ข้ามไปเนื้อหา

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 13

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 13
ธงพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อน ค.ศ. 1996
วันที่25 ตุลาคม–1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1987 (7 วัน)
ที่ตั้งมหาศาลาประชาชน ปักกิ่ง ประเทศจีน
ผู้เข้าร่วมผู้แทน 1,936 คน
ผลการเลือกคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 13 และคณะกรรมการสอบวินัยส่วนกลางชุดที่ 13

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 13 (จีน: 中国共产党第十三次全国代表大会) จัดขึ้น ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1987 หลังการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 12 และก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 14[1] การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนเข้าร่วม 1,936 คนและผู้แทนที่ได้รับเชิญพิเศษอีก 61 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกพรรคจำนวนกว่า 46 ล้านคน ตลอดจนนักข่าวต่างประเทศ 200 คนที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีเปิดและพิธีปิด[2][3] นอกจากนี้ ยังได้เชิญรองประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติและคณะกรรมาธิการแห่งชาติประจำสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน รวมถึงผู้แทนจากสหพันธ์อุตสาหกรรมและการค้าแห่งชาติ บุคคลที่ไม่สังกัดพรรค ชนกลุ่มน้อย และผู้แทนทางศาสนามาร่วมเป็นผู้ฟังในการประชุมครั้งนี้

การประชุมครั้งนี้ได้ยืนยันความถูกต้องของนโยบายปฏิรูปและการเปิดประเทศที่มีการรับรองในระหว่างการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 11 ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 ทั้งยังได้เห็นการฟื้นฟูความเป็นผู้นำของพรรคเมื่อทหารผ่านศึกจากการเดินทัพทางไกลเกษียณอายุ และถูกแทนที่ด้วยกลุ่มเทคโนแครตที่อายุน้อยกว่าและมีการศึกษาดีกว่า[2]

วาระการประชุม

[แก้]

วาระการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 13 มีดังต่อไปนี้:

  1. พิจารณาและรับรองรายงานของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 12
  2. พิจารณาและรับรองรายงานที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาส่วนกลางของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
  3. พิจารณาและรับรองรายงานที่เสนอโดยคณะกรรมการสอบวินัยส่วนกลางของคณะกรรมาธิการกลางฯ
  4. รับรองการแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เสนอแนะ
  5. เลือกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 13 คณะกรรมาธิการที่ปรึกษาส่วนกลางของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะกรรมการสอบวินัยส่วนกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน[1]

ความสำคัญของการประชุม

[แก้]

การเปลี่ยนแปลงบุคลากร

[แก้]

เติ้ง เสี่ยวผิง ได้วางแผนการเกษียณอายุของผู้อาวุโสในพรรคจำนวนกว่า 90 คน ผู้ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์การปฏิรูปเศรษฐกิจแบบตลาดที่นำมาใช้ในกระบวนการของการปฏิรูปสี่ทันสมัยของเขาเอง[4] ผู้อาวุโสเหล่านั้นรวมถึงเผิง เจิน ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ เฉิน ยฺหวิน นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของพรรค หู เฉียวมู่ นักวิจารณ์หัวรุนแรงของลัทธิเสรีนิยมแบบชนชั้นกลาง และหลี่ เซียนเนี่ยน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน เติ้งได้สละตำแหน่งทั้งหมดของตนเอง ยกเว้นตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางผ่านการแก้ไขธรรมนูญพิเศษของพรรค[2]

จ้าว จื่อหยาง ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางคนที่ 1 โดยมีหยาง ช่างคุน เป็นรองประธานถาวร[5] คณะกรรมการกลางชุดใหม่ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 285 คน ประกอบด้วยสมาชิกปกติ 175 คน และสมาชิกสำรอง 110 คน แกนนำสูงอายุราว 150 คน คิดเป็นร้อยละ 43 ของคณะกรรมการาธิกลางพรรคชุดก่อนจำนวน 348 คนไม่ได้รับเลือกกลับเข้ามาดำรงตำแหน่ง กล่าวกันว่าฮฺว่า กั๋วเฟิง ยังคงเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางอยู่ อายุเฉลี่ยของกลุ่มผู้ปกครองชุดใหม่คือ 55.2 ปี ลดลงจาก 59.1 ปีของชุดก่อนหน้า สมาชิกปกติและสมาชิกสำรองจำนวน 87 คนเป็นสมาชิกใหม่ และสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางร้อยละ 73 หรือคิดเป็น 209 คน สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา[6]

กรมการเมือง ที่มีสมาชิกปกติ 17 คนและสมาชิกสำรอง 1 คนนั้นยังเต็มไปด้วยผู้สนับสนุนการปฏิรูปรุ่นใหม่ แม้สมาชิกเดิม 20 คนจะเกษียณอายุไปแล้ว 9 คน แต่หู เย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน พร้อมด้วยว่าน หลี่ รองนายกรัฐมนตรี และเถียน จี้ยฺหวิน ยังคงรักษาตำแหน่งสมาชิกไว้ คณะกรรมาธิการสามัญได้เห็นชอบการเลือกจ้าว จื่อหยาง, หลี่ เผิง, เฉียว ฉือ, หู ฉีลี่ และเหยา อี้หลิน

แม้ผู้อาวุโสส่วนใหญ่จะได้สละตำแหน่งทางการเมืองในพรรคไปแล้ว แต่อิทธิพลของพวกเขาก็ยังคงไม่ลดลง ความเต็มใจที่จะเกษียณอายุของพวกเขานั้นอาจเกิดจากความเข้าใจว่าผู้ที่พวกเขาชื่นชอบนั่นคือ หลี่ เผิง จะได้รับแต่งตั้งเข้าสู่คณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองรวมถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอนาคต[2] ผ่านไปเพียงสามสัปดาห์หลังปิดการประชุม หลี่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรักษานายกรัฐมนตรี และต่อมาในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1988 ก็ได้รับการยืนยันให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ[7]

การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 13 นั้นเป็นที่น่าสังเกตเพราะผู้หญิงขาดหายไปจากระดับสูงสุดของพรรคอย่างสิ้นเชิง ผู้นำอย่างจ้าว จื่อหยางคัดค้านการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการทางการเมืองอย่างแข็งขัน[8]

ขั้นแรกของสังคมนิยม

[แก้]

ในสุนทรพจน์ของเขา จ้าว จื่อหยาง กล่าวว่า "การปฏิรูปเป็นกระบวนการเดียวเท่านั้นที่จะทำให้จีนฟื้นคืนชีพได้ มันเป็นกระบวนการที่ไม่อาจย้อนคืนได้และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนและแนวโน้มทั่วไปของเหตุการณ์"[1] การสร้างสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน จ้าวประกาศว่า "เป็นการทดลองที่นักทฤษฎีชาวยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไม่สามารถคาดการณ์ได้" การประกาศปฏิรูปตลาดเป็นภารกิจเร่งด่วนอันเนื่องมาจากสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนและความด้อยพัฒนาที่แผ่ขยายไปทั่วประเทศจีน

ผู้นำจีนยอมรับแนวคิดที่ว่ากลไกตลาดและการวางแผนจากส่วนกลางนั้นเป็นเพียง "วิธีการที่เป็นกลางซึ่งไม่ได้เป็นตัวกำหนดระบบเศรษฐกิจพื้นฐานของสังคม"[9] ดังนั้นการนำเทคนิคและทักษะการบริหารจัดการแบบทุนนิยมมาใช้ในระบบเศรษฐกิจผสมผ่านระบบการถือครองหลายรายจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในขั้นตอนนั้น[ต้องการอ้างอิง]

ความสำคัญโดยรวม

[แก้]

การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 13 มีความโดดเด่นหลายประการ การประชุมดังกล่าวได้ผลักดันให้จีนก้าวเข้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังมั่นใจได้ถึงการสืบทอดอำนาจเนื่องจากสมาชิกพรรคอาวุโสต่างก็ยอมสละตำแหน่งให้แก่ผู้นำรุ่นใหม่ และปรับปรุงลัทธิมาร์กซ์ให้เข้ากับ "ความเป็นจริงใหม่" แทนที่จะบิดเบือนให้ "ความเป็นจริงกายเป็นทฤษฎี"[10]

กระนั้น ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหลายประการ ประการแรก การลาออกของผู้นำพรรคอาวุโสไม่ได้หมายความว่ากลุ่มผู้สนับสนุนการปฏิรูปจะสามารถดำเนินการปฏิรูปได้อย่างราบรื่นทันทีเพราะผู้อาวุโสเหล่านี้ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อพรรค ประการที่สอง เติ้งได้จัดให้จ้าวดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางคนที่ 1 โดยไม่มีการรับประกันว่าเขาจะสืบทอดตำแหน่งผู้นำจีนต่อจากเติ้ง ประการที่สาม การเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจและการเปิดรับอิทธิพลจากต่างประเทศมากขึ้นจะนำไปสู่การกลับมาตื่นตัวของประเด็นเก่า ๆ เช่น "มลพิษทางจิตวิญญาณ" "การปลดปล่อยชนชั้นกลาง" และประเด็นถาวรที่ว่า "แก่นแท้ของจีนเทียบกับคุณค่าของต่างชาติ" ประการที่สี่ การแยกบทบาทของพรรคออกจากรัฐบาลและองค์กรทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้คนนับล้าน ท้ายที่สุด หลักสำคัญสี่ประการได้ห้ามมิให้มีการปกครองใด ๆ นอกเหนือจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน และห้ามมิให้มีเสรีภาพใด ๆ ที่เกินกว่าที่พรรคอนุญาต[2]

โดยรวมแล้ว การประชุมประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนเนื่องจากแสดงให้เห็นถึงฉันทามติร่วมกันระหว่างผู้นำที่มีความแตกต่างกันในการผลักดันประเทศให้ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่ประเด็นเรื่องประชาธิปไตย พลวัต และสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นประเด็นที่ไม่ได้รับการแก้ไข[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "共产党新闻网—资料中心—历次党代会". www.generexpo.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-08. สืบค้นเมื่อ 2016-11-07.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Hsu, Immanuel (2000). The Rise of Modern China (Sixth ed.). New York: Oxford University Press. pp. 888–895. ISBN 978-0-19-512504-7.
  3. "中国共产党第十三次全国代表大会". www.gov.cn. สืบค้นเมื่อ 2024-10-15.
  4. "中国共产党新闻, 社论:走向未来的新起点". www.people.com.cn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-30. สืบค้นเมื่อ 2016-11-08.
  5. Reaves, Joseph A. (3 November 1987). "China begins new era under Zhao". Chicago Tribune. สืบค้นเมื่อ 7 December 2020.
  6. "Beijing Review Reports". Beijing Review. 30: 16–22. November 1987.
  7. Hsu, Immanuel (22 March 1990). China without Mao: The Search for a New Order. Oxford University Press. p. 227. ISBN 9780198022657.
  8. Judd, Ellen R. (2002). The Chinese Women's Movement. Private Collection: Stanford University Press. p. 175. ISBN 0-8047-4406-8.
  9. David, Holly (24 October 1984). "New Leaders, Reforms to Be Weighed at Chinese Party Congress". Los Angeles Times Periodical. สืบค้นเมื่อ 9 November 2016.
  10. Henry, Kissinger (25 October 1987). "China Now Changing Rules and Ruling Party". Los Angeles Times Periodical.