ข้ามไปเนื้อหา

ฉบับร่าง:โรงเรียนประชาบดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
  • ความคิดเห็น: รายละเอียดดังนี้
    - ขาดการยืนยันความโดดเด่นของหัวเรื่อง ขาดอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่โรงเรียน
    - มีการใช้ภาษาไม่เป็นสารานุกรม เช่น “ความฝันของเด็กพิการเริ่มเด่นชัดในความเป็นจริง”, ”ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสานความฝันสำหรับอาคารเรียนเด็กพิการ“ เป็นต้น
    - เพิ่มเติม: กรุณาลบลิงค์บทความพุทธศักราชทั้งหมด, แก้คำว่าพุทธศักราชเป็น พ.ศ. ทั้งหมด Chainwit. พูดคุย 〉 03:31, 6 ธันวาคม 2567 (+07)

โรงเรียนประชาบดี เป็นโรงเรียนเอกชนการกุศล ประเภทการศึกษาพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ที่ 78/5 หมู่ 1 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี [1]

โรงเรียนประชาบดี
Prachabodee School
ที่ตั้ง

ประเทศไทย
ข้อมูล
ชื่ออื่นบ.ป. , PCBD
ประเภทโรงเรียนการศึกษาพิเศษ เอกชนการกุศล
คติพจน์เป็นคนดี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
สถาปนา6 พฤษภาคม 2548 (19 ปี 282 วัน)
หมายเลข1112100110
ผู้อำนวยการนางสาวเยาวลักษณ์ ไวยธารี
ผู้รับใบอนุญาตนายพฤฒินันท์ เหลืองไพบูลย์
ผู้จัดการนายพฤฒินันท์ เหลืองไพบูลย์
ประธานนักเรียนนายพรหมประสิทธิ์ ศรีหะไกร
ประธานเครือข่ายผู้ปกครองนางสาวขณิดา คัณฑิสุวรรณ
ชั้นเรียนที่เปิดสอนระดับปฐมวัย ถึงระดับประถมศึกษา
พื้นที่2 ไร่ 95 ตารางวา
สี   สีม่วง – สีน้ำเงิน
สัญลักษณ์พระประชาบดี
เว็บไซต์https://www.prachabodee.ac.th

ประวัติโรงเรียน

[แก้]

โรงเรียนประชาบดี เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 สถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด ได้ให้ดำเนินการอุปการะเลี้ยงดูและฟื้นฟูปรับสภาพความพิการของเด็กพิการผู้ด้อยโอกาส เพื่อสามารถช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด และปัจจัยสำคัญที่จะเป็นหนทางนำเด็กพิการไปสู่การพึ่งพาเลี้ยงตนเองได้นั้น คือการศึกษา ซึ่งสถานสงเคราะห์ได้ริเริ่มให้การศึกษาแก่เด็กพิการ ตั้งแต่ยังไม่เป็นรูปธรรม เนื่องจากปัญหาอุปสรรคทั้งในด้านตัวเด็กพิการ ครูผู้สอน และด้านอาคารสถานที่ สำหรับปัญหาในตัวเด็กพิการ ได้แก่ สภาพความพิการของเด็กสถานสงเคราะห์ ส่วนใหญ่เป็นลักษณะพิการซ้ำซ้อน และช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากขาดการส่งเสริมให้มีพัฒนาการที่ถูกต้อง สำหรับปัญหาด้านครูที่สถานสงเคราะห์ เป็นครูสามัญ ไม่มีความรู้ทางด้านการศึกษาพิเศษสอนเด็กพิการโดยตรง นอกจากนั้นในด้านอาคารสถานที่เรียนยังไม่เอื้ออำนวยต่อสภาพการเรียนการสอนอีกด้วย เช่น สภาพห้องเรียนเป็นเพิงโปร่งไม่มีฝากั้น ต้องใช้โรงจอดรถเป็นห้องเรียน และห้องเรียนกระจัดกระจายไม่เป็นสัดส่วน บางห้องอบอ้าว คับแคบ เป็นอุปสรรคต่อการเรียนของเด็กที่มีสภาพความพิการที่หลากหลาย

ในปี พ.ศ. 2524 สถานสงเคราะห์ ได้ขอความร่วมมือไปยังกองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการสอนเด็กพิการและทุพพลภาพ ปากเกร็ด ส่งครูการศึกษาพิเศษ มาช่วยจัดการเรียนการสอนแก่เด็กพิการ ขณะเดียวกันสถานสงเคราะห์ได้ส่งบุคลากรเข้าอบรมหลักสูตรการศึกษาพิเศษ มีผลช่วยให้เด็กพิการได้รับการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ และเด็กพิการได้รับโอกาสพัฒนาความสามารถขั้นเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียนภายนอกอีกทั้งผู้ที่มีสภาพความพิการอย่างรุนแรงไม่สามารถไปเรียนภายนอกก็ได้รับโอกาสการเรียนการสอนวัดผลความรู้ในสถานสงเคราะห์ด้วย

สถานสงเคราะห์ฯ สามารถแก้ปัญหาด้านเด็กพิการและครูผู้สอนได้แล้ว แต่มีปัญหาด้านอาคารสถานที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนของเด็กพิการอยู่มาก เนื่องจากสถานสงเคราะห์ขาดงบประมาณในการจัดสร้างอาคารเรียนที่เหมาะสม ดังนั้นในปี พ.ศ. 2526 สถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด จึงได้จัดทำโครงการสร้างอาคารเรียนภายในสำหรับเด็กพิการในสถานสงเคราะห์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กพิการในสถานสงเคราะห์ ได้มีอาคารที่เหมาะสมกับสภาพความพิการ และเตรียมความพร้อมด้านการเรียนก่อนที่จะออกไปเรียนยังโรงเรียนภายนอก สำหรับงบประมาณในการจัดสร้างอาคารในระยะแรกเป็นเงินๆ ประมาณสามล้านบาท สถานสงเคราะห์ได้ดำเนินการรณรงค์หาเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา โดยมีผู้มีจิตศรัทธาสร้างสานความฝันสำหรับอาคารเรียนเด็กพิการ จากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เริ่มจากสถานสงเคราะห์ได้จัดทำระฆังเซรามิคเพ้นท์ โดยฝีมือเด็กพิการออกจำหน่ายใบละยี่สิบบาทมีคำเชิญชวนด้วยบทกลอนจากใจเด็กพิการจารึกอยู่ข้างกล่องระฆังนี้

                              เสียงระฆัง        ดังสัญญาณ     การศึกษา

                              ส่งสัญญาณ     ความเมตตา     คือการให้

                              สละทรัพย์       ซื้อระฆัง          ให้ดังไกล

                              เพื่อช่วยให้       พวกหนูนี้         มีโรงเรียน

เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี แห่งสหราชอาณาจักร วางศิลาฤกษ์อาคารเรียนโรงเรียนประชาบดี

ในการนี้ผู้มีจิตศรัทธาให้ความร่วมมือสนับสนุนช่วยนำไปจำหน่ายจำนวนมากเกินความคาดหมาย ประกอบกับมีผู้ร่วมกันจัดทอดผ้าป่าสามัคคีหารายได้สมบททุนสร้างอาคารเรียนจากคณะรวมน้ำใจ ผู้มีจิตศรัทธาบางท่านได้อนุเคราะห์รวบรวมเงินจากคนไทยในสหรัฐอเมริกาส่งมาช่วยเหลือ และอีกหลายท่าน สร้างความปลาบปลื้มที่ความกรุณาหลั่งไหลเข้ามาสู่เด็กพิการในสถานสงเคราะห์

ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2530 เริ่มการวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนโรงเรียนประชาบดี โดยเจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี แห่งสหราชอาณาจักร[2]

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนโรงเรียนประชาบดี
พิธีเปิดอาคารเรียนโรงเรียนประชาบดี

แต่เนื่องจากความต้องการที่จะเป็นโรงเรียนเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กพิการที่สมบูรณ์ เป็นแห่งแรกของกรมประชาสงเคราะห์ จึงได้มีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อหาข้อสรุปในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้แบบอาคารที่เหมาะสม และเอื้อประโยชน์กับสภาพความพิการของเด็กในสถานสงเคราะห์ให้ได้มากที่สุด จึงไม่มีการปรับปรุงแบบอาคารและในขณะเดียวกันราคาวัสดุก่อสร้างอาคารเรียนปรับตัวสูงขึ้นถึงเจ็ดล้านห้าแสนบาท จึงต้องมีการรณรงค์หาเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนเพิ่มเติมจนครบ การก่อสร้างโรงเรียนจึงเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2534 โดยสถานสงเคราะห์ฯ ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการ ในการก่อสร้างและการตกแต่งภายในอาคารจึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 รวมระยะเวลาในการเพียรพยายามสร้างโรงเรียนเตรียมความพร้อมเด็กพิการแห่งนี้ถึง 9 ปี

ในวันที่ 2 กันยายน 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนโรงเรียนประชาบดี และได้ทำการเปิดบริการแก่เด็กพิเศษทุกประเภท ในสถานสงเคราะห์ต่างๆใกล้เคียง พร้อมทั้งเด็กพิเศษในชุมชนใกล้เคียง โดยจัดการศึกษาให้กับนักเรียนเป็น 2 ระดับ คือ ปฐมวัยและประถมศึกษา โดยเฉพาะนักเรียนระดับประถมศึกษาได้ประสานกับโรงเรียนประชาสงเคราะห์บ้านปากเกร็ด

ในปี พ.ศ. 2544 กรมประชาสงเคราะห์มีความประสงค์จะโอนภารกิจด้านการศึกษาให้กับกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการการศึกษาหาแนวทางและรูปแบบสำหรับการจัดตั้งโรงเรียนเพื่อดำเนินการ แต่เนื่องจากโรงเรียนประชาบดี ไม่ได้จัดตั้งเป็นโรงเรียน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (กรมประชาสงเคราะห์) จึงได้ดำเนินการจัดตั้งเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ในปี พ.ศ. 2548 ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 โรงเรียนประชาบดีได้รับอนุญาต ให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนเอกชน มาตรา 15 (3) ประเภทสามัญศึกษา โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนประชาบดี” ตั้งอยู่เลขที่ 78/5 ซอยติวานนท์ – ปากเกร็ด 1 หมู่ 1 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เปิดสอนระดับปฐมวัย ถึงประถมศึกษา เปิดทำการสอนตั้งแต่ เวลา 08.30 ถึง 16.30 นาฬิกา พักกลางวันตั้งแต่ 12.00 ถึง 13.00 นาฬิกา บริเวณโรงเรียนมีเนื้อที่จำนวน 2 ไร่ 95 ตารางวา ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของกระทรวงศึกษาธิการ รับนักเรียนได้ไม่เกิน 240 คน จำนวน 9 ห้องเรียน รับนักเรียนประเภทไป - กลับ อายุ 5 – 15 ปี ในหนึ่งปีการศึกษา แบ่งภาคเรียนออกเป็น 2 ภาค ภาคต้นตั้งแต่ 16 พฤษภาคม ถึง 10 ตุลาคม ภาคปลายตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน ถึง 31 มีนาคม วันหยุดประจำสัปดาห์ วันเสาร์ - อาทิตย์ โรงเรียนเปิดทำการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2548[3]

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

[แก้]

ตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

[แก้]
ตราโรงเรียนประชาบดี

ตราของโรงเรียน เป็นแบบรูปวงกลมวงซ้อนกันระหว่างเส้นรอบวงของวงกลมทั้งสอง ด้านบนมีชื่อ “โรงเรียนประชาบดี” และด้านล่างเป็นชื่อ “อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี” เป็นที่ตั้งของโรงเรียนภายในวงกลมเป็นลายโปร่งมีสัญลักษณ์ พระประชาบดี ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ครู นักเรียน และผู้ปฏิบัติงาน[4]

รายนามครูใหญ่และผู้อำนวยการโรงเรียนประชาบดี[4]

[แก้]
ลำดับ ภาพ รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง
1 นางพเยาว์ บังผล พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2560
2 นางสมมารถ จิตยุติ พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2562
3 นางสาวเยาวลักษณ์ ไวยธารี พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

[แก้]

นางสาวอรวรรณ ฉิมแป้น นักกีฬากรีฑาพาราลิมปิกทีมชาติไทย[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. pubhtml5.com. "แนะนำโรงเรียนประชาบดี". Pubhtml5.
  2. pubhtml5.com. "คู่มือนักเรียนและผู้ปกครอง". Pubhtml5.
  3. Chucheep Rungsomret (2012-10-08), โรงเรียนประชาบดี (บ้านนนทภูมิ) HD PCBD 2.avi, สืบค้นเมื่อ 2024-10-05
  4. 4.0 4.1 pubhtml5.com. "สารสนเทศโรงเรียนประชาบดี 2565". Pubhtml5 (ภาษาอังกฤษ).
  5. "'ประวัติ' ควบวีลแชร์ผงาดแชมป์โซโล 2022 'อรวรรณ' วิ่งคว้าทอง 400 ม." มติชน.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]