ข้ามไปเนื้อหา

แคปพาโดเชีย

พิกัด: 38°39′30″N 34°51′13″E / 38.65833°N 34.85361°E / 38.65833; 34.85361
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คัปปาโดเกีย)
ภูมิภาคโบราณแห่งอานาโตเลีย
แคปพาโดเชีย
ภูเขา Aktepe ไม่ไกลจากเกอเรเมและภูมิภาคเขาหินแห่งแคปพาโดเชีย (มรดกโลกยูเนสโก)
ที่ตั้ง ตะวันออกของอานาโตเลีย
ฐานะของภูมิภาค: กึ่งอิสระในรูปแบบต่าง ๆ มาจนถึงปี ค.ศ. 17
อดีตเมืองหลวง ฮัททุชา
จังหวัดโรมัน แคปพาโดเชีย
Location of Cappadocia in Anatolia
อุทยานแห่งชาติเกอเรเม และ
ภูมิภาคเขาหินแห่งแคปพาโดเชีย *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ประเทศธงของประเทศตุรกี ตุรกี
ภูมิภาค **รายชื่อแหล่งมรดกโลกในทวีปยุโรป
ประเภทผสม
เกณฑ์พิจารณาi, iii, v, vii
อ้างอิง357
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียนค.ศ. 1985 (คณะกรรมการสมัยที่ 9)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

38°39′30″N 34°51′13″E / 38.65833°N 34.85361°E / 38.65833; 34.85361 แคปพาโดเชีย (กรีก: Καππαδοκία กัปปาโดเกีย[1]; อังกฤษ: Cappadocia /kæpəˈdʃə/) แผลงมาจากคำในภาษากรีก “Καππαδοκία” (Kappadokía) คือภูมิภาคตอนกลางของประเทศตุรกีที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเนฟชีร์

“แคปพาโดเชีย” เป็นชื่อที่ปรากฏตลอดมาในประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนาและเป็นชื่อที่ใช้โดยทั่วไปที่หมายถึงบริเวณที่เป็นที่น่าสนใจแก่นักท่องเที่ยว ในบริบทของภูมิภาคอันมีความน่าตื่นตาตื่นใจทางธรรมชาติ โดยเฉพาะภูมิสัณฐานที่มีลักษณะเป็นแท่ง ๆ คล้ายหอปล่องไฟ หรือ เห็ด (ปล่องไฟธรรมชาติ (fairy chimney)) และประวัติความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคอานาโตเลีย

ในสมัยของเฮอรอโดทัส กลุ่มชาติพันธุ์แคปพาโดเชียกล่าวว่าเป็นผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคตั้งแต่ภูเขาทอรัสไปจนถึงบริเวณยูซีน (ทะเลดำ) ฉะนั้นแคปพาโดเชียในกรณีนี้จึงมีบริเวณทางตอนใต้จรดเทือกเขาทอรัส ที่เป็นพรมแดนธรรมชาติที่แยกจากซิลิเคีย, ทางตะวันออกโดยแม่น้ำยูเฟรทีสตอนเหนือและ ที่ราบสูงอาร์มีเนีย, ทางตอนเหนือโดยภูมิภาคพอนตัส และทางตะวันตกโดยภูมิภาคไลเคาเนีย และ กาเลเชียตะวันออก[2]: 13 

ที่มา

[แก้]

หลักฐานทางประวัติศาสตร์หลักฐานแรกที่กล่าวถึงแคปพาโดเชียเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช ที่ปรากฏในคำจารึกสามภาษา ของจักรพรรดิดาไรอัสมหาราช และ จักรพรรดิเซิร์กซีสแห่งจักรวรรดิอคีเมนียะห์ว่าเป็นอาณาจักร หรือ “dahyu-” หนึ่งของจักรวรรดิเปอร์เซีย ที่เรียกเป็นภาษาเปอร์เซียโบราณว่า “Katpatuka” ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ต้นรากของชื่อภาษาเปอร์เซียโดยทั่วไป ภาษาอีลาไมต์ และ ภาษาแอกแคดใช้ชื่อที่คล้ายคลึงกันจากภาษาแอกแคด “katpa” “side” ที่แผลงมาจากชื่อบรรพบุรุษ “Tuka”[3]

เฮอรอโดทัสกล่าวว่าชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์แคปพาโดเชียเป็นชื่อที่ชาวเปอร์เซียใช้เรียกชนกลุ่มดังกล่าวนี้ ขณะที่ชาวกรีกเรียกว่า “ชาวซีเรีย” หรือ “ชาวซีเรียขาว” (Leucosyri) ชนเผ่าหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์แคปพาโดเชียที่เฮอรอโดทัสกล่าวถึงคือโมสชอย ที่นักประวัติศาสตร์โจซีฟัสกล่าวว่ามีความเกี่ยวข้องกับบุคคลในพระคัมภีร์ไบเบิลชื่อเมเช็คบุตรของยาเฟ็ธ: “และโมโซเคนีก่อตั้งขึ้นโดยโมซอค; ที่ปัจจุบันคือกลุ่มชาติพันธุ์แคปพาโดเชีย”[4][5]

แคปพาโดเชียปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลใน “กิจการของอัครทูต” 2:9 กลุ่มชาติพันธุ์แคปพาโดเชียกล่าวว่าเป็นกลุ่มชนหนึ่งที่ได้รับการประกาศข่าวดีจากอัครทูตเป็นภาษาของตนเองในเทศกาลเพนเทคอสต์ไม่นานหลังจากการคืนพระชนม์ของพระเยซู[6] ซึ่งเป็นนัยยะว่าชาวแคปพาโดเชียเป็น “ชาวยิวที่มีความเกรงกลัวในพระเจ้า”

ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิเปอร์เซียองค์ต่อ ๆ มาแคปพาโดเชียแบ่งออกเป็นสองแคว้น (Satrap) ที่มีศูนย์กลางหนึ่งที่ยังคงใช้ชื่อแคปพาโดเชียโดยนักประวัติศาสตร์กรีก แต่อีกแคว้นหนึ่งเรียกว่า “พอนตัส” การแบ่งแยกนี้เกิดขึ้นก่อนสมัยของเซเนโฟน หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิเปอร์เซียแคว้นสองแคว้นก็ยังคงแยกตัวเป็นอิสระจากกัน และ ยังคงดำรงความแตกต่างจากกันต่อมา แคปพาโดเชียมาหมายถึงจังหวัดลึกเข้าไปในแผ่นดิน (inland province ที่บางครั้งก็เรียกว่า “แคปพาโดเชียใหญ่”) เท่านั้น และเป็นภูมิภาคที่เน้นถึงในบทความนี้

ราชอาณาจักรแคปพาโดเชียยังคงดำรงความเป็นราชอาณาจักรกึ่งอิสระมาจนถึงสมัยของสตราโบ ส่วนซิลิเคียเป็นชื่อที่ใช้สำหรับดิสตริคท์ ที่เป็นที่ตั้งของเซซาเรีย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักร เมืองสองเมืองในแคปพาโดเชียที่สตราโบเห็นว่ามีความสำคัญคือ เซซาเรีย (เดิมเรียกว่ามาซาคา) และทิยานา ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเชิงเขาทอรัส

ที่ตั้งและอากาศ

[แก้]
ภูเขา Erciyes (3,917 เมตร) ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในแคปพาโดเชีย

แคปพาโดเชียตั้งอยู่ทางตะวันออกของอานาโตเลียในบริเวณตอนกลางของประเทศตุรกีปัจจุบัน เนื้อที่ของภูมิภาคที่ราบสูงที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร ประกอบไปด้วยยอดภูเขาไฟ ที่มีภูเขา Erciyes เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดที่สูงราว 3,917 เมตร พรมแดนในประวัติศาสตร์ของแคปพาโดเชียเป็นพรมแดนที่คลุมเครือโดยเฉพาะทางด้านตะวันตก ทางด้านใต้เป็นเทือกเขาทอรัสที่เป็นพรมแดนธรรมชาติกับซิลิเคีย และแยกแคปพาโดเชียจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางด้านตะวันตกตั้งอยู่ติดกับภูมิภาคไลเคาเนียที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ และกาเลเชียทางตะวันตกเฉียงเหนือ เทือกเขาริมฝั่งทะเลดำแยกแคปพาโดเชียจากพอนตัสและทะเลดำ ขณะที่ทางตะวันออกเป็นแม่น้ำยูเฟรทีสตอนเหนือ ก่อนที่แม่น้ำจะเลี้ยวไปทางตะวันออกเฉียงใต้ไปยังเมโสโปเตเมีย และ ที่ราบสูงอาร์มีเนีย[2]: 13  ภูมิภาคนี้มีเนื้อที่ทั้งหมดที่ยาว 400 กิโลเมตรจากตะวันออกจรดตะวันตก และ 250 กิโลเมตรจากเหนือจรดใต้ เพราะที่ตั้งที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ภายในประเทศและมีระดับสูงจากระดับน้ำทะเลมากแคปพาโดเชียจึงมีภาวะอากาศแบบภาคพื้นทวีป (continental climate) ที่ร้อนแห้งในฤดูร้อน และ หนาวพอที่จะมีหิมะตกในช่วงฤดูหนาว[2]: 14  อัตราการตกของฝนมีระดับต่ำและเป็นบริเวณที่จัดว่าเป็นบริเวณกึ่งแห้งแล้งถึงแล้ง (semi-arid ถึง arid)

ประวัติ

[แก้]
เกอเรเมที่เป็นบ้านเรือนที่สร้างเข้าไปในภูมิสัณฐานธรรมชาติหน้าภูมิทัศน์อันน่าประทับใจของหุบเขาอันเต็มไปด้วยสีสัน
บัลลูนอากาศร้อนเหนือแคปพาโดเชีย
แท่งหินธรรมชาติในแคปพาโดเชีย
แผนที่จากคริสต์ศตวรรษที่ 15 ของภูมิภาคแคปพาโดเชีย
บ้านเรือนที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิสัณฐานธรรมชาติในแคปพาโดเชีย
คริสต์ศาสนสถานที่เป็น สถาปัตยกรรมในหินผา (Rock cut architecture) ในแคปพาโดเชีย

แคปพาโดเชียเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “ฮัตติ” ในปลายยุคสำริดและเป็นศูนย์กลางทางอำนาจของชนฮิตไทต์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ฮัททุชา หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิฮิตไทต์และความเสื่อมโทรมของอารยธรรมซีเรีย-แคปพาโดเชียหลังจากความพ่ายแพ้ต่อกษัตริย์โครซัสแห่งลีเดียในคริสต์ศตวรรษที่ 6 แล้ว แคปพาโดเชียก็ปกครองโดยขุนนางกึ่งระบบศักดินา ที่อยู่อาศัยกันตามที่มั่นที่เป็นปราสาทต่าง ๆ โดยมีไพร่ติดแผ่นดินเป็นบริวาร ซึ่งต่อมาเป็นสภาวะที่เหมาะกับการวิวัฒนาการมาเป็นระบบทาสต่างประเทศ แคปพาโดเชียจัดเป็นแคว้นของจักรวรรดิเปอร์เซียสมัยที่สามที่ก่อตั้งขึ้นโดยจักรพรรดิดาไรอัสมหาราช แต่ยังคงได้รับการอนุญาตให้มีประมุขปกครองตนเอง แต่ก็ไม่มีผู้ใดที่มีอำนาจมากพอที่จะปกครองได้ทั้งภูมิภาค

ราชอาณาจักรแคปพาโดเชีย

หลังจากอเล็กซานเดอร์มหาราชนำมาซึ่งการล่มสลายของจักรวรรดิเปอร์เซียแล้ว พระองค์ก็ทรงพยายามที่จะปกครองแคปพาโดเชียโดยการส่งผู้แทนพระองค์มาปกครอง แต่อาเรียร์ทีสผู้เป็นขุนนางเปอร์เซียกลับกลายมาเป็นกษัตริย์แห่งแคปพาโดเชียแทนที่ อาเรียร์ทีสที่ 1 แห่งแคปพาโดเชีย (332–322 ก่อนคริสต์ศักราช) เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ และทรงทำการขยายดินแดนของราชอาณาจักรแคปพาโดเชียออกไปถึงทะเลดำ ราชอาณาจักรแคปพาโดเชียตั้งอยู่ในความสงบสุขมาจนกระทั่งการเสด็จสวรรคตของอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อจักรวรรดิถูกแบ่งย่อยออกไปเป็นส่วน ๆ แคปพาโดเชียตกไปเป็นของยูเมนีส ยูเมนีสขึ้นมามีอำนาจโดยความช่วยเหลือของขุนพลเพอร์ดิคคัสผู้เป็นผู้สำเร็จราชการของอเล็กซานเดอร์มหาราชผู้จับอาเรียร์ทีสตรึงกางเขน แต่หลังจากที่เพอร์ดิคคัสถูกลอบสังหาร และยูเมนีสถูกประหารชีวิต บุตรชายของอาเรียร์ทีสก็ได้แคปพาโดเชียคืน และทำการปกครองเป็นกษัตริย์ที่สืบเชื้อสายต่อมา

เมื่อมาถึงรัชสมัยของอาเรียร์ทีสที่ 4 แห่งแคปพาโดเชีย (220–163 ก่อนคริสต์ศักราช) แคปพาโดเชียก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับโรมที่เริ่มด้วยการเป็นศัตรูในการเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าแอนทิโอคัสมหาราช และต่อมาหันมาเป็นพันธมิตรในการต่อต้านเพอร์เซียสแห่งมาซิดอน ซึ่งก็เท่ากับทรงวางตนเป็นศัตรูกับ จักรวรรดิซิลูซิดที่เคยทรงส่งบรรณาการเป็นครั้งคราวอย่างเต็มพระองค์

อาเรียร์ทีสที่ 5 แห่งแคปพาโดเชีย (163–130 ก่อนคริสต์ศักราช) ทรงนำทัพร่วมกับกงสุลโรมันพิวเบลียส ลิซิเนียส คราซัส ดิเวส มูเชียนัสในการต่อสู้กับยูเมนีสที่ 3 ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์เพอร์กามอน แต่พระองค์ก็ทรงได้รับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินและสิ้นพระชนม์ในปี 130 ก่อนคริสต์ศักราช ภาวะของความสับสนวุ่นวายที่ตามมาหลังจากการเสียชีวิตของอาเรียร์ทีสที่ 5 นำไปสู่การแทรกแซงของพอนตัสที่รุ่งเรืองขึ้นมา และการสงครามที่เกิดขึ้นที่นำมาซึ่งความหายนะของราชวงศ์ที่ปกครองแคปพาโดเชีย

มณฑลแคปพาโดเชียของโรมัน

ชาวแคปพาโดเชียได้รับการสนับสนุนจากโรมในการเป็นโค่นมิทราดีสที่ 4 แห่งพอนตัส และแทนที่ด้วยอริโอบาร์ซานีสที่ 1 ฟิลโลโรมาอิออสแห่งแคปพาโดเชีย ในปี 93 ก่อนคริสต์ศักราช แต่ในปีเดียวกันกองทัพอาร์มีเนียภายใต้การนำของพระเจ้าไทกราเนสมหาราชก็ทรงนำทัพเข้ามารุกรานแคปพาโดเชีย ทรงทำการถอดอริโอบาร์ซานีสจากราชบัลลังก์ และทรงแต่งตั้งให้กอร์เดียสแห่งแคปพาโดเชียขึ้นครองเป็นกษัตริย์บริวารแทนที่ การสร้างแคปพาโดเชียขึ้นเป็นอาณาจักรบริวารของพระเจ้าไทกราเนสก็เท่ากับเป็นการสร้างบริเวณฉนวนเพื่อยับยั้งความก้าวร้าวของสาธารณรัฐโรมันที่คืบเข้ามาในภูมิภาค

เมื่อโรมถอดกษัตริย์พอนตัสและกษัตริย์อาร์มีเนียจากราชบัลลังก์ อาริโอบาร์ซานีสที่ 1 ฟิลโลโรมาอิออสแห่งแคปพาโดเชียจึงได้กลับมาขึ้นครองแคปพาโดเชียอีกครั้งหนึ่งในปี 63 ก่อนคริสต์ศักราช ในระหว่างสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในโรมแคปพาโดเชียก็เปลี่ยนการสนับสนุนเรื่อยมาตั้งแต่สนับสนุนปอมปีย์, ต่อมาก็จูเลียส ซีซาร์, ต่อมามาร์ค แอนโทนี และหันมาเป็นปฏิปักษ์ท้ายที่สุด ราชวงศ์อริโอบาร์ซานีสมาสิ้นสุดลงในสมัยของอาร์คีลอสแห่งแคปพาโดเชียผู้หนุนหลังมาร์ค แอนโทนี และหันมาเป็นปฏิปักษ์ ผู้ปกครองเป็นอิสระมาจนกระทั่งปี 17 ก่อนคริสต์ศักราช เมื่อจักรพรรดิไทบีเรียสทรงลดฐานะของแคปพาโดเชียลงมาเป็นเพียงมณฑลของโรมันหลังจากการสิ้นพระชนม์ของอาร์คีลอสอย่างอัปยศ ต่อมาอีกเป็นเวลานานแคปพาโดเชียก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไบแซนไทน์

แคปพาโดเชียประกอบด้วยเมืองใต้ดินหลายเมือง (ดูเมืองใต้ดินแห่งเคย์มาคลี) ที่ใช้โดยชาวคริสเตียนในยุคแรกในการเป็นที่หลบหนีภัยจากการเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนก่อนที่ศาสนาคริสต์จะเป็นศาสนาที่ได้รับการประกาศว่าเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิ ปิตาจารย์แห่งแคปพาโดเชียของคริสต์ศตวรรษที่ 4 เป็นองค์ประกอบสำคัญของประวัติศาสตร์เทววิทยาศาสนาคริสต์ยุคแรก นักเทววิทยาศาสนาคริสต์คนสำคัญก็รวมทั้งจอห์นแห่งแคปพาโดเชียผู้เป็นอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิล ระหว่างปี ค.ศ. 517 ถึง ค.ศ. 520 ในช่วงการปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ แคปพาโดเชียปลอดจากความขัดแย้งของบริเวณนี้กับจักรวรรดิแซสซานิด แต่มาเป็นบริเวณดินแดนพรมแดนอันสำคัญต่อมาในสมัยการพิชิตดินแดนของมุสลิมต่อมา แคปพาโดเชียกลายเป็นส่วนหนึ่งของเขตการปกครองไบแซนไทน์แห่งอาร์มีเนีย (Armeniac Theme) และต่อมาเขตการปกครองคาร์เซียนอน และในที่สุด เขตการปกครองไบแซนไทน์แห่งแคปพาโดเชีย (Cappadocia Theme)

ความสัมพันธ์ระหว่างแคปพาโดเชียและอาร์มีเนียที่ตั้งอยู่ติดกันเป็นความสัมพันธ์อันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นักประวัติศาสตร์อาหรับ อบู อัล ฟารัจ กล่าวถึงชาวอาร์มีเนียผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ซิวาสระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 10 ว่า “ซิวาสในแคปพาโดเชียเต็มไปด้วยชาวอาร์มีเนีย ที่มีจำนวนมากจนกระทั่งกลายเป็นส่วนสำคัญของกองทัพของราชอาณาจักร กองทหารอาร์มีเนียเหล่านี้มีหน้าที่เฝ้ายามตามป้อมที่สำคัญ ๆ ที่ยึดมาได้จากอาหรับ ทหารอาร์มีเนียมีชื่อเสียงจากการเป็นทหารราบผู้มีประสบการณ์และมักจะแสดงความสามารถในการต่อสู้อย่างกล้าหาญและประสบกับความสำเร็จเคียงข้างทหารโรมันหรือที่เรียกว่าทหารไบแซนไทน์”[7] การรณรงค์ทางการทหารของไบแซนไทน์และการรุกรานของเซลจุคในอาร์มีเนียทำให้ชาวอาร์มีเนียขยายตัวเข้ามาในแคปพาโดเชียและออกไปทางตะวันออกจากซิลิเคียไปยังดินแดนที่เป็นหุบเขาทางตอนเหนือของซีเรีย และ เมโสโปเตเมีย จนกระทั่งได้ก่อตั้งราชอาณาจักรอาร์มีเนียแห่งซิลิเคียขึ้น การอพยพของชาวอาร์มีเนียเพิ่มจำนวนขึ้นหลังจากการเสื่อมโทรมอำนาจของจักรวรรดิไบแซนไทน์ และการขยายตัวของอาณาจักรครูเสดหลังสงครามครูเสดครั้งที่ 4 สำหรับนักรบครูเสดแล้วแคปพาโดเชียคือ “terra Hermeniorum” (ดินแดนของชาวอาร์มีเนีย) เพราะเป็นดินแดนที่ขณะนั้นเต็มไปด้วยผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอาร์มีเนีย[8]

หลังจากยุทธการที่มันซิเคิร์ตในปี ค.ศ. 1071 แล้วกลุ่มตุรกีต่าง ๆ ภายใต้การนำของเซลจุคก็เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอานาโตเลีย การค่อยขยายตัวทางอำนาจของเซลจุคอย่างค่อยเป็นค่อยไปในที่สุดก็ทำให้แคปพาโดเชียกลายเป็นรัฐบริวารของรัฐตุรกีที่ก่อตั้งขึ้นทางตะวันออกและตะวันตกของภูมิภาค และประชากรบางส่วนของบริเวณนี้ก็เปลี่ยนไปถือศาสนาอิสลาม เมื่อมาถึงตอนปลายของต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 เซลจุคแห่งอานาโตเลียก็กลายเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในภูมิภาคแคปพาโดเชีย ต่อมาเมื่ออำนาจของเซลจุคที่ตั้งอยู่ที่คอนยาอ่อนตัวลงในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 13 เบยิคตุรกีแห่งอานาโตเลียน (Anatolian Turkish Beyliks) ที่มีฐานอำนาจอยู่ที่คารามานก็เข้ามามีอำนาจแทนที่ และในที่สุดกลุ่มที่ว่านี้ก็มาแทนที่ด้วยจักรวรรดิออตโตมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 แคปพาโดเชียก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมันเป็นเวลาอีกหลายร้อยปีต่อมา และในปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐตุรกีปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของภูมิภาคนี้เกิดขึ้นเมื่อ บริเวณเมืองเนฟชีร์ ได้รับการก่อตั้งขึ้นใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยมหาเสนาบดีผู้มีถิ่นฐานดั้งเดิมมาจากบริเวณนี้ก่อตั้งขึ้นเป็นเมืองหลวงของภูมิภาค และยังคงเป็นมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ในขณะเดียวกันชาวแคปพาโดเชียก็เริ่มเปลี่ยนไปพูดภาษาตุรกีที่เขียนด้วยอักษรกรีกที่เรียกว่า “Karamanlıca” และในบริเวณที่ยังคงพูดภาษากรีก อิทธิพลของภาษาตุรกีรอบข้างก็เริ่มจะเพิ่มขึ้น ภาษากรีกที่พูดกันในภูมิภาคแคปพาโดเชียเรียกกันว่า “ภาษากรีกแบบแคปพาโดเชีย” หลังจากการแลกเปลี่ยนประชากรระหว่างกรีซและตุรกีในปี ค.ศ. 1923 แล้วก็เหลือผู้พูดภาษากรีกแคปพาโดเชียอยู่เพียงไม่กี่คน

ภูมิสัณฐาน

[แก้]

ภูมิภาคแคปพาโดเชียที่มีชื่อเสียงว่ามีภูมิสัณฐานที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์ และ วัฒนธรรม ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองไคย์เซอรี

ฐานของธรณีสัณฐานของแคปพาโดเชียเป็นการทับถมของหินที่มาจากทะเลสาบและลำธาร และ จากการทับถมของวัตถุต่าง ๆ ที่ระเบิดจากภูเขาไฟ (Ignimbrite) โบราณเมื่อราว 9 ถึง 3 ล้านปีที่ผ่านมาในระหว่างสมัยไมโอซีนจนถึงสมัยไพลโอซีน

หินในภูมิภาคแคปพาโดเชียไม่ไกลจากเกอเรเมถูกกัดกร่อนจากธรรมชาติกลายเป็นรูปทรงคล้ายแท่งหรือหอที่มีปลายแหลมบนยอดคล้ายเห็ดอันดูแปลกตา วัตถุที่ระเบิดจากภูเขาไฟเป็นหินที่มีคุณสมบัติที่ง่ายต่อการกัดกร่อนหรือสลักเสลา ที่ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณแคปพาโดเชียใช้ในการขุดคว้านเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย, ศาสนสถาน หรือ อารามได้ ซึ่งทำให้เกอเรเมกลายมาเป็นศูนย์กลางของอารามระหว่างราวปี ค.ศ. 300–1200

การตั้งถิ่นฐานในยุคแรกในเกอเรเมเริ่มขึ้นในสมัยโรมัน บริเวณที่ว่านี้เต็มไปด้วยบ้านเรือน, หมู่บ้าน, หมู่บ้านใต้ดิน และ คริสต์ศาสนสถานที่ขุดเข้าไปในโพรงหิน โบสถ์ในเกอเรเมมีด้วยกันกว่า 30 โบสถ์และโบสถ์น้อย บางโบสถ์ก็มีงานจิตรกรรมฝาผนังจากคริสต์ศตวรรษที่ 9 ถึง 11 ที่ยังมีความงดงามสดใสอยู่

ระเบียงภาพ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "การออกเสียงคำว่า Καππαδοκία". Bible Study Tools.
  2. 2.0 2.1 2.2 Van Dam, R. (27 กันยายน 2002). Kingdon of Snow: Roman rule and Greek culture in Cappadocia. Philadelphia: University of Pennsylvania Press. ISBN 978-0-812-23681-1.
  3. Room, Adrian (1 สิงหาคม 1997). Placenames of the World: Origins and Meanings of the Names for over 5000 Natural Features, Countries, Capitals, Territories, Cities and Historic sites. London: MacFarland Publishing. ISBN 978-0-7864-0172-7.
  4. Antiquities of the Jews I:6
  5. Ketubah 13:11 ในมิชนะห์
  6. "What does Acts 2:9 mean?". BibleRef.com. Got Questions Ministries.
  7. Schlumberger, Gustave Léon (1890). Un empereur byzantin au dixième siècle, Nicéphore Phocas (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: Firmin-Didot et cie. p. 251. ISBN 978-5-87-351-417-5.
  8. MacEvitt, Christopher Hatch (2008). The Crusades and the Christian World of the East: Rough Tolerance. Philadelphia: University of Pennsylvania Press. p. 56. ISBN 978-0-812-24050-4.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]