ข้ามไปเนื้อหา

กล้ามเนื้อเดลทอยด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กล้ามเนื้อหัวไหล่)
กล้ามเนื้อเดลทอยด์
(Deltoid muscle)
กล้ามเนื้อเดลทอยด์
กล้ามเนื้อที่เชื่อมรยางค์บนและกระดูกสันหลัง
รายละเอียด
จุดยึดกระดูกไหปลาร้า, อโครเมียน, แนวสันกระดูกสะบัก
จุดเกาะแนวเดลทอยด์ ของกระดูกต้นแขน
หลอดเลือดแดงหลอดเลือดแดงรอบต้นแขน
ประสาทเส้นประสาทรักแร้
การกระทำกางต้นแขน งอต้นแขน ยืดต้นแขนออกไปทางด้านหลัง
ตัวต้านกล้ามเนื้อแลททิสซิมุส ดอร์ไซ
ตัวระบุ
ภาษาละตินmusculus deltoideus
MeSHD057645
TA98A04.6.02.002
TA22452
FMA32521
ศัพท์ทางกายวิภาคของกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อเดลทอยด์ (อังกฤษ: Deltoid muscle) ในกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ หมายถึงกล้ามเนื้อรูปสามเหลี่ยมที่เป็นส่วนสำคัญของกล้ามเนื้อในบริเวณไหล่ และเป็นกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของแขนที่มีข้อต่อไหล่เป็นจุดหมุน นอกจากนี้ยังนิยมใช้กล้ามเนื้อนี้ในการฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อ (intramuscular injection) อีกด้วย

ในตำรากายวิภาคศาสตร์บางเล่มอาจใช้คำว่า เดลทอยเดียส (deltoideus) ในการกล่าวถึงกล้ามเนื้อมัดนี้ อย่างไรก็ตาม ทั้งคำว่าเดลทอยด์และเดลทอยเดียส ต่างมาจากอักษรเดลตา (Delta) ในภาษากรีก ซึ่งเป็นอักษรรูปสามเหลี่ยม

จุดเกาะ

[แก้]

จุดเกาะต้น

[แก้]

จุดเกาะต้น (origin) ของกล้ามเนื้อเดลทอยด์ มาจากแนวของกระดูกส่วนไหล่ (shoulder girdle) นั่นคือกระดูกไหปลาร้า (clavicle) และกระดูกสะบัก (scapula) และสามารถแบ่งเส้นใยกล้ามเนื้อที่มาจากจุดเกาะต้นที่ต่างกันได้เป็นสามกลุ่ม ได้แก่

  • เส้นใยกล้ามเนื้อด้านหน้า (Anterior fibers) มีจุดเกาะต้นที่ขอบด้านหน้าและพื้นผิวด้านบนของปลายด้านข้างประมาณหนึ่งในสามของกระดูกไหปลาร้า
  • เส้นใยกล้ามเนื้อแนวกลาง (Middle fibers) มีจุดเกาะต้นที่ขอบด้านข้างของอโครเมียน (acromion) ซึ่งเป็นปลายด้านข้างของกระดูกสะบัก
  • เส้นใยกล้ามเนื้อด้านหลัง (Posterior fibers) มีจุดเกาะต้นที่ขอบด้านล่างตลอดแนวของแนวสันกระดูกสะบัก (spine of scapula)

เส้นใยกล้ามเนื้อทั้งสามจะเชื่อมรวมกันใกล้กับบริเวณจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อมัดนี้ที่บริเวณต้นแขน

จุดเกาะปลาย

[แก้]

จุดเกาะปลาย (insertion) ของกล้ามเนื้อเดลทอยด์คือแนวบนกระดูกต้นแขน (humerus) ซึ่งเรียกว่า แนวเดลทอยด์ (deltoid tuberosity) ซึ่งเป็นแนวขรุขระรูปตัว V ที่อยู่ทางด้านข้างของส่วนกลางของกระดูกต้นแขน จุดนี้จะเป็นจุดที่เอ็น (tendon) ของกล้ามเนื้อเดลทอยด์มายึดเกาะกับกระดูกต้นแขน และแผ่ออกเป็นพังผืดชั้นลึก (depp fascia) ของต้นแขน ซึ่งช่วยในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ

หน้าที่การทำงาน

[แก้]

เนื่องจากกล้ามเนื้อเดลทอยด์มีจุดเกาะที่กว้างและครอบคลุมตั้งแต่ด้านหน้าจนถึงด้านหลังของไหล่ ดังนั้นเส้นใยกล้ามเนื้อที่มีจุดเกาะต้นที่ต่างกัน จึงมีหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกันออกไปด้วย อย่างไรก็ตาม เส้นใยกล้ามเนื้อทั้งสามของกล้ามเนื้อเดลทอยด์มีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแขนรอบข้อต่อไหล่ในรูปแบบต่างๆ

  • เส้นใยกล้ามเนื้อด้านหน้า จะเกี่ยวข้องกับการงอต้นแขนเข้าหาลำตัวในแนวระดับ (transverse arm flexion) และการกางแขนขณะที่หมุนไหล่ออกไปทางด้านนอก โดยทั้งสองหน้าที่จะทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อเพคทอราลิส เมเจอร์ (Pectoralis major) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อส่วนอก
  • เส้นใยกล้ามเนื้อด้านหลังจะทำงานตรงข้ามกับเส้นใยกล้ามเนื้อด้านหน้า เช่นการทำหน้าที่ยืดต้นแขนออกไปทางด้านหลังในแนวระดับ (transverse arm extension)
  • เส้นใยกล้ามเนื้อแนวกลาง ทำหน้าที่หลักในการกางต้นแขน (arm abduction) ในระดับที่สูงกว่า 15 องศาจากแนวระดับ

หลอดเลือดและเส้นประสาทที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

หลอดเลือดแดง

[แก้]

กล้ามเนื้อเดลทอยด์จะได้รับเลือดส่วนใหญ่มาจากแขนงด้านหลังของหลอดเลือดแดงรอบต้นแขน (Posterior circumflex humeral artery) และบางส่วนจากแขนงเดลทอยด์ของหลอดเลือดแดงธอราโคอโครเมียล (Thoracoacromial artery) หลอดเลือดแดงทั้งสองเป็นแขนงที่มาจากหลอดเลือดแดงรักแร้ (Axillary artery)

หลอดเลือดดำ

[แก้]

หลอดเลือดดำที่ใกล้เคียงกับกล้ามเนื้อเดลทอยด์ได้แก่หลอดเลือดดำเซฟาลิค (Cephalic vein) ซึ่งอยู่ทางขอบด้านล่างของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเทเข้าสู่หลอดเลือดดำรักแร้ (Axillary vein) ต่อไป

เส้นประสาท

[แก้]

กล้ามเนื้อเดลทอยด์จะถูกสั่งการผ่านทางเส้นประสาทรักแร้ (Axillary nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่มาจากเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal nerve) ระดับคอ ส่วนที่ 5 และ 6 (C5,C6) ผ่านทางร่างแหประสาทแขน (Brachial plexus)

รูปประกอบเพิ่มเติม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • Gray's anatomy for students. Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM.
  • Clinically Oriented Anatomy, 4th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.