลอำเภอเมืองยะลา". ที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-14. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 เอกรักษ์ ศรีรุ่ง (21 มีนาคม 2556). ""วัดหน้าถ้ำ" โบราณสถานบนปลายด้ามขวานที่ถูกลืม". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-18. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. ทรัยนุง มะเด็ง และอื่น ๆ. "ในท้องถิ่นยาลอ". ยาลอเป็นยะลา ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและคนรุ่นใหม่ในเมืองและปริมณฑลเมืองยะลา, หน้า 154
  7. 7.0 7.1 7.2 ทรัยนุง มะเด็ง และอื่น ๆ. "ในท้องถิ่นยาลอ". ยาลอเป็นยะลา ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและคนรุ่นใหม่ในเมืองและปริมณฑลเมืองยะลา, หน้า 120-121
  8. 8.0 8.1 8.2 "สภาพทั่วไป". องค์การบริหารส่วนตำบลหน้าถ้ำ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-10. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 "สภาพด้านสังคม". องค์การบริหารส่วนตำบลหน้าถ้ำ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. ทรัยนุง มะเด็ง และอื่น ๆ. "ในท้องถิ่นยาลอ". ยาลอเป็นยะลา ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและคนรุ่นใหม่ในเมืองและปริมณฑลเมืองยะลา, หน้า 194-199
  11. "ข้อมูลตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ยะลา". ไทยตำบลดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-28. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานุกรม
  • วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และอื่น ๆ. ยาลอเป็นยะลา ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและคนรุ่นใหม่ในเมืองและปริมณฑลเมืองยะลา. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2553. ISBN 978-616-7070-28-5