คาร์ล แบร์รี ชาร์เพลส
คาร์ล แบร์รี ชาร์เพลส | |
---|---|
เกิด | ฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐ | 28 เมษายน ค.ศ. 1941
สัญชาติ | สหรัฐ |
ศิษย์เก่า | วิทยาลัยดาร์ตมัธ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด |
มีชื่อเสียงจาก | |
คู่สมรส | แจน ดิวเซอร์ |
บุตร | แฮนนาห์ ชาร์เพลส, วิลเลียม ชาร์เพลส และไอแซก ชาร์เพลส |
รางวัล |
|
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | เคมี |
สถาบันที่ทำงาน | สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ศูนย์วิจัยสคริปส์ มหาวิทยาลัยคีวชู |
วิทยานิพนธ์ | Studies of the mechanism of action of 2,3-oxidosqualene-lanosterol cyclase: featuring enzymic cyclization of modified squalene oxides (1968) |
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอก | ยูจีน แวน ทาเมเลน |
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอก | เอ็ม. จี. ฟินน์ |
ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ | ฮาร์ทมุท เซ. ค็อลพ์ |
คาร์ล แบร์รี ชาร์เพลส (อังกฤษ: Karl Barry Sharpless; เกิด 28 เมษายน ค.ศ. 1941) เป็นนักเคมีชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีสองครั้ง มีผลงานเด่นด้านการสังเคราะห์แบบเลือกอิแนนชิโอเมอร์และเคมีคลิก
ชาร์เพลสได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี "สำหรับผลงานว่าด้วยปฏิกิริยาออกซิเดชัน ที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัล" ใน ค.ศ. 2001 โดยได้รับรางวัลกึ่งหนึ่ง (อีกกึ่งหนึ่งมอบให้แก่วิลเลียม สแตนดิช โนลส์และเรียวจิ โนโยริ "สำหรับผลงานว่าด้วยปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัล") และได้รับรางวัลในสาขาเดียวกันอีกครั้งใน ค.ศ. 2022 ร่วมกับแคโรลีน เบอร์ทอซซีและม็อตเติน พี. เมิลดัล "สำหรับการพัฒนาเคมีคลิกและเคมีไบโอออร์โทโกนอล"[1][2]
ชีวิตวัยเด็กและการศึกษา
[แก้]ชาร์เพลสเกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1941 ในนครฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย เขาใช้ชีวิตวัยเด็กในช่วงฤดูร้อนที่บ้านพักตากอากาศของครอบครัวริมแม่น้ำแมนัสกวานในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ที่ซึ่งทำให้เขาสนใจการตกปลาเป็นงานอดิเรกนับตั้งแต่นั้น[3] ชาร์เพลสจบการศึกษาจากโรงเรียนเฟรนส์เซนทรัลใน ค.ศ. 1959[4] และเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยดาร์ตมัธจนจบศิลปศาสตรบัณฑิตใน ค.ศ. 1963 แต่เดิมชาร์เพลสตั้งใจจะเข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์ แต่อาจารย์ที่ปรึกษาโน้มน้าวให้เขาเรียนเคมีต่อหลังจบปริญญาตรี[5] ชาร์เพลสจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเคมีอินทรีย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดใน ค.ศ. 1968 โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาได้แก่ยูจีน แวน ทาเมเลน[6] เขาทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกด้านเคมีโลหอินทรีย์กับเจมส์ พี. คอลล์แมนที่สแตนฟอร์ดจนถึง ค.ศ. 1969 ก่อนจะย้ายไปมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อศึกษาด้านวิทยาเอนไซม์ในกลุ่มปฏิบัติการของค็อนราท เอ. บล็อค ระหว่าง ค.ศ. 1969 และ 1970[5]
ผลงานวิชาการ
[แก้]ชาร์เพลสดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (ค.ศ. 1970–1977 และ 1980–1990) และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (ค.ศ. 1977–1980)[7] ขณะประจำอยู่ที่สแตนฟอร์ดเขาค้นพบปฏิกิริยาอีพอกซิเดชันชาร์เพลส (Sharpless epoxidation) ในการสังเคราะห์ (+)-disparlure ซึ่งเป็นฟีโรโมนของผีเสื้อยิปซี (gypsy moth) และเขายังคงใช้ปฏิกิริยานี้ในงานวิจัยของเขาหลังจากกลับไปประจำที่เอ็มไอที[5] ชาร์เพลสดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ดับเบิลยู. เอ็ม. เค็กที่ศูนย์วิจัยสคริปส์ (Scripps Research) ตั้งแต่ ค.ศ. 1990
งานวิจัย
[แก้]ชาร์เพลสพัฒนาปฏิกิริยาออกซิเดชันแบบคัดเลือกสเตอริโอเคมี และได้แสดงให้เห็นว่าตัวยับยั้งปฏิกิริยาที่มีความไวระดับเฟมโตโมลาร์ (10-15 โมลต่อลิตร) สามารถสังเคราะห์ได้โดยใช้เอนไซม์แอซิติลโคลีเนสเทอเรส (acetylcholinesterase) โดยเริ่มต้นจากเอไซด์และแอลไคน์ ปฏิกิริยาเคมีที่เขาค้นพบช่วยให้การสังเคราะห์สารประกอบอินทรีย์แบบอสมมาตรเป็นไปได้ง่ายขึ้นอย่างมาก[8]
ใน ค.ศ. 2001 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีกึ่งหนึ่งสำหรับผลงานปฏิกิริยาออกซิเดชันที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัล ได้แก่ปฏิกิริยาอีพอกซิเดชันชาร์เพลส ปฏิกิริยาไดไฮดรอกซิเลชันชาร์เพลส (Sharpless asymmetric dihydroxylation) และปฏิกิริยาออกซิเอมิเนชันชาร์เพลส (Sharpless oxyamination) อีกกึ่งหนึ่งมอบให้แก่วิลเลียม เอส. โนลส์และเรียวจิ โนโยริสำหรับผลงานไฮโดรจีเนชันที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัล[9]
ชาร์เพลสคิดค้นวลี "เคมีคลิก" (click chemistry) ใน ค.ศ. 1998 และชาร์เพลสและนักศึกษาของเขาอีกสองคนที่ศูนย์วิจัยสคริปส์ได้แก่ฮาร์ทมุท ค็อลพ์และเอ็ม. จี. ฟินน์ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับเคมีคลิกในผลงานตีพิมพ์ ค.ศ. 2001[10][11] ซึ่งประกอบไปด้วยปฏิกิริยาที่จำเพาะผลิตภัณฑ์และคายความร้อนซึ่งเกิดขึ้นในสภาวะที่ไม่รุนแรง ปฏิกิริยาในกลุ่มนี้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดได้แก่ปฏิกิริยาเอไซด์–แอลไคน์ไซโคลแอดดิชันฮูสเก็น (Azide–alkyne Huisgen cycloaddition) เพื่อสังเคราะห์ 1,2,3-ไตรอาโซล[12]
ใน ค.ศ. 2022 กูเกิลสกอลาร์ระบุว่าดัชนีเอชของชาร์เพลสอยู่ที่ 180[13] ส่วนสโกปัสระบุว่าอยู่ที่ 124[14]
รางวัลเชิดชูเกียรติ
[แก้]ชาร์เพลสได้รับรางวัลโนเบลสองครั้งในสาขาเคมีใน ค.ศ. 2001 สำหรับผลงานปฏิกิริยาออกซิเดชันโดยมีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัลและใน ค.ศ. 2022 สำหรับผลงาน "เคมีคลิก"[2][15]
ใน ค.ศ. 2019 ชาร์เพลสได้รับรางวัลเหรียญพรีสต์ลีย์ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของสมาคมเคมีแห่งสหรัฐสำหรับ “การคิดค้นปฏิกิริยาออกซิเดชันแบบอสมมาตร แนวคิดเคมีคลิก และการพัฒนาปฏิกิริยาไซโคลแอดดิชันระหว่างเอไซด์และอะเซทิลีนโดยใช้ทองแดงเร่งปฏิกิริยา”[4][5]
เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำมหาวิทยาลัยคีวชู และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากราชสถาบันเทคโนโลยีคอเทฮอ (ค.ศ. 1995) มหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิก (ค.ศ. 1995) มหาวิทยาลัยคาทอลิกลูแว็ง (ค.ศ. 1996) และมหาวิทยาลัยเวสลียัน (ค.ศ. 1999)[7]
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]ชาร์เพลสสมรสกับแจน ดิวเซอร์ใน ค.ศ. 1965 และมีบุตรด้วยกันสามคน[8] ตาของเขาบอดข้างหนึ่งหลังจากประสบอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการใน ค.ศ. 1970 ระหว่างที่เขาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ โดยหลอดแก้วบางสำหรับการวิเคราะห์นิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์สเปกโตรสโกปีระเบิด หลังจากอุบัติเหตุครั้งนั้น ชาร์เพลสเน้นย้ำอยู่เสมอว่า "ไม่มีข้ออ้างใด ๆ เลยที่จะไม่สวมแว่นนิรภัยในห้องปฏิบัติการ”[16]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "The Nobel Prize in Chemistry 2001". Nobel Foundation. สืบค้นเมื่อ 5 October 2022.
- ↑ 2.0 2.1 "The Nobel Prize in Chemistry 2022". Nobel Foundation. สืบค้นเมื่อ 5 October 2022.
- ↑ Sharpless, Barry (December 8, 2001). "Searching For New Reactivity" (PDF). Nobel Prize.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 4.0 4.1 "2019 Priestley Medalist K. Barry Sharpless works magic in the world of molecules". Chemical & Engineering News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ April 8, 2019.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 "K. Barry Sharpless named 2019 Priestley Medalist". Chemical & Engineering News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ April 8, 2019.
- ↑ Sharpless, Karl Barry (1968). Studies of the mechanism of action of 2,3-oxidosqualene-lanosterol cyclase: featuring enzymic cyclization of modified squalene oxides (Ph.D.). Stanford University. OCLC 66229398 – โดยทาง ProQuest.
- ↑ 7.0 7.1 Henderson, Andrea Kovacs (2009). American Men & Women of Science. Farmington Hills, MI: Gale. Cengage Learning. pp. 764. ISBN 9781414433066.
- ↑ 8.0 8.1 "K. Barry Sharpless". Notable Names Database. Soylent Communications. 2014. สืบค้นเมื่อ July 12, 2014.
- ↑ "The Nobel Prize in Chemistry 2001". Nobelprize.org. The Nobel Foundation. 2001. สืบค้นเมื่อ July 12, 2014.
- ↑ Kolb, Hartmuth C.; Finn, M. G.; Sharpless, K. Barry (June 1, 2001). "Click Chemistry: Diverse Chemical Function from a Few Good Reactions". Angewandte Chemie. 40 (11): 2004–2021. doi:10.1002/1521-3773(20010601)40:11<2004::AID-ANIE2004>3.0.CO;2-5. ISSN 1521-3773. PMID 11433435.
- ↑ Modular click chemistry | ScienceWatch | Thomson Reuters. ScienceWatch. Retrieved on June 16, 2014.
- ↑ Evans, Richard A. (2007). "The Rise of Azide–Alkyne 1,3-Dipolar 'Click' Cycloaddition and its Application to Polymer Science and Surface Modification". Australian Journal of Chemistry (ภาษาอังกฤษ). 60 (6): 384. doi:10.1071/CH06457. ISSN 0004-9425.
- ↑ {{Google Scholar ID}} template missing ID and not present in Wikidata.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Scopus preview – Sharpless, K. Barry – Author details – Scopus". www.scopus.com. สืบค้นเมื่อ October 16, 2021.
- ↑ "The Nobel Prize in Chemistry 2001". NobelPrize.org (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ April 5, 2019.
- ↑ A cautionary tale from the past | MIT News Office. Web.mit.edu (March 11, 1992). Retrieved on June 16, 2014.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- K. Barry Sharpless at The Scripps Research Institute เก็บถาวร 2010-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- คาร์ล แบร์รี ชาร์เพลส ที่ Nobelprize.org including the Nobel Lecture December 8, 2001 The Search for New Chemical Reactivity and the award 2022
- บทความที่มีลิงก์เสียตั้งแต่May 2022
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2484
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี
- ผู้ได้รับรางวัลโนเบลมากกว่าหนึ่งครั้ง
- ชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบล
- นักเคมีชาวอเมริกัน
- นักเคมีอินทรีย์
- ศิษย์เก่าจากวิทยาลัยดาร์ตมัธ
- ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
- ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
- บุคคลจากฟิลาเดลเฟีย
- บุคคลจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
- บุคคลจากศูนย์วิจัยสคริปส์
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยคีวชู