ข้ามไปเนื้อหา

กฎบัตรเนือร์นแบร์ค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะจำเลยในคอกจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีเนือร์นแบร์คราว ค.ศ. 1945–1946

กฎบัตรคณะตุลาการทหารระหว่างประเทศ แนบท้ายความตกลงว่าด้วยการดำเนินคดีและลงโทษอาชญากรสงครามรายใหญ่ในอักษะยุโรป (อังกฤษ: Charter of the International Military Tribunal – Annex to the Agreement for the prosecution and punishment of the major war criminals of the European Axis) หรือ กฎบัตรลอนดอนว่าด้วยคณะตุลาการทหารระหว่างประเทศ (London Charter of the International Military Tribunal) หรือ ธรรมนูญคณะตุลาการทหารระหว่างประเทศ (Constitution of the International Military Tribunal) มักเรียก กฎบัตรลอนดอน (London Charter) หรือ กฎบัตรเนือร์นแบร์ค (Nuremberg Charter) เป็นกฤษฎีกาที่คณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งยุโรป (European Advisory Commission) ออกเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เพื่อกำหนดระเบียบและวิธีพิจารณาคดีเนือร์นแบร์ค

กฎบัตรกำหนดให้พิจารณาคดีความผิดอาญาซึ่งกระทำลงโดยฝ่ายอักษะของยุโรป ความผิดอาญาเหล่านี้จำแนกไว้เป็นสามประเภท คือ อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อสันติภาพ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ กฎบัตรห้ามยกการดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการขึ้นอ้างเป็นข้อต่อสู้ในอาชญากรรมสงคราม ส่วนการปฏิบัติตามคำสั่งทั้งหลายจะนำมาพิจารณาเพื่อบรรเทาโทษก็ต่อเมื่อคณะตุลาการเห็นว่า ควรทำเช่นนั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

วิธีพิจารณาความอาญาที่คณะตุลาการใช้นั้นใกล้เคียงกับที่ใช้อยู่ในระบบซีวิลลอว์ยิ่งกว่าของคอมมอนลอว์ โดยเป็นการพิจารณาคดีด้วยตุลาการ มากกว่าจะใช้ลูกขุน กับทั้งยังรับฟังพยานบอกเล่าหลายประเภท จำเลยที่ถือว่ากระทำความผิดจะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อสภาควบคุมสัมพันธมิตร (Allied Control Council) ก็ได้ อนึ่ง จำเลยชอบจะนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของตน และเพื่อถามค้านพยานบุคคลทั้งหลายได้

กฎบัตรนี้คณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งยุโรปพัฒนาขึ้นโดยอาศัยอำนาจแห่งปฏิญญามอสโก ซึ่งเรียกว่า "แถลงการณ์ว่าด้วยความอำมหิต" (Statement on Atrocities) ที่ตกลงกันในการประชุมที่มอสโกเมื่อ ค.ศ. 1943 แล้วยกร่างขึ้นที่กรุงลอนดอน หลังจากเยอรมนียอมจำนนในวันแห่งชัยชนะในยุโรป (Victory in Europe Day) การยกร่างดังกล่าวนี้เป็นผลงานของ รอเบิร์ต เอช. แจ็กสัน (Robert H. Jackson), รอเบิร์ต ฟาลโค (Robert Falco) และอีโอนา นิคิตเชนโก (Iona Nikitchenko) ซึ่งเป็นกรรมการที่ปรึกษาแห่งยุโรป (European Advisory Commission) แล้วจึงประกาศใช้เป็นกฎบัตรเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1945[1] อันเป็นวันที่ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต สหรัฐ และสหราชอาณาจักร ลงนามอย่างเป็นทางการในกฎบัตร กับความตกลงที่กฎบัตรแนบท้าย ภายหลังเอกสารทั้งสองจึงได้รับสัตยาบันจากรัฐฝ่ายสัมพันธมิตรอีก 19 รัฐ[2]

กฎบัตรนี้ และบทอธิบายศัพท์ "อาชญากรรมต่อสันติภาพ" ในกฎบัตร ยังเป็นแม่แบบแห่งกฎหมายฉบับหนึ่งของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งรัฐสภาแห่งฟินแลนด์อนุมัติเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1945 เปิดช่องให้พิจารณาคดีความรับผิดชอบทางสงครามในประเทศฟินแลนด์ได้ด้วย

อ้างอิง

[แก้]