ข้ามไปเนื้อหา

ค่ายผู้อพยพหนองจาน

พิกัด: 13°49′55″N 102°44′00″E / 13.83194°N 102.73333°E / 13.83194; 102.73333
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ค่ายผู้อพยพหนองจาน

แคมป์ 511
ค่ายผู้อพยพหนองจานตั้งอยู่ในจังหวัดสระแก้ว
ค่ายผู้อพยพหนองจาน
ค่ายผู้อพยพหนองจาน
ตำแหน่งในประเทศไทย
ค่ายผู้อพยพหนองจานตั้งอยู่ในประเทศไทย
ค่ายผู้อพยพหนองจาน
ค่ายผู้อพยพหนองจาน
ค่ายผู้อพยพหนองจาน (ประเทศไทย)
พิกัด: 13°49′55″N 102°44′00″E / 13.83194°N 102.73333°E / 13.83194; 102.73333
ประเทศ ไทย
จังหวัด สระแก้ว
อำเภอโคกสูง
ก่อตั้งโดยผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชากลางคริสต์ทศวรรษ 1950
ถูกทำลายโดย กองทัพประชาชนเวียดนาม31 มกราคม 2526
สร้างใหม่เดือนกุมภาพันธ์–พฤษภาคม 2527
ถูกทำลายโดย กองทัพประชาชนเวียดนาม18 พฤศจิกายน 2527
การปกครอง
 • ประเภทองค์การกองโจร: มูลีนากา, KPNLF
 • ผู้บัญชาการทหารกง ซิเลียห์ (พฤศจิกายน–ธันวาคม พ.ศ. 2522)
 • ผู้บัญชาการทหารเชีย ชูต (ธันวาคม 2522–พฤศจิกายน 2527)
พื้นที่
 • ทั้งหมด2.1 ตร.กม. (0.8 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (มกราคม 2527)
 • ทั้งหมด13,000 ถึง 30,000 คน

ค่ายผู้อพยพหนองจาน[a] หรือ ศูนย์พักพิงหนองจาน[2] (อังกฤษ: Nong Chan Refugee Camp) หรือฝั่งไทยรู้จักกันในชื่อ แคมป์ 511[3] ตั้งอยู่ในบ้านหนองจาน อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว เป็นหนึ่งในค่ายผู้อพยพที่จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรก ๆ บนชายแดนไทย–กัมพูชา โดยผู้ลี้ภัยชาวเขมรหลายพันคนต้องการหาอาหารและการรักษาพยาบาลหลังจากหนีสงครามกัมพูชา–เวียดนาม ค่ายนี้ถูกทำลายโดยกองทัพเวียดนามในช่วงปลายปี พ.ศ. 2527 หลังจากนั้นประชากรของค่ายจึงถูกย้ายไปยังศูนย์พักพิงไซต์ทู

ประวัติ

[แก้]

ค่ายเขมรเสรีก่อตั้งขึ้นใกล้หมู่บ้านหนองจานของไทยเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2493 โดยชาวกัมพูชาที่ต่อต้านการปกครองของเจ้าชายนโรดม สีหนุ[4] ค่ายนี้เต็มไปด้วยโจรและคนลักลอบขนของผิดกฎหมาย จนกระทั่งกลางคริสต์ทศวรรษ 1970 เมื่อผู้ลี้ภัยที่หลบหนีจากเขมรแดงได้รวมตัวกันเป็นขบวนการต่อต้านที่นั่น[5] เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2522 กองทัพไทยได้ขนย้ายผู้ลี้ภัยหลายพันคนจากหนองจานไปยังชายแดนใกล้กับปราสาทพระวิหาร ซึ่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกส่งตัวกลับประเทศโดยใช้กำลังเข้าไปในสนามทุ่นระเบิดทางฝั่งกัมพูชาทางชายแดนด้านดังกล่าว[6]

ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2522 กง ซิเลียห์ อดีตนายทหารเรือ ได้จัดตั้งกองกำลังต่อต้านมูลีนากาขึ้นที่หนองจาน กง ซิเลียห์ ยืนกรานว่ากองโจรประมาณ 100 นายของเขาต้องแยกจากพลเรือน 13,000 คนในค่าย เขาเป็นที่รู้จักในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตในการติดต่อกับหน่วยงานช่วยเหลือ[6] ด้วยผลจากความสงบเรียบร้อยภายในค่าย คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) จึงได้สร้างโรงพยาบาลขึ้นที่นั่น[6]

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 เกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นในค่าย เมื่อทหารไทยถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงชาวเขมรและสังหารด้วยการยิงจนเสียชีวิต ทำให้พันเอก ประจักษ์ สว่างจิตร ผู้บัญชาการกองกำลังทหารไทยในพื้นที่สั่งให้ทหารยิงถล่มหนองหนองจาน[7] (ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่าแคปม์ 511[8]) สังหารผู้ลี้ภัยไปประมาณ 100 คน เหตุการณ์นี้ได้รับความสนใจจากนานาชาติเนื่องจาก โรซาลีนน์ คาร์เตอร์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ มีกำหนดเดินทางไปเยี่ยมศูนย์พักพิงสระแก้วในวันรุ่งขึ้น[6]

“แลนด์บริดจ์” ของโรเบิร์ต แอช

[แก้]

การกระจายอาหาร

[แก้]

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2522 กง ซิเลียห์ ได้พบกับ โรเบิร์ต แพทริก แอช ซึ่งเป็นทหารผ่านศึกด้านงานมนุษยธรรมในประเทศไทยมากว่า 5 ปี และเสนอแนะว่าควรแจกจ่ายอาหารที่หนองจานเพื่อให้ชาวกัมพูชานำกลับบ้าน[9] ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของ "แลนด์บริดจ์" ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นความพยายามที่ประสบความสำเร็จพอสมควรในการแจกจ่ายอาหาร อุปกรณ์การเกษตร และเมล็ดพันธุ์ให้กับชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในกัมพูชา[6] เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม แอชและกง ซิเลียห์ ได้จัดการแจกจ่ายอย่างเป็นระเบียบโดยใช้ผู้ดูแลค่ายเพื่อมอบข้าวสารจำนวน 10 ถึง 30 กิโลกรัมให้กับผู้คนที่เดินทางมาจากภายในกัมพูชา นักเดินทางเหล่านี้เดินทางมาโดยการเดิน จักรยาน และเกวียน เมื่อถึงวันคริสต์มาส พ.ศ. 2522 ข้าวสารจำนวน 12 คันรถบรรทุกถูกแจกจ่ายให้กับผู้คนมากกว่า 6,000 คนทุกวัน[5]

วัน ซาเรน ขุนศึกกัมพูชาในค่ายโนนหมากมุ่นที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งทำเงินรายได้จากการขายข้าวที่หน่วยงานช่วยเหลือแจกจ่าย ได้ตัดสินใจว่าหนองจานเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจของเขา เนื่องจากราคาข้าวตกอย่างต่อเนื่องเมื่อมีการใช้งานแลนด์บริดจ์ เขาและพรรคพวกเข้าโจมตีศูนย์พักพิงหนองจานในวันที่ 30 ธันวาคม โดยอ้างว่าได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพบกไทย[5] และเผาโรงพยาบาลภายในศูนย์ทิ้ง การแจกจ่ายอาหารกลับมาดำเนินอีกครั้งไม่กี่วันหลังจากการโจมตีของ วัน ซาเรน และภายในกลางเดือนมกราคม ผู้คนกว่า 10,000 คนต่อวันได้รับข้าวที่มีการแจกจ่าย ทำให้ กง ซิเลียห์ ออกเดินทางจากค่ายและย้ายไปยังดินแดนภายในของกัมพูชาที่ถูกยึดครอง โดยอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ห่างไกลในป่า ซึ่งเหตุนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรียในสมองเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2523 หลังจากนั้น หนองจานก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของ เจียชุต ขุนศึกกัมพูชาที่มีศีลธรรมน้อยกว่า กง ซิเลียห์

การกระจายเมล็ดพันธุ์

[แก้]

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 องค์การแคร์นานาชาติเสนอให้แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวนอกเหนือไปจากข้าวสำหรับบริโภค[5] การคาดการณ์มากมายเกี่ยวกับความอดอยากที่แพร่หลายในกัมพูชากระตุ้นให้ ยูนิเซฟ, องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ, ICRC, โครงการอาหารโลก และหน่วยงานช่วยเหลือที่ไม่ใช่ของรัฐหลายแห่งสนับสนุนโครงการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์[6] หลังจากการทดลองแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว 220 ตันที่หนองจานเมื่อวันที่ 21 มีนาคม World Relief และ CARE ต่างแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว 2,000 ตันให้กับเกษตรกรกว่า 68,000 รายในช่วงต้นเดือนเมษายน[5] เกษตรกรจำนวนมากที่ได้รับเมล็ดพันธุ์ที่หนองจานบ่นว่าพวกเขาไม่มีเครื่องมือในการปลูกข้าว World Relief, Christian Outreach และ Oxfam ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องในเดือนพฤษภาคมด้วยการแจกจ่ายหัวจอบ ปลายคันไถ เชือก ตาข่ายจับปลา และเบ็ดตกปลา รวมถึงเกวียนลากวัว[6] ในเดือนนั้น ประชาชน 340,000 คนได้รับอาหารและเมล็ดพันธุ์ที่หนองจาน[10]

ในช่วงแรก ยูนิเซฟ และ ICRC คัดค้านโครงการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่เนื่องจากเกรงว่าโครงการนี้จะดึงดูดเกษตรกรให้เข้ามาในค่ายถาวร เนื่องจากพวกเขาเดินทางไปที่ชายแดน แม้ว่าคนอื่น ๆ จะโต้แย้งว่านี่เป็นวิธีเดียวที่จะให้แรงจูงใจแก่เกษตรกรให้ยังคงอยู่บนผืนดิน ICRC ยังระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับการดำเนินการขนาดใหญ่โดยไม่ได้ประเมินทัศนคติของรัฐบาลเฮง สัมรินก่อน ICRC จึงพยายามจำกัดการกักตุนและรักษาระดับของโครงการให้เล็กโดยกำหนดเพดานทั้งปริมาณเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดที่สามารถแจกจ่ายได้และระดับการแจกจ่ายในแต่ละวัน ยูนิเซฟ และ WFP ในตอนแรกมีความระมัดระวังเช่นเดียวกับ ICRC แต่เริ่มผ่อนคลายลงหลังจากที่เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลเฮง สัมรินไม่มีข้อโต้แย้งที่รุนแรงต่อโครงการนี้[11] แม้ว่ารัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามในกรุงพนมเปญจะปฏิเสธที่จะให้ องค์การแคร์ และ ICRC แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวภายในกัมพูชา แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ห้ามชาวบ้านเขมรเดินทางไปที่หนองจานเพื่อรับข้าว และในบางกรณียังสนับสนุนให้ทำเช่นนั้นด้วย[6]

ความสำเร็จของแลนด์บริดจ์

[แก้]

การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ผ่านแลนด์บริดจ์สิ้นสุดลงในที่สุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน โดยแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ไปประมาณ 25,521 ตัน พร้อมเครื่องมือและแม้แต่ปุ๋ย การเก็บเกี่ยวในปี พ.ศ. 2523 ในกัมพูชา แม้จะน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณก่อนสงคราม แต่ก็เกินความคาดหมายมาก[6] ข้าวสารประมาณ 50,000 ตันยังถูกแจกจ่ายให้กับชาวกัมพูชากว่า 700,000 คน[6] ก่อนที่โครงการแจกจ่ายอาหารจะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2524[12] แม้ว่านักวิจารณ์จะกล่าวหาว่าข้าวส่วนใหญ่ถูกขายต่อหรือใช้ในการส่งกำลังพลทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา[13][14][15] แลนด์บริดจ์ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยหลักแล้วเป็นเพราะแลนด์บริดจ์กระตุ้นให้ชาวกัมพูชายังคงอยู่อาศัยที่ไร่ของตนเองแทนที่จะย้ายไปที่ค่ายผู้อพยพในประเทศไทย ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 โรเบิร์ต แพทริก แอชได้รับรางวัล MBE (Member of the Most Excellent Order of the British Empire) สำหรับการทำงานของเขาในการต่อสู้เพื่อผู้ลี้ภัย

การรุกรานของเวียดนามในปี พ.ศ. 2523

[แก้]

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2523 ทหารเวียดนามประมาณ 200 นายโจมตีบ้านโนนหมากมุ่นและหนองจาน ทำให้ผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนต้องกลับไปยังฝั่งกัมพูชาและมีการประหารชีวิตผู้ลี้ภัยอีกหลายร้อยรายที่ทำการต่อต้าน[16] ทหารเขมรที่หนองจานได้ป้องกันอย่างสุดชีวิต แต่ผู้ลี้ภัยประมาณ 400 คนถูกสังหารและอีก 458 คนได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเขาอีด่าง ต่อมากองกำลังของไทยได้ยึดบ้านหนองจานคืนได้หลังจากที่เวียดนามถอนทัพเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน[17] ผู้ลี้ภัยจำนวนมากได้ย้ายไปยังค่ายผู้อพยพบ้านหนองเสม็ดที่อยู่ใกล้เคียง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน โรเบิร์ต แอช ดร. ปิแอร์ เพอร์ริน (ผู้ประสานงานด้านการแพทย์ของ ICRC) และนักข่าว 2 คน (จอร์จ ลีเนอมันน์ และริชาร์ด แฟรงเกน)[18][19] ถูกเวียดนามจับตัวและเดินทัพเข้าไปภายในกัมพูชาประมาณ 25 กิโลเมตร ท่ามกลางสายฝนที่ตกหนักและไม่มีที่พักพิงในตอนกลางคืน[20] แอชกล่าวในภายหลังว่า "เป็นวันหยุดครั้งแรกของฉันในรอบหกเดือน" เมื่อมาถึงเมืองนิมิตของกัมพูชา เขาก็ถูกเจ้าหน้าที่เวียดนามซักถามถึงความช่วยเหลือด้านอาหารจะถูกส่งไปยังกองโจรต่อต้านคอมมิวนิสต์หรือไม่[21] และหลังจาก 4 วัน พวกเขาก็ได้รับอิสรภาพและได้รับอนุญาตให้เดินข้ามสะพานที่ชายแดนกลับเข้าสู่ประเทศไทย[22][23]

ฐานทัพของกองทัพชาติปลดปล่อยประชาพลรัฐเขมร

[แก้]

ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2523 เจีย ชุต ได้รับการชักชวนจากนายพล เดียน เดล ให้เข้าร่วมกองกำลังกับแนวร่วมปลดปล่อยชาติเขมร (KPNLF) และในช่วงปลายปี พ.ศ. 2525 หนองจานได้กลายเป็นกองบัญชาการของกองทัพชาติปลดปล่อยประชาพลรัฐเขมร (KPNLAF) แม้ว่าค่ายอัมพิลจะยังคงเป็นกองบัญชาการของฝ่ายบริหารจนกระทั่งถูกทำลายในช่วงต้นปี พ.ศ. 2528 หนองจานเป็นที่ตั้งของกองพันที่ 3, 7 และ 9 ของกองทัพชาติปลดปล่อยประชาพลรัฐเขมร และ "หน่วยรบพิเศษ" ที่บังคับบัญชาโดยผู้กอง ปาห์น ไท ซึ่งได้รับการฝึกฝนจากหน่วย SAS ของอังกฤษพร้อมด้วยอาวุธและความช่วยเหลือจากกองทัพบกมาเลเซียสำหรับปฏิบัติการก่อวินาศกรรมภายในกัมพูชา[24]

เนื่องจากความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อกองทัพชาติปลดปล่อยประชาพลรัฐเขมร กองทหารเวียดนาม 4,000 นายที่ได้รับการสนับสนุนจากปืนใหญ่และรถถัง ที-54 จึงเข้าโจมตีบ้านหนองจานอีกครั้งและทำลายมันลงในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2526 มีรายงานว่ามีการสู้รบภาคพื้นดินนอกค่ายระหว่างกองทหารเวียดนามที่ประจำการอยู่ในกัมพูชาและการรบแบบกองโจรจากกองทัพชาติปลดปล่อยประชาพลรัฐเขมร ประมาณ 2,000 นาย[25] ในเวลาเดียวกัน เวียดนามยังคงโจมตีอย่างต่อเนื่องด้วยจรวดและปืนครก สังหารชาวนาไทยวัย 66 ปี และสร้างความเสียหายให้กับบ้านหลายหลังและวัดพุทธในหมู่บ้านใกล้เคียงของประเทศไทย[26] ในขณะเดียวกัน หน่วยมูลีนากาก็ถอนตัวพร้อมกับกองกำลังทัพชาติปลดปล่อยประชาพลรัฐเขมรก็ถอนตัวหลังจากการสู้รบที่ยาวนานกว่า 36 ชั่วโมง ส่งผลให้โรงพยาบาลในศูนย์ฯ เขาอีด่างต้องรับผู้ได้รับบาดเจ็บพลเรือนมากกว่า 100 รายมารักษา[26] อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้า ค่ายก็ถูกยึดครองอีกครั้งและสร้างขึ้นใหม่

การทำลายค่าย

[แก้]

ระหว่างปี พ.ศ. 2523 และ พ.ศ. 2527 ค่ายแห่งนี้เป็นเป้าหมายจากการโจมตีของเวียดนามบ่อยครั้ง ในที่สุดค่ายก็ถูกโจมตีโดยทหารเวียดนามกว่า 2,000 นายจากกองพลที่ 9 ของกองทัพประชาชนเวียดนาม (PAVN) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527[27] และถูกทิ้งร้างในที่สุดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน[28] ประชากรในค่าย 30,000 คนถูกอพยพไปยังไซต์ทรี (อ่างศิลา) ซึ่งเป็นเหมืองหินลูกรังที่อยู่ห่างออกไปประมาณสี่กิโลเมตรทางทิศตะวันตก ค่ายใหม่ถูกจัดตั้งขึ้นที่ไซต์ซิก (เปรยจัน) ผู้ลี้ภัยจำนวนมากไปลงเอยที่ศูนย์ฯ เขาอีด่าง และที่เหลือถูกย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในค่ายผู้อพยพไซต์ทู ในกลางปี พ.ศ. 2528[29]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2510 ดังนั้น ประเทศไทยจึงใช้คำว่า “ผู้หนีภัยการสู้รบ (Displaced Persons)” และไม่มีการใช้คำว่าผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ[1]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ภาพหลายรูปจากแหล่งข้อมูลภายนอก
image icon David Hillman's photos of food distribution at Nong Chan in 1983
image icon Photos of Nong Chan Rice Distribution by Roland Neveu.
image icon Photo of Robert Patrick Ashe during food distribution at Nong Chan taken by Timothy Carney. In Kampuchea, Balance of Survival (Bangkok, 1981).

บรรณานุกรม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. tdri (2022-02-04). "ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา-ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย?". TDRI: Thailand Development Research Institute.
  2. ไพเราะ, วันชัย; มหาขันธ์, ภารดี (2016-09-22). "พัฒนาการชายแดนไทย-กัมพูชา: การเกิดศูนย์พักพิงผู้อพยพและจุดเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของไทย Development Thailand-Cambodia: the Shelters Immigrants and Foreign Policy of Thailand". Academic Journal of Humanities and Social Sciences Burapha University (ภาษาอังกฤษ). 24 (46): 119–145.
  3. "เปิดปูมค่ายอพยพหนองจาน เขมรฮุบหลังยุคน้าชาติ "ประสงค์" ลั่นประวัติศาสตร์ไม่เคยโกหก". mgronline.com. 2011-01-10.
  4. Reynell, J. Political Pawns: Refugees on the Thai-Kampuchean Border. Oxford: Refugee Studies Programme, 1989, p. 32.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Mason L, Brown R. Rice, Rivalry, and Politics: Managing Cambodian Relief. Notre Dame: University of Notre Dame Press, 1983.
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 Shawcross, William. The Quality of Mercy: Cambodia, Holocaust, and Modern Conscience. New York: Simon and Schuster, 1984.
  7. Pilger, John, Heroes, South End Press, Cambridge, MA, 2001, p. 421.
  8. Burgess, John "Thais Blamed in Shelling Deaths at Refugee Camp," The Washington Post, November 9, 1979, p. 1.
  9. "Robert Patrick Ashe, MBE". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-04. สืบค้นเมื่อ 2013-08-21.
  10. UNICEF internal document, 9 December 1980, cited in Mason and Brown, p. 208.
  11. Benson C. The Changing Role of NGOs in the Provision of Relief and Rehabilitation Assistance: Case Study 2: Cambodia / Thailand. London: Overseas Development Institute, 1993, p. 35.
  12. Carney, Tim, Kampuchea, Balance of Survival. DD Books, Bangkok, 1981, p. 75.
  13. "Seeds of Sorrow," Newsweek, April 15, 1980.
  14. "Seeds of Survival," Far Eastern Economic Review, May 2, 1980.
  15. Danois, Jacques, Bangkok Post, May 12, 1980.
  16. Bangkok Post, 25 June 1980.
  17. Kamm, Henry, New York Times, June 24, 1980.
  18. ""Ashe Personal Risk to Achieve Humane Tasks," The Nation, Bangkok, June 29, 1980". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 6, 2010. สืบค้นเมื่อ April 6, 2010.
  19. "Americans Captured by Vietnamese Forces," Ellsburg Daily Record, June 27, 1980, p. 1.
  20. Vietnam Said to Seize Photographers and Relief Workers at Thai Border; U.S. Envoy Asks Halt Border Is Reported Crossed Repatriation Is Denounced, June 27, 1980, Friday; Page A6, 647 words
  21. ""Courage that Spelt Relief for Starving," Coventry Evening Telegraph, March 10, 1981". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 12, 2020. สืบค้นเมื่อ April 6, 2010.
  22. “Viets Free Americans after Four Days,” The Hour, June 30, 1980, p. 6.
  23. "Robert Patrick Ashe, bio at The Ashe Family". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-06. สืบค้นเมื่อ 2010-04-06.
  24. Justus van der Kroeff, "Cambodia," in Radu M, Arnold A. The New Insurgencies: Anticommunist Guerrillas in the Third World. New Brunswick, N.J.: Transaction Publishers, 1990, pp. 218-19. เก็บถาวร 2012-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  25. Van der Kroeff, J. "Refugees and Rebels: Dimensions of the Thai-Kampuchean Border Conflict," Asian Affairs, Vol. 10, No. 1 (Spring. 1983), pp. 19-36.
  26. 26.0 26.1 Vietnam Troops Attack Cambodia Refugee Camp, Reuters, Published: Tuesday, February 1, 1983
  27. Cumming-Bruce, Nicholas, "Rebels at Nong Chan Hold Out: Assault by Vietnamese Troops on the Kampuchean Resistance Base," The Guardian, November 26, 1984.
  28. "A Chronology of Significant Events Petaining to Khmer Displaced Persons 1953 to 1999," at Thai / Cambodia Border Refugee Camps 1975-1999, Information and Documentation Website
  29. French LC. Enduring Holocaust, Surviving History: Displaced Cambodians on the Thai-Camobodian Border, 1989-1991. Harvard University, 1994.