ข้ามไปเนื้อหา

ด่านสิงขร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จุดผ่อนปรนด่านสิงขร)

จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร
ด่านสิงขร
แผนที่
พื้นที่พรมแดนไทย (ขวา) และพม่า (ซ้าย)
ที่ตั้ง
ประเทศ ไทย,  พม่า
ที่ตั้ง
พิกัด11°47′21″N 99°38′34″E / 11.7892°N 99.6428°E / 11.7892; 99.6428
รายละเอียด
ดำเนินการโดย • กรมศุลกากร
 • สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ประเภทจุดผ่อนปรนพิเศษ

ด่านสิงขร หรือ จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร[1][2] เป็นด่านบริเวณชายแดนไทยที่ติดกับประเทศพม่า ในพื้นที่ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเภทจุดผ่อนปรนพิเศษ เป็นจุดที่แคบที่สุดของประเทศไทย โดยวัดจากฝั่งทะเลอ่าวไทย[3] เป็นตลาดการค้าชายแดนที่เป็นเพียงจุดผ่อนปรนการค้าแต่ยังไม่ได้เปิดเป็นด่านหรือจุดผ่านแดนถาวร

ประวัติ

[แก้]

ด่านสิงขรมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ช่องสันพราน หรือ ช่องสันพร้าว โดยมีลักษณะเป็นช่องเขาในเทือกเขาตะนาวศรีตอนใต้ ติดชายแดนไทย-พม่า[4]

ในอดีต เส้นทางด่านสิงขรเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทร เป็นที่นิยมของนักเดินทางค้าขายทางทะเล เนื่องจากย่นระยะทางจากฝั่งหนึ่งมายังอีกฝั่งหนึ่ง และอาจมีอุปสรรคในการเดินทางทางทะเลทั้งจากสภาพอากาศหรือโจรสลัด เป็นเส้นทางระหว่างทะเลอ่าวไทยที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปเมืองตะนาวศรี ไปยังเมืองมะริดบนฝั่งทะเลอันดามันที่ปากแม่น้ำตะนาวศรี เป็นเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญในทางการค้าระหว่างประเทศตะวันตกและประเทศตะวันออก โดยเฉพาะจีนและอินเดียมายาวนานนับพันปี โดยเฉพาะเมืองตะนาวศรีซึ่งเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญติดต่อกับประเทศในยุโรป ซึ่งทำความเจริญรุ่งเรืองให้แก่กรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

จนเมื่อ พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญาได้ยกทัพลงมาทางใต้เข้ายึดเมืองทวาย เมืองมะริด และเมืองตะนาวศรี และได้ใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรเดินทัพผ่านช่องสิงขรมายังฝั่งทะเลอ่าวไทยที่บริเวณอ่าวหว้าขาว (ห่างจากอ่าวประจวบคีรีขันธ์ไปทางเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร) แต่ได้ถูกทหารกองกำลังอาทมาต โดยการนำของขุนรองปลัดชู (ชาววิเศษชัยชาญ) จำนวน 400 คน เข้าซุ่มโจมตีสร้างความเสียหายแก่กองทัพพม่าหลายครั้งหลายครา จนเป็นเหตุการณ์ที่ได้รับการบันทึกไว้[5]

จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด่านสิงขรเป็นหนึ่งในเส้นทางยุทธศาสตร์ที่กองทัพญี่ปุ่นสร้างขึ้นเพื่อลำเลียงกำลังพลพร้อมเสบียงอาหาร เชื่อมต่อไปยังฝั่งเมืองมะริดในประเทศพม่า[6]

ในสมัยปัจจุบัน เดิมเป็นด่านค้าไม้เป็นหลัก ส่วนใหญ่จะนำไม้จากพม่าเข้าไทย แต่เมื่อป่าไม้ทางฝั่งพม่าร่อยหรอ จนในที่สุดต้องปิดป่า ทำให้การนำเข้าไทยได้เฉพาะไม้ที่แปรรูปแล้วเท่านั้น[7] มีตลาดเปิดขายทุกวัน เนื่องจากมีการผ่อนผันให้ชาวพม่าข้ามฝั่งนำสินค้าทางการเกษตรต่าง ๆ เข้ามาวางขายได้ ภายในตลาดมีการขายเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ เครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ มีทั้งของใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องครัวต่าง ๆ เสื้อผ้า เครื่องประดับ อาหาร ผักสด ผลไม้สด อาหาร ขนม อาหารแห้ง เครื่องปรุงต่าง ๆ ทั้งของไทยและพม่า และต้นไม้ เป็นต้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ผู้ว่าฯ ประจวบตรวจความพร้อมเปิดด่านสิงขรหลังโควิดเป็นโรคประจำถิ่น". สยามรัฐ. 2022-04-28.
  2. "จ.ประจวบฯ เร่งเตรียมความพร้อมการเปิดจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร ..." thainews.prd.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-14. สืบค้นเมื่อ 2022-05-21.
  3. "ด่านสิงขร".
  4. "ด่านสิงขร". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  5. "ด่านสิงขร".
  6. "เดินเที่ยว "ด่านสิงขร" ตลาดชายแดนไทย-พม่า สำรวจของกิน-ของใช้หลากหลาย". ผู้จัดการออนไลน์.
  7. ""ด่านสิงขร" ชายแดนไทยติดกับพม่า คนจบ ป.ตรี ไปค้าขายเพียบ".