ตงฟางหง (ภาพยนตร์)
ตงฟางหง | |
---|---|
กำกับ | หวัง ผิง หลี่ เอินเจี๋ย |
สร้างจาก | ตงฟางหง (ละครเวทีปี 1964) โดยโจว เอินไหล |
อำนวยการสร้าง | โจว เอินไหล |
นักแสดงนำ | Tseten Dolma หวัง คุน กัว หลานอิง |
บริษัทผู้สร้าง | |
วันฉาย |
|
ความยาว | 117 นาที |
ประเทศ | จีน |
ภาษา | จีนกลาง, ทิเบต |
ตงฟางหง (จีนตัวย่อ: 东方红; จีนตัวเต็ม: 東方紅; พินอิน: Dōngfāng Hóng) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า บูรพาแดง: มหากาพย์เพลงและการเต้นรำ เป็นภาพยนตร์จีนที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1965 กำกับโดยหวัง ผิง โดยดัดแปลงมาจากอุปรากรที่จัดทำขึ้นโดยโจว เอินไหล เป็นประวัติย่อของการปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของขบวนการ 4 พฤษภาคม จนถึงสงครามกลางเมืองกับพรรคก๊กมินตั๋ง และสิ้นสุดที่ชัยชนะของคอมมิวนิสต์และการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน[1] ภาพยนตร์เรื่องนี้มีจำหน่ายทั่วไปในปัจจุบันทั้งในรูปแบบแผ่นซีดีและวีดีโอ รวมถึงสามารถเข้าถึงได้ทางออนไลน์พร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษ
ภูมิหลัง
[แก้]บริบททางประวัติศาสตร์
[แก้]ตงฟางหง เดิมทีเป็นเพลงรักของชาวนาที่กลายมาเป็นเพลงปลุกใจในการต่อต้านญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นบทเพลงสรรเสริญเหมา เจ๋อตง เขียนขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 ในรูปแบบเพลงพื้นบ้าน ในปี ค.ศ. 1938 เพลงนี้ถูกปรับเนื้อร้องเพื่อปลุกเร้าผู้คนในการต่อสู้กับผู้รุกรานชาวญี่ปุ่น หลังจากเหมาได้ขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงต้นทศวรรษที่ 1940 เพลงนี้ก็ได้ถูกเรียบเรียงใหม่โดยครูคนหนึ่ง[2]
แรงบันดาลใจและการสร้าง
[แก้]ในปี ค.ศ. 1960 พลเอก หลัว รุ่ยชิง เจ้ากรมเสนาธิการกองทัพปลดปล่อยประชาชน และพลอากาศเอก หลิว ย่าโหลว ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ได้เดินทางเยือนประเทศเกาหลีเหนือ ในระหว่างการเยือน ฝ่ายเกาหลีได้จัดการแสดงเพลงและการเต้นรำขนาดใหญ่ชื่อว่า "สามพันไมล์แห่งขุนเขาและแม่น้ำ" ซึ่งเนื้อหาของการแสดงดัดแปลงมาจากบทเพลงและการเต้นรำในช่วงสงครามเป็นส่วนใหญ่ ระหว่างการเดินทางกลับประเทศจีน กองบัญชาการภูมิภาคทหารเฉิ่นหยางได้จัดงานเลี้ยงฉลองและแสดงบทเพลงปฏิวัติสี่บทเพลง
หลังจากกลับมายังประเทศจีน หลิว ย่าโหลว มีแนวคิดที่จะสร้างงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติโดยใช้บทเพลงปฏิวัติที่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน ซึ่งเขาเชื่อว่าจะสามารถสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชนในช่วงเวลาสามปีที่ยากลำบากได้ ในสิ้นปี ค.ศ. 1960 คณะการเมืองและวัฒนธรรมทางอากาศได้ส่งนักประพันธ์เพลง อาทิ จาง ฉือเซี่ย จู เจี้ยนยฺเหวียน เหยา ยฺเว่เฉิง เฉิน เจี๋ย และคนอื่น ๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการรวบรวมบทเพลงต่าง ๆ บทละครชื่อ "ประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์" ได้ถูกจัดทำขึ้นและมอบให้แก่หลิว ต่อมา ตามข้อเสนอแนะของนิ่ว ฉาง ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "การขับร้องเพลงประวัติศาสตร์การปฏิวัติ" และเริ่มนำไปแสดงต่อสาธารณชน[3]
หลังจากที่โจว เอินไหลได้ชมการแสดงดังกล่าวในวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1964 เขาก็ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ โถงซีฮฺวา จงหนานไห่ และมีมติให้ดำเนินการโครงการการแสดงดนตรี และได้ตั้งชื่อการแสดงนี้ว่า "ตงฟางหง" วันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1964 ตงฟางหงได้รับการแสดงเป็นครั้งแรก ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี วันชาติ หวัง ผิง เป็นผู้อำนวยการสร้างและกำกับภาพยนตร์[4] ทำการแสดงโดยคณะนาฏศิลป์พื้นบ้านนกกระยางน้อย[5]
ตามบทความที่ตีพิมพ์โดยผู้ผลิตหลักของตงฟางหง อาทิ เฉิน ย่าติ้ง อั้น ปั๋ว และคนอื่น ๆ ผู้ที่รับผิดชอบการร่างรูปแบบพื้นฐานของมหากาพย์นี้จะต้องศึกษาผลงานของเหมาเสียก่อน และใช้แนวคิดของลัทธิเหมาเป็นแนวทางหลักของโครงการ ผู้แสดงของมหากาพย์นี้ได้นำคติพจน์ของเหมาไปติดไว้ในสถานที่ซ้อม[6]
เนื้อเรื่อง
[แก้]ตงฟางหงถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตงตั้งแต่การก่อตั้งพรรคในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1921 จนถึงการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ. 1949 รายละเอียดของละครเพลงนี้ได้กล่าวถึงหลายเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น การกรีธาทัพขึ้นเหนือ การสังหารหมู่ที่เซี่ยงไฮ้ โดยพรรคก๊กมินตั๋งในปี ค.ศ. 1927 การก่อกำเริบหนานชาง และการก่อตั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชน การเดินทัพทางไกล การรบแบบกองโจรของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในช่วงแนวร่วมที่สอง (ในช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง) การโค่นล้มรัฐบาลแห่งชาติของสาธารณรัฐจีนบนจีนแผ่นดินใหญ่โดยกองทัพปลดปล่อยประชาชนในช่วงท้ายของสงครามกลางเมืองจีน และการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949
ตงฟางหงแบ่งออกเป็นตอนต่าง ๆ ดังนี้:
- ดอกทานตะวันหันหน้าสู่พระอาทิตย์ เป็นตอนโหมโรง การปูพื้นและนำเสนอภาพรวมของเรื่องราวที่จะตามมา และกล่าวถึงสภาพการณ์ของประเทศจีนก่อนเกิดเหตุการณ์สำคัญ
- รุ่งอรุณแห่งตะวันออก กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ การตื่นตัวของประชาชน และการก่อตั้งกลุ่มต่าง ๆ ที่ต่อต้านระบบเก่า
- ประกายไฟลุกไหม้ทุ่งหญ้า กล่าวถึงเหตุการณ์ที่จุดชนวนให้เกิดการปฏิวัติ การขยายตัวของขบวนการ และการเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่าง ๆ
- หมื่นผาพันธาร กล่าวถึงการต่อสู้ที่ยาวนานและยากลำบากของผู้คน การเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่าง ๆ และการเผชิญหน้ากับศัตรูที่แข็งแกร่ง
- สัญญาณแห่งการต่อต้านญี่ปุ่น กล่าวถึงบทบาทของการปฏิวัติจีนในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น และการรวมพลังของประชาชนในการต่อต้านผู้รุกราน
- ฝังราชวงศ์เจียง กล่าวถึงการโค่นล้มระบอบเก่า และการสิ้นสุดอำนาจของพรรคก๊กมินตั๋ง
- ประชาชนจีนได้ยืนขึ้นแล้ว เป็นตอนจบที่แสดงให้เห็นถึงชัยชนะของการปฏิวัติจีน และการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ฉากเพิ่มเติมอีกสองฉากจากตอนจบของละคร คือ "มาตุภูมิเดินหน้า" และ "โลกเดินหน้า" นั้นได้ถูกตัดออกจากการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในระหว่างการถ่ายทำตามคำแนะนำของเหมา เจ๋อตง
การดัดแปลงเป็นภาพยนตร์
[แก้]ไม่นานหลังจากการแสดงรอบปฐมทัศน์ โจวก็มีความคิดที่จะนำการแสดงบนเวทีมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1965 โจว เอินไหล ได้เชิญศิลปินภาพยนตร์จากสภาประชาชนแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีน รวมถึงสมาชิกคณะผู้กำกับการแสดงของตงฟางหง มาประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์ที่มหาศาลาประชาชน
ในการประชุมครั้งนั้น เจียง ชิงได้แสดงความเห็นส่วนตัวว่า "ฉันมีความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการนำบทละครเพลงและการเต้นรำขนาดใหญ่เรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ เพราะตงฟางหงยังขาดความต่อเนื่องและความสอดคล้องกันเพียงพอ ผลงานทางศิลปะยังดูเรียบ ๆ และความหวังในปฏิวัติยังไม่เด่นชัดพอ"[7] ถึงแม้จะมีอุปสรรคดังกล่าว ผู้กำกับก็ยังคงดำเนินการตามแผนการเดิม โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทภาพยนตร์สามแห่ง ได้แก่ บริษัทของหวัง ผิง ผู้ร่วมกำกับอย่างหลี่ เอินเจี๋ย และสตูดิโอภาพยนตร์ 1 สิงหาคม การถ่ายทำเสร็จสิ้นลงในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1965 และได้เข้าฉายในวันชาติของปีเดียวกันนั่นคือวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1965 แม้ว่าภาพยนตร์จะยังคงรักษาโครงเรื่องของบทละครดั้งเดิมซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ตอนที่บรรยายประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ก็มีการตัดบางฉากออกไป[8][9]
เพลงประกอบ
[แก้]- วงดุริยางค์ วงดนตรี และคณะนักร้องประสานเสียง – บทโหมโรง: "บูรพาแดง" (พร้อมการเต้นรำ)
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และคณะนักร้องประสานเสียง – "ลมเหนือเดือนตุลาคม"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และคณะนักร้องประสานเสียง – "บนทุ่งหญ้าที่เต็มไปด้วยหิมะ"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และคณะนักร้องประสานเสียง – "กรรมกร ชาวนา และทหาร ร่วมใจกัน!"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และนักร้องหญิงคู่ – "(สำหรับกองทัพแดง) รองเท้าไม้หูหนาน"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และนักร้องประสานเสียงชาย – "สามข้อกฏเกณฑ์ แปดข้อพึงระวัง" (ดัดแปลงมาจากเพลงสรรเสริญทหารจีน)
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และคณะนักร้องประสานเสียง – "มองดูดาวเหนือ"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และคณะนักร้องประสานเสียง – "ข้ามแม่น้ำต้าตู้" (พร้อมการเต้นรำ)
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และนักร้องเดี่ยวหญิง – "บทเพลงของชาวอี๋"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และนักร้องประสานเสียงชาย – "กองทัพรวมกันแล้ว (กองทัพแดงจงเจริญ)"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี คณะนักร้องประสานเสียง และนักร้องเดี่ยวชาย – "เดินทัพทางไกล"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และนักร้องเดี่ยว – "ริมแม่น้ำซงฮฺวา" (ลำนำนิทานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
- วงดุริยางค์ และวงดนตรี – "มาร์ชทหารอาสา" (การแสดงครั้งที่ 1)
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และคณะนักร้องประสานเสียง – "เพลงมหาวิทยาลัยการทหารและการเมืองต่อต้านญี่ปุ่น"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และคณะนักร้องประสานเสียง – "เพลงของกองโจร"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี นักร้องประสานเสียงสตรี และนักร้องเดี่ยว – "หนานหนีวาน"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และคณะนักร้องประสานเสียง – "ปกป้อมแม่น้ำเหลือง" จากคันตาตาแม่น้ำเหลือง
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และคณะนักร้องประสานเสียง – "สู่เบื้องหลังศัตรู"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และคณะนักร้องประสานเสียง – "สามัคคีคือพลัง"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และนักร้องประสานเสียงชาย – เพลงสรรเสริญกองทัพปลดปล่อยประชาชน
- วงดุริยางค์ วงดนตรี คณะนักร้องประสานเสียง และนักร้องคู่ – "กองทัพปลดปล่อยประชาชนยึดนครหนานจิง" (บทกวีบทหนึ่งของประธานเหมา)
- วงดุริยางค์ และวงดนตรี – "มาร์ชทหารอาสา" (การแสดงครั้งที่ 2) (เพลงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน เล่นในช่วงต้นของตอนที่ 6 ในฉากจัตุรัสเทียนอันเหมิน)
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และคณะนักร้องประสานเสียง – "ไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ ก็ไม่มีจีนใหม่"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และนักร้องเดี่ยวชาย – บทสรรเสริญ
- วงดุริยางค์ วงดนตรี นักร้องประสานเสียงสตรี และนักร้องเดี่ยว – "รัศมีแห่งประธานเหมา"
- ทาสนับล้านลุกขึ้น
- วงดุริยางค์ วงดนตรี และคณะนักร้องประสานเสียง – บทส่งท้าย: "บทกวีสรรเสริญมาตุภูมิ"
- วงดุริยางค์ วงดนตรี คณะนักร้องประสานเสียง และผู้ชม – "แองเตอร์นาซิอองนาล" (คำร้องโดยเออแฌน ปอตีเย ทำนองโดยปิแอร์ เดอ เกย์เตอร์ แปลเป็นภาษาจีนโดยฉฺวี ชิวไป๋) เฉพาะบทแรก
ในภาพยนตร์ เพลงเหล่านี้ได้รับการประกอบด้วยการแสดงและการเต้นรำที่เติมแต่งเกินจริง มีหลายฉากที่มีหญิงสาวเต้นรำชี้ปืน AK-47 นักร้องที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แก่ หวัง คุน ไฉต้าน จั๋วหม่า หู ซ่งหฺวา และกัว หลานอิง
การวิเคราะห์
[แก้]งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "音乐舞蹈史诗《东方红》成为经典的背后".
- ↑ Shu, He (2000). "Songs of the Cultural Revolution". China News Digest. 235.
- ↑ "《东方红》是怎么诞生的". 解放日报 (Liberation Daily). 2015.
- ↑ "Rethinking The East Is Red (1965) — 廻流 REDFLUX". zhuolanredflux.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-06-14.
- ↑ Jia, Xiaoxiao (2014). "谈群舞《东方红》构图中几何图形的变化之美". 科技资讯 (Science & Technology Information).
- ↑ Chen, Shuang (2009). "前奏、间奏与余响:文献与图像史料中的音乐舞蹈史诗《东方红》". 书城 (Book Town) (10): 5–17.
- ↑ "The Epic - The East Is Red". NetEase.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Shaw, Tristan (2019). "China's greatest propaganda film: Zhou Enlai's historical musical 'The East is Red'". SupChina.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2024-10-30.