ข้ามไปเนื้อหา

การูดาอินโดนีเซีย เที่ยวบินที่ 152

พิกัด: 03°20′28.2″N 98°34′26.6″E / 3.341167°N 98.574056°E / 3.341167; 98.574056
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การูดา อินโดนีเซีย เที่ยวบินที่ 152
เครื่องบินลำที่เกิดเหตุที่ท่าอากาศยานนานาชาติงูระฮ์ ไร ค.ศ. 1988
สรุปอุบัติเหตุ
วันที่26 กันยายน ค.ศ. 1997
สรุปตกเนื่องจากความผิดพลาดของนักบิน เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจร และอุปกรณ์
จุดเกิดเหตุอำเภอเดอลีเซอร์ดัง จังหวัดสุมาตราเหนือ  ประเทศอินโดนีเซีย
03°20′28.2″N 98°34′26.6″E / 3.341167°N 98.574056°E / 3.341167; 98.574056
อากาศยานลำที่เกิดเหตุ
ประเภทอากาศยานแอร์บัส เอ300บี4-220
ดําเนินการโดยการูดาอินโดนีเซีย
หมายเลขเที่ยวบิน IATAGA152
หมายเลขเที่ยวบิน ICAOGIA152
รหัสเรียกIndonesia 152
ทะเบียนPK-GAI
ต้นทางท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา
จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
ปลายทางท่าอากาศยานนานาชาติโปโลนียา
เมดัน ประเทศอินโดนีเซีย
จำนวนคน234
ผู้โดยสาร222
ลูกเรือ12
เสียชีวิต234
รอดชีวิต0

การูดาอินโดนีเซีย เที่ยวบินที่ 152 เป็นเที่ยวบินภายในประเทศขนส่งผู้โดยสารจากท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา กรุงจาการ์ตา ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติโปโลนียา นครเมดัน จังหวัดสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประสบอุบัติเหตุตกเมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1997 ใกล้กับหมู่บ้านบูวะฮ์นาบาร์และปันจูร์บาตูร์ ตำบลซีโบลางิต ทางใต้นอกเขตนครเมดัน ขณะลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติโปโลนียา ผู้โดยสาร 222 คนและลูกเรือ 12 คนเสียชีวิตทั้งหมด[1] อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุทางการบินที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย[2][3]

อากาศยาน

[แก้]
ภายในห้องนักบินของเครื่องบินแอร์บัส เอ300บี4 เอฟเอฟซีซี แม้ว่าจะถูกปรับให้เหมาะสำหรับบินโดยนักบินสองคน แต่ห้องนักบินแบบเอฟเอฟซีซีไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบเดียวกับแอร์บัส เอ300-600

เครื่องบินลำที่เกิดเหตุเป็นเครื่องบินแอร์บัส เอ300บี4 เอฟเอฟซีซี หรือ "forward-facing crew concept" ทะเบียน PK-GAI เครื่องบินรุ่นเอฟเอฟซีซีเป็นรุ่นที่ปรับแต่งห้องนักบินโดยตัดที่นั่งของวิศวกรประจำเที่ยวบินออก และอุปกรณ์ควบคุมซึ่งเคยเป็นหน้าที่ของวิศวกรประจำเที่ยวบินเดิมถูกจัดเรียงด้านบนของนักบินแทน ซึ่งทำให้ลดจำนวนนักบินภายในห้องนักบินจากสามเหลือสองคน การจัดเรียงอุปกรณ์ควบคุมนี้คล้ายกับเครื่องบินแอร์บัส เอ310 เพียงแต่ว่าอุปกรณ์บนแผงควบคุมของรุ่นเอฟเอฟซีซียังคงเป็นแบบแอนะล็อกเช่นเดียวกับรุ่นเอ300 ดั้งเดิม รุ่นเอฟเอฟซีซีนี้ต่อมาได้พัฒนาไปเป็นแอร์บัส เอ300-600 ซึ่งอุปกรณ์แผงควบคุมเปลี่ยนไปให้เหมือนกับในแอร์บัส เอ310 รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย นักบินประจำเที่ยวบินที่เกิดเหตุได้รับฝึกให้บินทั้งรุ่นเอฟเอฟซีซีและรุ่นเอ300-600

เครื่องยนต์ที่ใช้ในเครื่องบินที่เกิดเหตุเป็นเครื่องยนต์แพรตต์แอนด์วิตนีย์รุ่น JT9D-59A เครื่องบินลำที่เกิดเหตุขึ้นบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1982 ใช้งานมาแล้วประมาณ 27,000 ชั่วโมง และมีอายุ 15 ปี ขณะเกิดเหตุ[2][4][5]

อุบัติเหตุ

[แก้]
การูดาอินโดนีเซีย เที่ยวบินที่ 152ตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย
MES
MES
CGK
CGK
ต้นทางและปลายทางของเที่ยวบินที่ 152
การูดาอินโดนีเซีย เที่ยวบินที่ 152ตั้งอยู่ในสุมาตราเหนือ
MES
MES
จุดเกิดเหตุ
จุดเกิดเหตุ
แผนที่จังหวัดสุมาตราเหนือแสดงท่าอากาศยานนานาชาติโปโลนียาและจุดที่เครื่องบินตก

ในวันเกิดเหตุ เที่ยวบินที่ 152 บินขึ้นจากท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา กรุงจาการ์ตาเมื่อเวลา 11:41 น. ตามเวลามาตรฐานอินโดนีเซียตะวันตก ซึ่งอยู่ในเขตเวลา UTC+07:00 เช่นเดียวกับเวลามาตรฐานไทย และมีกำหนดลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติโปโลนียา นครเมดัน เวลา 13:41 น. ทัศนวิสัยในบริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตราค่อนข้างจำกัดเพียง 500 เมตรเท่านั้นเนื่องจากไฟป่าในพื้นที่ใกล้เคียงได้แก่รีเยา สุมาตราใต้ และกาลีมันตัน[6]

เหตุการณ์เป็นไปอย่างราบรื่นจนกระทั่งเวลาประมาณ 13:30 น. เมื่อนักบินลดระดับเครื่องบินลงมาถึงระดับความสูง 2,000 ฟุตและวนเลี้ยวเครื่องบินเพื่อลงจอดที่เมดัน เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศแจ้งให้นักบินวนเลี้ยวไปทางขวา แต่นักบินกลับเลี้ยวเครื่องไปทางซ้าย ในขณะที่นักบินวนเครื่องกลับตามเส้นทางที่ถูกต้อง นักบินไม่ทันระวังว่าเครื่องบินลดระดับลงมาจากระดับความสูง 2,000 ฟุต เจ้าหน้าที่พยายามแจ้งเตือนให้นักบินนำเครื่องขึ้นแต่ไม่ทันการณ์ เครื่องบินชนยอดไม้ที่ระดับความสูง 1,550 ฟุตก่อนจะตกลงไปในเหว ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด[6]

Panoramic view of the crash site
ภาพมุมกว้างของจุดที่เที่ยวบินที่ 152 ตก

ผู้เสียชีวิต

[แก้]

ผู้โดยสารจำนวน 198 คนจาก 222 คน และลูกเรือทั้งหมด 12 คนเป็นชาวอินโดนีเซีย ในขณะที่ผู้โดยสารชาวต่างชาติมีจำนวน 24 คนจาก 13 ประเทศ[7][8]

สัญชาติของผู้โดยสารและลูกเรือ
สัญชาติ ผู้โดยสาร ลูกเรือ รวม
 อินโดนีเซีย 198 12 210
 ญี่ปุ่น 6 0 6
 เยอรมนี 4 0 4
 ไต้หวัน 3 0 3
 แคนาดา 2 0 2
 สหรัฐ 2 0 2
 สหราชอาณาจักร 2 0 2
 เนเธอร์แลนด์ 1 0 1
 เบลเยียม 1 0 1
 ฝรั่งเศส 1 0 1
 มาเลเซีย 1 0 1
 สวีเดน 1 0 1
 ออสเตรเลีย 1 0 1
 อิตาลี 1 0 1
รวม 222 12 234

ศพผู้โดยสารและลูกเรือถูกเก็บกู้ได้ทั้งหมด โดยในจำนวนนี้ 48 ศพไม่สามารถระบุตัวตนได้และถูกนำไปฝังในสุสานด้านนอกท่าอากาศยานโปโลนียา (หรือฐานทัพอากาศซูวนโดในปัจจุบัน) ร่วมกับผู้เสียชีวิต 61 คนจากเหตุเครื่องบินตกใน ค.ศ. 1979 ในขณะที่อีก 186 ศพได้มอบให้ญาตินำไปประกอบพิธีต่อไป[9]

สาเหตุ

[แก้]

รายงานของสำนักงานคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งประเทศอินโดนีเซีย (NTSC) ระบุสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ว่าเกิดจากนักบินสับสนทิศทางการเลี้ยวเครื่องบินซึ่งทำให้นักบินเบี่ยงเบนความสนใจจากตำแหน่งในแนวตั้ง ส่งผลทำให้เครื่องบินลดระดับต่ำลงมาจากระดับ 2,000 ฟุตที่กำหนดให้รักษาไว้ และชนยอดไม้ที่ระดับความสูง 1,550 ฟุตจากระดับน้ำทะเล[6] นอกจากนี้รายงานฉบับดังกล่าวยังวิจารณ์การฝึกหัดนักบินของการูดาอินโดนีเซียซึ่งฝึกนักบินซึ่งประจำเครื่องบินแอร์บัสทั้งสองรุ่นได้แก่เอ300-600 และเอ300บี4 เอฟเอฟซีซี ซึ่งใช้อุปกรณ์แผงควบคุมคนละชนิดกัน โดยรายงานระบุว่าการูดาอินโดนีเซียฝึกนักบินได้ไม่ดีพอซึ่งทำให้นักบินที่คุ้นเคยกับแผงควบคุมของเครื่องบินรุ่นหนึ่งสับสนขณะประจำเครื่องบินอีกรุ่นหนึ่ง[6] สาเหตุเสริมในอุบัติเหตุครั้งนี้ได้แก่ความบกพร่องของอุปกรณ์เตือนว่าใกล้พื้นดิน (Ground Proximity Warning System หรือ GPWS) และแผนที่นำทางที่เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศในเมดันนั้นไม่ดีพอ[6]

เส้นทางบินในปัจจุบัน

[แก้]

การูดาอินโดนีเซียยังคงดำเนินเส้นทางบินจากจาการ์ตาไปยังเมดัน โดยใช้หมายเลขเที่ยวบิน GA186[10] อย่างไรก็ตาม ท่าอากาศยานปลายทางในนครเมดันได้เปลี่ยนจากท่าอากาศยานนานาชาติโปโลนียาเป็นท่าอากาศยานนานาชาติกูวาลานามู[11] ในขณะที่ท่าอากาศยานนานาชาติโปโลนียายุติกิจกรรมการบินพลเรือน และเปลี่ยนชื่อเป็นฐานทัพอากาศซูวนโดสำหรับกองทัพอากาศอินโดนีเซีย[12][13]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Accident Photo: Garuda Indonesia 152 – Airbus A300 PK-GAI". AirDisaster.Com. กันยายน 26, 1997. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 15, 2014. สืบค้นเมื่อ มกราคม 13, 2014.{{cite web}}: CS1 maint: unfit URL (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 Ranter, Harro. "ASN Aircraft accident Airbus A300B4-220 PK-GAI Medan-Polonia Airport (MES)". aviation-safety.net. Aviation Safety Network. สืบค้นเมื่อ 2019-05-01.
  3. Ranter, Harro. "Indonesia air safety profile". aviation-safety.net. Aviation Safety Network. สืบค้นเมื่อ 2019-05-01.
  4. "Garuda PK-GAI (Airbus A300 - MSN 214)". www.airfleets.net. Airfleets aviation. สืบค้นเมื่อ 2019-07-09.
  5. "PK-GAI Garuda Indonesia Airbus A300B4". www.planespotters.net. สืบค้นเมื่อ 2019-07-09.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 "National Transportation Safety Committee Final Report Garuda Indonesia Flight GA 152 Airbus A300-B4 PK-GAI Buahnabar, Sumatera Utara, Indonesia 26 SEPTEMBER 1997" (PDF). knkt.dephub.go.id. National Transportation Safety Committee. 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-09-20. สืบค้นเมื่อ 2019-05-01.
  7. "Indonesia: Investigators Look At Possible Effect Of Smog On Garuda Airlines Airbus Crash". itnsource.com. Reuters. 1997-09-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-11. สืบค้นเมื่อ 2014-01-13.
  8. "Moments before Indonesian crash, jet pilot blinded by haze". CNN. 1997-09-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-30. สืบค้นเมื่อ 2019-12-03.
  9. "Unidentified dead from Indonesia plane crash buried". CNN. 1997-09-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1999-02-19. สืบค้นเมื่อ 2014-01-13.
  10. "GA186 (GIA186) Garuda Indonesia Flight Tracking and History". FlightAware (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-01-10.
  11. "Bandara Kualanamu Diresmikan 27 Maret 2014". Cerita Medan (ภาษาอินโดนีเซีย). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 December 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-07-10.
  12. "Kuala Namu International Airport to operate July 25". 17 July 2013.
  13. The Jakarta Post, 24 July 2013

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]