ฉบับร่าง:พระโพธิธรรมาจารย์เถร (สุวัจ สุวโจ)
นี่คือบทความฉบับร่างซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแก้ไขได้ โปรดตรวจสอบว่าเนื้อหามีลักษณะเป็นสารานุกรมและมีความโดดเด่นควรแก่การรู้จักก่อนที่จะเผยแพร่เป็นบทความลงในวิกิพีเดีย กรุณาอดทนรอผู้เขียนคนอื่นมาช่วยตรวจให้ อย่าย้ายหน้าไปเป็นบทความเองโดยพลการ ค้นหาข้อมูล: Google (books · news · newspapers · scholar · free images · WP refs) · FENS · JSTOR · NYT · TWL สำคัญ: ถ้าลบป้ายนี้ออกจะทำให้บันทึกหน้าไม่ได้ ผู้แก้ไขหน้านี้คนล่าสุด คือ G789G (พูดคุย | เรื่องที่เขียน) เมื่อ 5 เดือนก่อน (ล้างแคช) |
พระโพธิธรรมาจารย์เถร วิ. (สุวัจ สุวโจ,ทองศรี) | |
---|---|
ชื่ออื่น | ท่านเจ้าคุณสุวัจ |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2462 (83 ปี) |
มรณภาพ | 5 เมษายน พ.ศ. 2545 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | ป.4,น.ธ.โท |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดป่าเขาน้อย (จังหวัดบุรีรัมย์) (ติดเขตวนอุทยานเขากระโดง) จังหวัดบุรีรัมย์ |
อุปสมบท | พ.ศ. 2482 (มหานิกาย) พ.ศ. 2484 (ธรรมยุติกนิกาย) |
พรรษา | 62 |
ตำแหน่ง | อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าเขาน้อย (จังหวัดบุรีรัมย์) (ติดเชตวนอุทยานเขากระโดง) จังหวัดบุรีรัมย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าภูธรพิทักษ์ ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร อดีตประธานกรรมการคณะธรรมยุติกนิกายในประเทศสหรัฐอเมริกา |
พระโพธิธรรมาจารย์เถร วิ.(สุวัจ สุวโจ) เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าภูธรพิทักษ์ ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร,อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าเขาน้อย (จังหวัดบุรีรัมย์) (ติดเขตวนอุทยานเขากระโดง) ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์[1],อดีตประธานกรรมการคณะธรรมยุติกนิกายในประเทศสหรัฐอเมริกา
ชาติภูมิ
[แก้]พระโพธิธรรมาจารย์เถร วิ. (สุวัจ สุวโจ)[2] นามเดิมชื่อ อุง เปลี่ยนชื่อตัวใหม่เป็น สุวัจ ทองศรี เกิดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2462 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแม ภูมิลำเนาเดิม ณ ตำบลตากูก อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองขึ้นเป็น อำเภอเขวาสินรินทร์ โยมบิดาชื่อ นายบุตร ทองศรี โยมมารดาชื่อ นางกึ่ง ทองศรี ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน โดยมีพี่ชาย 2 คน และน้องสาว 2 คน
- ได้รับการขนานนามชื่อให้ใหม่ จากพระอุง สุวโจ ทองสี เป็นพระสุวัจ สุวโจ ทองสี จาก ท่านเจ้าคุณ พระธรรมฐิติญาณ (สังข์ทอง นาควโร) ป.ธ.5 เจ้าคณะตรวจการภาคอีสาน วัดสุทธจินดา อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เมตตาตั้งชื่อให้ใหม่ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2486
- วัยเด็กและการศึกษา
- เมื่ออายุถึงเกณฑ์ท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดกระพุมรัตน์ บ้านตากูก ตำบลตากูก อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ในสมัยนั้น จนจบชั้นประถมศึกษาบริบูรณ์ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนในสมัยนั้น และท่านได้อยู่ช่วยงานด้านเกษตรกรรมร่วมกับบิดามารดา และพี่ ๆ น้อง ๆ นอกจากนั้น ท่านได้มีโอกาสเรียนวิชาชีพกับช่างทองจนมีความรู้พอประกอบอาชีพได้
การบรรพชาและอุปสมบท
[แก้]- เมื่อปี พ.ศ. 2481 ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ 19 ปี ท่านก็ได้ขออนุญาตบิดามารดา บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดกระพุมรัตน์ บ้านตากูก วัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตำบลตากูก อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ในสมัยนั้น ท่านได้ตั้งใจศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม จนเมื่ออายุใกล้ครบบวช ซึ่งแม้ว่าการปฏิบัติธรรมของท่านในช่วงที่เป็นสามเณรอยู่นี้จะไม่นานนัก แต่ความศรัทธาต่อศาสนธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นได้หยั่งลงลึกในจิตใจท่าน และเพียงพอที่จะเกิดเป็นปณิธานภายในใจท่านว่า อย่างไรเสียท่านต้องอุปสมบท เพื่อประพฤติธรรมในสมณเพศนี้สืบไป ดังนั้นท่านจึงได้ของอนุญาตโยมบิดามารดาเพื่ออุปสมบท ซึ่งท่านทั้งสองก็ไม่ขัดข้องอย่างไรก็ดี ตอนนั้นเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวข้าวพอดี ประกอบกับเพื่อจะได้จัดการในเรื่องต่าง ๆ ก่อนที่จะอุปสมบท ท่านจึงได้ลาสิกขาบทจากสามเณรเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน
- เมื่อปี พ.ศ. 2482 อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบท เป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาอุโบสถวัดกระพุมรัตน์ บ้านตากูก ตำบลกูก อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย โดยมี พระครูธรรมธัชวิมล (ด้น เจริญสุข) เจ้าอาวาสวัดศาลาลอย[3] อำเภอเมืองสุรินทร์ เมื่อครั้งเป็นเจ้าคณะตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเคลือบ วัดดาวรุ่ง บ้านขาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอุเทน วัดกระพุมรัตน์ บ้านตากูก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามจากพระอุปัชฌาย์ ว่าสุวโจ หลังจากที่ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ในพรรษาแรกนั้นเอง ได้มีชาวบ้านบุแกรง อำเภอท่าตูม (ปัจจุบันคืออำเภอจอมพระ) จังหวัดสุรินทร์ พากันมาอาราธนาท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบุแกรง ซึ่งเป็นวัดร้าง ไม่มีพระอยู่จำพรรษา ต่อมาด้วยเห็นว่า หากจะอยู่ทำประโยชน์ไว้ในพระบวรพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จำเป็นที่ท่านต้องศึกษาเพิ่มเติม ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2483 หลังออกพรรษาแล้ว ท่านจึงเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา จนสอบได้นักธรรมชั้นตรีและนักธรรมโทในปี พ.ศ. 2483 และ 2484 ตามลำดับ
ทัฬหีกรรมเป็นพระภิกษุคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
[แก้]เมื่อในปี พ.ศ. 2484 ภายหลังที่ท่านสอบได้นักธรรมชั้นโทแล้ว เกิดมีศรัทธาหนักไปทางปฏิบัติจิตตภาวนา ทัฬหีกรรมญัตติใหม่สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาอุโบสถวัดสุทธจินดา อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยมีท่านเจ้าคุณ พระธรรมฐิติญาณ (สังข์ทอง นาควโร) ป.ธ.5 เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีพระทองดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ จากนั้น ท่านได้กลับไปจำพรรษา ณ วัดป่าศรัทธารวม เป็นเวลา 2 พรรษา ก่อนที่จะเริ่มต้นการเดินธุดงค์ในปี พ.ศ. 2486
การอยู่จำพรรษา
[แก้]- พ.ศ. 2486 วัดป่าพระสถิต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
- พ.ศ. 2487 วัดโยธาประสิทธิ์ บ้านห้วยเสนง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ (ในพรรษานี้ ท่านได้จำพรรษา ร่วมกับท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ประกอบกับได้ดูแลโยมบิดามารดา ซึ่งกำลังป่วยอยู่)
- พ.ศ. 2484 วัดป่าศรีไพรวัน อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้เดินธุดงค์ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ ข้ามเขาภูพาน ไปวัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อไปศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
- พ.ศ. 2489-2492 หลวงปู่มั่น ท่านพิจารณาเห็นว่าท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโรเป็นลูกศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ แต่ยังไม่มีผู้ดูแลอุปัฏฐากจึงมอบหมายให้ท่านพระสุวัจน์ไปเป็นพระอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์ฝั้น ในระยะเวลา 4 ปีนี้ ณ วัดป่าภูธรพิทักษ์ ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โดยในช่วงเวลาออกพรรษาของแต่ละปี พระสุวัจน์กราบลาท่านพระอาจารย์ฝั้นไปศึกษาธรรม และอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
- พ.ศ. 2493 วัดเทพกัลยาราม บ้านน้อยจอมศรี อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
- พ.ศ. 2494 วัดป่าพระสถิต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
- พ.ศ. 2495 สำนักสงฆ์ควนเขาดิน อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
- พ.ศ. 2496 วัดเจริญสมณกิจ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
- พ.ศ. 2497 วัดป่าภูธรพิทักษ์ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
- พ.ศ. 2498 วัดป่าปราสาทจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
- พ.ศ. 2499 วัดถาวรคุณาราม อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
- พ.ศ. 2500-2501 วัดป่าปราสาทจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
- พ.ศ. 2502 วัดถาวรคุณาราม อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
- พ.ศ. 2503 วัดป่าบ้านไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
- พ.ศ. 2504 วัดถาวรคุณาราม อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
- พ.ศ. 2505 สำนักสงฆ์ถ้ำขาม ตำบลบ้านไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
- พ.ศ. 2506 วัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร
- พ.ศ. 2507 วัดถาวรคุณาราม อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
- พ.ศ. 2508 วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
- พ.ศ. 2509-2514 วัดป่าภูธรพิทักษ์ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
- พ.ศ. 2515-2524 สำนักสงฆ์ถ้ำศรีแก้ว ตำบลสร้างค้อ อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร
- พ.ศ. 2525-2526 สำนักสงฆ์ (ชั่วคราว) เมืองซีแอตเติ้ล มลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2527 สำนักสงฆ์ (ชั่วคราว) เมืองแอนนาไฮม์ฮิล มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2528 สำนักสงฆ์ป่าธรรมชาติ เมืองลาพวนเต้ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2529 สำนักสงฆ์นอร์ธแซนฮวน เมืองซาคราเมนโต้ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2530-2533 วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2534 วัดเมตตาวนาราม เมืองแวลเลย์เซ็นเตอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2535 วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2536-2538 วัดเมตตาวนาราม เมืองแวลเลย์เซ็นเตอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2539 วัดป่าเขาน้อย (เขากระโดง) ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
- พ.ศ. 2540 วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2541-2545 วัดป่าเขาน้อย (เขากระโดง) ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
การปกครองบริหารกิจการคณะสงฆ์
[แก้]- ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดสกลนครธรรมยุต ให้ดำรงตำแหน่งทางพระสังฆาธิการเป็นเจ้าอาวาส ประเภทวัดราษฎร์ วัดป่าภูธรพิทักษ์ ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
- พ.ศ. 2529 ตามหนังสือที่ 26/2529 ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2529 ได้รับการแต่งตั้งจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย ให้ดำรงตำแหน่ง เป็นพระอุปัชฌาย์
- พ.ศ. 2529 ตามหนังสือที่ 9/2529 ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2529 ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย ให้ดำรงตำแหน่ง เป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุติกนิกายในประเทศสหรัฐอเมริกา
- ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ธรรมยุต ให้ดำรงตำแหน่งทางพระสังฆาธิการเป็นเจ้าอาวาส ประเภทวัดราษฎร์ วัดป่าเขาน้อย (จังหวัดบุรีรัมย์) (ติดเขตวนอุทยานเขากระโดง) ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
ลำดับสมณศักดิ์
[แก้]- วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2532 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงสมณศักดิ์ ฐานานุกรม พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ในพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) ป.ธ.9 วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ฐานานุศักดิ์ราชทินนามที่ พระครูปลัดสุวัฒนญาณคุณ มนุญธรรมานุนายก ปิฎกวิภูสิต
- วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระโพธิธรรมาจารย์เถร (สย.วิ.)[4]
ศาสนกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา
[แก้]นับแต่ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตจากคณะสงฆ์ไทย ในปี พ.ศ. 2525 เพื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านได้ปฏิบัติศาสนกิจนี้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างวัดภูริทัตตวนาราม และวัดเมตตาวนาราม มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้เป็นที่ประพฤติปฏิบัติธรรมตามแบบอย่างของวัดกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และพุทธศาสนิกชนชาวสหรัฐอเมริกาหนึ่งในจำนวนนั้นได้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ถวายปัจจัยแด่ท่าน เพื่อซื้อที่ดินบนเขา เนื้อที่ 60 เอเคอร์ (ประมาณ 150 ไร่) คิดเป็นเงิน 700,000 ดอลล่าร์ (ประมาณ 17,500,000 บาท) ให้เป็นสถานที่บำเพ็ญภาวนาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งก็คือ วัดเมตตาวนาราม เมืองแวลเลย์เซ็นเตอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
มรณภาพ
[แก้]พระโพธิธรรมาจารย์เถร วิ. (สุวัจ สุวโจ) ท่านมีปัญหาเรื่องปอดไม่แข็งแรงมานานแล้วในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมา องค์หลวงปู่ท่านต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคปอดติดเชื้อมาตลอด (ประมาณ 4-5 ครั้ง) ครั้งสุดท้ายก่อนที่ท่านจะละสังขารนี้ องค์หลวงปู่เข้ามารักษาองค์ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพมหานคร และหัวใจท่านได้หยุดเต้นไปแต่เป็นบุญที่คณะแพทย์และพยาบาลได้ถวายการรักษาได้ทันท่วงทีจึงสามารถช่วยท่านไว้ได้ ตลอดระยะเวลาที่ทำการรักษาองค์หลวงปู่มักจะปรารภเนือง ๆ ว่าท่านอยากกลับไปวัด จนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2545 องค์หลวงปู่แข็งแรงขึ้นมากและแพทย์เห็นสมควรให้ท่านเดินทางกลับบุรีรัมย์ได้ หลวงปู่ท่านสดใสมาก เมื่อได้กลับไปที่วัดป่าเขาน้อย อาการท่านก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ แข็งแรงมากพอที่จะไปโปรดญาติโยมที่วัดป่าปราสาทจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ได้ หลวงปู่เมตตาพำนักที่วัดป่าปราสาทจอมพระและแสดงธรรมโปรดญาติโยมประมาณ 1 อาทิตย์คือช่วงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2545 ถึง 20 มีนาคม พ.ศ. 2545 จึงได้กลับเดินทางกลับวัดป่าเขาน้อย[5] หลังจากที่หลวงปู่ท่านเดินทางกลับมาพำนักที่เขาน้อยได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียมาก จนต้องพาท่านเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนบุรีรัมย์ หลังจากที่ท่านได้เข้าไปรักษาตัวได้ 2 วัน อาการดีขึ้นมาก แพทย์ที่ถวายการรักษา ขอดูอาการ ซึ่งหากไม่ทรุดลงไปก็จะอนุญาตให้กลับวัดได้ อาการของหลวงปู่ ก็เริ่มทรุดลงเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2545 และอาการหนักในคืนวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2545 เนื่องจากโรคปอดติดเชื้อที่แทรกซ้อนขึ้นมา เช้าวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2545 เป็นวันที่ศิษยานุศิษย์ใกล้ชิดและแพทย์ต้องตัดสินใจ แพทย์แนะนำให้เจาะคอองค์หลวงปู่แต่เมื่อประชุมกันแล้ว ลงความเห็นว่าไม่สมควรเจาะคอ เพราะจะเพียงแค่ยืดอายุขัยท่าน แต่ก็จะทรมานองค์หลวงปู่มากมาย แพทย์หลาย ๆ คนพยายามติดต่ออาจารย์หมอที่ชำนาญทางปอดเพื่อให้เดินทางมาถวายการรักษาที่บุรีรัมย์ ประมาณช่วงเที่ยงวันนั้นองค์หลวงปู่ท่านแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ที่จะละสังขารด้วยการค่อย ๆ ถอนให้เห็น โดยปกติคนที่ป่วยหนัก ค่าต่าง ๆ ที่แสดงถึงความมีชีวิตอยู่อาทิ ความดัน ชีพจร ฯลฯ จะ fluctuate แต่ขององค์หลวงปู่ท่านจะคงที่ ค่อย ๆ ลดลงเป็นลำดับให้เห็นว่าองค์ท่านควบคุมได้ และไม่ประสงค์จะครองสังขารอีกต่อไป คณะศิษยานุศิษย์จึงเตรียมนำองค์ท่านกลับคืนสู่วัด หากแต่ก็ไม่ทัน พระโพธิธรรมาจารย์เถร วิ. (สุวัจ สุวโจ) ถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบ ด้วยสติสัมปชัญญะที่พร้อมบริบูรณ์ เมื่อเวลา 13.12น. วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2545 สิริรวมอายุได้ 83 ปี, 62 พรรษา
- ได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ณ เมรุชั่วคราววัดป่าเขาน้อย (ติดเขตวนอุทยานเขากระโดง) ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ [6]โดยมี ท่านเจ้าคุณ พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) เจ้าอาวาสวัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ
- คณะศิษยานุศิษย์ ได้สร้างพระธาตุเจดีย์ศรีสุจนคุณานุสรณ์ และพิพิธภัณฑ์เจดีย์ศรีสุวจนคุณานุสรณ์ ไว้เป็นอนุสรณ์สถานที่รำลึก[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระโพธิธรรมาจารย์เถร ( สุวัจ สุวโจ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าเขาน้อย". www.kunmaebook.com.
- ↑ "สุวโจอนุสรณ์ (พระธรรมเทศนาคำสอน)". www.lungthong.com.
- ↑ "วัดศาลาลอย พระอารามหลวง". srn.onab.go.th.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๗, ตอนที่ ๒๔๒ ง, ๕ ธันวาคม ๒๕๓๓, หน้า ๖
- ↑ https://www.wongnai.com/attractions/434832Fm-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2/photos/dc81a2763b824aed874206443479a93a
- ↑ "หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่สุวัจ สุวโจ วัดป่าเขาน้อย จ.บุรีรัมย์". www.sumaleeoldbooks.com.
- ↑ "พระธาตุเจดีย์ศรีสุวจนคุณานุสรณ์ (วัดป่าเขาน้อย)". thai.tourismthailand.org (ภาษาอังกฤษ).